ชิลี : ตลาดใหม่เครื่องประดับแท้ไทย…ที่มีศักยภาพในลาตินอเมริกา

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและชิลีในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา ตามรายงานของกรมศุลกากร พบว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่ไทยมักจะได้เปรียบดุลการค้า โดยในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 การค้าระหว่างไทยกับชิลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 408.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2548 โดยเป็นการที่ไทยส่งออกไปยังชิลีคิดเป็นมูลค่า 222.5 ล้านเหรียญสหรัฐ(เพิ่มขึ้นร้อยละ 113.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน) และเป็นการนำเข้าสินค้าจากชิลีเป็นมูลค่า 185.6 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548) คิดเป็นภาวะที่ไทยได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 36.8 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าไทยที่มีลู่ทางที่ดีในการขยายตลาดเข้าสู่ตลาดชิลีในปัจจุบันได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า พลาสติกและผลิตภัณฑ์ ข้าว ผลไม้ รวมถึงเครื่องประดับแท้ เป็นต้น โดยในส่วนของเครื่องประดับแท้นั้นพบว่าไทยสามารถเบียดคู่แข่งสำคัญอย่างอิตาลี จนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับแท้ที่สำคัญอันดับ 1 ในตลาดชิลีเป็นปีแรกในปี 2548 ที่ผ่านมา และคาดว่าในปี 2549 ต่อเนื่องถึงปี 2550 สินค้าเครื่องประดับแท้ไทยก็น่าจะสามารถเบียดคู่แข่งสำคัญทั้งอิตาลี รวมถึงสเปน และเม็กซิโก จนก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากยิ่งขึ้นได้อีกในตลาดชิลี โดยอาศัยความสามารถของแรงงานฝีมือที่ชำนาญและประณีตเหนือคู่แข่งเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน นอกจากนี้การที่ชิลีเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจดีที่สุดในแถบลาตินอเมริกาตามรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันของปี 2549-2550 (The Global Competitiveness Report 2006-2007) ของ The World Economic Forum โดยชิลีเป็นประเทศเดียวในลาตินอเมริกาที่ติดอันดับ 1 ใน 50 หรืออยู่ที่อันดับ 27 และกองทุนการเงินระหว่างประเทศยังประเมินว่าเศรษฐกิจชิลีในปี 2550 น่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2549 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 5.2 ก็นับเป็นการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีความเป็นไปได้ว่าแนวโน้มของกำลังซื้อผู้บริโภคในตลาดนี้ก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในปี 2550 และส่งผลต่อเนื่องให้ความต้องการสินค้าเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีเติบโตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยจึงไม่ควรมองข้ามประเทศนี้
นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า ขณะที่สถานการณ์การส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยโดยรวมในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 ที่มีมูลค่าทั้งสิ้น 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 ตามรายงานของกรมศุลกากรนั้น นับเป็นสถานการณ์การส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยที่ค่อนข้างชะลอตัวพอสมควรเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตร้อยละ 32.59 ในปี 2548 ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่ตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 45 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องประดับแท้ไทยในแต่ละปีมีการนำเข้าเครื่องประดับแท้จากไทยลดลงจากมูลค่า 668.5 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วง 10 เดือนแรกปี 2548 เหลือมูลค่า 635.1 ล้านเหรียญสหรัฐในช่วงเดียวกันปี 2549 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตที่ลดลงร้อยละ 5.0 ซึ่งก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี 2549 เป็นต้นมา แต่สำหรับสถานการณ์การส่งออกเครื่องประดับแท้ระหว่างไทยกับชิลีในช่วงเวลาดังกล่าวกลับเป็นไปในทิศทางที่แตกต่างอย่างชัดเจน โดยไทยสามารถส่งออกเครื่องประดับแท้ไปยังตลาดชิลีเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 