แนวโน้มสินเชื่อที่อยู่อาศัยในโค้งสุดท้ายของปี 49…เร่งแข่งออกผลิตภัณฑ์จูงใจผู้ซื้อบ้าน

ภาพรวมของธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 ปี 49 นั้น มีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลง โดยมีมูลค่า 1,313,500 ล้านบาท ขยายตัว 11.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัว 13.82% ในไตรมาส 2 และลดลงจากที่ขยายตัว 15.69% ในปี 48 ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2548 ตลาดที่อยู่อาศัยมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจัยลบในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลต่ออำนาจการซื้อที่อยู่อาศัย ซึ่งผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในขณะนี้จำเป็นต้องเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการวางแผนการซื้อที่อยู่อาศัยมากขึ้น จึงส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัยให้ชะลอออกไป เพื่อรอดูทิศทางของเศรษฐกิจให้ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งภาวะดังกล่าวส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์รวมถึงสถาบันการเงินต่างพยายามออกผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยในรูปแบบต่างๆเพื่อกระตุ้นให้การตัดสินใจของผู้ที่จะซื้อที่อยู่อาศัยให้ตัดสินใจเร็วขึ้น ทำให้การแข่งขันธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปี 49 เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งระบบในปี 2549 น่าจะขยายตัวที่ประมาณ 10-12% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,333,747 – 1,357,967 ล้านบาท จาก 1,212,497 ล้านบาท ในปี 2548

ธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวในไตรมาส 3 ปี 2549

ภาพรวมของสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลในไตรมาส 3 ปี 2549 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบมีมูลค่า 1,313,500 ล้านบาท ขยายตัว 11.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งลดลงจากที่ขยายตัว 13.82% ในไตรมาส 2 และลดลงจากที่ขยายตัว 15.69% ในปี 48 สำหรับยอดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 3 ปี 2549 มีมูลค่า 675,700 ล้านบาท ขยายตัว 12.32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลงจากที่ขยายตัว 14.19% ในไตรมาส 2 และลดลงจากที่ขยายตัว 14.67% ในปี 48

ทั้งนี้การขยายตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องนั้น สาเหตุน่าจะมาจาก

การชะลอการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องมาจากปัจจัยลบในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง นอกจากนี้ปัจจัยในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยยังเป็นส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัย และส่งผลให้การเติบโตของตลาดที่อยู่อาศัยและสินเชื่อที่อยู่อาศัยชะลอตัวลง ทั้งนี้ตั้งแต่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์มีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี MLR ปัจจุบันอยู่ที่ 7.50%-7.75% หรือมีการปรับขึ้นมาแล้วประมาณ 2.00% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี จากระดับต่ำสุดที่ 5.50%-5.75% และธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้มีการปรับเปลี่ยนข้อเสนออัตราดอกเบี้ยคงที่สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยเสนอเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นลง หรือหันมาใช้กลยุทธ์ข้อเสนอที่อิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ต้นทุนที่ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยโดยรวมตลอดอายุของสินเชื่อ

ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่างๆมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการขอสินเชื่อทุกประเภท โดยเฉพาะสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มียอดการถูกปฏิเสธเพิ่มขึ้น 20-30% จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 10% ของผู้ที่ต้องการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยความเข้มงวดในการพิจารณาสินเชื่อดังกล่าวเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อลดลง ทำให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างต้องเพิ่มความระมัดระวังเพื่อเป็นการควบคุมคุณภาพสินเชื่อของตน

ราคาที่อยู่อาศัยที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทำให้อำนาจการซื้อที่อยู่อาศัยลดลงนั้น ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำเป็นต้องมีการปรับสินค้าให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดในขณะนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการที่อยู่อาศัยไม่ว่าจะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมหรือบ้านจัดสรรได้เน้นไปยังกลุ่มลูกค้าระดับล่างถึงปานกลางมากขึ้น โดยมีระดับราคาประมาณ 1-5 ล้านบาท ถึงแม้ว่าจำนวนรายการของการขอสินเชื่อจะเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขยับฐานลูกค้าไปยังที่อยู่อาศัยในตลาดระดับล่างถึงปานกลาง จึงน่าที่จะเป็นปัจจัยส่งผลทำให้ยอดสินเชื่อขยายตัวชะลอลง

