52 ธุรกิจปีกุน : ต้องเร่งปรับตัว…รับเศรษฐกิจพอเพียง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประเมินแนวโน้มภาวะธุรกิจอุตสาหกรรม 52 ประเภทในปี 2550 โดยใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตัวแปรที่สำคัญในการเลือกธุรกิจที่จะนำมาศึกษาวิจัยและกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อประกอบการพิจารณาว่าจะจัดกลุ่มธุรกิจนั้นเข้าอยู่ในกลุ่มใด ซึ่งตัวแปรหลักสำคัญที่จะใช้ในการประเมินสภาพธุรกิจสำหรับปี 2550 มีหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดกลุ่มธุรกิจ ดังนี้

หลักเกณฑ์การเลือกธุรกิจเพื่อการศึกษาวิจัย ประกอบด้วย
1) เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อการส่งออกและสร้างรายได้ให้ประเทศ
2) เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตต่อเนื่องไปในอนาคต
3) เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม
4) เป็นธุรกิจที่กำลังอยู่ในความสนใจของนักลงทุน และของประชาชน
5) เป็นธุรกิจที่มีข้อมูลด้านต่างๆมากเพียงพอที่จะนำมาวิเคราะห์-วิจัย

หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดกลุ่มธุรกิจ ในส่วนนี้ได้กำหนดตัวแปรหลักสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาไว้ 4 ด้านด้วยกัน ครอบคลุมด้านการผลิต ด้านการตลาด(การขาย) ด้านการพัฒนาและด้านที่เกี่ยวกับปัญหาต่างๆที่ธุรกิจนั้นๆเผชิญอยู่ โดยในแต่ละด้านจะมีตัวแปรประกอบการพิจารณาในรายละเอียดครอบคลุมประเด็นหลักสำคัญ ดังต่อไปนี้

1) ด้านการผลิต ประกอบด้วยตัวแปร กำลังการผลิต การใช้อัตรากำลังการผลิต อัตราการขยายตัวของการผลิต-การจำหน่าย ความพร้อมด้านวัตถุดิบ การพึ่งพาวัตถุดิบจากในประเทศและ/หรือจากต่างประเทศ คุณภาพวัตถุดิบ และราคาวัตถุดิบรวมทั้งต้นทุน-คุณภาพของแรงงาน และจำนวนผู้ประกอบการธุรกิจ

2) ด้านการตลาด(การขาย) ประกอบด้วยตัวแปรต่อไปนี้
1.1) ตลาดในประเทศ ได้แก่ ยอดขาย อัตราการเติบโตของยอดขาย และสถานการณ์การแข่งขันในแต่ละช่วงเวลา

1.2 ) ตลาดต่างประเทศ ได้แก่มูลค่าการส่งออก อัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกและส่วนแบ่งในตลาดสำคัญ เปรียบเทียบกับคู่แข่งในแต่ละช่วงเวลา

3) ด้านการพัฒนา ประกอบด้วย คุณภาพสินค้า รูปแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ โอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โอกาสการขยายตัวของการผลิตและการขายในอนาคต รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการตลาด

4) ด้านปัญหาธุรกิจ ประกอบด้วย นโยบาย/มาตรการภาครัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ การกีดกันทางการค้า การเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจประเทศคู่ค้า สถานการณ์ด้านการเงิน/สินเชื่อ การขยายเครือข่ายธุรกิจ โอกาสและอุปสรรคต่อการเข้ามาของธุรกิจรายใหม่ รวมตลอดถึงจุดอ่อน-จุดแข็งภายในของธุรกิจนั้นๆ

สำหรับการวิเคราะห์และประเมินภาวะธุรกิจทั้ง 52 ประเภทในรอบปี2550ที่ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 กลุ่มธุรกิจได้แก่ กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว และกลุ่มธุรกิจพึงระวัง ซึ่งในแต่ละกลุ่มธุรกิจจะประกอบด้วยสินค้า ดังต่อไปนี้

กลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต ประกอบด้วย 9 ธุรกิจได้แก่ ธุรกิจสปาหรู รถยนต์และชิ้นส่วนอุปกรณ์ อินเทอร์เน็ต เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินค้าไอที เครื่องเทศและสมุนไพร นมและผลิตภัณฑ์ โรงพยาบาลเอกชน และ นมถั่วเหลือง

