อินเดีย : เศรษฐกิจโดดเด่น เสริมโอกาสการค้า-ลงทุน-ท่องเที่ยวของไทย

แม้ขณะนี้ประเทศส่วนใหญ่กำลังประสบกับภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจัยกดดันสำคัญ ได้แก่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงเกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น แต่เศรษฐกิจอินเดียยังคงขยายตัวได้ดี โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาสแรกปี 2549 เติบโตถึง 9.3% จากช่วง 3 ปีที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยราวปีละ 8% ส่งผลให้กลุ่มชนชั้นกลางของอินเดียซึ่งมีอยู่ราว 300 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของประชากรอินเดียทั้งหมด มีอำนาจซื้อสูง จึงมีความต้องการบริโภคมากขึ้น

เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในไตรมาส 2 ของปีนี้ โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ ได้แก่ การผลิตภาคอุตสาหกรรมของอินเดียที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัว 10.9% ในเดือนพฤษภาคม 2549 ทำให้ต้องการวัตถุดิบและสินค้ากึ่งสำเร็จรูปใช้ในการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ภาคบริการของอินเดียซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากภาคบริการมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของ GDP ยังคงเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลักเป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน รายรับจากภาคบริการที่สำคัญมาจากภาคการคมนาคมและขนส่ง การท่องเที่ยว และบริการธุรกิจเอาซอสซิ่งด้านข้อมูลสารสนเทศ ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ในเดือนเมษายน 2549 ว่า เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโต 7.3% ในปี 2549 และ 7% ในปี 2550 จึงเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกไทยที่จะขยายตัวในตลาดอินเดีย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก และทองแดง/ของที่ทำด้วยทองแดง เป็นต้น

การค้าระหว่างไทยกับอินเดียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นถึง 143% จาก 1,154 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2544 เป็น 2,805.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 และเป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยขาดดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอดในช่วงปี 2543-2547 เฉลี่ยปีละ 224 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ปี 2548 ไทยกลับเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับอินเดียเป็นปีแรกด้วยมูลค่าเกินดุลการค้า 253.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากการส่งออกของไทยไปอินเดียขยายตัวถึง 67.44% จาก 913.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 1,529.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ขณะที่การนำเข้าของไทยจากอินเดียเพิ่มขึ้น 12.35% จาก 1,135.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 เป็น 1,275.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกของไทยไปอินเดียช่วงครึ่งปีแรก 2549 ชะลอตัวลง โดยขยายตัว 1.7% เทียบกับการขยายตัวถึง 67% ในปี 2548 แม้ว่าไทยและอินเดียต่างได้ประโยชน์จากการทยอยลดภาษีสินค้ากลุ่มเร่งลดภาษี (EHS) จำนวน 82 รายการ ภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย ลงเป็นลำดับนับตั้งแต่ 1 กันยายน 2547 สาเหตุหลักที่การส่งออกของไทยไปอินเดียช่วงครึ่งแรกปี 2549 ชะลอตัวลง เนื่องจากความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยลดลงจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 7.5-8% ทำให้สินค้าส่งออกราคาถูกจากจีนแข่งขันได้ดีกว่าในตลาดอินเดีย แต่ในวันที่ 1 กันยายน 2549 ถึงกำหนดเวลาที่ไทยและอินเดียจะลดภาษีสินค้ากลุ่ม EHS ดังกล่าว เหลือ 0% รวมทั้งการเจรจาลดภาษีสินค้าเพิ่มเติมอีกกว่า 5,000 รายการภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย ช่วงกลางปี 2550 ทำให้มีแนวโน้มว่า ไทยจะได้ประโยชน์จากสินค้าส่งออกของไทยที่แข่งขันได้ดีขึ้นในตลาดอินเดีย จากการลดภาษีศุลกากรของอินเดีย รวมทั้งการนำเข้าสินค้าของไทยส่วนใหญ่จากอินเดียที่เป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (73% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากอินเดีย) ที่ราคาจะลดต่ำลง จากการลดภาษีศุลกากรของไทยภายใต้ FTA ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของไทยลดต่ำลงด้วย ที่สำคัญการลดภาษีภายใต้ FTA ทำให้มูลค่าการค้าไทย-อินเดียขยายตัว และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในอนาคต จากปัจจุบันที่สัดส่วนการค้าระหว่างกันยังค่อนข้างน้อยราว 1.22% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย โดยทางการไทยตั้งเป้าหมายให้การส่งออกของไทยไปอินเดียขยายตัว 60% จากปัจจุบันที่มีมูลค่าราว 1,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 เป็น 2,451 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สินค้าไทยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากสินค้าราคาถูกจากจีน ดังเห็นได้จากการส่งออกของไทยไปอินเดียในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ที่ชะลอ ตัวลง

ผู้ประกอบการไทยจึงจะต้องเร่งปรับตัวต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยควรพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ & การวิจัยพัฒนาเพื่อให้ต้นทุนต่ำลง รวมทั้งการพัฒนาการออกแบบ สร้างเอกลักษณ์ของสินค้าไทย ผลิตสินค้าให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเน้นตลาดระดับบนมากกว่าแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีนที่เน้นตลาดระดับล่าง

นอกจากนี้ การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียภายใต้ FTA ไทย-อินเดีย ในอนาคต ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาการเปิดเสรี คาดว่าจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันมากขึ้น จากปัจจุบันที่ไทยและอินเดียมีการลงทุนระหว่างกันค่อนข้างน้อย โครงการลงทุนของอินเดียที่เข้ามาขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2544-2548) มีมูลค่าเฉลี่ย 1,644 ล้านบาทต่อปี สำหรับช่วงครึ่งปีแรก 2549 โครงการลงทุนของอินเดียที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีมูลค่ารวม 640 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 44% เทียบกันช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มีมูลค่า 445 ล้านบาท โครงการลงทุนของอินเดียที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนซึ่งมีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ มีมูลค่า 432.5 ล้านบาท รองลงมาได้แก่ เคมีภัณฑ์และกระดาษ มูลค่า 98 ล้านบาท (ช่วงเดียวกันของปี 2548 โครงการเคมีภัณฑ์และกระดาษเป็นสาขาที่อินเดียเข้ามาขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยมาก มูลค่าถึง 338 ล้านบาท) ธุรกิจบริการ มูลค่า 70 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องจักรกล มูลค่า 25.5 ล้านบาท และเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า 14.2 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนของไทยในอินเดีย ไทยเข้าไปลงทุนในอินเดียมากเป็นอันดับ 3 ในบรรดาประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ ในช่วงเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา ไทยเข้าไปลงทุนในอินเดียมูลค่ารวมราว 75.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 0.21% ของ FDI ทั้งหมดของอินเดีย ปัจจุบันบริษัทไทยวางแผนเข้าไปลงทุนในอินเดียมากขึ้น จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียอย่างต่อเนื่อง และอินเดียเป็นตลาดขนาดใหญ่ประกอบด้วยประชากรกว่า 1,000 ล้านคน เช่น บริษัทผลิตและจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ไทยวางแผนเข้าไปร่วมลงทุนจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ในอินเดีย เป็นต้น

ด้านการท่องเที่ยว ขณะนี้อินเดียเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเอเชียใต้ที่คนไทยเดินทางไปมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 68% ของนักท่องเที่ยวไทยทั้งหมดที่เดินทางไปเอเชียใต้ นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 144% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2544-2548) จาก 15,571 คน ในปี 2544 เป็น 37,976 คน ในปี 2548 และหากเปรียบเทียบปี 2548 กับปีก่อนหน้าที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยไปอินเดีย 29,835 คน นับว่านักท่องเที่ยวไทยในอินเดียเพิ่มขึ้น 27.3% ในปี 2548 ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่าการขยายตัวโดยเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศทั้งหมดที่เพิ่มขึ้น 12.46% ในปี 2548 อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยทั้งหมดในต่างประเทศ นับว่าคนไทยยังเดินทางไปท่องเที่ยวในอินเดียไม่มากนัก คิดเป็นสัดส่วน 1.25% ของนักท่องเที่ยวไทยในต่างประเทศทั้งหมด ซึ่งมีจำนวนราว 3.05 ล้านคนในปี 2548

ขณะที่คนอินเดียเป็นนักท่องเที่ยวในเอเชียใต้ที่เดินทางมาไทยมากที่สุดเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียในไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับสูง เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทยปี 2548 หดตัว 1.15% แต่จำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียในไทยเพิ่มขึ้น 17.52% เป็น 352,766 คน เทียบกับปี 2547 ที่มีจำนวน 300,163 คน ถือว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอินเดียในไทยยังคงขยายตัวได้ดี อินเดียเป็นประเทศในเอเชียใต้ที่เดินทางมาไทยมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 68% ของจำนวนนักท่องเที่ยวชาวเอเชียใต้ทั้งหมดในไทยปี 2548 ซึ่งมีจำนวน 518,878 คน และคิดเป็นสัดส่วนราว 3% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทยที่มีจำนวน 11.51 ล้านคนในปี 2548

การท่องเที่ยวระหว่างไทยกับอินเดียที่มีแนวโน้มขยายตัวรวดเร็ว น่าจะเปิดโอกาสให้ธุรกิจบริการไทยที่มีศักยภาพเข้าไปจัดตั้งบริการในอินเดีย ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว เช่น บริษัททัวร์ นำเที่ยวไทยและภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งธุรกิจร้านอาหารไทยและโรงแรม เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประเทศสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะอังกฤษ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง เดินทางเข้าไปท่องเที่ยวในอินเดียจำนวนมากในแต่ละปี โดยในปี 2548 มีจำนวนราว 1.2 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในอินเดียในปี 2548 นับว่าเป็นโอกาสสำหรับการขยายธุรกิจบริการของไทยที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีในอินเดีย