ตลาดเงินต่างประเทศมึน … งงทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ยูโร

เงินดอลลาร์มีค่าเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบเฉลี่ยราว 1.27-1.28 ดอลลาร์ต่อยูโร และ 117-118 เยนต่อดอลลาร์ ปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ การคาดคะเนของตลาดเงินเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และการแสดงความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น ก็ยังคงรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจญี่ปุ่นและแนวโน้มของนโยบายการเงินในระยะต่อไป เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและการขยับอัตราดอกเบี้ยจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืดที่อาจยังคงปรากฏอยู่ในภาคครัวเรือนและระบบเศรษฐกิจ ทางด้านเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ คลายความเข้มแข็งลง หลังจากที่ธนาคารกลางอังกฤษได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเรียบร้อยแล้วในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินแบงก์ชาติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สำหรับราคาทองคำต่างประเทศซื้อขายอยู่ในช่วง 623-632 ดอลลาร์/ออนซ์

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าอ่อนตัวในช่วงต้นสัปดาห์ โดยอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 1.28 ดอลลาร์/ยูโร เป็นผลจากรายงานข่าวที่ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนได้ระบุว่าประเทศจีนมีแผนการที่จะปรับสัดส่วนการถือเงินดอลลาร์ในสำรองเงินทุนระหว่างประเทศของจีน ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นมูลค่าสูงที่สุดในโลก ประมาณการกันว่ามีสกุลเงินดอลลาร์เป็นสัดส่วนราว 70% ซึ่งรายงานดังกล่าวส่งผลกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนไหว เพราะนักลงทุนบางส่วนพากันเทขายเงินดอลลาร์ด้วยเกรงว่าทางการจีนอาจหันไปถือสกุลเงินอื่นๆแทนมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์กลับมีค่ากระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา เมื่อนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ชี้ว่าทางการจีนไม่น่าจะมีแผนการดังกล่าวจริงจัง หากเป็นนโยบายที่ประเทศจีนต้องการจะดำเนินการ ก็ควรที่จะแถลงอย่างเป็นทางการในกรุงปักกิ่ง แต่รายงานข่าวที่ผู้ว่าการแบงก์ชาติจีนออกมาระบุประเด็นเหล่านี้ เกิดขึ้นระหว่างการเยือนประเทศเยอรมนี อีกทั้งทางการจีนคงไม่มีเจตนาที่จะเปิดเผยประเด็นอ่อนไหวเหล่านี้สู่สาธารณชนล่วงหน้า เพราะเมื่อตลาดเงินรับรู้ก่อนจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์ทรุดต่ำลง และไม่เป็นผลดีแก่มูลค่าสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนที่ยังคงมีสัดส่วนสกุลเงินดอลลาร์เป็นจำนวนมาก

เงินดอลลาร์ได้รับแรงพยุงเพิ่มเติมจากถ้อยแถลงของนาย Richard Fisher เจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯที่เชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังคงขยายตัวอย่างแข็งขัน และกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือและกึ่งฝีมือ จนอาจผลักดันให้ค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นในระยะต่อไป ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางจึงไม่น่าที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย ในขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็มีค่าเข้มแข็งเมื่อเทียบกับเงินเยน หลังจากที่รายงานตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นบางรายการ สะท้อนภาพอ่อนแอของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขณะที่นาย Shoichi Nakagawa หัวหน้านโยบายเศรษฐกิจของพรรครัฐบาลเองก็เห็นว่าประเทศยังไม่พ้นจากภาวะเงินฝืด จึงเสมือนการส่งสัญญาณให้ตลาดเงินคาดว่าญี่ปุ่นอาจยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆนี้

ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์มีค่าทรุดต่ำลงเล็กน้อย เมื่อทางการสหรัฐฯประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง 0.9% นับเป็นอัตราต่ำสุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2546 ขณะที่ยอดค้าปลีกเดือนตุลาคมก็ลดลงกว่าที่คาดไว้ ล้วนสนับสนุนแนวคิดว่าธนาคารกลางอาจต้องลดอัตราดอกเบี้ยลง แต่ในที่สุดค่าเงินดอลลาร์ก็ดีดตัวแข็งขึ้นอีก เพราะรายงานการประชุมของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐฯล่าสุดระบุว่ายังคงให้ความสำคัญกับประเด็นเงินเฟ้อ รวมทั้งยังแสดงท่าทีในทำนองที่ว่าคงไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ในเวลาเดียวกันปรากฏว่าเจ้าหน้าที่การเงินของแบงก์ชาติสหรัฐฯหลายคนก็ออกมาขานรับเกี่ยวกับความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ ช่วยตอกย้ำให้ตลาดเงินเชื่อว่าสหรัฐฯยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยมั่นคงต่อไป

ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินดอลลาร์มีค่าสูงขึ้นอีกอยู่ในอัตราเฉลี่ยราว 1.27 ดอลลาร์/ยูโร และ 118 เยน/ดอลลาร์ เนื่องจากรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯเปิดเผยยอดเงินทุนระยะยาวไหลเข้าสุทธิเดือนกันยายนมีมูลค่า 65.1 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขยอดขาดดุลการค้าในเดือนเดียวกันของสหรัฐฯ ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลเรื่องค่าเงินดอลลาร์ ประกอบกับค่าเงินยูโรกลับลดต่ำลง หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนตุลาคมของกลุ่มยูโรปรับลดลง บั่นทอนความเชื่อที่ว่ากลุ่มยูโรอาจเผชิญเงินเฟ้อและจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าโน้มต่ำลงเป็นลำดับ โดยซื้อขายอยู่ในช่วง 1.89-1.88 ดอลลาร์/ปอนด์ มีสาเหตุมาจากตลาดเงินมองว่าหลังจากที่อังกฤษเพิ่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 5.0% เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งถึงจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกรอบ โดยเฉพาะตอนนี้ ตัวเลขบางรายการชี้ว่าปัญหาเงินเฟ้อของอังกฤษกำลังผ่อนคลายลงแล้ว ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษอาจจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ได้รับแรงหนุนในช่วงแรกของสัปดาห์ ตามแนวโน้มของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ขยับขึ้น เพราะประเทศซาอุดิอาระเบีย อาจลดกำลังการผลิตน้ำมันลงตามสัญญาของโอเปก กลายเป็นข่าวที่เขย่าตลาดน้ำมัน อีกทั้ง รายงานเกี่ยวกับปริมาณการสำรองน้ำมันและการกลั่นที่ไม่ชัดเจนก็เป็นปัจจัยลบที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกเพิ่มสูงขึ้น และดึงให้ราคาทองคำปรับตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำได้ลดต่ำลงในช่วงท้ายสัปดาห์ เมื่อค่าเงินดอลลาร์ฟื้นตัวดีขึ้น กอปรกับรายงานข่าวที่ว่าฤดูหนาวในสหรัฐฯคงไม่รุนแรง และอาจไม่ต้องใช้พลังงานมากนัก ทำให้วงการน้ำมันคลายความตึงเครียดลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันพลอยอ่อนตัวลงด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 เทียบกับวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2810 ดอลลาร์/ยูโร (1.2790 ดอลลาร์/ยูโร) 117.59 เยน (118.23 เยน) และ 1.8959 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8880 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2549 เท่ากับ 632.90 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 625.40 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549