ข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ : ส่งออกเพิ่ม…ดันราคาพุ่ง

ตั้งแต่ต้นปี 2549 ราคาข้าวเหนียวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือมูลค่าการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ในช่วง 9 เดือนของปี 2549 สูงถึง 4,653 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8 ตลาดส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญคือจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งมีการนำเข้าเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบในการทำขนมขบเคี้ยว และผลิตเหล้าสาเก ผลของการส่งออกที่เพิ่มขึ้น และความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวและอาหารสำเร็จรูป คาดว่าในช่วงเดือนธันวาคมนี้ราคาข้าวเปลือกข้าวเหนียวของไทยจะพุ่งไปแตะที่ตันละ 10,000 บาท ส่งผลทำให้ในฤดูกาลปลูกปี 2550/51 เกษตรกรหันมาปลูกข้าวเหนียวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาเกษตรกรบางส่วนหันไปปลูกข้าวหอมมะลิแทนข้าวเหนียว รวมทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากการที่รัฐบาลร่วมมือกับภาคเอกชนในการเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ โดยการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อให้มีผลผลิตคุณภาพตรงกับความต้องการทั้งเพื่อบริโภคโดยตรงและความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่องมากขึ้น นับว่าจะเป็นการผลักดันการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ต่อไปในอนาคต

ผลผลิตข้าวเหนียวในปี 2549/50 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.35 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ทั้งนี้เนื่องจากเกษตรกรลดพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวและหันไปปลูกข้าวหอมมะลิทดแทน อันเป็นผลมาจากข้าวหอมมะลิราคาอยู่ในเกณฑ์สูงกว่า โดยพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวในปี 2549/50 เท่ากับ 18.07 ล้านไร่ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วลดลงร้อยละ 0.4 อย่างไรก็ตามคาดว่าในปี 2550/51 เกษตรกรจะหันมาขยายพื้นที่ปลูกข้าวเหนียว และผลผลิตข้าวเหนียวของไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงต่อเนื่องในปี 2549 และคาดว่าจะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงในปี 2550 เป็นแรงจูงใจสำคัญ รวมทั้งมาตรการรับจำนำข้าวในปี 2549/50 ที่กำหนดราคารับจำนำข้าวหอมมะลิต่ำลงจากในปีที่ผ่านมา

พื้นที่การผลิตข้าวเหนียวประมาณร้อยละ 80 อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยสัดส่วนของพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวต่อพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของจังหวัดต่างๆ ในกลุ่มจังหวัดในอีสานเหนือและกลุ่มจังหวัดที่อยู่ใกล้แม่น้ำโขงได้แก่ เลย หนองคาย อุดรธานี ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร มุกดาหาร และนครพนม มีสัดส่วนของพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวในระดับเกินกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดของแต่ละจังหวัด ในขณะที่กลุ่มจังหวัดในอีสานกลางและอีสานใต้มีสัดส่วนการปลูกข้าวเหนียวน้อยกว่า

ข้าวเหนียวเป็นที่นิยมบริโภคอย่างกว้างขวางในประเทศ และเป็นอาหารหลักของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ นอกจากการบริโภคโดยตรงแล้วยังมีการนำข้าวเหนียวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราพื้นเมือง การผลิตแป้งข้าวเหนียวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยว อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจคือ การขยายตัวของโรงงานผลิตอาหารที่ใช้แป้งข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบ โดยเฉพาะโรงงานผลิตอาหารญี่ปุ่นแช่แข็ง เช่น ขนมโมจิ เกี๊ยวซ่า เป็นต้น ซึ่งเน้นผลิตเพื่อการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น ความต้องการอาหารที่มีความนุ่มและพร้อมรับประทานไม่ยุ่งยากในการเตรียมจึงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การขยายตัวของการผลิตอาหารญี่ปุ่นแช่แข็งเพื่อการส่งออกนี้ส่งผลให้ความต้องการข้าวเหนียวเพื่อเป็นวัตถุดิบเพิ่มขึ้นด้วย รวมทั้งยังมีผลต่อการพัฒนาพันธุ์ข้าวเหนียวเพื่อให้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ โดยผู้ประกอบการมีการคัดเลือกพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก นับว่าเป็นการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวและสร้างยังเป็นการขยายตลาดข้าวเหนียวในประเทศอีกด้วย

ปริมาณการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 308,277 ตัน มูลค่า 4,653 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 และร้อยละ 38.8 ตามลำดับ คาดว่าในปี 2549 นี้ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์ของไทยจะเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ คาดว่าปริมาณการส่งออกทั้งปี 2549 เท่ากับ 480,000 ตัน มูลค่า 7,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.0 และร้อยละ 38.5 ตามลำดับ

การส่งออกข้าวเหนียวและผลิตภัณฑ์นั้นแยกออกได้เป็น
-ข้าวเหนียว ปริมาณการส่งออกข้าวเหนียวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 178,688 ตัน มูลค่า 2,588 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.1 และร้อยละ 55.7 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกอันดับหนึ่งคือ จีนมีสัดส่วนการส่งออก 36.6 ซึ่งการส่งออกข้าวเหนียวไปตลาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกข้าวเหนียวไปยังตลาดจีนเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 5 เท่าตัว กล่าวคือ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกข้าวเหนียวไปจีนเท่ากับ 945.9 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นถึง 4.8 เท่าตัว เนื่องจากจีนต้องการข้าวเหนียวเพื่อเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยวและเหล้าสาเก โดยการส่งออกข้าวเหนียวไปยังตลาดจีนเริ่มพุ่งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งนับเป็นปีแรกที่จีนแซงหน้ามาเลเซีย อินโดนีเซียและสหรัฐฯ ซึ่งเคยครองสัดส่วนการส่งออกข้าวเหนียวของไทยสามอันดับแรก ตลาดส่งออกข้าวเหนียวของไทยที่มีความสำคัญอันดับรองลงมาคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนำเข้าข้าวเหนียวเพื่อบริโภคโดยตรงของบรรดาแรงงานไทยที่เข้าไปทำงานและประกอบธุรกิจในประเทศต่างๆ ตลาดที่น่าสนใจในการขยายการส่งออกข้าวเหนียว คือ ประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง โดยในปัจจุบันการส่งออกข้าวเหนียวไปยังประเทศเหล่านี้ยังมีมูลค่าไม่มากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง

ถ้าพิจารณาแยกเกรดข้าวเหนียวที่ส่งออกแล้ว ข้าวเหนียวที่ไทยส่งออกนั้นร้อยละ 90.0 เป็นข้าวเหนียว10% ตลาดส่งออกหลักคือ จีน นอกจากนี้ในปี 2549 นับเป็นปีแรกที่จีนหันมานำเข้าข้าวเหนียว35% ด้วย โดยนำไปเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานผลิตขนมขบเคี้ยว การส่งออกข้าวเหนียว10%ของไทยนี้ยังกระจายไปอีกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก แสดงให้เห็นว่าการส่งออกข้าวเหนียวนั้นไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ ลาวเป็นตลาดส่งออกหลักข้าวเหนียว100% , 5% และ 25% ส่วนข้าวเหนียว15% ตลาดส่งออกสำคัญคือ พม่า กัมพูชา และฟิลิปปินส์

-ปลายข้าวเหนียว ปริมาณการส่งออกปลายข้าวเหนียวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 69,150 ตัน มูลค่า 794 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และร้อยละ 33.2 ตามลำดับ ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งคือ อินโดนีเซียมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 41.7 รองลงมาคือ ญี่ปุ่นร้อยละ 21.1 และจีนร้อยละ 20.5 ตามลำดับ

-แป้งข้าวเหนียว ปริมาณการส่งออกแป้งข้าวเหนียวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 55,890 ตัน มูลค่า 1,126 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 และร้อยละ 15.6 ตามลำดับ การส่งออกแป้งข้าวเหนียวของไทยกระจายไปถึงเกือบ 70 ประเทศทั่วโลก ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่นมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 34.1 ตลาดที่มีความสำคัญรองลงมาคือ ฮ่องกงร้อยละ 16.3 มาเลเซียร้อยละ 18.3 และจีนร้อยละ 6.1 แป้งข้าวเหนียวนั้นความต้องการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งเพื่อบริโภคโดยตรง และเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไทยเริ่มมีการนำเข้าแป้งข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าปริมาณและมูลค่ายังไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง กล่าวคือ ปริมาณการนำเข้าแป้งข้าวเหนียวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 24.37 ตัน มูลค่า 2.85 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5 และร้อยละ 13.3 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าอันดับหนึ่งคือ ญี่ปุ่นมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 97.4 รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และจีน ซึ่งจากการสอบถามพบว่าการนำเข้าแป้งข้าวเหล่านี้เพื่อผลิตขนมขบเคี้ยว

