“สามารถ” เตรียมดัน 19 ผลงานของเด็กไทยออกสู่ตลาดจริง จากโครงการ SIA 06

บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ประกาศความพร้อมทุกด้าน เดินหน้ารุกตลาดโมบายแอพพลิเคชั่นอย่างเต็มที่ เตรียมผลักดัน 19 ผลงานออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ พร้อมมุ่งสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่นบนมือถือรุ่นใหม่ต่อ หลังผลักดันเด็กไทยอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 4 ปี กับโครงการ Samart Innovation Awards ร่วมกับเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย พร้อมปรับรูปแบบการประกวดปีหน้า เพื่อพัฒนาขีดความสามารถให้เด็กไทย ในการสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพให้ทัดเทียมกับต่างประเทศมากขึ้น

นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บริษัทสามารถ” มีความพร้อมทุกด้านที่จะรุกตลาดด้านโมบายแอพพลิเคชั่นอย่างเต็มที่ ด้วยความเป็นผู้นำในการให้บริการคอนเทนต์ผ่านสื่ออินเตอร์แอ็คทีฟที่หลากหลายและเป็นที่ยอมรับของ Bug ประกอบกับประสบการณ์และความสำเร็จในการพัฒนามือถือ ไอ-โมบาย จนครองตลาดเฮาส์แบรนด์อันดับหนึ่งของไทย กลุ่มบริษัทสามารถจึงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดธุรกิจทางด้านโมบายแอพพลิเคชั่นอย่างจริงจัง โดยจะมีการผนวกแอพพลิเคชั่น ใหม่ๆ ที่ตรงกับความต้องการ และใช้งานง่ายในมือถือ ไอ-โมบาย เพื่อเพิ่มมูลค่า (Value-added) และสร้างความแตกต่าง

จากแนวโน้มที่สูงขึ้นของการใช้ Mobile Application เราจึงเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้นักพัฒนา ซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ทางเทคโนโลยี และความรู้ทางการตลาด เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยต่อไป จากการจัดประกวดโครงการ “Samart Innovation Awards“ อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เราพบว่าเยาวชนไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้มีจำนวนผลงานที่ส่งประกวดเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 200 ผลงาน และมีคุณภาพดีขึ้นอย่างชัดเจน ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้เยาวชน

เหล่านี้มีกำลังใจและเป็นต้นแบบของเยาวชนรุ่นต่อไป “กลุ่มบริษัทสามารถ” จึงพร้อมให้การสนับสนุนในเชิงพาณิชย์แก่ผู้ที่ได้รับรางวัลจากการประกวด จำนวน 19 ผลงาน อย่างเต็มที่ หลังจากที่เคยได้นำ 2 ผลงานของเด็กในปี 2005 มาพัฒนาออกสู่ตลาดไปแล้ว คือ บริการ Music Caller และ RSS Reader

สำหรับการประกวดครั้งต่อไปในปี 2007 นั้น ทาง “สามารถ” ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกวด โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าประกวดมากขึ้น โดย นายเจริญรัฐ ได้กล่าวถึงว่า “ในปีหน้านี้เราได้เพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมประกวดมากขึ้น นอกเหนือจากเงินรางวัลที่จะได้รับจากการประกวดในประเภท
ต่างๆ อาทิ การเสริมความรู้ในเชิงลึกเพื่อใช้ในการพัฒนาผลงานเพิ่มเติม ทั้งด้านเทคนิคและการใช้ภาษาในการเขียนโปรแกรม และความรู้ในเชิงการตลาด ภายใต้กิจกรรมที่ชื่อว่า “Samart Tutor” เพื่อเป็นการติวเข้ม เพื่อให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพมากขึ้น และโอกาสในการพัฒนาผลงานออกสู่ตลาดจริง พร้อมทั้งโอกาสที่จะได้ฝึกงาน หรือ ร่วมงานกับ “สามารถ” อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษสำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล Gold Award ในปีหน้า โดยจะมีการพาไปดูงานยังต่างประเทศ โดยสามารถติดตามข่าวคราวการประกวดในปีต่อไปได้ทาง website : samartcorp. com /innovation_ award”

สำหรับโครงการ Samart Innovation Awards 2006 ที่ผ่านมาในปีนี้ ได้แบ่งหัวข้อการประกวดออกเป็น 4 ประเภท คือ Multi-player Game Application, Internet Utility Application, Information Application และ Personal Information Management Application ซึ่งปีนี้ได้รับความสนใจจากอาจารย์และนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น เห็นได้จากมีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดถึง 331 ผลงาน มากขึ้นกว่า 3 ปีที่ผ่านมา และได้มีการคัดเลือกผลงานในรอบที่ 1 จำนวน 230 ผลงาน และในรอบที่ 2 จำนวน 160 ผลงาน จนถึงรอบสุดท้ายมีผลงานที่ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 29 ผลงาน

สำหรับรางวัลเพื่อความสามารถของคนไทย จากโครงการประกวด Samart Innovation Awards 2006 ในปีนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ซึ่งรางวัลสูงสุดได้แก่ รางวัล Gold Awards จะได้รับเงินรางวัลๆ ละ 100,000 บาท ในปีนี้มีถึง 4 รางวัล รวมเป็นเงินรางวัล 400,000 บาท ได้แก่ ผลงาน Nub-Nub, Mobomon, Smart Code Snapper และ iyourshare

ด้านรางวัล Silver Awards จะได้รับเงินรางวัลๆ ละ 50,000 บาท มีจำนวน 7 รางวัล รวมเป็นเงินรางวัล 350,000 บาท ได้แก่ Buffalo Racing, BomberQuest, Mobile Photo Blog, Smart Download, Mobile Control Electric House (MCEH),นัดแหลก!! และ Wiki-Me (Wikipedia Mobile Edition)

และรางวัล Bronze Awards จะได้รับเงินรางวัลๆ ละ 30,000 บาท มีจำนวน 7 รางวัล รวมเป็นเงินรางวัล 210,000 บาท ได้แก่ ผลงาน Museum Voice System, Clinic in your hand, Blood Groups Exploration, Restrospective Entrance, ระบบค้นหาสายรถเมล์อัตโนมัติ, Phonebook by Voice และ Walkie-Cashie

นอกจากนี้ยังมีรางวัลพิเศษสำหรับผลงานที่มีพัฒนาการดีเด่นจากการพัฒนาผลงานในรอบสุดท้าย ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลเป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท ได้แก่ ผลงาน 4 words และรางวัล Media Award ซึ่งได้รับการโหวตจากสื่อมวลชน ได้แก่ ผลงาน iyourshare พร้อมทั้งรางวัลชมเชย หรือรางวัล Smart Team อีกจำนวน 9 รางวัล สำหรับเงินรางวัลในแต่ละประเภท ยกเว้นรางวัลพัฒนาการดีเด่นและรางวัล Media Award นั้นจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ผู้เข้าประกวด 50 %, อาจารย์ที่ปรึกษา 25 % และมหาวิทยาลัย 25%

นายเจริญรัฐ ยังกล่าวสรุปในตอนท้ายอีกว่า “โครงการ Samart Innovation Awards เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมเพื่อสังคมที่เป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเยาวชนไทยถือเป็นรากฐานสำคัญต่อพัฒนาประเทศชาติในอนาคต และ “สามารถ” จะยังคงขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างรากฐานที่มั่นคงของสังคมไทยต่อไป”

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ : PR, บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
จุฑารัตน์ ชัยวิชาชาญ / วรรษกร ปลื้มจิตต์ / วทิรา ลุยากร
โทร. 0-2502-8183 / 0-2502-8687 / 0-2502-8236