ฮิตาชิ จีเอสที ประกาศความสำเร็จผู้นำเทคโนโลยี พร้อมฉลองครบรอบ 50 ปีการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์

ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ฮิตาชิ) ฉลองครบรอบ 50 ปีแห่งการกำเนิดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ของวงการอุตสาหกรรมไอทีที่มีต้นกำเนิดที่เมืองซานโฮเซ่ สหรัฐอเมริกา พร้อมๆ กับการฉลองความสำเร็จในการทำให้ areal density หรืออัตราความหนาแน่นของข้อมูลต่อพื้นที่สูงถึง 345 กิกะบิทต่อตารางนิ้ว ด้วยการใช้เทคโนโลยี Perpendicular Magnetic Recording (PMR) หรือการบันทึกข้อมูลแบบแนวดิ่ง และจากความสำเร็จของการทดลองในห้องแล็บนี้ แสดงถึงการพัฒนาปริมาณความหนาแน่นของข้อมูลที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2.5 เท่าของฮาร์ดไดรฟ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในปัจจุบัน

ฮิตาชิคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2552 อัตราความหนาแน่นของข้อมูลต่อพื้นที่ ที่ 345 กิกะบิทต่อตารางนิ้วนี้ จะนำไปสู่การผลิตฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้ว สำหรับเดสก์ท็อปที่มีความจุสูงถึง 2 เทราไบต์ และฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 2.5 นิ้ว สำหรับโน้ตบุ๊คที่มีความจุ 400 กิกะไบต์ ตลอดจนฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 1.8 นิ้วที่มีความจุ 200 กิกะไบต์เลยทีเดียว โดยในครึ่งปีแรกของปี 2550 ฮิตาชิคาดหวังที่จะผลิตฮาร์ดไดรฟ์ที่มี areal density ประมาณครึ่งหนึ่งของ 345 กิกะไบท์ต่อตารางนิ้ว ด้วยการผลิตฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้วที่มีความจุ 1 เทราไบต์ออกสู่ตลาด

ความสำเร็จในการทดสอบเพิ่มความหนาแน่นของข้อมูลต่อพื้นที่ครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ยืนยันการปรับเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่มีมากว่า 50 ปี แต่เป็นการวัดอนาคตของธุรกิจฮาร์ดไดรฟ์ โดยคุณสมบัติของความหนาแน่นของข้อมูล 345 กิกะบิทต่อตารางนิ้วนี้จะเห็นภาพได้อย่างชัดเจนภายใน 2-3 ปีนี้ โดยนักวิจัยของฮิตาชิคาดการณ์ว่า การขยายตัวของเทคโนโลยี PMR จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของฮาร์ดไดร์ฟมากกว่า 2 ทศวรรษข้างหน้า ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนและทันสมัยมากขึ้น อาทิ pattern media และ thermally-assisted recording

ด้วยเทคโนโลยีนี้ ฮิตาชิคาดการณ์ว่า การพัฒนาเพื่อเพิ่มอัตราความหนาแน่นของข้อมูลบนฮาร์ดไดรฟ์ยังคงมีอย่างต่อเนื่องไปอีกใน 10 ปีข้างหน้า ยกตัวอย่างคือ ภายในประมาณ พ.ศ. 2559 อัตราความหนาแน่นของข้อมูล 4 เทราบิทต่อตารางนิ้ว จะสามารถนำไปสู่การผลิตฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้ว ความจุ 25 เทราไบต์ได้ และนอกเหนือจากนั้นฮิตาชิคาดการณ์ในความเป็นไปได้ในการพัฒนาฮาร์ดไดรฟ์ที่มีอัตราความหนาแน่นของข้อมูลมากถึง 100 เทราบิทต่อตารางนิ้ว ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้วความจุ 0.65 เพทาไบต์ (petabyte) ได้อีกด้วย

มร. ฮิโรอากิ นากานิชิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า “เราเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่า อนาคตของฮิตาชิ และอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟที่ประกอบด้วยการวิจัยด้านเทคโนโลยีเหล่านี้จะมีการเติบโตสูงต่อไปอีก ผู้คิดค้น RAMAC ไม่สามารถที่จะเล็งเห็นวิวัฒนาการในอีก 5 ทศวรรษข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไรเมื่อเขาผลิต RAMAC เมื่อปี 2499 แต่ในวันนี้เรากำลังฉลองครบรอบ 50 ปี และด้วยการลงทุนในการวิจัยอย่างต่อเนื่อง เราก็รอคอยที่จะฉลองครบรอบ 75 ปี ของเทคโนโลยีฮาร์ดไดรฟ์อีกเช่นกัน”