56.88 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2548 และคาดว่าเมื่อสิ้นปี 2549 มูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยในตลาดนี้ก็น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ส่วนในปี 2550 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภายใต้เงื่อนไขที่อัตราแลกเปลี่ยนไม่ผันผวนมากนัก เครื่องประดับแท้ของไทยในตลาดชิลีก็น่าจะสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกด้วยอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 20 ตามภาวะเศรษฐกิจของชิลีที่ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของชิลีจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.2 ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในปี 2550 แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นพบว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยไปยังตลาดชิลียังมีมูลค่าไม่สูงมากนัก หรือคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 5 ของมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้โดยรวมของไทยในแต่ละปี ดังนั้นในภาวะที่สถานการณ์การแข่งขันโดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างสหรัฐฯทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องเร่งเปิดเกมรุกบุกตลาดใหม่อย่างชิลีอย่างจริงจังมากขึ้น เพราะความต้องการในตลาดชิลียังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ประกอบการไทยยังสามารถกระจายความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งพิงเพียงตลาดหลักที่นับวันจะมีภาวะการแข่งขันที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันยังเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างเสริมรายได้จากการส่งออกในโลกการค้าเสรีเช่นปัจจุบันให้เพิ่มขึ้นได้อีกด้วย
สำหรับภาวะตลาดสินค้าเครื่องประดับแท้ในชิลีนั้น พบว่าการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับแท้จากต่างประเทศมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2546 ตามอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศชิลีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.2 ในปี 2545 และคาดว่าจะขยับตัวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.2 ในปี 2549 ซึ่งตามรายงานล่าสุดของ Global Trade Atlas พบว่าในปี 2548 มูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีมีมูลค่าทั้งสิ้น 4.9 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.0 โดยทั้งนี้ในปี 2545 อัตราการเติบโตของการนำเข้าเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีเป็นร้อยละ 0.17 และปรับตัวเพิ่มเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 14.95 และร้อยละ 38.29 ในปี 2546-2547 ตามลำดับ ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2549 มูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีมีมูลค่า 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 2.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันในปี 2548 คิดเป็นอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 31.0 และส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับแท้โดยรวมของชิลีเป็นการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับเงิน ตามมาด้วยเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับโลหะมีค่าอื่นๆ โดยประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกเครื่องประดับแท้สูงสุดในตลาดชิลีในปี 2548 คือไทยที่สามารถชิงความเป็นหนึ่งในตลาดนี้จากอิตาลีได้เป็นปีแรก ด้วยสัดส่วนร้อยละ 25.24 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับแท้โดยรวมของชิลีจากตลาดโลก ขณะที่อิตาลีตามมาเป็นอันดับสองในสัดส่วนร้อยละ 20.42 ส่วนอันดับ 3-5 เป็นของเม็กซิโก(สัดส่วนร้อยละ 13.0) สเปน(สัดส่วนร้อยละ 11.52) และจีน(สัดส่วนร้อยละ 7.12) และถึงแม้ว่าในช่วง 9 เดือนแรกปี 2549 อิตาลีจะสามารถก้าวขึ้นมาทวงอันดับหนึ่งได้อีกครั้ง แต่เมื่อพิจารณาถึงส่วนแบ่งตลาดระหว่างเครื่องประดับแท้อิตาลีที่ถือครองร้อยละ 19.08 