-สตาร์ชข้าวเหนียว ปริมาณการส่งออกสตาร์ชข้าวเหนียวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 4,549 ตัน มูลค่า 146 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 และร้อยละ 20.1 ตามลำดับ ตลาดส่งออกสำคัญคือ ญี่ปุ่นมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 52.6 รองลงมาคือ เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 30.4 เม็กซิโกร้อยละ 11.2 และสหรัฐฯร้อยละ 4.2 ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไทยเริ่มมีการนำเข้าสตาร์ชข้าวเหนียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับแป้งข้าวเหนียว แม้ว่าปริมาณและมูลค่ายังไม่มากนัก แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง กล่าวคือ ปริมาณการนำเข้าแป้งข้าวเหนียวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 เท่ากับ 60 ตัน มูลค่า 3.36 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วทั้งปริมาณลดลงร้อยละ 55.7 แต่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 140.4 แหล่งนำเข้าเกือบร้อยละ 90.0 คือมาเลเซีย ที่เหลืออีกร้อยละ 10.0 เป็นการนำเข้าจากสหรัฐฯ

ความต้องการข้าวเหนียวที่เพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกส่งผลให้ราคาข้าวเหนียวในปี 2549 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวที่เกษตรกรขายได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2549 พุ่งขึ้นไปเป็นตันละ 9,746 บาท จากที่เคยอยู่ในระดับตันละ 6,093 บาทในเดือนมกราคม 2549 และขยับเพิ่มขึ้นเป็นตันละ 8,062 บาทในเดือนกรกฎาคม 2549 คาดว่าราคาเฉลี่ยข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวที่เกษตรกรขายได้ในเดือนธันวาคม 2549 มีแนวโน้มจะแตะที่ตันละ 10,000 บาท เนื่องจากความต้องการข้าวเหนียวทั้งในประเทศและส่งออกยังคงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลผลิตข้าวเหนียวในปี 2549/50 นั้นเพิ่มขึ้นไม่มากนัก คาดว่าตลอดทั้งปี 2550 ราคาข้าวเหนียวจะยังอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งจะเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรขยายการปลูกข้าวเหนียวในปี 2550/51

ปัจจุบันไทยยังมีโอกาสในการขยายการผลิตข้าวเหนียวเพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหันมาปลูกพันธุ์กข.6 เพิ่มมากขึ้น ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูงกว่า 100 ถังต่อไร่ คุณภาพดี นุ่ม และมีกลิ่นหอม ส่งผลให้เกษตรกรสามารถขายข้าวได้ราคาดีขึ้น เนื่องจากราคาข้าวเหนียวนั้นขึ้นอยู่กับสภาพเมล็ดข้าวเป็นหลัก นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการจัดตั้งโครงการพัฒนาข้าวเหนียว ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคเอกชน โดยเลือกจังหวัดอุดรธานีเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวเหนียวถึงร้อยละ 83.0 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด และถือว่าเป็นจังหวัดผู้นำในการผลิตข้าวเหนียวของประเทศ มีโรงสีข้าวขนาดใหญ่(กำลังการผลิต 150-250 ตันข้าวเปลือกต่อวัน) และขนาดย่อมกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ เป้าหมายของโครงการเพื่อร่วมกันพัฒนาคุณภาพข้าวให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งโรงงานผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวและกลุ่มโรงสี รวมไปถึงเกษตรกรด้วย ปัจจุบันไทยมีผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แป้งจากข้าวประมาณ 20 ราย ถ้าทุกบริษัทร่วมกันพัฒนาเพื่อให้ผู้บริโภคทั่วโลกเมื่อพูดถึงผลิตภัณฑ์ข้าวเหนียวให้นึกถึงสินค้าจากไทยเป็นประเทศแรก