กลุ่มธุรกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว ประกอบด้วย 38 ธุรกิจได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง สิ่งปรุงรสอาหาร ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ธุรกิจรับสร้างบ้าน เยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ข้าว น้ำผัก-ผลไม้ ธุรกิจโรงแรม 4-5 ดาว อาคารชุดพักอาศัย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ปูนซีเมนต์ ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ โรงภาพยนตร์ ผลิตภัณฑ์ข้าว ธุรกิจทัวร์ทางน้ำ อ้อยและน้ำตาล บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ธุรกิจบ้านจัดสรร อัญมณี และเครื่องประดับ ยางพารา ปิโตรเคมี ธุรกิจโฆษณา โทรศัพท์เคลื่อนที่ ผลิตภัณฑ์เซรามิก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ของเด็กเล่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ธุรกิจสนามกอล์ฟ กุ้งและผลิตภัณฑ์ เซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ ธุรกิจค้าปลีก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและเครื่องประดับตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ยาง และเครื่องใช้ไฟฟ้า

กลุ่มธุรกิจพึงระวัง ประกอบด้วย 5 ธุรกิจ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง ไก่แปรรูป และสถานีบริการน้ำมัน

สำหรับแนวโน้มภาวะธุรกิจแต่ละประเภทในปี 2550 มีทิศทางเป็นเช่นไรนั้น สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังปรากฏในตาราง ต่อไปนี้

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมปี 2550
ประเภทธุรกิจ
กลุ่มที่ 1 : ธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโต

1) ธุรกิจสปาหรู ในปี2550ธุรกิจสปาหรูซึ่งส่วนใหญ่เปิดกิจการอยู่ในโรงแรมและ รีสอร์ท ยังเติบโตในอัตราที่น่าพอใจตามความต้องการของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยในตลาดระดับบน ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพและนิยมใช้บริการสปากันมากขึ้น

2) รถยนต์และชิ้นส่วน ยอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2550 จะยังขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ขณะที่การส่งออกก็ยังจะเพิ่มขึ้นในอัตราสูง และในปี2550หากมีความ คืบหน้าของโครงการรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานหรืออีโคคาร์ ก็จะช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ทั้งตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกมากยิ่งขึ้น

3) อินเทอร์เน็ต จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตปี 2550 ยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 9 ล้านราย โดยที่บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเพิ่มจำนวนขึ้นมาก เนื่องจากอัตราค่าบริการลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการใหม่และการเพิ่มผู้ให้บริการเกตเวย์ จะช่วยให้ตลาดมีการแข่งขัน และ ส่งเสริมการใช้อินเทอร์เน็ตให้มีราคาลดลงได้

4) เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปี 2550 ตลาดเหล็กจะกระเตื้องขึ้นดีกว่าปี2549 เนื่องจากภาคการ ก่อสร้างจะฟื้นตัวขึ้นจากการที่ภาครัฐเร่งรัดการใช้จ่ายในโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งการบูรณะซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างหลังเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมา ในขณะที่ความต้องการใช้เหล็กในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหารกระป๋อง ฯลฯยังคงเติบโตดี

5) สินค้าไอที ตลาดสินค้าไอทีปี 2550 คาดว่าจะยังสามารถขยายตัวต่อไปได้ดีคือเครื่องคอมพิวเตอร์พกพาหรือโน๊ตบุ๊ค โดยมูลค่าตลาดรวมเพิ่มสูงขึ้นเป็น 162,717ล้านบาท หลังจากในปี2549ความต้องการสินค้าไอทีและอุปกรณ์ต่อเชื่อมต่างๆยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวก็ตาม

6) ผลิตภัณฑ์สมุนไพร การส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ทั้งนี้กระแสนิยมแพทย์ทางเลือกและธรรมชาติบำบัดเป็นส่วนกระตุ้นสำคัญ ขณะเดียวกันภาครัฐและเอกชนก็ให้การสนับสนุนการเพาะปลูกพืชสมุนไพรในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสมุนไพร โดยร่วมมือกับจีนและอินเดีย จะส่งผลเชิงบวกต่อธุรกิจนี้ให้เติบโตต่อเนื่อง

7) นมและผลิตภัณฑ์ ตลาดในประเทศปี 2550 ยังขยายตัวในระดับที่ดี โดยผู้ประกอบการจะใช้กลยุทธ์การตลาดในการขยายฐานลูกค้า ที่อิงกระแสเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ การอนุมัติเปิดตลาดนมผงขาดมันเนยเพิ่มเติมจากโควตาเดิม และการเปิดเขตการค้าเสรีกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่งผลดีให้ธุรกิจนี้ มีวัตถุดิบมากเพียงพอ ในราคาที่เหมาะสม

8) โรงพยาบาลเอกชน ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในปี2550จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง ด้วยข้อจำกัดที่โรงพยาบาลของรัฐให้บริการประชาชนไม่เพียงพอ เป็นโอกาสดีของโรงพยาบาลเอกชนที่สามารถให้บริการคนไข้ในประเทศได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ โรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงได้รุกคืบสู่ตลาดต่างประเทศ ด้วยการจัด กิจกรรมส่งเสริมการขายดึงลูกค้าชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ด้วยค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่ง อาทิ ฮ่องกง และสิงคโปร์

9) นมถั่วเหลือง ตลาดในประเทศเติบโตต่อเนื่องจากกระแสบริโภคอาหารสุขภาพ ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการก็ได้ปรับกลยุทธ์การตลาดที่เน้นขยายตลาด โดยการผสมกับนมแพะหรือธัญพืช เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค ขณะที่ตลาดส่งออกก็ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการเปิดเกมรุกเข้าสู่ตลาดมาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยไทยได้เปรียบในแง่ที่เป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองที่มีปริมาณมาก

กลุ่มที่ 2 : ธุรกิจที่อยู่ในภาวะทรงตัว

1) ธุรกิจก่อสร้าง ธุรกิจก่อสร้างปี2550อาจปรับตัวดีขึ้นโดยปัจจัยลบที่กดดันภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์จะผ่อนคลายลง สำหรับโครงการก่อสร้างภาครัฐ แม้ว่ามีแนวโน้มที่ดีกว่าคาดการณ์เดิม แต่อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงนัก คาดว่าการ ลงทุนในด้านก่อสร้างปี 2550 อาจมีอัตราขยายตัวร้อยละ0.3-3.3 หากมีการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ

2) สิ่งปรุงรสอาหาร ปี 2550 ธุรกิจนี้โดยภาพรวมจะเติบโตได้ในระดับที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2549 ทั้งนี้ผู้ประกอบการรายใหม่และรายเก่าเข้ามาลงทุนขยายผลิตภัณฑ์ โดยได้แรงหนุนจากตลาดกลุ่มผู้บริโภคในครัวเรือน เนื่องจากคนไทยหันมาประกอบอาหารรับประทานที่บ้านมากขึ้น แต่สำหรับตลาดอุตสาหกรรมกลับมีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริโภคอาหารนอกบ้าน

3) ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ยังเติบโตต่อเนื่องมาในปี 2550 แม้ในอัตราไม่สูงนัก โดยได้แรงเกื้อหนุนสำคัญ คือ ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง การขยายการให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ การส่งเสริมด้านการตลาดขององค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกับภาคเอกชนในบางประเทศด้วยการจัดแพ็กเกจราคาถูกพิเศษกระตุ้นตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย และการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่2เชื่อมเส้นทางจากมุกดาหารไปยังลาว-เวียดนาม

4) อาหารสัตว์เลี้ยงสำเร็จรูป ปี 2550 ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจะเผชิญกับภาวะการแข่งขันที่ รุนแรง ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวโดยเน้นการเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ด้วยการเพิ่มสารอาหารให้ตรงกับความต้องการของสัตว์เลี้ยงแต่ละประเภท ด้านการส่งออกนั้น คาดว่าจะยังพอไปได้โดยส่งออกไปสู่ตลาดหลักสำคัญ คือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรปที่ยังเติบโตได้ในระดับดีพอใช้

5) ธุรกิจรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัย
ธุรกิจรับปลูกสร้างที่อยู่อาศัยในปี 2550 คาดว่าจะมีจำนวนบ้านที่ ก่อสร้างเอง 30,455 หน่วย ขยายตัวไม่มากนักคิดเป็นมูลค่าราว 42,000 ล้านบาท โดยปัจจัยที่มีผลกระทบได้แก่สถานการณ์ทางการเมืองและปัญหาราคาวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าอาจจะทรงตัวหรือปรับขึ้นเล็กน้อยในปี 2550