กับเครื่องประดับแท้จากไทยที่ครองส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 18.68 แล้วก็พบว่ามีความแตกต่างกันไม่มากนัก ดังนั้นโอกาสที่สินค้าเครื่องประดับไทยจะยึดครองตำแหน่งประเทศผู้ส่งออกเครื่องประดับแท้ที่สำคัญอันดับ 1 ในตลาดชิลีปี 2549 ต่อเนื่องจากปี 2548 นั้นก็ยังมีความเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ผู้ส่งออกก็ควรมีการวางแผนกลยุทธ์บุกตลาดที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน และประการสำคัญไม่ควรมองข้ามคู่แข่งอย่างสเปน และจีนที่ต่างก็มีการพัฒนาการผลิตเครื่องประดับแท้เพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่อง และมีการเปิดเกมรุกจนมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับด้วย

ซึ่งหากจัดแบ่งแหล่งนำเข้าตลาดเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีตามศักยภาพการแข่งขันในช่วง 9 เดือนแรกปี 2549 พบว่าสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ด้วยกันคือ
?ประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขัน หรือเป็นประเทศที่สามารถส่งออกเครื่องประดับแท้ไปยังตลาดชิลีได้เพิ่มมากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นด้วย ได้แก่สเปน จีน ปานามา อินโดนีเซีย ฮ่องกง และ สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ขณะที่อีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่สามารถส่งออกเครื่องประดับแท้ไปยังชิลีเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่ก็มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนแรกในปี 2548 ได้แก่อิตาลี ไทย และอินเดีย เป็นต้น ทั้งนี้แม้ว่าไทย และอิตาลีจะมีส่วนแบ่งตลาดที่ลดลง แต่ในปัจจุบันทั้งอิตาลี และไทยต่างก็ยังสามารถถือครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 35 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องประดับแท้โดยรวมของตลาดชิลีในแต่ละปี และกำลังเบียดแย่งชิงความเป็นหนึ่งกันในขณะนี้ ซึ่งหากผู้ส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยหวังจะรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้เป็นไปในลักษณะที่ยาวนานและยั่งยืน หรือมีศักยภาพการแข่งขันที่สูงยิ่งขึ้นนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องเร่งพัฒนาสินค้าสู่ตลาดระดับกลาง-บนให้มากขึ้น ทั้งการพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง และเน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขัน โดยเฉพาะกับสินค้าราคาถูกจากจีน ที่นับวันจะเป็นศักยภาพการแข่งขันเพิ่มขึ้นตามลำดับ
?ประเทศที่มีศักยภาพต่ำ คือประเทศที่มีมูลค่าการส่งออก และส่วนแบ่งตลาดสินค้าเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีลดลง อันได้แก่เม็กซิโก เยอรมนี โบลิเวีย ฝรั่งเศส และเปรู เป็นต้น
โดยทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยจะสามารถส่งออกไปยังตลาดชิลีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในอันดับต้นๆของตลาดเครื่องประดับแท้ชิลี แต่ขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ก็เห็นว่ายังคงมีปัจจัยพึงระวังหรืออุปสรรคในการขยายตัวของสินค้าเครื่องประดับแท้ไทยในตลาดชิลีหลายประการ อันได้แก่
?นักธุรกิจ/ผู้ส่งออกไทยหลายรายยังให้ความสนใจไม่มากนักที่จะเข้าไปสำรวจและขยายการค้าในตลาดใหม่อย่างชิลี เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายมีความเชื่อว่าตลาดดังกล่าวเป็นตลาดที่มีกำลังการซื้อต่ำและมีความเสี่ยงทางการค้าสูง
?ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปตลาดชิลียังมีอัตราค่าระวางที่สูงด้วยระยะทางที่ค่อนข้างไกล ทำให้สินค้าจากไทยยังมีความเสียเปรียบระดับหนึ่งต่อคู่แข่งขันอย่างบราซิล หรือเม็กซิโกที่อยู่ใกล้ชิลีมากกว่าไทย
?นักธุรกิจชิลีมักใช้ภาษาสเปนในการติดต่อ ขณะที่นักธุรกิจไทยไม่ค่อยสันทัดหรือยังไม่ชำนาญด้านภาษาสเปนนัก ทำให้มีอุปสรรคในการติดต่อสื่อสารกันโดยตรงไม่น้อย จึงมีผลให้การติดต่อการค้าระหว่างไทยกับชิลีต้องอาศัยตัวแทนจัดซื้อ (Buying Agents) เป็นตัวกลางในการดำเนินการแทนเป็นส่วนใหญ่
