ไทยสมาร์ทคาร์ด สำเร็จเกินคาดดันยอดขายบัตรกว่า 1.1 ล้านใบ ฟันธงบัตรเงินสดดิจิตอลมาแรง ปี 50

บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด ผู้นำบัตรเงินสด ”สมาร์ทเพิร์ส” บัตรเงินสดดิจิตอล ประกาศความสำเร็จในปี 2549 ที่ผ่านมาด้วยยอดจำหน่ายบัตรสมาร์ทเพิร์ส 1.1 ล้านใบ พร้อมร้านค้าขานรับบัตรสมาร์ทเพิร์ส 7,000 แห่ง ตั้งเป้ายอดจำหน่ายบัตรปี 2550 โตขึ้นอีกเท่าตัว จากกระแสความนิยมการใช้บัตรเงินสดของคนรุ่นใหม่

นายฉัตรไชย ฉัตรชัยกนันท์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจและการตลาด บริษัทไทยสมาร์ทคาร์ด จำกัด กล่าวว่า “บัตรสมาร์ทเพิร์สได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนเมือง ที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และบัตรสมาร์ทเพิร์สสามารถตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ได้ สำหรับปี 2550 ไทยสมาร์ทคาร์ด วางแผนทำตลาดเชิงรุกมากขึ้น โดยสานต่อนโยบายการขยาย จุดรับบัตร ในบริการตามวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่”

นายฉัตรไชย กล่าวต่อว่า “ไทยสมาร์ทคาร์ดให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ หลังจากที่เราเปิดตัวสมาร์ทเพิร์ส ออกสู่ตลาดในวงกว้าง ตั้งแต่ต้นปี 2549 ที่ผ่านมาถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการสร้างการรับรู้แบรนด์ จากผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค สมาร์ทเพิร์สได้รับการตอบรับว่าเป็นแบรนด์ในใจ หรือ Brand Top of Mind ที่ผู้บริโภคจดจำได้มากที่สุดจากสินค้าประเภทเดียวกัน”

ปีที่ผ่านมา ไทยสมาร์ทคาร์ดดำเนินการขยายธุรกิจในการออกบัตรร่วมกับพันธมิตรด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างเช่น บัตรเซเว่นอีเลฟเว่นแวลูคาร์ดสมาร์ทเพิร์สสำหรับขาประจำร้านสะดวกซื้อ บัตรทรูพริวิเลจคาร์ดสมาร์ทเพิร์ส สำหรับคนรุ่นใหม่ที่รักการสื่อสาร และท่องโลกอินเตอร์เน็ต รวมถึงการออกบัตรร่วมกับองค์กรธุรกิจที่มีหัวใจไอที และมีความต้องการสร้างฐานสมาชิก เช่น โชคดีติ่มซำออกบัตรโชคดีสมาร์ทเพิร์ส หรืออย่างร้านกินดื่มทูซิท ออกบัตรทูซิทสมาร์ทเพิร์ส และไทยสมาร์ทคาร์ดเป็นรายแรกของไทยในการออกบัตรประจำตัวนักศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บัตรนักศึกษาอัจฉริยะรายแรกของไทย ที่เป็นได้ทั้งบัตรประจำตัวนักศึกษาและบัตรสมาร์ทเพิร์ส รวมถึงการขยายจุดรับบัตรไปในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ลานจอดรถ ปั๊มน้ำมัน ศูนย์อาหาร ศูนย์การค้า ร้าน CD / VDO ร้านหนังสือ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการคมนาคมขนส่ง

แผนการดำเนินงานปี 2007
สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2550 ไทยสมาร์ทคาร์ดมีกลยุทธ์ในการทำตลาดเชิงรุกด้วยงบประมาณกว่าร้อยล้านบาท โดยวางแผนการจัดทำกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง การขยายความร่วมมือกับพันธมิตรในการออกบัตรร่วมกับคู่ค้าในอุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรที่มีฐานลูกค้าใหญ่ รวมถึงการขยายตัวไปในทั่วภูมิภาคในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น โดยจะขยายจุดรับบัตรสมาร์ทเพิร์สต่อยอดจากฐานเดิม เพิ่มอีกกว่า 9,000 แห่ง ทั้งในกรุงเทพ และหัวเมืองใหญ่ ซึ่งจะเป็นการเน้นการเจาะร้านค้าแบบครอบคลุมพื้นที่ธุรกิจ มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคใช้จ่ายได้สะดวกสบายมากขึ้น เรียกได้ว่าเมื่อไปที่ไหน มีบัตรสมาร์ทเพิร์สใบเดียว ก็ใช้จ่ายได้หลากหลายร้านค้า เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

สำหรับแผนการจัดทำกิจกรรมทางการตลาด จะมีความร่วมมือผ่านร้านค้า หรือช่องทางอื่น ๆ ที่มีฐานลูกค้าในตลาดอย่างเหนียวแน่น หรือการร่วมกิจกรรมทางการตลาดกับพันธมิตรอื่น ๆ เพื่อกระจายบัตรไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการ นอกจากนี้ลูกค้าผู้ถือบัตรทั้งเก่าและใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากการใช้บัตรสมาร์ทเพิร์ส ซึ่งไทยสมาร์ทคาร์ดมีแผนโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมการขายรองรับตลอดทั้งปี

นอกจากนี้แล้ว ไทยสมาร์ทคาร์ดให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ด้านบัตรเงินสดดิจิตอลสู่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความเป็นผู้นำด้านบัตรเงินสดดิจิตอล ที่มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เป็นรายแรกของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบัตรเงินสดติดชิป นั่นคือไมโครโปรเซสเซอร์ชิป ชิปอัจฉริยะ หรือเรื่องของการนำเอา ระบบ Dual Interface ที่รองรับเรื่องของระบบ Contact ( การเสียบบัตร ) และ Contactless (การแตะบัตร) มาใช้เป็นรายแรกของไทย อย่างระบบ Contactless ตอนนี้ก็มีการนำมาใช้กันมากขึ้นสำหรับธุรกิจ บัตรอิเลคทรอนิกส์ โดยในปีนี้ มีการวางแผนการอัพเกรด ซอฟต์แวร์เครื่องรับบัตรสมาร์ทเพิร์ส ซึ่งจะช่วยให้การแตะบัตรชำระเงินรวดเร็วยิ่งขึ้น จากเดิมที่ถือว่าเร็วอยู่แล้ว ก็จะเร็วขึ้นอีกด้วยเวลาเพียง 1-2 วินาที การนำระบบ
สมาร์ทเพิร์สไปใช้กับธุรกิจที่ต้องใช้เรื่องเศษเหรียญ เช่นตู้ Vending Machine จากเดิมต้องใช้เหรียญหยอด ก็สามารถใช้บัตรสมาร์ทเพิร์สจ่ายแทนได้ แถมยังให้แต้มสะสมด้วย

นอกจากนี้ยังมองไปถึงถึงระบบ Transit ต่างๆ และยังมีการเตรียมการพัฒนาบัตรสมาร์ทเพิร์สเพื่อชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต การพัฒนาชิปบนมือถือ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือใหม่ในการชำระเงิน การอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่ใช้มือถือระบบ Pre-Paid ที่ต้องมีการลงทะเบียนตามกฏหมาย ซึ่งมีผลบังคับใช้เร็วๆนี้ โดยใช้ประโยชน์จากเครื่องอ่านบัตรสมาร์ทเพิร์ส การผลิตเครื่องใช้งานรูปแบบใหม่ “Portable” เพื่อตอบสนองธุรกิจที่ต้องการความสะดวก ในการให้บริการลูกค้า เช่น ร้านอาหารบางประเภท Delivery Service ธุรกิจการเดินทาง และ ยังมีเทคโนโลยี NFC คือการบรรจุชิปลงมือถือ เพื่อรองรับการใช้จ่าย ที่คาดว่าน่าจะพร้อมในการให้บริการในช่วงต้นปีหน้า

สำหรับแนวโน้มการใช้บัตรเงินสดดิจิตอลนั้น เมื่อพิจารณาจากสภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มที่ชะลออัตราการเติบโตทาง GDP ในปี 2550 นี้ เชื่อว่าผู้บริโภคจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้จ่ายส่วนที่ไม่จำเป็น ตลอดจนการใช้สินเชื่อในการใช้จ่าย ทำให้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจบัตรเงินสดที่เน้นการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าไม่สูงมากนัก ตลอดจนการที่จะทำให้เกิดความมีวินัยทางการเงินจะมีมากขึ้น การใช้บัตรเงินสดพรีเพดจะช่วยเสริมพฤติกรรมส่วนนี้ให้เพิ่มขึ้น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสร้างการเติบโตในการใช้บัตรเงินสดดิจิตอล