สุดยอดการแสดงบรรลือโลกกับงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8

งาน “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8” เป็นหนึ่งในมหกรรมการแสดงที่มีความโดดเด่น น่าติดตาม และมีผู้ชมตั้งหน้าตั้งตารอคอยมากที่สุดรายการหนึ่งบนปฏิทินกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศไทย

สำหรับปีนี้ เป็นวาระโอกาสอันสำคัญยิ่งของประชาชนชาวไทยทุกคน “มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8” จึงจัดอย่างยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รายการแสดงต่างๆ ล้วนแต่ยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ และมากมายกว่าที่เคย เพียงแค่ได้เห็นรายการแสดงทั้งหมด ก็จะทราบว่าความยิ่งใหญ่นั้น ใช่เพียงแค่คำกล่าวอันเลื่อนลอย

โลดแล่นไปกับลีลาของบัลเลต์
เปิดม่านการแสดงในเดือนกันยายนด้วยบัลเลต์ 3 เรื่อง – “โรเมโอ แอนด์ จูเลียต” (Romeo & Juliet) “เดอะ นัตแครกเกอร์” (The Nutcracker) และ “สปาร์ตาคัส” (Spartacus) โดยคณะเบลารัสเซียน เนชันแนล บัลเลต์ เธียเตอร์ (Belarussian National Ballet Theatre)

บัลเลต์คุณภาพระดับรางวัลทั้ง 3 เรื่องนี้ ได้รับการกล่าวขวัญว่า “ดีที่สุด” ในสหพันธรัฐรัสเซียในปีที่เปิดการแสดง ซึ่งเชื่อได้เลยว่า การแสดงในครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้ชมผิดหวังอย่างแน่นอน ยิ่งเมื่อพิจารณาจากการสืบสานศิลปะการเต้นบัลเลต์ที่มีมาอย่างยาวนานในเมืองเบลารุส ภายใต้การควบคุมของผู้กำกับศิลป์ วาเลนติน เอลิซาเรียฟ (1 ใน 3 นักออกแบบท่าเต้นที่ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย)

ดื่มด่ำกับมหาอุปรากร
สำหรับผู้ที่กำลังรอชมความยิ่งใหญ่ของมหาอุปรากร-โอเปรา ปีนี้งานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ ได้เตรียมการแสดงไว้ถึง 4 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ “อาอิดา” (12-13 กันยายน) “อิล โทรวาโตเร” (15 กันยายน) “ลา โบแอม” (17 กันยายน) และ “ทอสกา” (4 ตุลาคม)

การแสดงเรื่องอาอิดา อิล โทรวาโตเร และลา โบแอม เป็นผลงานของคณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส และคณะนี้ ก็ได้สร้างชื่อเสียงลือเลื่องไปทั่วยุโรป โอเปราเรื่องแรกของเบลารัสเซียนนั้นมีชื่อว่า “Agatka” ประพันธ์โดย Y. Golland เปิดการแสดงเมื่อปี พ.ศ. 2327 ที่โรงละครเนสวิช คณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส (National Opera House of Belarus) ก็ได้ฤกษ์เปิดม่านการแสดงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2473 ด้วยโอเปราเรื่อง “คาร์เมน” พร้อมทั้งได้รับการสถาปาให้ใช้ชื่อนำหน้าว่า “บอลชอย” ด้วย

สำเนียงเสนาะจากดนตรีคลาสสิก
รายการแสดงต่อจากโอเปราจะเข้าสู่ลำดับของการแสดงดนตรี ด้วยปีนี้เป็นปีฉลองครบรอบวันเกิด 250 ปีของคีตกวีโมซาร์ท โดยในวันที่ 14 กันยายน การแสดงจะเริ่มจากวงซิมโฟนี ออร์เคสตรา แห่งคณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส (Symphony Orchestra of the National Opera House of Belarus) ซึ่งจะบรรเลงคีตนิพนธ์ “Symphony No.40” และ “Requiem Mass in D Minor”

และด้วยฝีไม้ลายมือการควบคุมวงโดยวาทยกร อังเดร กาลานอฟ ได้ส่งให้วงซิมโฟนี ออร์เคสตราของคณะเนชันแนล โอเปรา เฮาส์ ออฟ เบลารุส ได้รับการยอมรับว่าเป็นวงดุริยางค์ระดับแถวหน้าวงหนึ่งของทวีปยุโรป

วันที่ 5 ตุลาคม พบกับฝีไม้ลายมือของ บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรหนุ่มชาวไทยผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถในการกำกับวงดุริยางค์ “ออร์เคสตรา อินเตอร์นาซิโอนาเล ดิตาเลีย” พร้อมด้วยคณะนักร้องประสานเสียง จากเมืองเฟอร์โม ประเทศอิตาลี บัณฑิตมีประสบการณ์มากมายในการกำกับวงดุริยางค์ชั้นนำ เช่น Orchestra of St. Luke ในนิวยอร์ก วง Utah Symphony วง Los Angeles Philharmonic Orchestra และล่าสุดคือ La Finice Theatre อันทรงเกียรติแห่งกรุงเวนิส บัณฑิตเป็นผู้คว้ารางวัลเกียรติยศ และเป็นผู้ชนะร่วมในการแข่งขันวาทยกรอันยิ่งใหญ่ในรายการ Maazel-Vilar International Consuctors’ Competition เมื่อปี พ.ศ. 2545 ซึ่งจัดขึ้นที่คาร์เนกีฮอลแห่งมหานครนิวยอร์ก

