มาเลเซีย-ไทย : ร่วมสร้างความสงบ & กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้

นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย อับดุลเลาะห์ อะหมัด บาดาวี มีกำหนดการเดินทางมาเยือนไทยในระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2550 คาดว่าประเด็นสำคัญของการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของมาเลเซียและพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทยในครั้งนี้ ได้แก่ ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบทางภาคใต้ของไทยซึ่งมีพรมแดนติดต่อกับประเทศมาเลเซีย ทางการไทยพยายามปราบปรามการก่อการร้ายเพื่อนำความสงบและความมั่นคงกลับมาสู่จังหวัดชายแดนทางใต้ของไทย รวมทั้งมีแผนการพัฒนาพื้นที่ในเขตภาคใต้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ และเพิ่มการจ้างงานในจังหวัดชายแดนทางใต้ของไทย รวมทั้งสนับสนุนให้การค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียขยายตัวมากขึ้น

ค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย … แนวโน้มสดใส
แม้จังหวัดทางชายแดนภาคใต้ของไทยประสบเหตุการณ์ไม่สงบกินเวลานาน แต่มูลค่าการค้าชายแดนไทยกับมาเลเซียยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย (ส่งออก+นำเข้า) คิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทยกับมาเลเซีย ไทยส่งออกสินค้าส่วนใหญ่ไปมาเลเซียผ่านทางชายแดน คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปมาเลเซีย ในขณะที่ไทยนำเข้าจากมาเลเซียทางชายแดนเพียง 25.6% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากมาเลเซีย เป็นที่น่าสังเกตว่า ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้าระหว่างประเทศกับมาเลเซียมาโดยตลอดซึ่งครอบคลุมถึงการค้ารูปแบบปกติที่ไม่ได้ขนส่งผ่านทางชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียด้วย แต่หากพิจารณาเฉพาะการค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซียทางจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง

มูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย (ส่งออก+นำเข้า) เพิ่มขึ้นเกือบ 44% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2546-2548) จาก 189,418 ล้านบาท ในปี 2546 เป็น 272,223 ล้านบาท ในปี 2548 สำหรับมูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้น 27.7% จาก 249,654 ล้านบาทในปีช่วงเดียวกันปี 2548 เป็น 318,873 ล้านบาท คาดว่า การค้าชายแดนไทย-มาเลเซียทั้งปี 2549 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 27% เมื่อเทียบกับปี 2548 ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียรวม 272,223 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่า 63% ของการค้าชายแดนทั้งหมดของไทยที่รวมการค้าชายแดนระหว่างไทยกับมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา

นับว่ามาเลเซียเป็นประเทศที่ไทยค้าขายทางชายแดนมากที่สุด ทั้งด้านการส่งออกและการนำเข้า การส่งออกสินค้าไทยไปมาเลเซียทั้งหมดทางชายแดนเพิ่มขึ้น 31% ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าส่งออก 318,873 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าของไทยทางชายแดนจากมาเลเซียมีมูลค่า 92,627 ล้านบาท ขยายตัว 20.4% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับมาเลซีย 133,617 ล้านบาท ในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 39% จากช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มียอดเกินดุลการค้าชายแดนกับมาเลเซีย 95,886 ล้านบาท

ไทยส่งออกสินค้ากสิกรรมไปมาเลเซียทางชายแดนมากที่สุดในช่วง 10 เดือนแรกปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของการส่งออกทั้งหมดของไทยทางชายแดนไปมาเลเซีย มูลค่าส่งออก 107,413 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ เครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่าส่งออก 25,079 ล้านบาท สินค้าส่งออกอื่นๆ ของไทยทางชายแดนไปมาเลเซีย ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ยานพาหนะ อุปกรณ์และชิ้นส่วน และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับสินค้าที่ไทยนำเข้าชายแดนจากมาเลเซียมากที่สุดในช่วง 10 เดือนแรก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่านำเข้า 24,845.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 30% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยทางชายแดนจากมาเลเซีย รองลงมา ได้แก่ เครื่องจักรไม่ใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่านำเข้า 12,781 ล้านบาท (สัดส่วน 15%) สินค้านำเข้าอื่นๆ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรที่ใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และพลาสติกและผลิตภัณฑ์

ในบรรดา 4 จังหวัดของไทยที่มีพรมแดนติดกับมาเลเซีย ได้แก่ สงขลา นราธิวาส ยะลา และสตูล ไทยค้าผ่านชายแดนกับมาเลเซียทางจังหวัดสงขลามากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนถึง 98% ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียทั้งหมด โดยการส่งออกสินค้าทางชายแดนสงขลาของไทยไปมาเลเซียเพิ่มขึ้น 32.5% ขณะที่การนำเข้าของไทยจากมาเลเซียทางจังหวัดสงขลาเพิ่มขึ้น 16% ส่งผลให้ไทยได้ดุลการค้ากับมาเลเซียทางสงขลา 122,366.7 ล้านบาท ส่วนด่านจังหวัดยะลา ไทยเกินดุลการค้ากับมาเลเซียมูลค่า 2,629 ล้านบาท ในขณะที่ไทยขาดดุลการค้าชายแดนกับมาเลเซียทางด่านจังหวัดนราธิวาสและสตูล มูลค่าขาดดุลการค้า 581.9 ล้านบาท และ 168 ล้านบาท ตามลำดับ

