เยื่อกระดาษปี’50 : ตลาดใน-ตลาดนอก…ความต้องการยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

ความต้องการใช้เยื่อกระดาษในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2549 ประมาณร้อยละ 5 ตามภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปี 2550 จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมไปถึงการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2550 ประการสำคัญ ยังเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ซึ่งก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้เยื่อกระดาษในธุรกิจสิ่งพิมพ์มีการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ ในขณะที่สถานการณ์ด้านการส่งออกเยื่อกระดาษนั้นคาดว่าตลาดต่างประเทศจะยังคงมีความต้องการนำเข้าเยื่อกระดาษจากไทย โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งถือเป็นตลาดส่งออกเยื่อกระดาษรายใหญ่อันดับหนึ่งของไทยยังคงมีความต้องการนำเข้าเยื่อกระดาษประมาณปีละ 7-8 ล้านตันเนื่องจากกำลังการผลิตในประเทศไม่เพียงพอรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังเติบโตในระดับสูง แต่ปัจจัยพึงระวังของผู้ประกอบการเยื่อกระดาษในปี 2550 ได้แก่ปัญหาราคาไม้ยูคาลิปตัสซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2549 ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษที่ปรับลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ ในขณะเดียวกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันของเยื่อกระดาษไทยในตลาดโลก เพราะทำให้ราคาส่งออกของไทยแพงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้า

สำหรับสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในปี 2550 สามารถแยกออกเป็นตลาดในประเทศและตลาดส่งออกได้ดังนี้

ตลาดในประเทศ : ในปี 2550 ความต้องการใช้เยื่อกระดาษในอุตสาหกรรมกระดาษ บรรจุภัณฑ์และสิ่งพิมพ์ยังคงมีแนวโน้มเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ในปี 2550 มีแนวโน้มเติบโตสูงส่งผลต่อความต้องการใช้เยื่อกระดาษที่ยังคงเติบโต โดยคาดว่าในปี 2550 ปริมาณการจำหน่ายเยื่อกระดาษในประเทศจะมีประมาณ 670,000-680,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2549 ที่มีการจำหน่ายที่ประมาณ 640,000-650,000 ตัน โดยปัจจัยสนับสนุนที่มีผลต่อความต้องการใช้เยื่อกระดาษที่เพิ่มสูงขึ้นที่สำคัญจะมาจากภาคส่งออกสินค้าของไทยที่แม้ว่าจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงทางด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงแต่ก็คาดว่าการส่งออกของไทยจะยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2549 ส่งผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษเพื่อการส่งออกมีเพิ่มขึ้น ประการสำคัญได้แก่ความต้องการใช้เยื่อและกระดาษของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ที่คาดว่าจะมีการขยายตัวสูง เนื่องจากปี 2550 เป็นช่วงเวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จและพร้อมจัดให้มีการลงประชามติและออกความเห็นจากประชาชนก่อนที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงปลายปี 2550 ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อแนะนำเนื้อหาข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประชาชนได้ศึกษา รวมทั้งสิ่งพิมพ์เพื่อการเลือกตั้งทั้งใบปลิว แผ่นพับ โปสเตอร์ แนะนำตัวผู้สมัครของพรรคการเมือง รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์และจัดการเลือกตั้งมีเพิ่มขึ้น ประการสำคัญ ในปี 2550 เป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่งผลให้ความต้องการสิ่งพิมพ์รูปแบบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับงานเฉลิมฉลองอาทิ พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจต่างๆเพิ่มขึ้นกว่าช่วงปกติ ซึ่งปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นล้วนส่งผลดีต่อปริมาณความต้องการเยื่อกระดาษที่เพิ่มสูงขึ้น

ตลาดส่งออก : เนื่องจากกำลังการผลิตเยื่อกระดาษของไทยสูงกว่าปริมาณความต้องการใช้เยื่อกระดาษในประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเยื่อกระดาษของไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับตลาดส่งออกเพื่อระบายผลผลิตส่วนเกิน โดยปริมาณและมูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษของไทยปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จาก 167,478 ตันคิดเป็นมูลค่า 3,005.7 ล้านบาทในปี 2547 เพิ่มขึ้นมาเป็น 186,076 ตันมูลค่า 3,517.1 ล้านบาทในปี 2548 ส่วนในปี 2549 ที่ผ่านมาปริมาณและมูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษของไทยยังคงปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 211,537 ตันคิดเป็นมูลค่า 4,401.1 ล้านบาท ปริมาณและมูลค่าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 และร้อยละ 25.1 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกเยื่อกระดาษของไทยที่สำคัญได้แก่จีนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 58.5 ของมูลค่าการส่งออกเยื่อกระดาษทั้งหมดของไทย รองลงมาได้แก่เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม และญี่ปุ่น ซึ่งไทยมีการส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 8.9 ร้อยละ 7.5 ร้อยละ 6.3 และร้อยละ 3.3 ตามลำดับ สำหรับในปี 2550 ตลาดส่งออกหลักของไทยทั้งจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และเวียดนาม ยังคงมีความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคเยื่อกระดาษรายใหญ่ของโลก แม้ว่าจะได้มีการขยายกำลังการผลิตเยื่อกระดาษอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2548-2549 แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตสูง ประกอบกับจีนยังคงขาดแคลนวัตถุดิบไม้ที่จะใช้ผลิตเยื่อกระดาษที่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการทำให้จีนยังคงต้องพึ่งพาเยื่อกระดาษจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องประมาณปีละ 7-8 ล้านตันคิดเป็นมูลค่านำเข้าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยในส่วนของการนำเข้าเยื่อกระดาษจากไทยนั้นจีนมีการนำเข้าประมาณปีละ 130,000-140,000 ตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ปัจจัยสนับสนุน
เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2550 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญสรุปได้ดังนี้

ปัจจัยด้านราคาเยื่อกระดาษ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในเอเชีย ส่งผลให้ปริมาณความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษของโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะจีนมีความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าเยื่อกระดาษจากต่างประเทศเพื่อชดเชยกับปริมาณการผลิตในประเทศที่ไม่เพียงพอ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกดดันให้ราคาเยื่อกระดาษในตลาดโลกปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยราคาเยื่อกระดาษในประเทศที่ผลิตจากไม้ไผ่และยูคาลิปตัสจากระดับ 19,000 บาทต่อตันในปี 2546 ปรับเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 20,100 บาทต่อตันในปี 2548 ส่วนในปี 2549 ที่ผ่านมาราคาเยื่อกระดาษอยู่ที่ระดับประมาณ 22,000 บาทต่อตัน สำหรับในปี 2550 คาดว่าราคาเยื่อกระดาษจะอยู่ที่ระดับ 22,000-23,000 บาทต่อตัน ซึ่งปัจจัยทางด้านราคาเยื่อกระดาษที่มีความผันผวนน้อยและมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันตามภาวะความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษของประเทศในเอเชียที่ปรับเพิ่มขึ้น นับเป็นผลดีต่อรายได้ของผู้ประกอบการเยื่อกระดาษในปี 2550

ปัจจัยด้านราคาน้ำมันที่ปรับลดลง จากการที่ราคาน้ำมันเริ่มมีแนวโน้มปรับลดลงมานับตั้งแต่ช่วงปี 2549 ที่ผ่านมาและยังคงมีแนวโน้มทรงตัวหรือปรับตัวลดลงในปี 2550 ซึ่งปัจจัยทางด้านราคาน้ำมันดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งวัตถุดิบจากพื้นที่เพาะปลูกไม้โตเร็วเช่นไม้ไผ่และไม้ยูคาลิปตัสเข้าสู่โรงงาน รวมทั้งลดต้นทุนขนส่งเยื่อกระดาษจากโรงงานไปถึงผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ และช่วยให้รายได้ของผู้ประกอบการปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงพึงระวัง
อย่างไรก็ตาม ในปี 2550 อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ไม่ควรมองข้าม สรุปได้ดังนี้

ภาวะเศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากภาวะการชะลอตัวของการบริโภครวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ขาดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ด้านการเมืองและทิศทางรายได้ในอนาคต ประกอบกับปัจจัยทางด้านเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของเยื่อกระดาษไทยในตลาดโลก ซึ่งปัจจัยดังที่กล่าวมาข้างต้นล้วนมีผลกระทบต่อปริมาณความต้องการบริโภคเยื่อกระดาษที่อาจชะลอตัวลงจากประมาณการในเบื้องต้น ดังนั้นผู้ประกอบการเยื่อกระดาษจึงจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดเพื่อวางแผนการสต็อกวัตถุดิบและสต็อกผลผลิตให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการที่แท้จริง

ต้นทุนวัตถุดิบยังคงอยู่ในระดับสูง ราคาไม้ยูคาลิปตัสซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตเยื่อกระดาษมีการปรับเพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 900- 1,000 บาทต่อตันในปี 2548 มาเป็นระดับประมาณ 1,200 บาทต่อตันในปี 2549(ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.0 นิ้ว) ส่วนปี 2550 คาดว่าราคาไม้ยูคาลิปตัสมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2549 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของผู้ประกอบการเยื่อกระดาษยังคงอยู่ในระดับสูงและจำเป็นต้องปรับราคาจำหน่ายเยื่อกระดาษเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบไปถึงต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอันได้แก่อุตสาหกรรมกระดาษ

การแข็งค่าของเงินบาท ในปี 2550 คาดว่าเงินบาทของไทยจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งค่าและมีความผันผวนต่อเนื่องจากปี 2549 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวแม้ว่าจะส่งผลดีต่อต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบประเภทสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศที่จะมีราคาถูกลง ในขณะเดียวกัน ที่ผ่านมาผู้ประกอบการบางรายมีการกู้ยืมเงินต่างประเทศมาใช้เพื่อการปรับปรุงขยายกำลังการผลิต รวมทั้งการจัดซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัย ดังนั้น เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้นจึงส่งผลให้ภาระหนี้ต่างประเทศทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของผู้ประกอบการเยื่อกระดาษปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลกระทบด้านลบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่มีต่อผู้ประกอบการเยื่อกระดาษที่สำคัญได้แก่ผลกระทบทางด้านเยื่อกระดาษส่งออก โดยเฉพาะรายได้จากการส่งออกที่แปลงค่าเป็นเงินบาทที่ปรับลดลง ซึ่งในปี 2550 คาดว่าไทยจะส่งออกเยื่อกระดาษคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100-120 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประการสำคัญ การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลกระทบต่อความสามารถด้านการแข่งขันของเยื่อกระดาษไทยในตลาดโลก เพราะทำให้ราคาส่งออกของไทยแพงขึ้นในสายตาของผู้นำเข้า โดยเฉพาะอินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกเยื่อกระดาษใยสั้นเช่นเดียวกับไทย

กล่าวโดยสรุปแล้ว ความต้องการเยื่อกระดาษทั้งตลาดในประเทศและเพื่อการส่งออกยังคงมีแนวโน้มเติบโต โดยในปี 2550 ผู้ประกอบการจะได้รับผลดีจากภาระต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวลดลงตามปัจจัยราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง ในขณะที่ราคาจำหน่ายเยื่อกระดาษก็มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปี 2549 ซึ่งช่วยลดความผันผวนทางด้านรายได้ของผู้ประกอบการเยื่อกระดาษไปได้มาก อย่างไรก็ตาม ทิศทางของอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษอาจเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของปริมาณความต้องการใช้เยื่อกระดาษในประเทศ หากปัจจัยลบทางการเมืองรวมทั้งปัจจัยด้านความเชื่อมั่นทางด้านการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ลดลงยังคงมีเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกเยื่อกระดาษในรูปเงินบาทที่ลดลงด้วย