6) เยื่อกระดาษ ความต้องการใช้เยื่อกระดาษในปี 2550 คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 ตามภาวะเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปี 2550 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ส่งผลให้ธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ ในขณะที่สถานการณ์ด้านการส่งออกเยื่อกระดาษนั้นคาดว่าตลาดต่างประเทศจะยังคงมีความต้องการนำเข้าเยื่อกระดาษจากไทยเพิ่มมากขึ้น

7) ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ปี 2550 คาดว่าจะยังส่งออกได้เพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากการเพิ่มกำลังการผลิตและการลงทุนจากต่างประเทศ และความต้องการสินค้านี้ในตลาดโลกยังขยายตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องระมัดระวังคือ การแข็งค่าของเงินบาทต่อเนื่องจากปี2549 อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก นอกจากนี้ ยังต้องระมัดระวังการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งที่มีบทบาทในด้านการเป็นฐานการผลิตเช่นเดียวกับไทย ได้แก่ จีน สิงคโปร์ และเวียดนามที่อาจแย่งส่วนแบ่งตลาดโลกจากไทยได้เพิ่มขึ้น

8) ข้าว ในปี 2550 มูลค่าการส่งออกข้าวจะมีประมาณ 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือประเทศผู้ผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ความต้องการยังเพิ่มขึ้นเป็นโอกาสดีของไทย แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงคือการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ราคาข้าวไทยแพงกว่าประเทศคู่แข่งและมาตรการกีดกันทางการค้าโดยอ้างเรื่องสารเคมี ตกค้างและการปลอมปนที่ยังเป็นอุปสรรคข้าวไทย แต่โดยรวมถือว่าทรงตัว

9) น้ำผัก-ผลไม้ ตลาดน้ำผัก-ผลไม้ในปี 2550จะมีมูลค่าประมาณ 5,000 ล้านบาท ขยายตัวในระดับทรงตัวจากปีก่อน โดยผู้ประกอบการมีการปรับกลยุทธ์ การตลาด หันมาส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขาย ด้านการส่งออกยังเติบโตได้ คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกในปี 2550 ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป

10) ธุรกิจโรงแรมระดับ 4-5 ดาว ในปี 2550 ธุรกิจโรงแรมระดับ 4-5 ดาวยังเติบโตได้ดีพอใช้ ตามการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยโรงแรมชายทะเลฝั่งอันดามัน คือ ภูเก็ต พังงา และกระบี่ ต่างมีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นใกล้เคียงก่อนเกิดสึนามิ เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับสู่ภาวะปกติ

11) อาคารชุดพักอาศัย ธุรกิจอาคารชุดพักอาศัยปี 2550 คาดว่ายังคงขยายตัวได้บ้าง โดยเฉพาะโครงการคอนโดมิเนียมระดับกลางที่ราคาประมาณ 1-3 ล้านบาท ในทำเลที่ใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าตัดผ่านและย่านใจกลางเมืองยังคงเติบโตได้ดี นอกจากนี้ เศรษฐกิจเริ่มมีสัญญาณบวกที่สะท้อนให้เห็นจากการปรับตัว ลดลงของราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ปัจจัยความขัดแย้ง ทางการเมืองที่เริ่มคลายลงน่าจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคคืนมา

12) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณการผลิตมันสำปะหลังปี 2550 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้ขยายการปลูก คาดว่าการส่งออก ยังขยายตัวได้ดีพอควร โดยได้รับอานิสงส์จากราคาธัญพืช โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีแนวโน้มสูงขึ้น

13) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ในปี 2550 คาดว่าตลาดในประเทศจะมีมูลค่า 4,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ5-7เนื่องจากผู้ส่งออกหันมาเจาะขยายตลาดในประเทศมากขึ้น ขณะที่การส่งออกจะมีมูลค่า 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ15.0 แต่ยังต้องเผชิญปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทและการแข่งขันที่รุนแรง แต่อย่างไร ก็ตาม ความวิตกในเรื่องไข้หวัดนก จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

14) รถจักรยานยนต์และชิ้นส่วน ในปี 2550 ตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศกำลังเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว จึงคาดว่ายอดขายในประเทศคงจะโตเพียงร้อยละ 1-2 อยู่ในระดับ 2.14 ล้านคันใกล้เคียงกับในปี 2549 ทั้งนี้ ภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพง รวมไปถึงปัจจัยด้านการเมืองในประเทศได้ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดรถจักรยานยนต์โดยตรง

15) ปูนซีเมนต์ แรงขับเคลื่อนหลักของตลาดปูนซีเมนต์ปี2550 ได้แก่ การลงทุนในธุรกิจก่อสร้าง/อสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนโดยความต้องการปูนซีเมนต์ในปี 2550 น่าจะอยู่ที่ 28.9 – 29.5 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีก่อนซึ่งมีปริมาณ 29.0 ล้านตัน ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่จะช่วยกระตุ้นตลาดด้แก่ ราคาน้ำมันในตลาดโลก ที่คาดว่าจะอ่อนตัวลงและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลงในปี 2550

16) ธุรกิจทัวร์อินบาวด์ ธุรกิจทัวร์อินบาวด์มีแนวโน้มเติบโตตามการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 7หรือประมาณ 14.6 ล้านคนในปี 2550 เนื่องจากได้แรงหนุนจากการขยายตัวอย่างเด่นชัดในตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ โดยตลาดท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่มที่มีลู่ทางเติบโตอย่างรวดเร็ว คือ ตลาดทัวร์สุขภาพ ตลาดพำนักท่องเที่ยวระยะยาว และตลาดไมซ์

17) โรงภาพยนตร์ ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในปี 2550 คาดว่าจะยังคงเติบโตได้ในระดับที่ดี พอใช้ แต่ก็ยังต้องอาศัยปัจจัยหนุนจากภาพยนตร์ที่จะเข้าฉาย แม้ว่า ที่ผ่านมาจะมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์และเป็นที่ยอมรับ มากขึ้น แต่ภาพยนตร์ที่ทำรายได้มากและมีสัดส่วนสำคัญต่อรายได้ยังมาจากภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นสำคัญ

18) ผลิตภัณฑ์ข้าว ความต้องการในประเทศขยายตัวตามอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร เฉลี่ยประมาณร้อยละ8-9ต่อปี ขณะที่มูลค่าการส่งออกในปี2550จะมีประมาณ180ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ10 โดยเฉพาะการ ส่งออกแป้งข้าวเหนียว เส้นหมี่เส้นก๋วยเตี๋ยว รวมทั้งขนมขบเคี้ยวจากแป้งข้าว

19) ธุรกิจทัวร์ทางน้ำ ธุรกิจท่องเที่ยวทางน้ำปี2550ขยายตัวเด่นชัดในการท่องเที่ยวล่องเจ้าพระยา โดยผู้ประกอบการรายใหญ่ต่างมุ่งขยายตลาดลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงในลักษณะการให้บริการแบบเช่าเหมาลำ ได้แก่ นักท่องเที่ยวที่ต้องการความเป็นส่วนตัว นักท่องเที่ยวกลุ่มฮันนีมูน กลุ่มครอบครัว กลุ่มที่ต้องการประชุมนอกสถานที่ หรือจัดงานเลี้ยง และงานเปิดตัวสินค้า เพื่อรองรับความต้องการของตลาดระดับบนทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ

20) อ้อยและน้ำตาล อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งต้องพึ่งพาการส่งออกถึงประมาณร้อยละ 70 ของปริมาณการผลิตน้ำตาลทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ผลจากปริมาณการส่งออกน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นได้เข้ามาช่วยชดเชยราคาที่ลดลง ประการสำคัญจากการที่ภาครัฐได้กำหนดราคาอ้อยขั้นต้นปี 2549/50 ไว้ที่ระดับ 800 บาทต่อตันอ้อยเท่ากับปีการผลิตที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับราคาที่ค่อนข้างสูงและชาวไร่อ้อยยอมรับราคาดังกล่าวได้

21) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ในปี 2550 มูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเติบโตประมาณร้อยละ 7 จากมูลค่าตลาด 11,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับปี 2549 ซึ่งมูลค่าตลาดมีการขยายตัวร้อยละ 10 เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับปัจจัยหนุนจากภาวะน้ำท่วม ส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคบะหมี่ กึ่งสำเร็จรูปปรับเพิ่มขึ้น