ทิศทางการแข่งขันตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ทิศทางการแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลในช่วงที่เหลือของปี 49 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การแข่งขันคงจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เนื่องจากปัจจัยภาวะทางเศรษฐกิจเริ่มคลายลง อาทิ ราคาน้ำมันเริ่มผ่อนคลายลง อัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวลดลง ปัจจัยการเมืองที่ผ่อนคลายลง และที่สำคัญทิศทางของอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มคงที่ ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ดังนั้นในช่วงที่เหลือของปี 49 สถาบันการเงินต่างคงเร่งทำการตลาดเพื่อเร่งทำเป้ารายได้สินเชื่อที่อยู่อาศัยให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ เพื่อเป็นการชดเชยจากการขยายตัวที่ลดลงในช่วงต้นปี ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำแบบสอบถาม ภายใต้หัวข้อ “สำรวจความต้องการที่อยู่อาศัยปี 2549 – 2551” ระหว่างวันที่ 28 กันยายน – 18 ตุลาคม 2549 และได้สอบถามถึงเหตุผลในการเลือกที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินนั้น ซึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกสถาบันการเงินนั้นอันดับแรก คือ ธนาคารเดียวกันกับที่เปิดบัญชีคิดเป็น 19.2% เหตุผลรองลงมา ได้แก่ มีเงื่อนไขในการขอสินเชื่อที่ดีกว่า 18.66% อัตราดอกเบี้ยดีกว่า 15.58% วงเงินให้กู้สูงกว่า 15.4% ระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ยาวกว่า 14.13% ให้คำแนะนำและบริการที่ดี 10.14% และค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อน้อยกว่า 6.88% ทั้งนี้ปัจจัยที่อยู่ในความสนใจของลูกค้าในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินสามารถนำมาวิเคราะห์ ดังต่อไปนี้

การแข่งขันอัตราดอกเบี้ย จากการที่ทิศทางของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในขณะนี้เริ่มมีเสถียรภาพ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR อยู่ที่ประมาณ 7.75-8% ในขณะนี้ ทำให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินต่างน่าจะหันมาออกผลิตภัณฑ์อัตราดอกเบี้ยในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อดึงดูดลูกค้า ซึ่งจะทำให้การแข่งขันด้านราคามีความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นยอดสินเชื่อ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งแรกที่ผู้ขอสินเชื่อใช้ในการเปรียบเทียบกันระหว่างสถาบันการเงินต่างๆ ก่อนตัดสินใจในการขอสินเชื่อ เนื่องจากผู้ขอสินเชื่อจำเป็นต้องคำนึงถึงระดับรายได้ของตนเอง และความสามารถในการผ่อนชำระ ซึ่งจะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างออกผลิตภัณฑ์โดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สามารถที่จะเจาะไปยังกลุ่มต่างลูกค้าต่างๆได้ทั่วถึง เพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสได้เลือกให้เหมาะสมกับความสามารถในการผ่อนชำระ และระดับรายได้ อาทิ

การใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่แบบ Hybird เช่น การหันมาใช้กลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้น เช่น ในช่วง 2-3 ปีแรก ของสินเชื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอาจจะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวในปัจจุบันเพื่อดึงดูดใจผู้ขอสินเชื่อ และหลังจากนั้นอาจจะคิดอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว เช่น MLR (ลบ) ในกรณีที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง เป็นต้น

การใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว Float rate เช่น อัตราดอกเบี้ยอิงอัตราลอยตัวแบบขั้นบันได ทั้งนี้ในปีแรกอาจจะเป็นในรูปแบบ MLR-1.5% ปีที่ 2 MLR-0.75% และปีที่3 MLR-0.5% และหลังจากนั้นคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว หรือแม้แต่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ ใน 3 เดือนแรก หลังจากนั้นสามารถเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวจนครบสัญญา เป็นต้น

ทั้งนี้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้น่าจะยังคงเป็นการการออกผลิตภัณฑ์ดอกเบี้ยแบบลอยตัวเป็นส่วนใหญ่ของอายุสัญญาของสินเชื่อ เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่จะมองว่า อัตราดอกเบี้ยอาจจะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงในปีหน้า ซึ่งทำให้ทางเลือกอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัวน่าจะเป็นที่จูงใจสำหรับผู้บริโภคมากกว่าอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ในช่วงดอกเบี้ยขาลง

