เฟดมีความโน้มเอียงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขึ้นสู่ร้อยละ 5.50

ในวันที่ 8 สิงหาคม 2549 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด จะมีการประชุมรอบที่ 5 ของปีเพื่อกำหนดทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ภายหลังจากที่เฟดได้ดำเนินการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 ต่อครั้งมาอย่างต่อเนื่องรวม 17 ครั้งติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าล่าสุด ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2549 อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า หรือ Fed Funds Futures จะบ่งชี้ว่า ตลาดคาดการณ์ถึงโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.5 ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคม ด้วยความเป็นไปได้ประมาณร้อยละ 47 (ลดลงจากที่เคยขึ้นไปถึงประมาณร้อยละ 80 ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม) แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า เฟดมีความโน้มเอียงที่จะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 5.25 มาที่ร้อยละ 5.50 ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคมนี้ โดยข้อคิดเห็นที่สนับสนุนการคาดการณ์ดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังนี้ :-

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เฟดน่าจะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยด้วยการให้น้ำหนักอยู่ที่การรักษาเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ไม่ว่าข้อมูลการจ้างงานนอกภาคการเกษตรในเดือนกรกฎาคมที่ตลาดรอจับตาการเปิดเผยในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคมจะออกมามากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ จากตัวแปรชี้วัดภาวะเงินเฟ้อล่าสุด ทั้งที่มาจากด้านผู้ผลิต ผู้บริโภค และที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล ล้วนปรับตัวในทิศทางที่สะท้อนว่าแรงกดดันเงินเฟ้อในสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย

อัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้ผลิต (Producer Price Index) ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสำหรับสินค้าขั้นสุดท้าย (Headline PPI Inflation for finished goods) เพิ่มขึ้นมาที่ร้อยละ 4.8 (y-o-y) จากร้อยละ 4.3 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ขยับขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อทางด้านผู้บริโภค (Consumer Price Index) ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 4.3 (y-o-y) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 ในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 2.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อนหน้า

อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure Price Index) ในเดือนมิถุนายน อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline PCE Inflation) ขยับขึ้นมาที่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 ที่ร้อยละ 3.5 (y-o-y) เทียบกับร้อยละ 3.4 ในเดือนพฤษภาคม ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE Inflation) ซึ่งเป็นตัวแปรชี้วัดที่เฟดมักจะใช้ประกอบการพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในเดือนมิถุนายน สูงสุดในรอบเกือบ 4 ปี ขยับขึ้นจากร้อยละ 2.2 ในเดือนก่อนหน้า

? ถึงแม้ว่าสัญญาณการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะในเครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มจะปรับตัวลง หลังจากที่ขยายตัวขึ้นไปอย่างมากและเป็นปัจจัยที่หนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯมาโดยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา รวมทั้งล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ไตรมาส 2/2549 (เบื้องต้น – Advance) ที่ขยายตัวในอัตราเพียงร้อยละ 2.5 (q-o-q annualized) ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.0 และเทียบกับที่ขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.6 ในไตรมาสแรก แต่แนวโน้มการชะลอลงของภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯก็เป็นสิ่งที่ได้มีการรับรู้และคาดการณ์ไว้ล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้วว่าคงจะเกิดขึ้น อีกทั้ง เครื่องชี้ต่างๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ยังมีทิศทางการปรับตัวที่ไม่ได้ลดลงรุนแรงมากอย่างที่เคยกังวล ในขณะที่ หากพิจารณาเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (y-o-y) แล้ว จะได้ว่า อัตราการขยายตัวของจีดีพี ไตรมาส 2/2549 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 ชะลอลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสแรก และยังเป็นอัตราการขยายตัวที่ใกล้เคียงกับระดับศักยภาพของสหรัฐฯในกรอบร้อยละ 3.5-4.0 ซึ่งสะท้อนว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯยังน่าจะสามารถรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 ได้โดยไม่เกิดภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจ

? ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า ท่ามกลางภาวะราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน เฟดอาจจะมีความโน้มเอียงที่จะเลือกแนวทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่ออีกร้อยละ 0.25 ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคมนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตลาดว่าเฟดจะดำเนินการเพื่อควบคุมดูแลภาวะเงินเฟ้อและการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า ซึ่งผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว น่าที่จะมีจำกัดกว่าการที่เฟดจะเลือกคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 0.25 แล้วต้องไปขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในภายหลังหากอัตราเงินเฟ้อไม่ชะลอตัวลงมาเร็วอย่างที่คาดการณ์ไว้

? กระนั้นก็ดี แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะมองว่าเฟดมีความโน้มเอียงที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาที่ร้อยละ 5.50 ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคม แต่อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ระดับดังกล่าวก็คาดว่าจะเป็นระดับสูงสุด (peak) ของวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ของเฟดแล้ว เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าว น่าจะเป็นระดับที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ประกอบกับ เป็นที่ตระหนักอย่างกว้างขวางว่า ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 2 ปีของเฟด คงจะทยอยปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นตามลำดับผ่านการปรับตัวในทิศทางที่ชะลอลงของเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญต่างๆ ดังจะเห็นได้จาก การที่เฟดได้มีการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯลงมาที่ร้อยละ 3.25-3.50 ในปี 2549 และร้อยละ 3.0-3.25 ในปี 2550 ขณะที่ การคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ (Consensus Forecasts) ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 2.9 ในปี 2550 ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว ก็คาดว่าจะทำให้เฟดมีความยืดหยุ่นที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.50 ได้ตลอดช่วงที่เหลือของปีนี้ และอาจมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2550 ด้วย

โดยสรุป จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่สัญญาณการชะลอตัวเริ่มจะปรากฏชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจีดีพี ไตรมาส 2/2549 ที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสองที่ปรับตัวลดลง อีกทั้ง แถลงการณ์จากเฟดในระยะหลังๆ ที่เริ่มจะสะท้อนถึงความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดมีการปรับลดการคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.50 ของเฟด ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคมนี้ ด้วยความเป็นไปได้ที่น้อยลงเมื่อเทียบกับในการประชุมครั้งก่อนๆ หน้า อย่างไรก็ตาม จากแรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ยังคงมีระดับสูง และภาวะราคาน้ำมันที่ยังคงผันผวน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า โดยภาพรวมแล้ว เฟดน่าจะยังมีความโน้มเอียงที่จะให้น้ำหนักในเรื่องเสถียรภาพมากกว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เฟดคงจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีกร้อยละ 0.25 มาที่ร้อยละ 5.50 ในการประชุมวันที่ 8 สิงหาคม นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังน่าจะทำให้เฟดได้รับความน่าเชื่อถือ (Credibility) จากตลาดเงินมากกว่าการไม่ปรับขึ้นแล้วพบทีหลังว่าอัตราเงินเฟ้อยังคงเพิ่มสูงขึ้น กระนั้นก็ดี คาดว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ร้อยละ 5.50 ก็น่าจะเป็นระดับสูงสุดของวงจรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบนี้ของเฟดแล้ว เมื่อคำนึงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากกว่า 2 ปีของเฟดน่าจะทยอยปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้นในระยะถัดไป

สำหรับผลกระทบต่อนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยนั้น การที่เฟดน่าจะใกล้เสร็จสิ้นนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยลงในไม่ช้านี้แล้ว ประกอบกับ แรงกดดันเงินเฟ้อภายในประเทศที่เริ่มจะผ่อนคลายลง ตลอดจน แนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจไทย ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงจะมีแรงกดดันที่น้อยลง/หรือมีความยืดหยุ่นมากขึ้น สำหรับการตัดสินใจทิศทางนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้า