ปัญหาการค้าชายแดนไทย-มาเลเซียที่ทางการไทยและมาเลเซียควรร่วมมือเร่งแก้ไข เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและกระตุ้นมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกัน ได้แก่ การค้านอกระบบตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียซึ่งมีพื้นที่ยาวกว่า 600 กิโลเมตร เนื่องจากความต้องการสินค้าของอีกประเทศ เพราะราคาถูกกว่าสินค้าชนิดเดียวกันที่ผลิตภายในประเทศนั้น รวมถึง ปัญหาความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้า เนื่องจากมาเลเซียไม่อนุญาตให้รถบรรทุกสินค้าของไทยเข้าไปส่งสินค้าในมาเลเซีย ทำให้ผู้ส่งออกไทยต้องขนถ่ายสินค้าขึ้นรถมาเลเซียที่บริเวณชายแดน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและส่งผลเสียต่อสินค้าเกษตรประเภทผักและผลไม้ที่เน่าเสียง่าย นอกจากนี้ มาเลเซียกำหนดให้รถยนต์ที่ผ่านเข้า-ออกมาเลเซียต้องจดทะเบียนทำประกันภัยในมาเลเซีย และรถขนส่งสินค้าต้องใช้คนขับของมาเลเซียด้วย

กระตุ้นการท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนทางใต้
จากเหตุการณ์ความไม่สงบทางชายแดนภาคใต้ของไทยที่ยืดเยื้อมีส่วนสำคัญที่ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวไป-มาระหว่างไทยกับมาเลเซียหดตัวลงในปี 2548 เนื่องจากนักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางไป-มาระหว่างกัน เพราะกังวลกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จำนวนนักท่องเที่ยวมาเลเซียในไทยปี 2548 ลดลง 3.4% จากราว 1.38 ล้านคนในปี 2547 เป็น 1.34 ล้านคน สำหรับนักท่องเที่ยวไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวในมาเลเซียในปี 2548 ลดลง 3.7% จากจำนวน 863,665 คน ในปี 2547 เป็น 831,338 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับมาเลเซียในปี 2549 จะฟื้นตัว เพราะแม้ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบดังกล่าวจะยังไม่ยุติลง แต่ไม่มีเหตุการณ์ปะทะกันอย่างรุนแรงของฝ่ายทางการไทยกับกลุ่มผู้ก่อการร้าย และประชาชนเริ่มปรับตัวและระวังกับเหตุการณ์ความไม่สงบได้มากขึ้น โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นเกือบ 20% เป็น 633,370 คน จากช่วงเดียวกันปี 2548 ที่มีจำนวน 531,397 คน ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียที่เดินทางมาไทยถือว่ามากที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวจากประเทศอาเซียนทั้งหมด คิดเป็นสัดส่วนราว 11% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทย ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในมาเลเซียในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 เพิ่มขึ้น 6.2% จากจำนวน 295,457 คน ในช่วงเดียวกันของปี 2548 เป็น 314,021 คน

การลงทุนไทย-มาเลเซีย
มาเลเซียเข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ โดยโครงการลงทุนของมาเลเซียที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในไทยในปี 2549 มีจำนวน 40 โครงการ มูลค่ารวม 13,468 ล้านบาท ประเภทโครงการลงทุนของมาเลเซียที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจบริการ มูลค่าโครงการ 8,215 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์เหล็กและเครื่องจักรกล ส่วนการลงทุนของนักลงทุนไทยในมาเลเซียในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2544-2548) พบว่า โครงการของไทยที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในมาเลเซียมีมูลค่ารวม 519.2 ล้านริงกิต หรือมูลค่าโครงการเฉลี่ยปีละราว 104 ล้านริงกิต ไทยเป็นประเทศที่ได้รับอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุนจากมาเลเซียซึ่งมีมูลค่ามากเป็นอันดับ 14 ของโครงการของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในมาเลเซียในปีช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และถือว่ามากเป็นอันดับ 2 ของประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์

เศรษฐกิจของมาเลเซียมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 2550 คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซียจะขยายตัวประมาณ 5.2% ในปี 2550 เทียบกับอัตราเติบโต 5.1% และ 5.7% ในปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐภายใต้แผนพัฒนาฉบับที่ 9 ของมาเลเซีย ซึ่งถือเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ส่วนภาคการส่งออกของมาเลเซีย คาดว่าจะชะลอตัวลงในปีนี้จากความต้องการภายนอกที่อ่อนแรงลง สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในมาเลเซีย คาดว่าจะยังไหลเข้ามาเลเซียอย่างต่อเนื่องจากมาตรการปรับปรุงกฎหมายส่งเสริมการลงทุนของมาเลเซียในปี 2550 ได้แก่ การปรับปรุงกระบวนการจัดตั้งธุรกิจและสิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อกระตุ้นเงินลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งเงินลงทุนไหลเข้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 1 ของมาเลเซีย คาดว่านักลงทุนจากญี่ปุ่นจะเข้ามาลงทุนในมาเลเซียอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดเสรีและลดอุปสรรคด้านการลงทุนภายใต้ความตกลง FTA มาเลเซีย-ญี่ปุ่นที่เริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือนกรกฎาคม 2549

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า เศรษฐกิจของมาเลเซียที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เพราะจะกระตุ้นการส่งออกของไทยไปมาเลเซีย รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนและนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียในไทยให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน นอกจากนี้ ความร่วมมือของไทยและมาเลเซียในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบทางจังหวัดชายแดนของไทย จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของจังหวัดชายแดนทั้งสองประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป ***