ฟิทช์ให้อันดับเครดิตภายในประเทศ ‘A+(tha)’ แก่หุ้นกู้ชุดใหม่ของบมจ ปูนซิเมนต์ไทย

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว ‘A+(tha)’แก่หุ้นกู้ ไม่มีหลักประกัน ไม่ด้อยสิทธิ ชุดใหม่ของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (“SCC”) ครั้งที่ 4/2549 มูลค่ารวม 5 พันล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2553 เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำไปใช้ในการชำระคืนหนี้หุ้นกู้ของบริษัทที่ถึงกำหนดชำระ

อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการที่บริษัทมีการกระจายตัวของรายได้ที่สูง ความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจหลักและการที่บริษัทมีชื่อเสียงที่เป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มลูกค้า รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทที่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง นอกจากนี้ การที่ SCC มีความสามารถในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศที่สูงยังเป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้และความคล่องตัวทางกางเงินของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงส่วนต่างกำไรที่ลดลงอันมีผลจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากการที่บริษัทประกอบกิจการในอุตสาหกรรมที่มีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากและมีการแข่งขันที่รุนแรง จากการที่บริษัทมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ สถานะทางการเงินของ SCC มีแนวโน้มที่จะลดความแข็งแกร่งลงในช่วงสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทน่าจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (net debt to EBITDAR) ให้อยู่ภายในเป้าหมายระยะยาวที่ระดับ 2.0 ถึง 2.5 เท่าได้ SCC ได้ประกาศแผนการลงทุนระหว่างปี 2549-2553 ซึ่งประกอบด้วยโครงการ naphtha cracker แห่งที่สอง โครงการปิโตรเคมีปลายน้ำ โครงการการเพิ่มกำลังการผลิตของกระดาษพิมพ์เขียนและกระดาษบรรจุภัณฑ์ โรงกล่องแห่งใหม่ รวมถึงโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศกัมพูชา คิดเป็นมูลค่าลงทุนประมาณ 75 พันล้านบาท ปัจจัยความเสี่ยงอื่นของบริษัทยังรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน (Execution Risk) ที่สืบเนื่องมาจากการลงทุนใหม่และความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ SCC มีการค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทร่วม ถึงแม้ว่าภาระค้ำประกันดังกล่าวได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการที่ SCC ขายหุ้นในบริษัท มิลเลนเนียม สตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมที่ SCC ถือหุ้นในสัดส่วน 41% ออกไป ณ ปัจจุบัน SCC มีภาระค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทร่วมมูลค่า 3.5 พันล้านบาท

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 SCC มียอดขายรวมสุทธิเพิ่มขึ้น 15% มาอยู่ที่ระดับ 1.28 แสนล้านบาท อันมีผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการรวมผลประกอบการของบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPC เข้าไว้ในงบการเงินรวมของบริษัท ในขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้น ผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ได้รับผลกระทบจากส่วนต่างกำไรที่ลดลงสืบเนื่องจากการลดลงของส่วนต่างราคาปิโตรเคมีต่อต้นทุนวัตถุดิบ การรวมผลประกอบการของ TPC ซึ่งมีอัตราส่วนการทำกำไรที่ต่ำกว่า และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานในการผลิตปูนซีเมนต์ SCC มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อยอดขาย (EBITDAR Margins) ลดลงมาที่อยู่ที่ 17% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 จาก 22% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2548 โดย EBITDAR (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) อยู่ที่ระดับ 23 พันล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เมื่อรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม EBITDAR ยืนอยู่ที่ระดับ 26 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ซึ่งลดลง 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการลดลงของเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม

ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2549 ระดับหนี้สินสุทธิของกลุ่มอยู่ที่ระดับ 1 แสนล้านบาทซึ่งค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2548 ที่ระดับ 1.01 แสนล้านบาท อันเป็นผลมาจากการรวมหนี้สินสุทธิประมาณ 5.0 พันล้านบาทของ TPC เข้าในงบการเงินรวม อัตราส่วน net debt to EBITDAR ในช่วง 12 เดือนย้อนหลังของ SCC เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 2.5 เท่า ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2549 เทียบกับระดับ 2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2548 อันเป็นผลมาจากผลประกอบการที่อ่อนแอลงและการรวมหนี้ของ TPC เมื่อรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม ระดับอัตราส่วน net debt to EBITDAR เพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 2.2 เท่า ณ สิ้นครึ่งปีแรกของปี 2549 จากระดับ 2.0 เท่า ณ สิ้นปี 2548 แม้ว่าแผนการลงทุนที่สูงอาจทำให้สถานะทางการเงินของ SCC มีแนวโน้มที่ลดความแข็งแกร่งลง โดยเฉพาะในช่วงภาวะการดำเนินงานที่อาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง ฐานของ EBITDAR ที่แข็งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทลงได้ในระยะยาว

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

ติดต่อ: อรวรรณ การุณกรสกุล, เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, วสันต์ ผลเจริญ, Vincent Milton + 662 655 4755

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของฟิทช์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน