ย้ายเที่ยวบินจากสุวรรณภูมิกลับดอนเมือง…นโยบายระยะยาวต้องชัดเจน

ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ก็ได้มีมติเห็นชอบให้ท่าอากาศยานกรุงเทพหรือสนามบินดอนเมืองเปิดให้บริการทางการบินเชิงพาณิชย์อีกครั้งสำหรับเที่ยวบินภายในประเทศที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับเที่ยวบินระหว่างประเทศ โดยให้เป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการสายการบินซึ่งจะย้ายกลับไปให้บริการได้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2550 และหลังจากสนามบินดอนเมืองเปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศไปแล้วเป็นเวลา 6 เดือน คณะกรรมการนโยบายการดำเนินกิจการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานกรุงเทพ(ดอนเมือง)ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะประเมินผลการปฏิบัติงานอีกครั้งเพื่อรับทราบอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ในเบื้องต้นคาดว่าจะมี 4 สายการบินที่จะนำเที่ยวบินในประเทศกลับมาให้บริการที่สนามบินดอนเมือง ได้แก่ สายการบิน พี.บี.แอร์ สายการบินนกแอร์ สายการบินวันทูโกและการบินไทย รวมแล้วประมาณ 80 เที่ยวบินต่อวัน อนึ่ง ก่อนหน้านี้ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้อเสนอให้มีการย้ายเที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับไปที่สนามบินดอนเมืองได้เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะในด้านเหตุผลและความจำเป็น ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ที่อาจจะตามมา เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการสู่สายตานานาชาติเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 แต่หลังจากเปิดให้ดำเนินการมาเพียง 4-5 เดือนเท่านั้น ก็ต้องพบกับปัญหานานัปการอันส่งผลกระทบต่อการให้บริการ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพการชำรุดเสียหายของทางขับ(แท็กซี่เวย์)และทางวิ่ง(รันเวย์) ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมโดยด่วน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปและวิเคราะห์เหตุผลต่างๆ ที่สนับสนุนให้มีการย้ายบริการเที่ยวบินบางส่วนจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับไปยังสนามบินดอนเมือง ดังนี้ :

1. สภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิขณะนี้ประสบกับปัญหา ทำให้ต้องมีการแก้ไขซ่อมแซมหรือปรับปรุงอยู่หลายจุด ก่อให้เกิดปัญหาความแออัด : ปัจจุบันจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของผู้ใช้บริการเดินทางและขนส่งทางอากาศของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งรวมทั้งประเทศไทย ได้ทำให้จำนวนผู้เดินทางทางอากาศมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาก แนวโน้มจำนวนผู้โดยสารทางอากาศก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเพิ่มสูงกว่า 44 ล้านคนในไม่ช้านี้ ซึ่งใกล้จะเต็มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิที่ 45 ล้านคนต่อปี อันหมายความว่าทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะต้องเริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2550 นี้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันขณะที่แนวโน้มจำนวนผู้โดยสารทางอากาศกำลังเพิ่มสูงขึ้น แต่ประสิทธิภาพในการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิที่เพิ่งเปิดให้บริการเพียง 4-5 เดือนกลับกำลังประสบปัญหาอุปสรรค ทำให้ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขและซ่อมแซมพื้นที่บางส่วนเป็นการด่วน ไม่ว่าจะเป็นระบบการให้บริการและสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารผู้โดยสาร ปัญหาการชำรุดของทางวิ่งหรือรันเวย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพชำรุดและแตกร้าวบนพื้นผิวทางขับหรือแท็กซี่เวย์ จนทำให้ต้องมีการปิดบริการในบางส่วนเพื่อทำการซ่อมแซม ดังนั้น จากประสิทธิภาพในการให้บริการที่ลดลงเนื่องจากปัญหาต่างๆดังกล่าว ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นๆ ทำให้สภาพความแออัดของการจราจรบนท้องฟ้าเหนือสนามบินและในตัวของสนามบินสุวรรณภูมิ มีแนวโน้มว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจัยดังกล่าวจึงนำไปสู่การเสนอให้มีการพิจารณาที่จะให้สนามบินดอนเมืองซึ่งยังมีศักยภาพในการให้บริการมาช่วยแบ่งเบาภาระการให้บริการ หรืออีกนัยหนึ่งมาช่วยเสริมสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งนี้คาดว่าการย้ายเที่ยวบินในประเทศทั้งหมดที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับเที่ยวบินระหว่างประเทศกลับมาให้บริการที่สนามบินดอนเมือง จะช่วยแบ่งเบาภาระการจราจรและลดจำนวนเที่ยวบินที่สนามบินสุวรรณภูมิลงได้ประมาณร้อยละ 15-20

