ค่าเงินเยนพุ่ง : หวั่น G-7 บีบปรับดุลการค้า

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงมีพื้นฐานอ่อนแอ เนื่องจากตลาดเงินเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ น่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 5.25% ต่อไป หลังจากที่ปรับเพิ่มอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ปี เพื่อบรรเทาความร้อนแรงของภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่เงินเยนญี่ปุ่นมีค่าเข้มแข็ง เมื่อเทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ โดยเฉพาะเงินยูโร ได้รับผลดีจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจขยับสูงขึ้น ประกอบกับเจ้าหน้าที่การเงินของยุโรปต้องการให้ที่ประชุม G7 กดดันให้ค่าเงินเยนเพิ่มสูง เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ ส่วนเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าโน้มต่ำลง เพราะความอึมครึมทางการเมืองภายในประเทศอังกฤษ รวมถึงความไม่แน่นอนของทิศทางอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ยังคงเคลื่อนไหวเพราะปัจจัยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเป็นสำคัญ

การซื้อขายเงินตราต่างประเทศค่อนข้างเงียบเหงาในตลาดสหรัฐฯช่วงต้นสัปดาห์ เป็นผลจากตลาดเงินสหรัฐฯ หยุดทำการ ทำให้ปริมาณการค้าสกุลเงินต่างๆ หนาแน่นในตลาดยุโรปและเอเชีย ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังคงอ่อนไหวในช่วงแรก แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจเกี่ยวกับการจ้างงานเดือนสิงหาคมอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ แต่นักค้าเงินคาดกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯคงรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ไปจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่อ่อนกำลังลง ช่วยประคับประคองป้องกันภาวะเงินเฟ้อรุนแรงไว้แล้ว ทางการสหรัฐฯ จึงไม่น่ากังวลในประเด็นเงินเฟ้อมากนัก และหันไปให้ความสำคัญกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงมองว่าผลตอบแทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯกับเงินสกุลอื่นๆ เริ่มแคบลง ทำให้มีการเทขายเงินดอลลาร์และไปถือเงินยูโรกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์มีค่ากระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในเวลาถัดมา เนื่องจากเงินตราสกุลเดียวยุโรปมีค่าทรุดต่ำลง หลังจากตัวเลขภาคบริการเดือนสิงหาคมของกลุ่มยูโรไม่สดใสเท่าที่ควร โดยขยายตัวในอัตราต่ำสุดตั้งแต่ต้นปี สร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุนที่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจยูโรกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นแล้ว ในทางตรงกันข้าม ปรากฏว่ารายงานเศรษฐกิจบางรายการของสหรัฐฯ อาทิ ต้นทุนด้านแรงงาน และการขยายตัวภาคบริการ กลับขยับสูงขึ้น จนเกรงว่าทางการสหรัฐฯ อาจเปลี่ยนใจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกหน ส่งผลให้นักลงทุนบางส่วนเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เก็บไว้ ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ ของนครซานฟรานซิสโก Janet Yellen ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าแบงก์ชาติสหรัฐฯ มีท่าทีที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากความไม่แน่นอนของรายงานตัวเลขเศรษฐกิจ ทำให้ภาพโดยรวมของภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ชัดเจน ธนาคารกลางจึงยังคงต้องจับตาแนวโน้มเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิดต่อไป

เงินเยนญี่ปุ่น ได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนในช่วงไตรมาสที่ 2 เพิ่มขึ้นถึง 16.6% สะท้อนว่าธุรกิจญี่ปุ่นค่อนข้างเข้มแข็งแล้ว ทำให้มีการขยับขยายกิจการ และน่าจะเป็นชนวนให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้อีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ขณะเดียวกัน นักค้าเงินคาดว่าในที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่นตอนปลายสัปดาห์ ถ้อยแถลงของผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นน่าจะโน้มเอียงไปที่การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในระยะต่อไป นอกจากนี้ นาย Thomas Mirow เจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงของเยอรมันได้ออกมาวิจารณ์ในเชิงที่ต้องการให้ที่ประชุมรัฐมนตรีคลังของกลุ่ม G7 ซึ่งจะจัดขึ้นในสิงคโปร์ช่วงเดือนกันยายนนี้ ออกมากดดันให้ค่าเงินเยนสูงขึ้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะเงินยูโร เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องดุลการค้าไม่สมดุลระหว่างประเทศต่างๆ ปัจจุบัน ญี่ปุ่นและจีน ดูเหมือนจะตกเป็นเป้าที่กลุ่ม G7 ต้องการให้ค่าเงินเยนและเงินหยวนสูงขึ้น เนื่องจากเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าต่างประเทศเป็นจำนวนมาก เป็นที่น่าสังเกตว่า เงินเยนยังได้รับแรงกระตุ้นเล็กน้อยจากข่าวดีเกี่ยวกับการที่เจ้าหญิง Kiko ได้ประสูติพระโอรสเป็นองค์แรกในรอบ 40 ปีแก่ราชวงศ์ญี่ปุ่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นตื่นเต้นมีความสุข และคาดว่าจะจูงใจให้เกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นด้วย

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าอ่อนกำลังลงเป็นลำดับในสัปดาห์นี้ หลังจากที่นักลงทุนไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางอังกฤษจะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกหรือไม่ เพราะตัวเลขภาคบริการเริ่มอึมครึม ทำให้เกรงว่าพิษอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มในเดือนสิงหาคมอาจทำให้ภาคธุรกิจบางแขนงได้อ่อนแรงลงแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ฉุดให้ค่าเงินปอนด์ลดต่ำลงตอนปลายสัปดาห์ ได้แก่ ความสับสนเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในอังกฤษ ซึ่งมีกระแสข่าวว่านายกรัฐมนตรี Tony Blair อาจลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงาน และอาจจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนด

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ มีค่าแข็งแกร่งในช่วงแรก โดยซื้อขายในราคาเฉลี่ยราว 637-638 ดอลลาร์/ออนซ์ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์มีพื้นฐานอ่อนแอ ประกอบกับราคาโลหะมีค่าอื่นๆ เข้มแข็ง พลอยดึงให้ทองคำขยับขึ้นด้วย อีกทั้งอุบัติเหตุในเหมืองทองคำแห่งหนึ่งของแอฟริกาใต้ที่อาจต้องปิดแก้ไขซ่อมแซมชั่วคราว ส่งผลให้ตลาดทองหวั่นวิตกและมีการซื้อทองคำล่วงหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำทรุดต่ำลงอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 618 ดอลลาร์/ออนซ์ในเวลาถัดมา เมื่อค่าเงินดอลลาร์กระเตื้องสูงขึ้น และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีทิศทางโน้มต่ำลง หลังจากวิกฤตนิวเคลียร์อิหร่านเริ่มคลี่คลาย ทำให้นักเก็งกำไรทยอยขายทองคำออกมา

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 5 กันยายน 2549 เทียบกับวันที่ 7 กันยายน 2549 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2820 ดอลลาร์/ยูโร (1.2736 ดอลลาร์/ยูโร) 116.05 เยน (116.46 เยน) และ 1.8935 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8748 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2549 เท่ากับ 627.40 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 618.0 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549