22) ธุรกิจบ้านจัดสรร ธุรกิจบ้านจัดสรรปี 2550 น่าจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยที่บ้านเดี่ยวระดับราคาประมาณ 3-5 ล้านบาท ยังคงมีแนวโน้มเติบโตขึ้น และทาวน์เฮาส์ที่ระดับราคา 2-5 ล้านบาทยังคงขยายตัวได้ เพราะได้รับผลบวกจากอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง อัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

23) อัญมณีและเครื่องประดับ ในปี 2550 คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าร้อยละ10 โดยขึ้นอยู่กับราคาทองเป็นหลัก ซึ่งในปี 2549 ปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากและยังขึ้นอยู่กับความมั่นใจของผู้บริโภคในประเทศคู่ค้าทั้งยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐ นอกจากนี้ในปี 2550 ยังมีปัจจัยที่ต้องระวังคือ ภาวะราคาน้ำมันและการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้บริโภคได้

24) ยางพารา การผลิตมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจเพิ่มเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่รัฐบาลให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง โดยการให้สิทธิพิเศษทางด้านภาษีและมาตรการต่างๆ ด้านมูลค่าส่งออกในปี 2550 จะมีประมาณ 5,286 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากความต้องการยางจากจีนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การส่งออกยังเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง

25) ปิโตรเคมี ปี 2550 ธุรกิจปิโตรเคมียังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปี2549 แต่อัตราเติบโตจะชะลอตัวลง ขณะที่แนวโน้มราคาผลิตภัณฑ์ตลอดทั้งสาย จะอ่อนตัวลงจากปีก่อน ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กำลังการผลิตเกิดใหม่ทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงกว่าความต้องการที่เพิ่มขึ้นทั้งโอเลฟินส์และโพลีโอเลฟินส์ สำหรับราคา แนฟทาที่ปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบ ซึ่งมีราคาสูงขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี 2549 ถึงกลางปี 2549 ที่ระดับ 60-75 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลก็เริ่มอ่อนตัวลงมาอยู่ในระดับ 56-65 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรลในไตรมาส 3-ต้นไตรมาส 4ของปี 2549 และยังอ่อนตัวต่อเนื่องสู่ต้นปี 2550 ที่ระดับ 53-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล

26) ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจโฆษณาปี2550 ยังคงเผชิญปัจจัยลบทั้งการเมืองที่ยังไม่นิ่ง ต้นทุนประกอบการที่สูงขึ้น รวมถึงผลประกอบการที่คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทำให้ต้องมีการบริหารค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงก็มีส่วนทำให้ต้องใช้จ่าย งบโฆษณาอย่างประหยัดควบคู่ไปด้วย

27) โทรศัพท์เคลื่อนที่ ในปี 2550 คาดว่าจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดมีจำนวน 5 ล้านเลขหมายน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดค่อนข้างจะอิ่มตัว อย่างไรก็ตาม จำนวนลูกค้าสะสมที่อยู่ในระบบทั้งหมดจะทำให้รายได้จากการให้บริการยังเติบโตต่อไปได้ แม้ว่าที่ผ่านมาการแข่งขันด้วยการลดค่าบริการค่อนข้างรุนแรง แต่ยังต้องระวังปัจจัยลบที่มีผลต่อการใช้จ่ายของ ผู้บริโภค รวมทั้งการตรวจสอบสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติและการกำหนดค่าธรรมเนียมการเชื่อมโครงข่ายจากคณะกรรมกิจการโทรคมนาคมด้วย

28) ผลิตภัณฑ์เซรามิก ในปี 2550 คาดว่าจากภาวะเศรษฐกิจรวมทั้งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และภาคการก่อสร้างที่จะขยายตัวดีกว่าปี 2549 ประกอบกับสถานการณ์ราคา น้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่จะคลายความกดดันด้านต้นทุนลง น่าจะทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เซรามิกในประเทศ โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้น กระเบื้องบุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ เติบโตได้ดีกว่าปี 2549 คือประมาณร้อยละ 5-10 แต่คงจะไม่กลับไปคึกคักเท่ากับช่วง 2 ปีที่แล้ว นอกจากนี้คาดว่าในช่วงไตรมาสแรกปี 2550 การซ่อมแซมบ้านเรือนหลังน้ำลดจากเหตุการณ์อุทกภัยในหลายจังหวัดเมื่อปลายปี 2549 จะช่วยให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กระเบื้องบุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์เพิ่มขึ้น

29) ผลิตภัณฑ์พลาสติก ในปี 2550 อุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกยังขยายตัว แต่ด้วยอัตราเติบโตที่ไม่สูงมากนักราวร้อยละ 5-8 เนื่องจากราคาน้ำมันน่าจะยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าอาจจะไม่พุ่งหวือหวาเหมือนในปี 2549 โดยที่การส่งออกยังเป็นแหล่งรายได้หลักของอุตสาหกรรมนี้อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์และเครื่องใช้พลาสติก กลับต้องประสบปัญหาต้นทุนวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ในขณะที่การขยับราคาขายสินค้าทำได้ยาก เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

30) ของเด็กเล่น อุตสาหกรรมของเด็กเล่นปี 2550 ทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศน่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว โดยตลาดในประเทศจะมีคู่แข่งรายใหม่เข้ามาแข่งขัน ส่วนการนำเข้าก็คาดว่าจะมีมากขึ้นจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาถูกลงในสายตาของผู้นำเข้า ส่วนการส่งออกน่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีที่แล้วประมาณร้อยละ 5-10มีมูลค่ากว่า 8,500 ล้านบาท

31) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนปี 2550 ยังคงต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันค่อนข้างสูง ทั้งระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกันเองและระหว่าง ผู้ประกอบการไทยกับคู่แข่งต่างประเทศ อย่างจีนที่มีความได้เปรียบด้านราคาที่ถูกกว่า ขณะที่ตัวแปรด้านอัตราดอกเบี้ย ราคาเชื้อเพลิงและเสถียรภาพทางการเมืองก็จะยังคงมีผลต่อความต้องการซื้อเฟอร์นิเจอร์ในประเทศ

32) ธุรกิจสนามกอล์ฟ ในปี 2550 ธุรกิจสนามกอล์ฟยังคงมีแนวโน้มเติบโตในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ10 ตามกระแสนิยมกีฬากอล์ฟที่ยังมาแรงในกลุ่มนักกอล์ฟคนไทย โดยเฉพาะตลาดครอบครัว ทำให้ตลาดนักกอล์ฟคนไทยขยายตัวกว้างขวางครอบคลุมทุกเพศตั้งแต่กลุ่มเยาวชนไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ ขณะที่ตลาด นักกอล์ฟต่างชาติเริ่มกลับมาคึกคักอย่างเด่นชัดในปี 2550

33) กุ้งและผลิตภัณฑ์ ในปี 2550 ปริมาณการเลี้ยงกุ้งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการเพิ่มพื้นที่เลี้ยงและผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในขณะที่การส่งออก จะใกล้เคียงกับในปีที่แล้ว แม้ว่าการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการได้รับสิทธิพิเศษจีเอสพี แต่ยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ในตลาดสหรัฐฯ ปัญหาการวางพันธบัตรค้ำประกันการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และต้นทุนการส่งออกที่มีแนวโน้มจากการที่ประเทศผู้นำเข้าเพิ่มมาตรการตรวจสอบสินค้า

34) ธุรกิจเซอร์วิสอพารต์เมนท์ ธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ในปี2550น่าจะยังคงอัตราการขยายตัว อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของธุรกิจนี้ ได้แก่ ปัจจัยภายในประเทศ ได้แก่ เสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งอาจจะส่งผลถึงชะลอการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของชาวต่างชาติได้ มาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ มาตรการป้องกันเก็งกำไรค่าเงินบาท และการแก้ไขพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งทั้ง 2 มาตรการนี้อาจส่งผลต่อแนวโน้มการลงทุนที่จะมีเข้ามาในประเทศในระยะข้างหน้า สำหรับปัจจัยภายนอกที่น่าจะมีผลต่อการขยายตัวธุรกิจเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ คือ เศรษฐกิจโลกในปี 2550 มีแนวโน้มชะลอตัวลง จึงน่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทต่างชาติชะลอการลงทุนในประเทศไทยด้วย

35) ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจค้าปลีกในปี2550จะอยู่ในภาวะทรงตัว ผู้บริโภคจะเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่าย ตัดทอนรายจ่ายซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย แต่จะเน้นการซื้อ สินค้าราคาประหยัด ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกต้องปรับตัวเพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับร้านค้าและพันธมิตร การผลิตสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ด้วยตนเองเพื่อจำหน่ายในราคาที่ถูกลง และใช้วิธีการนำเสนอสินค้า ณ จุดขายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ก็เพือการเร่งเพิ่มยอดขายชดเชยภาวะกำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอ

36) เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัว เครื่องประดับตกแต่งบ้าน ภาวะตลาดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารและในครัวรวมถึงเครื่องประดับตกแต่งบ้านภายในประเทศ มีการแข่งขันรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ผลิตไทยหลายรายหันมาให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อชดเชยรายได้จากการส่งออกที่คาดว่าภาวะการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมในปี 2550 น่าจะทรงตัวต่อเนื่องจากปี 2549 ด้วยมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 39,800 ล้านบาท

37) ผลิตภัณฑ์ยาง ภาวะผลิตภัณฑ์ยางปี 2550 โดยภาพรวมจัดอยู่ในภาวะทรงตัว เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว การส่งออกจะเผชิญการแข่งขันรุนแรง เพราะประเทศ คู่ค้าสำคัญของไทยมีภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งสหรัฐฯและญี่ปุ่น ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ยางจากไทยลดลง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาท ก็ทำให้สินค้าไทยมีราคาแพงกว่าประเทศคู่แข่ง

38) เครื่องใช้ไฟฟ้า ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี2550สำหรับตลาดในประเทศน่าจะมีทิศทาง ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ภาวะการแข่งขันจะยังคงรุนแรงอยู่ที่การขยายตัวของเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีนที่มีราคาต่ำ สำหรับตลาดส่งออก ยังขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อน เพราะส่วนแบ่งตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าไทยในตลาดโลกเริ่มลดลงหลายรายการ และการส่งออกไปยังตลาดหลักเริ่มลดลง ประกอบกับผู้ผลิตหลายรายย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศจีนและเวียดนามมากขึ้น

กลุ่มที่ 3 : ธุรกิจพึงระวัง
1) เสื้อผ้าสำเร็จรูป ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปในปี 2550 ผู้ประกอบการต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยง ที่น่าเป็นห่วงทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักเสื้อผ้าสำเร็จรูป ของไทยถึงกว่าร้อยละ 80 รวมทั้งปัจจัยทางด้านเงินบาทของไทยที่ยังคงมี แนวโน้มแข็งค่า และผันผวนซึ่งถือเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปของไทยเป็นอย่างมาก

2) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 2550 จะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ โดยเฉพาะการที่ภาครัฐและภาคสังคมมีความร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งเพื่อหาหนทางลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การผลักดันร่างพระราชบัญญัติควบคุมแอลกอฮอล์ การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาจำหน่ายปรับสูงขึ้น ผู้บริโภคก้จะลดค่าใช้จ่ายด้านนี้ลง

3) ผลิตภัณฑ์เครื่องหนัง การส่งออกปี 2550 ต้องเผชิญปัญหาการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากจีน เวียดนามและอินเดีย ที่น่าเป็นห่วง คือ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ของเล่น สัตว์เลี้ยง หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกที่การส่งออกมีการชะลอตัวอย่าง ต่อเนื่อง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ยังพอจะขยายตัวได้ คือ รองเท้าหนัง และถุงมือหนัง

4) ไก่แปรรูป คาดว่าการส่งออกยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงต่อเนื่องจากปี 2549 รวมทั้งการตรวจพบไข้หวัดนกรอบใหม่ในญี่ปุ่น เวียดนาม อินโดนีเซีย และไทย นับเป็นปัจจัยเสี่ยงว่าอาจจะส่งผลทางจิตวิทยาทำให้ผู้บริโภค ในต่างประเทศลดการบริโภคเนื้อไก่ในปี 2550

5) สถานีบริการน้ำมัน ธุรกิจสถานีบริการน้ำมันปี 2550 จะยังคงเผชิญปัญหาหนักจากภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากสภาพตลาดน้ำมันโลกที่ยังคงมีความผันผวนสูง และมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวลดลงในปี 2550 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมันอิสระยังมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องปิดตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับเนื้อหาโดยละเอียดของแต่ละอุตสาหกรรมนั้น สามารถสืบค้นได้จาก www.kasikornresearch.com