เน้นคุณภาพของบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรวดเร็วในการอนุมัติสินเชื่อ ซึ่งการอนุมัติสินเชื่อนั้นจะประกอบด้วยระยะเวลาการประเมินราคา การขอเอกสารสรุปกลับไปที่ธนาคารก่อนเพื่อดำเนินการอื่นต่อไป ซึ่งขึ้นอยู่กับการประสานงานโดยตรงของธนาคารพาณิชย์และผู้ประเมิน การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อจากเครดิตบูโร และระยะเวลาขั้นตอนการอนุมัติสินเชื่อที่ค่อนข้างจะมีความหลากหลายในแต่ละธนาคารขึ้นอยู่กับระบบภายในของธนาคารนั้นๆ ทั้งนี้ภายใต้การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น ระยะเวลาในการอนุมัติสินเชื่อจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ทางสถาบันการเงินและธนาคารพาณิชย์ต่างนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน นอกจากนี้คุณภาพการบริการในการให้ข่าวสารข้อมูลและคำแนะนำในเรื่องของการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นกัน

การแข่งขันค่าธรรมเนียม ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าว ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการยื่นขอกู้ ค่าประเมินหลักประกัน และค่าธรรมเนียมในการไถ่ถอนก่อนกำหนด เป็นต้น การเสนอเงินกู้เพิ่มในกรณีลูกค้าย้ายสถาบันการเงิน (Refinance) ในการเสียค่าปรับการไถ่ถอนก่อนกำหนดให้กับสถาบันการเงินเดิม ถ้ามีปิดบัญชีก่อนเพื่อย้ายไปกู้สถาบันการเงินอื่นภายในระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด เป็นต้น ทั้งนี้ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเริ่มใช้กลยุทธ์ไม่คิดค่าธรรมเนียมการดำเนินงานด้านสินเชื่อออกมาทำตลาดบ้างแล้ว

การเสนอผลิตภัณฑ์อื่นของธนาคาร เช่น เสนอวงเงินสดสำรองฉุกฉิน โดยรายการส่งเสริมการขายเหล่านี้ นอกจากจะสร้างความพอใจให้กับลูกค้าแล้ว ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถเสนอสินค้าอื่นของธนาคารเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้าเพิ่มได้อีกด้วย อาทิกรมธรรม์อัคคีภัยและโจรกรรม และประกันที่อยู่อาศัย เป็นต้น

แคมเปญส่งเสริมการขาย เช่น การให้ลูกค้าสามารถเลือกระยะเวลาในการชำระได้นานถึง 30 ปี จากที่โดยที่ทั่วไประยะเวลาการให้ชำระจะอยู่ที่ระหว่าง 15 – 20 ปี บริการอื่นๆ อาทิ การให้กู้เพิ่มในการซื้อเฟอร์นิเจอร์ สุขภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการนำกลยุทธ์การแจกของรางวัลหรือส่งชิงโชคให้แก่ผู้ขอสินเชื่อเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการทำการทำตลาดร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เพื่อต้องการขยายฐานสินเชื่อ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการโครงการต่างๆ เพื่อความสะดวกและรวดเร็วแก่ลูกค้าของโครงการ เนื่องจากผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องการที่จะเร่งระบายสินค้าในช่วงที่เหลือของปี 2549 ด้วย ทั้งนี้การแข่งขันอัตราดอกเบี้ยจะมีความเข้มข้นมากขึ้น เช่น บางธนาคารมีการเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษและการให้วงเงินกู้สูงสุดให้แก่ลูกค้าของโครงการต่อไปกลยุทธ์อัตราดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งในขณะนี้อยู่ที่ 4.5% สำหรับโครงการที่ธนาคารร่วมกับโครงการขนาดใหญ่

