การแก้ไข พ.ร.บ.ต่างด้าว : ระยะสั้นกระทบไม่มาก…ระยะยาวต้องระวัง

จากการที่กระทรวงพาณิชย์ได้เสนอให้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เพื่อให้บทบัญญัติบางประการและบัญชีประเภทธุรกิจท้าย พ.ร.บ.มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในปัจจุบัน ตลอดจน ให้คำนิยามของคนต่างด้าวมีความชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นนั้น ในวันที่ 9 มกราคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ 2542 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ โดยได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในแง่กฎหมายให้มีความรัดกุมมากขึ้นในลำดับต่อไป

สรุปหลักเกณฑ์การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ 2542
ประเด็นสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวมีอยู่ 3 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก ได้แก่ การแก้ไขคำนิยามของคนต่างด้าว โดยให้เพิ่มเติมประเด็นสิทธิในการออกเสียงด้วย จากเดิมที่จะดูเพียงแต่สัดส่วนการถือหุ้นให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของทุนทั้งหมด ประเด็นที่สอง ได้แก่ ให้มีการแก้ไขบทลงโทษกรณีการประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือถือหุ้นแทน โดยให้เพิ่มโทษปรับเพิ่มขึ้น ประเด็นที่สาม ได้แก่ ให้มีการปรับปรุงบัญชีแนบท้ายในส่วนของบัญชีที่ 3 (ธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว) โดยผ่อนผันให้ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะอยู่แล้ว (เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธนาคารพาณิชย์ เงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ เป็นต้น) ได้รับการยกเว้นออกจากบัญชีที่3

แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบการ
ในส่วนของผู้ประกอบธุรกิจรายเดิมที่มีอยู่แล้วนั้น ในร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ได้ให้ระยะเวลาในการปรับตัว โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจในบัญชีที่ 1 (ธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้ต่างชาติประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษ เช่น กิจการหนังสือพิมพ์ สถานีวิทยุโทรทัศน์ การค้าที่ดิน เป็นต้น) และบัญชีที่ 2 (ธุรกิจที่เกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม เช่น การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ การค้าของเก่าหรือศิลปวัตถุ เป็นต้น) ซึ่งเป็นคนต่างชาติที่ประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนญาตตาม พ.ร.บ.ฉบับเดิม และผู้ที่มีการถือหุ้นแทนคนต่างด้าว(ผู้ที่ฝ่าฝืนมาตรา 6 มาตรา 7 หรือมาตรา 8 หรือฝ่าฝืนมาตรา 35 หรือมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542) จะต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์ภายใน 90 วัน รวมถึงต้องแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กำหนดภายในเวลา 1 ปี สำหรับบริษัทต่างชาติที่ถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 50 แต่มีสิทธิออกเสียง(Voting Right) เกินครึ่งหนึ่งจะต้องแจ้งกระทรวงพาณิชย์ภายใน 1 ปีและแก้ไขสิทธิในการออกเสียงให้ไม่เกินร้อยละ 50 ภายใน 2 ปีหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ ส่วนธุรกิจในบัญชีที่ 3 จะต้องแจ้งสัดส่วนการถือหุ้นและแจ้งสิทธิในการออกเสียงของต่างชาติกับกระทรวงพาณิชย์ภายใน 90 วัน และภายใน 1 ปี ตามลำดับ และสามารถดำเนินการต่อไปโดยไม่ต้องลดสัดส่วน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือธุรกิจที่สงวนให้กับคนไทย

อย่างไรก็ตาม ในส่วนธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการที่ได้มีการตัดข้อกำหนดเรื่องทุนขั้นต่ำของธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งออก(จากเดิมที่ให้ต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ได้หากมีเงินลงทุนขั้นต่ำรวมแล้วมากกว่า 100 ล้านบาทหรือทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าเกิน 20 ล้านบาทในกรณีค้าปลีก และทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านค้าเกิน 100 ล้านบาทในกรณีค้าส่ง) ซึ่งมีผลให้ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่งทุกรายต้องขออนุญาต ส่วนในกรณีที่เป็นธุรกิจที่เข้ามาใหม่หรือภายหลังกฎหมายอนุมัติจะต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด แต่การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้จะไม่มีผลต่อธุรกิจประเภทอุตสาหกรรม ธุรกิจส่งออกและธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการบีโอไอ ซึ่งทำให้การลงทุนโดยตรง(FDI) ในอุตสาหกรรมหลัก เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ

ผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า นักลงทุนต่างชาติได้เข้ามามีบทบาทในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมากในปัจจุบัน โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 34 ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดในปี 2549 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีนักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงและอาจจะได้รับผลกระทบจากการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มโทรคมนาคม และอสังหาริมทรัพย์ โดยร่าง พ.ร.บ.ที่มีการแก้ไขใหม่นี้จะส่งผลต่อบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ถือหุ้นในลักษณะผ่านตัวแทนในกรณีธุรกิจที่อยู่ในบัญชี 1 และ 2 เพราะทำให้บริษัทเดิมที่ตั้งอยู่แล้วและมีการถือหุ้นและสิทธิออกเสียงของต่างชาติเกินกว่าที่คำนิยามใหม่กำหนด ต้องทำการปรับโครงสร้างของบริษัทใหม่ อย่างไรก็ตาม จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายต้องปรับตัวดังกล่าวอาจจะมีอยู่ไม่มากนัก โดยทางตลาดหลักทรัพย์ประเมินในเบื้องต้นว่าจะมีบริษัทจดทะเบียนไม่เกิน 15 รายได้รับผลกระทบจากการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าส่วนใหญ่แล้วจะอยู่ในหุ้นกลุ่มสื่อสาร(กลุ่มดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 8.2 ของมูลค่าตลาดฯโดยรวม) ส่วนผลกระทบของการแก้ไข พ.ร.บ.ต่างด้าวต่อบริษัทจดทะเบียนนั้น เมื่อมองในด้านบวกแล้ว การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีเจตนาในการพยายามที่จะทำให้การจำแนกสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติในธุรกิจในประเทศไทยเป็นไปอย่างชัดเจนและมีความโปร่งใสมากขึ้นจากเดิมที่การตีความยังมีความไม่ชัดเจน จนนำไปสู่การใช้ประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมาย ประกอบกับ ยังเป็นการปกป้องธุรกิจของคนไทยในบัญชี 1 และ 2 และเปิดโอกาสให้คนไทยที่มีความพร้อมในการลงทุนมีโอกาสได้เข้าลงทุนในบริษัทซึ่งเดิมเคยมีสัดส่วนเงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติมากขึ้น อีกทั้ง เมื่อพิจารณาในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ที่มีการแก้ไขใหม่ พบว่า ระดับความรุนแรงของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่มากอย่างที่หลายฝ่ายกังวลไว้ในเบื้องต้น เนื่องจากกับธุรกิจส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นจะอยู่ในบัญชีที่ 3 (ธุรกิจการค้าและบริการ)ซึ่งยังคงสามารถประกอบธุรกิจได้ตามปกติ ตลอดจน ธุรกิจในบัญชีที่ 1 และ 2 ยังคงมีระยะเวลาในการปรับตัวอีกพอสมควรนับจากนี้ไปจนกว่าที่ร่าง พ.ร.บ.จะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และผ่านสภาฯจนกระทั่งมีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม การแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการลงทุนในมุมมองของผู้ลงทุนต่างชาติได้ในเชิงผลกระทบด้านลบต่อบรรยากาศการลงทุน และอาจกระทบต่อราคาหุ้นตัวอื่นๆที่มีสัดส่วนของต่างชาติถือครองอยู่ ประกอบกับจังหวะที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เป็นช่วงเวลาที่สภาพการลงทุนในตลาดหุ้นได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรการป้องกันการเก็งกำไรค่าเงินของ ธปท. และเหตุวินาศกรรมในกรุงเทพฯ ซึ่งยิ่งเป็นการกดดันการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ได้ในระยะต่อไป

ผลกระทบต่อการลงทุนโดยตรง
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายการดำเนินธุรกิจของคนต่างด้าวครั้งนี้ต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI (Foreign Direct Investment) อาจแยกพิจารณาเป็น 3 ประเด็น คือ ผลกระทบต่อนักลงทุนที่มีการลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้ว ผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนโดยตรงในระยะข้างหน้า และผลต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ผลกระทบต่อนักลงทุนรายเดิม การที่ร่างปรับปรุงพรบ.ได้กำหนดบทเฉพาะกาลซึ่งกำหนดให้บริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจตามบัญชี 1 และบัญชี 2 ปรับลดสัดส่วนการถือหุ้นและสิทธิออกเสียงให้ถูกต้องภายใน 2 ปี ส่วนบริษัทต่างชาติที่ประกอบธุรกิจตามบัญชี 3 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งทำให้ผลกระทบต่อธุรกิจต่างชาติที่มีการลงทุนในไทยอยู่แล้วโดยส่วนใหญ่คงมีจำกัด ที่ผ่านมาการลงทุนจากต่างประเทศในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุนสะสมรวมทั้งสิ้นประมาณ 69,000 ล้านดอลลาร์ฯ หรือประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ร้อยละ 48 เป็นบริษัทที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ขณะที่ร้อยละ 52 เป็นธุรกิจด้านการบริการ เกษตรกรรม เหมืองแร่และอื่นๆ

ผลกระทบต่อนักลงทุนใหม่ แม้ว่าการแก้ไขกฎหมายจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยอยู่แล้วในวงกว้าง แต่ผลที่จะมีต่อแนวโน้มการลงทุนใหม่ที่จะเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าอาจมีมากกว่า เนื่องจากนักลงทุนจะมีข้อกังวลต่อกฎหมายที่เปลี่ยนแปลง หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบที่เคยอนุญาต นอกจากนี้ สถานะทางการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่จะเสียเปรียบผู้ที่เข้ามาดำเนินธุรกิจก่อนหน้านี้ เนื่องจากนักลงทุนใหม่จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจและมีอำนาจบริหารจัดการได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับที่นักลงทุนที่มีการลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งได้รับผ่อนผันให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ภาวะดังกล่าวอาจส่งผลให้ธุรกิจต่างชาติมีความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยน้อยลง

ผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ประเด็นสำคัญที่ต้องคำนึงถึงประการหนึ่งคือ ผลกระทบในทางอ้อมต่อการลงทุนโดยตรงในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแม้ว่ากฎหมายจะเปิดให้มีการลงทุนของต่างชาติได้โดยไม่จำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ แต่ในแต่ละขั้นตอนของการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะธุรกิจส่งออก จะต้องพึ่งพาธุรกิจบริการที่สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท เช่น ระบบโลจิสติกส์หรือบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Company) ประสิทธิภาพในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมจึงต้องขึ้นอยู่กับระดับความชำนาญ เทคโนโลยี และประสิทธิภาพของธุรกิจบริการสนับสนุนเหล่านั้น อันจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ไทยก้าวขึ้นไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตในภูมิภาค การขาดเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัยอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจภาคบริการของไทยไม่มีการพัฒนาประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ และอาจเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาประสิทธิภาพของซัพพลายเชนของบริษัทต่างชาติ กฎหมายนี้จึงอาจส่งผลให้ไทยมีความน่าดึงดูดน้อยลงสำหรับธุรกิจต่างชาติที่ต้องการเข้ามาขยายการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย

โดยสรุป แม้ว่าการแก้ไขพรบ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวอาจมีผลกระทบต่อธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยอยู่แล้วไม่มากนัก แต่ผลกระทบต่อแนวโน้มการลงทุนในระยะข้างหน้าอาจมีมากกว่า การที่นักลงทุนยังคงไม่มั่นใจเกี่ยวกับรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว อาจจะทำให้มีการตีความในลักษณะที่ว่ารัฐบาลส่งสัญญาณในเชิงลบต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และทำให้ต่างชาติลดความเชื่อมั่นที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล ตลอดจน เป็นการสร้างแรงกดดันให้นักลงทุนในกรณีของนักลงทุนรายเดิมที่เข้าข่ายต้องปรับโครงสร้างใหม่ โดยส่งผลให้ต้องมีการลดสัดส่วนหุ้นที่ถืออยู่ให้กับนักลงทุนชาวไทย ซึ่งในบางกรณีจะประสบกับความลำบากในการหาผู้ที่สามารถรับซื้อหากหุ้นที่ต้องการขายมีจำนวนมาก และยังเป็นปัจจัยที่กระทบต่อการพิจารณาตัดสินใจของนักลงทุนรายใหม่ว่าจะลงทุนในประเทศไทยหรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า ประเด็นสำคัญจากนี้ไปน่าจะอยู่ที่การสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ตลอดจน การชี้แจงและสร้างความเข้าให้กับนักลงทุนต่างชาติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเอกชนในอนาคต ซึ่งทางการไทยจำเป็นที่จะต้องเร่งทำการชี้แจงเรื่องดังกล่าวและสร้างความเข้าใจให้กับนักลงทุนต่างประเทศโดยเร็วที่สุด ควบคู่กับการออกมาตรการต่างๆที่จะเป็นการช่วยฟื้นฟูความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติเพิ่มเติมในระยะต่อไป

สำหรับนโยบายด้านการลงทุนจากประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าทางการควรต้องมีความชัดเจนถึงทิศทางและนโยบายในการเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ ตราบใดที่ประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งในด้านเงินทุน เทคโนโลยีขั้นสูง และการเข้าถึงตลาดในต่างประเทศผ่านทางเครือข่ายของบริษัทข้ามชาติ นโยบายด้านการลงทุนของรัฐบาลไทยจะต้องมีความชัดเจนถึงท่าทีที่จะสนับสนุนการลงทุน ทั้งนี้ การใช้กฎหมายธุรกิจต่างด้าวเพื่อปกป้องธุรกิจของคนไทยจากการเข้ามาแข่งขันโดยธุรกิจต่างชาติจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลได้และผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ภายใต้การแข่งขันในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกขาดออกจากกันได้ นอกจากนี้ประเทศไทยอยู่ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ที่ปัจจุบันดำเนินไปในห้วงกระแสการเปิดเสรี และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงของโลกที่หันไปสู่ภาคบริการมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายธุรกิจให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับสภาวะปัจจุบันนับเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การแก้ไขกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งควรมีการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้องและแก้ไขไปพร้อมๆกันด้วย สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน อาจต้องกลับมาทบทวนถึงหมวดหมู่ธุรกิจที่ไทยต้องการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ และไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย ควรมีการเปิดกว้างให้มีการลงทุนอย่างเสรี สำหรับธุรกิจใดที่ผู้ประกอบการไทยยังขาดความสามารถที่จะแข่งขัน กรอบแนวทางการผ่อนคลายข้อจำกัดควรเป็นเช่นไร ทั้งนี้ แม้ว่ามีพรบ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่การที่ไทยมีข้อผูกพันตามข้อตกลงการค้าเสรี หรือ FTA รวมทั้งพันธกรณีที่มีไว้กับ WTO ความตกลงเหล่านี้จะเป็นเงื่อนไขยกเว้นในการเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินธุรกิจได้ตามเงื่อนไขตามความตกลงหรือสนธิสัญญาที่ผูกพันไว้ และถ้าพิจารณาประเทศที่เรากำลังมีการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการ ไม่ว่ากรอบความตกลงอาเซียน ความตกลง FTA ระหว่างไทยกับออสเตรเลีย และ FTA ที่กำลังมีการเจรจากับคู่เจรจาสำคัญ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น หรือจีน ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่มีธุรกิจผู้ให้บริการที่มีระดับเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญขั้นสูง (Sophisticated Service Providers) ซึ่งก็เท่ากับว่ากฎหมายธุรกิจต่างด้าวมีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติน้อยมากหากความตกลง FTA มีผลบังคับ แนวทางดำเนินการต่อการรับมือกับการแข่งขันที่จะเข้ามาจากต่างชาติจึงไม่ใช่การยืดเวลาที่จะปิดกั้นการทำธุรกิจของคนต่างด้าว แต่ควรมีแนวทางรองรับสำหรับผู้ที่จะได้รับผลกระทบ มีการชำระกฎหมายที่จะเข้ามาดูแลการดำเนินธุรกิจ โดยให้ความสำคัญต่อทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการไทย ความต้องการการลงทุนและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ การปรับปรุง แก้ไข หรือร่างกฎหมายเพิ่มเติมจึงควรมุ่งให้เป็นไปเพื่อควบคุมดูแลการดำเนินธุรกิจให้มีสภาวะแวดล้อมการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยก (Nondiscrimination) แต่คำนึงการป้องกันการผูกขาดโดยผู้ประกอบการรายใหญ่หรือผู้ประกอบการน้อยราย ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยคุ้มครองผู้ประกอบการรายย่อย ขณะเดียวกันยังคงรักษาสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการแข่งขัน ซึ่งจะเป็นที่มาของการพัฒนาประสิทธิภาพ คุณภาพและนวัตกรรมสำหรับสินค้าและบริการ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในที่สุด