?การแข่งขันที่มีแนวโน้มทวีความเข้มข้นมากขึ้น จากบรรดาคู่แข่งที่ต่างคาดหวังจะแสวงหาตลาดใหม่ๆเช่นเดียวกันกับไทย โดยเฉพาะคู่แข่งจากจีน หรืออินเดียที่มีความได้เปรียบทางด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าไทย ทำให้สินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยในตลาดระดับกลางถึงล่างในตลาดชิลีมีโอกาสที่จะต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันทางด้านราคาเหมือนดังเช่นที่ผู้ประกอบการเครื่องประดับแท้ไทยต้องเผชิญมาแล้วในตลาดคู่ค้าสำคัญๆหลายแห่งในตลาดโลก
?ภาวะความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ปัจจุบันผู้ประกอบไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น อันมีผลให้สินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยมีราคาแพงขึ้นในสายตาของลูกค้าต่างชาติโดยเปรียบเทียบ ซึ่งหากในปี 2550 ทิศทางค่าเงินบาทของไทยมีค่าแข็งขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์มากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆของคู่แข่ง สินค้าส่งออกเครื่องประดับแท้ของคู่แข่งก็จะมีความได้เปรียบด้านราคามากกว่าไทย และอาจจะมีผลให้ผู้บริโภคในชิลีชะลอการตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทย จนส่งผลให้การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ของไทยในตลาดชิลีเติบโตไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ แต่ในทางกลับกัน หากเงินบาทไม่แข็งค่าในอัตราที่สูงกว่าค่าเงินสกุลอื่น ๆ ของคู่แข่งมากนักเหมือนกับในปี 2549 ที่ผ่านมา ก็อาจจะมีผลต่อการส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยในชิลีไม่มากนัก และเครื่องประดับแท้ไทยในตลาดชิลีก็น่าจะสามารถเป็นไปตามเป้าหมายในปี 2550 หรือเติบโตเกินกว่าร้อยละ 20 ได้ในที่สุด
ดังนั้น แม้ว่าไทยจะยังคงเป็นแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับต้นๆของสินค้าเครื่องประดับแท้ในชิลี หรือมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นอันดับหนึ่งในช่วงเวลา 1-2 ปีนับจากนี้ แต่ขณะเดียวกันคู่แข่งไทยแต่ละรายต่างก็มีการพัฒนาการผลิตเพื่อการส่งออกอย่างต่อเนื่องเช่นกัน การดำเนินกลยุทธ์ที่เข้มข้นเพื่อรักษาและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังนับจากนี้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคุณภาพสินค้า การสร้างแบรนด์สินค้าของตนเอง รวมถึงการวางแผนเพื่อพัฒนาสินค้าสู่ตลาดระดับกลาง-บนให้มากขึ้นทั้งการพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง และเน้นความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อลดผลกระทบจากการแข่งขันกับสินค้าราคาถูกจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรมีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนด้วย เพราะมีความเป็นได้ว่าอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2550 จะมีโอกาสผันผวนพอสมควร นอกจากนี้การดำเนินกลยุทธ์ในการบุกขยายตลาดเชิงรุกก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ทั้งการเดินทางไปแสวงหาลูกค้ารายใหม่ๆ ในตลาดชิลีโดยตรง หรือการเดินทางไปพบปะกับลูกค้าในต่างประเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและสร้างเครือข่ายทางการค้าสำหรับหาลู่ทางขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้การสร้างโอกาสที่ดีจากการได้พบปะเจรจาการค้าและเสนอขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรงนั้น ผู้ประกอบการไทยควรจัดหาบุคลากรที่สามารถสื่อภาษาสเปนได้ดีเดินทางไปด้วย เพื่อให้การบุกขยายตลาดส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดชิลีประสบความสำเร็จมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งขยายช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยเพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าเครื่องประดับแท้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดชิลีก่อนคู่แข่งมากขึ้น นอกจากนี้ควรเร่งวางแผนเจาะตลาดใหม่ๆในภูมิภาคลาตินอเมริกาด้วย โดยอาศัยชิลีเป็นฐานในการขยายการค้า หรือใช้เป็นช่องทางกระจายสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยผ่านชิลีไปยังประเทศอื่นๆในแถบลาตินอเมริกาที่มีการดำเนินการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีกับชิลีด้วย แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรจะต้องสำรวจ และศึกษาลู่ทางการตลาดอย่างละเอียดและชัดเจนเป็นรายประเทศก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาด เพื่อจะได้กำหนดกลยุทธ์ของสินค้าได้อย่างถูกต้อง และเพื่อให้การเจาะตลาดใหม่ๆของสินค้าเครื่องประดับแท้ไทยมีประสิทธิภาพมากที่สุด

บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าปี 2550 การส่งออกเครื่องประดับแท้ของไทยโดยภาพรวมในตลาดใหม่อย่างชิลีที่ภาครัฐเร่งรณรงค์ทำการบุกตลาดนอกเหนือจาก จีน ตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ตลาดเอเชียใต้ และตลาดรัสเซีย เป็นต้นนั้น น่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 ทั้งนี้เพราะความต้องการยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ดีตามการเติบโตของเศรษฐกิจของชิลี ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ประเมินว่าเศรษฐกิจชิลีในปี 2550 น่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.5 ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตร้อยละ 5.2 ในปี 2549 ก็นับเป็นการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มกำลังซื้อของผู้บริโภคในตลาดนี้ที่น่าปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกในปี 2550 นอกจากนี้ปัจจุบันชิลียังเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ดีที่สุดในแถบลาตินอเมริกาตามรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีศักยภาพการแข่งขันของปี 2549-2550 ของ The World Economic Forum ด้วย จึงทำให้ความต้องการสินค้าเครื่องประดับแท้ในตลาดชิลีก็น่าจะมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นได้ในปี 2550 ซึ่งก็นับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการเครื่องประดับแท้ไทยที่ต้องการขยายตลาด และกระจายความเสี่ยงจากการที่ต้องพึ่งตลาดหลักเพียงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่นับวันจะมีภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
แต่ทั้งนี้จากการที่ชิลีเป็นตลาดใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ของไทย ทำให้ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับนักธุรกิจส่งออกของไทย ประกอบกับสถานการณ์การแข่งขันก็มีแนวโน้มจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากจีนที่เข้ามาแข่งขันในตลาดเครื่องประดับแท้ชิลี ดังนั้นภาครัฐจึงควรเข้ามามีบทบาทในส่วนของการเผยแพร่ข้อมูลเบื้องต้นทั้งในแง่ของพฤติกรรมผู้บริโภคและมาตรการทางภาษีที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ต้องเร่งสำรวจ และศึกษาลู่ทางการตลาดอย่างละเอียดและชัดเจนก่อนการตัดสินใจเข้าสู่ตลาด เพื่อจะได้กำหนดกลยุทธ์ของสินค้าได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการดำเนินกลยุทธ์ในเชิงรุกเพื่อบุกขยายตลาด ทั้งการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพ และการสร้างแบรนด์สินค้าให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น เพื่อรองรับกลุ่มคนรายได้สูงที่มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในชิลีและเลือกจะซื้อสินค้าที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เร่งขยายช่องทางการจำหน่ายให้กว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยเพื่อสร้างโอกาสให้สินค้าเครื่องประดับแท้ไทยเป็นที่รู้จักในตลาดชิลีมากขึ้น ควบคู่กับการเร่งวางแผนเจาะตลาดใหม่รอบข้างชิลีในภูมิภาคลาตินอเมริกาด้วย โดยอาศัยชิลีเป็นฐานในการขยายการค้า หรือใช้เป็นช่องทางกระจายสินค้าเครื่องประดับแท้ของไทยผ่านชิลีไปยังประเทศรอบข้างชิลี หรือประเทศในแถบลาตินอเมริกาที่มีการดำเนินการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีกับชิลี ซึ่งรัฐบาลชิลีเองก็มีนโยบายผลักดันให้ชิลีเป็นประตูสู่ตลาดลาตินอเมริกาอยู่แล้ว ดังนั้น แม้ว่าชิลีจะอยู่ห่างไกล และนักธุรกิจชิลีมักใช้ภาษาสเปนที่นักธุรกิจไทยยังไม่ชำนาญมากนักในการติดต่อสื่อสาร แต่ขณะเดียวกันชิลีก็เป็นประเทศที่มีนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นแกนนำทางเศรษฐกิจของทวีปอเมริกาใต้ และมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศรอบข้างด้วย ดังนั้นผู้ส่งออกเครื่องประดับแท้ไทยจึงไม่ควรมองข้ามตลาดนี้