บทสรุปและข้อคิดเห็น
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสสุดท้ายของปี 49 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยปล่อยใหม่ทั้งระบบในปี 2549 น่าจะขยายตัวที่ประมาณ 10-12% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,333,747 – 1,357,967 ล้านบาท จาก 1,212,497 ล้านบาท ในปี 2548 ทั้งนี้สถาบันการเงินต่างๆน่าจะมีการจัดแคมเปญและกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นตลาดสินเชื่อ เพื่อขยายฐานสินเชื่อในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ทั้งนี้การทำการตลาดจะเป็นไปในรูปของการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดยในแต่ละผลิตภัณฑ์จะมีอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษที่แตกต่างกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ตามความต้องการ โดยคำนึงถึงความสามารถในการผ่อนชำระสินเชื่อของลูกค้าเป็นหลักด้วย อีกทั้งการลดค่าธรรมเนียม การแจกของรางวัลและร่วมส่งชิงรางวัล จะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ในการดำเนินนโยบายการตลาดมากขึ้นในช่วงนี้ด้วย เพราะถึงแม้ว่าดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของลูกค้าสินเชื่อบ้านเป็นอย่างมากก็ตาม แต่ในสายตาของผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว ปัจจัยที่รองลงไปนับวันก็ยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น อาทิ การบริการ การสามารถอำนวยความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการให้บริการให้แก่ลูกค้าจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจของลูกค้าได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ในแง่ของธนาคารพาณิชย์เองแล้ว การแข่งขันด้านราคาย่อมจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร ธนาคารพาณิชย์จึงเสนอทางเลือกอื่นๆในการสร้างความพอใจให้ลูกค้าโดยหันมาใช้รายการส่งเสริมการขายอื่นๆเพื่อสร้างความเข้มข้นในการแข่งขัน

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์จะได้ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดหลายประการ เพื่อช่วยขยายสินเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นการออกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย การเสนออัตราดอกเบี้ยหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันของสินเชื่อเพื่อดึงดูดใจผู้ขอสินเชื่อก็ตาม แต่การบริหารความเสี่ยงก็ยังคงมีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร โดยธนาคารยังคงความเข้มงวดในการกลั่นกรองคุณสมบัติของผู้ขอสินเชื่อ เพื่อควบคุมคุณภาพของสินเชื่อ อาทิ นโยบายการให้บริการข้อมูลการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อให้ผู้ขอสินเชื่อเข้าใจถึงกลไกที่เกี่ยวข้องในระบบสินเชื่อ นโยบายตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอกู้สินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงที่เหลือของปี 49 นี้ ธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังคงน่าจะชะลอลง โดยสาเหตุน่าจะมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจในการซื้อที่อยู่อาศัย เนื่องจากผู้ซื้อมีความกังวลในเรื่องของรายได้อนาคตจึงยังอาจไม่กล้าตัดสินใจ ในทางตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจในปีหน้าจะมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และปัจจัยลบที่ผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เริ่มผ่อนคลายลงในทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อความมั่นคงทางรายได้ของตนในอนาคตมากขึ้น

สำหรับประเด็นที่น่าจะเป็นข้อพิจารณาสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ภายใต้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อาจเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้า ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลงในช่วงปีหน้า ดังนั้นจึงเป็นไปได้ว่าผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนหนึ่งอาจจะชะลอตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อรอดูทิศทางดอกเบี้ยให้มีความแน่ชัดก่อน แม้ว่าทางธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่างๆ จะได้ออกผลิตภัณฑ์ ที่มีรูปแบบอัตราดอกเบี้ยที่หลากหลายมาในตลาดในขณะนี้แล้วก็ตาม

นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านทำเลของโครงการที่อยู่อาศัย ที่มีโครงการรถไฟฟ้าตัดผ่าน ซึ่งนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ทำเลที่เป็นที่นิยมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยคงจะหนีไม่พ้น ทำเลที่จะมีโครงการรถไฟฟ้าตัดผ่าน ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีการพูดถึงความเป็นไปได้ในในการที่จะมีการดำเนินการเรื่องรถไฟฟ้าถึง 5 เส้นทางแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามผู้ซื้อยังคงต้องติดตามถึงความแน่ชัดของโครงการซึ่งน่าจะออกมาในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า ก่อนที่จะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคมปีหน้า ซึ่งทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งอาจจะต้องการรอดูความชัดเจนในเส้นทางรถไฟฟ้าก่อนทำการตัดสินใจ