ก้าวสู่การพัฒนามากกว่า 50 ปี
ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี PMR มาใช้ในการผลิตฮาร์ดไดรฟ์จำนวนมากในปีนี้ เหมาะกับการฉลองครบรอบ 50 ปี ของฮาร์ดไดรฟ์ โดยนักวิจัยกำลังมองไปถึงการเอาชนะอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ที่อาจมีผลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีของฮาร์ดไดรฟ์ ความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่นักออกแบบฮาร์ดไดรฟ์กำลังเผชิญคือ การเพิ่มความหนาแน่นของข้อมูล ในขณะที่แผ่นแม่เหล็กในดิสก์เก็บข้อมูลจะต้องมีขนาดเล็กลง และในที่สุด ขนาดก็จะเล็กเกินกว่าที่ทนความร้อนที่เกิดจากการใช้งานในระดับอุณหภูมิห้องปกติได้ซึ่งเทคโนโลยี Patterned media และ thermally-assisted recording จะกลายเป็นโซลูชั่นแก้ปัญหาดังกล่าว

ปัจจุบัน โดยทั่วไป 100 อนุภาคแม่เหล็ก จะทำให้เกิดข้อมูล 1 บิท นักวิจัยพบว่า ด้วยเทคโนโลยี Patterned media ซึ่งทำงานราวกับเป็นสนามแม่เหล็กเดี่ยวที่เก็บข้อมูลแต่ละส่วน และด้วยการใช้อนุภาคแม่เหล็ก จำนวนน้อยนี้ เทคโนโลยี Patterned media จะช่วยให้เกิดบิทของข้อมูลต่อตารางนิ้วมากขึ้นโดยที่ยังทำงานอยู่ในสภาวะอุณหภูมิเดิม

โดยแทนที่จะใช้อนุภาคแม่เหล็กน้อยลงเพื่อเก็บบิทของข้อมูลแต่เทคโนโลยี thermally-assisted recording จะช่วยให้อนุภาคแม่เหล็กมีขนาดเล็กลงในขณะที่อุณหภูมิมีการเปลี่ยนปลง ด้วยคุณสมบัติสมชื่อเทคโนโลยีดังกล่าว thermally-assisted recording จะใช้เลเซอร์ในการเร่งความร้อนในขณะใช้หัวอ่านแม่เหล็กกำลังทำงานในการเก็บบิทข้อมูลที่เล็กลง ซึ่งสามารถทำให้ข้อมูลมีความแม่นยำในระดับอุณภูมิห้องปกติด้วยการใช้อนุภาคแม่เหล็กที่มีขนาดเล็กมากแต่สามารถบีบอัดข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง

นักวิจัยฮิตาชิคาดว่า จะสามารถใช้เทคโนโลยี patterned media สำหรับฮาร์ดไดรฟ์ภายในปี พ.ศ. 2553 และเชื่อว่าหลังจากนั้นอีกหลายปี จะสามารถรวมกับเทคโนโลยี thermally-assisted recording ได้เมื่อถึงเวลาที่เทคโนโลยี patterning อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ

เส้นทางสู่ซานโฮเซ่ นำสู่ประวัติฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์
ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ตัวแรกของโลก มีชี่อว่า RAMAC (Random Access Method of Accounting and Control) ออกสู่สายตาโลกเมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2499 ด้วยความจุ 5 เมกะไบต์ บรรจุอยู่ในตู้ขนาดเท่ากับตู้เย็นและมีน้ำหนัก 1 ตัน

ในต้นปี พ.ศ. 2495 บริษัท ไอบีเอ็ม ได้เปิดห้องวิจัยนำสมัยตั้งอยู่ที่ 99 ถนนนอร์ทเทรอ ดามในเมืองซานโฮเซ่ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยห้องวิจัยนี้นำไปสู่การคิดค้นฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ ไอบีเอ็มยังคงอยู่ที่นอร์ทเทรอ ดาม และขยายสำนักงานไปยังใจกลางเมืองต่างๆ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2499 บริษัทฯ ได้ย้ายไปยังโรงงานผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์แห่งใหม่ที่ 5600 ถนนคอตเติล ในเมืองซานโฮเซ่ตอนใต้