ทุกห้วงอณูแห่งดนตรีแจ๊ซ
เข้าสู่บรรยากาศแห่งบทเพลงแจ๊ซที่จะสร้างความสุนทรีย์ให้แก่มหกรรมฯ ครั้งนี้ด้วยวงดนตรีแจ๊ซมากมาย เช่น วงนิวออร์ลีนส์ ออล-สตาร์ บราส แบนด์ (New Orleans All-Star Brass Band) ในวันที่ 27 กันยายน และถัดมาในวันที่ 28 กันยายน พบกับ 2 วงดนตรี คือ “อีริก ทรูฟฟาซ แจซ ควอเท็ต” (Erik Truffaz Jazz Quartet) จากสวิตเซอร์แลนด์ และ “ซิมโฟนิก แจซ คอนเสิร์ต” (Symphonic Jazz Concert) จากประเทศไทย

นิวออร์ลีนส์ ออล-สตาร์ บราส แบนด์ ประกอบไปด้วยกลุ่มนักแสดงมาดิกราส์ชายทั้งหมด 8 คน ที่เปรียบเหมือนกับตัวแทนนักดนตรีวงแจ๊ซและวงเครื่องเป่าจาก 3 ยุคสมัย ที่ไว้ลายความเป็นนักดนตรีมืออาชีพมาตลอดชีวิต พวกเขาพร้อมที่จะนำการบรรเลงดนตรีแจ๊ซที่ยังคงสืบสานไว้ซึ่งกลิ่นอายแห่งนิวออร์ลีนส์ได้อย่างแนบแน่นมาสู่กรุงเทพฯ รวมทั้งการผสมผสานดนตรีแจ๊ซแบบดั้งเดิม เข้ากับดนตรีบลูส์ กอสเปล และเดิร์จ (เพลงไว้อาลัยประเภทหนึ่ง)

อารัมภบทแห่ง “ฟาโด”
มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติในปีนี้ ขอแนะนำให้รู้จักกับ “ฟาโด” (Fado) ซึ่งตามความหมายหมายถึงโชคชะตา แต่ในที่นี้ ฟาโดเป็นรูปแบบการร้องเพลงประเภทหนึ่ง ที่คาดว่ามีต้นกำเนิดที่ประเทศโปรตุเกสในช่วงปี 1820 สำหรับศิลปินผู้ที่จะนำศิลปะการร้องเพลงแบบฟาโดมาแสดงที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 19 กันยายนนี้คือ “มาริซา” (Mariza) นักร้องฟาโดชั้นนำของโลก โดยลักษณะพิเศษของฟาโดนั้นจะจำแนกด้วยท่วงทำนอง และเนื้อร้องอันเศร้าสร้อย ซึ่งมักจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับท้องทะเล และชีวิตของคนยากจนและต่ำต้อย

สู่อาณาจักรแห่งการร่ายรำ
นอกจากการแสดงบัลเลต์แล้วนั้น ยังมีคณะเต้นรำอีกมากมายที่จะมาแสดงศิลปะการเต้นรำที่มีความหลากหลายตั้งแต่ การเต้นรำแบบพื้นเมืองไปจนถึงการเต้นรำแบบคลาสสิก และการเต้นบัลเลต์แบบโมเดิร์นจนถึงการเต้นแบบนีโอคลาสสิก มหกรรมศิลปะการแสดงฯ ปีนี้ มีศิลปะการแสดงในรูปแบบต่างๆมาให้คุณได้เลือกชม ได้แก่ “เดซัม แดนซ์ คอมปะนี” จากประเทศเกาหลี ในวันที่ 22 กันยายน การแสดงของ “เจนนิเฟอร์ มุลเลอร์ / เดอะ เวิร์กส์” (Jennifer Muller/The Works) จากสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 24 กันยายน “อินโทรดันส์” (Introdans) จากประเทศเนเธอร์แลนด์ในวันที่ 26 กันยายน “อินากิ อูร์เลซากา แทงโก กรุ๊ป” (Inaki Urlezaga Tango Group) จากอาร์เจนตินาในวันที่ 29 กันยายน “คาลักเชตทรา” (Kalakshetra Theatre) จากประเทศอินเดียในวันที่ 1 ตุลาคม และปิดท้ายด้วย “ไอย์ดา โกเมซ ฟลาเมนโก บัลเลต์” (Aida Gomez Flamenco Ballet) จากสเปน ในวันที่ 6-7 ตุลาคม

กล่าวได้ว่ามหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 8 นี้ เหมาะสำหรับผู้ชื่นชอบงานศิลปะการแสดงอย่างแท้จริง ซึ่งจะมั่นใจได้เลยว่า มหกรรมฯครั้งนี้ ยิ่งใหญ่และควรค่าแก่การรอคอยยิ่งกว่าที่ผ่านมาทุกปี และเหมาะสมที่จะได้รับการยกย่องให้เป็น “สุดยอดรายการแสดงแห่งปี” อย่างยิ่ง

มหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานนาชาติ กรุงเทพฯครั้งที่ 8 นำเสนอโดย อเมริกัน เอ็กซ์เพรส (ไทย) บีเอ็มดับเบิ้ลยู เครดิตสวิส โรงแรมดุสิตธานี เครือซีเมนต์ไทย การบินไทย หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ไอทีวี และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สนับสนุนการจัดงานโดยกระทรวงวัฒนธรรม