บริษัท ฮิตาชิ เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เป็นบริษัทแรกๆ ที่ริเริ่มธุรกิจฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ โดยได้เริ่มเข้ามาในธุรกิจในปี พ.ศ. 2503 หลังจากนั้น ในปี พ.ศ. 2546 ฮิตาชิได้สานต่องานคิดค้นของไอบีเอ็มด้วยการซื้อธุรกิจฮาร์ดไดรฟ์รวมเข้ากับธุรกิจเดิมของฮิตาชิเอง และได้ก่อตั้งเป็น ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ ปัจจุบันฮิตาชิยังคงมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานโฮเซ่ และมีพนักงานกว่า 3 พันคนประจำสำนักงานดังกล่าว โดยฮิตาชิมีพนักงานกว่า 27,000 คนทั่วโลก

1Areal density คือ จำนวนบิทของข้อมูลที่สามารถถูกบันทึกบนแผ่นดิสก์หรือแพลตเตอร์ โดยทั่วไปวัดหน่วยเป็นตารางนิ้ว
2การคาดการณ์อยู่บนพื้นฐานของ ฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 3.5 นิ้ว ความจุ 500 กิกะไบต์บน 4 แพลตเตอร์, ฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 2.5 นิ้วความจุ 200 กิกะไบต์ บน 2 แพลตเตอร์ และฮาร์ดไดรฟ์ขนาด 1.8 นิ้วความจุ 100 กิกะไบต์บน 2 แพลตเตอร์

เกี่ยวกับ ฮิตาชิ โกลบอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ฮิตาชิ จีเอสที)
ฮิตาชิ จีเอสที ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2546 ในฐานะที่เป็นบริษัทร่วมระหว่าง ฮิตาชิ และ ไอบีเอ็ม โดยมีเป้าหมายในการประกอบธุรกิจด้านเทคโนโลยีการเก็บข้อมูล จุดมุ่งหมายหลักของบริษัทฯ คือการอำนวยความสะดวกด้านการเข้าถึงข้อมูลดิจิตอลปริมาณมากๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิตอลได้อย่างสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมการใช้งานทั้งในสำนักงาน บนท้องถนนหรือที่บ้านพักอาศัยทั่วไป ทำให้ผู้บริโภคสามารถดำเนินชีวิตในโลกดิจิตอล ด้วยการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์คุณภาพสูง จากประวัติอันยาวนานในการประดิษฐ์ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ฮิตาชิ จีเอสที จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดด้วยการฉลองปีทองของเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูล ในปี พ.ศ. 2549 ฮาร์ดไดร์ฟมีอิทธิพลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และคอนซูมเมอร์อิเล็กทรอนิคส์นับตั้งแต่มีการคิดค้นนวัตกรรมนี้เมื่อ 50 ปีที่แล้ว และสิ่งนี้คือมรดกของฮิตาชิ จีเอสที ในวันนี้ สู่นิยามของฮาร์ดไดร์ฟขนาดเล็กที่ได้มาตรฐาน ความสามารถในการจัดเก็บข้อมูล ประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ

ฮิตาชิ จีเอสที มีพนักงานมากกว่า 27,000 คนทั่วโลก บริษัทฯ ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฮาร์ดไดร์ฟเพื่อการเก็บข้อมูลหลากหลายประเภทเพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเดสก์ทอปคอมพิวเตอร์ เซิร์ฟเวอร์ประสิทธิภาพสูง คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค และอุปกรณ์คอนซูเมอร์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ฮิตาชิ จีเอสที สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.hitachigst.com

เกี่ยวกับ Hitachi, Ltd.
Hitachi, Ltd. (NYSE: HIT / TSE: 6501), มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น Hitachi เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำระดับโลก ที่มีพนักงานราว 356,000 คนทั่วโลก ในปีพ.ศ. 2548 บริษัทฯ มียอดจำหน่ายสินค้าโดยรวม (ประกาศ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2549) อยู่ที่ 9,464 พันล้านเยน (80.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) บริษัทมีผลิตภัณฑ์ ระบบ และบริการทางธุรกิจที่หลากหลายครอบคลุมตลาดมากมาย อาทิ ตลาดระบบสารสนเทศ ตลาดอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ ตลาดระบบพลังงานและอุตสาหกรรม ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค และตลาดบริการทางการเงินและวัสดุภัณฑ์ หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับ Hitachi สามารถเยี่ยมชมเว็บไซต์ http://www.hitachi.com

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
รุ่งนภา ชาญวิเศษ/ ชนัตถ์ แนวณรงค์
เวเบอร์ แชนด์วิค (ประเทศไทย)
โทร. 0-2287-1000 ต่อ 279 หรือ 134
อีเมล์ chanut@webershandwick.com