2. การชะลอค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิ : การให้สนามบินดอนเมืองกลับมาให้บริการเที่ยวบินบางส่วน จะช่วยชะลอการลงทุนตามแผนแม่บทการลงทุนเพื่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟสต่อไปออกไปได้หลายปี เนื่องจากการใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองจะช่วยยืดเวลาไปสู่จุดอิ่มตัวในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินสุวรรณภูมิในปัจจุบันออกไปได้อีกหลายปี โดยก่อนหน้านี้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีโครงการที่จะขยายสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารจาก 45 ล้านคนต่อปีในปัจจุบัน เป็น 54 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการสร้างอาคารเทียบเครื่องบินเพิ่มเติม และเพิ่มรันเวย์เส้นที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาท เดิมกำหนดโครงการให้แล้วเสร็จในปี 2553 คือจะใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการก่อสร้างประมาณ 4 ปี และจะต้องเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2550 นี้ อย่างไรก็ตาม จากปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิที่ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขซ่อมแซมในหลายจุดอยู่ในขณะนี้ จึงทำให้โครงการเฟส 2 ยังไม่สามารถเริ่มดำเนินการได้ นอกจากนั้น การให้มีบริการทางการบินกลับมายังสนามบินดอนเมือง ยังจะเป็นการช่วยชะลอภาระค่าใช้จ่ายในแผนการลงทุนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารสายการบินต้นทุนต่ำ(Low Cost Airlines Terminal) ณ สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งประมาณว่าจะต้องใช้งบประมาณกว่า 1,400 ล้านบาท ดังนั้น การให้สายการบินบางส่วนสามารถกลับมาใช้บริการที่สนามบินดอนเมืองได้อีก จึงเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายของประเทศในเวลานี้ อีกทั้งยังเกื้อหนุนต่อสถานะการเงินและผลประกอบการของทอท. ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ

3. ขีดความสามารถที่ยังมีอยู่ของสนามบินดอนเมืองในการให้บริการทางการบิน : สนามบินดอนเมืองยังมีศักยภาพในการให้บริการทางการบิน โดยสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้กว่า 36 ล้านคนต่อปี และจำนวนเที่ยวบินเฉลี่ยกว่า 800 เที่ยวต่อวันในช่วงปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เมื่อเพียงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ สนามบินดอนเมืองเคยเป็นแหล่งสร้างรายได้ที่สำคัญของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. แต่ปัจจุบันหลังจากมีการย้ายบริการทางการบินไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมืองกลับกลายเป็นเป็นหน่วยธุรกิจที่สร้างภาระต้นทุนให้กับองค์กร เนื่องจากขณะนี้สนามบินดอนเมืองมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและบำรุงรักษาเดือนละหลายสิบล้านบาท แต่สามารถสร้างรายได้บางเดือนเพียงไม่กี่แสนบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจากเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เป็นต้น ดังนั้น ศักยภาพของสนามบินดอนเมืองที่ยังมีสูงอยู่ จึงอยู่ในสภาพที่ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์สูงสุดในขณะนี้ แม้สำหรับระยะยาวแล้ว ทางทอท.จะได้มีการจัดทำแผนพัฒนาการลงทุนท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพหรือสนามบินดอนเมืองไว้แล้ว โดยก่อนหน้านี้ทาง ทอท. ได้มีการจัดทำแผนพัฒนาการลงทุนท่าอากาศยานฯกรุงเทพ(ดอนเมือง) ภายหลังการย้ายไปเปิดใช้สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ทั้งนี้ในแผนดังกล่าว แนวทางหลักๆ ในการใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองในระยะยาว ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับทอท.ด้วยนั้น ประกอบไปด้วย :

– การพัฒนาให้สนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงและศูนย์อะไหล่อากาศยานของภูมิภาค (Aviation Maintenance Hub) โดยจะให้บริการซ่อมแซมชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องบิน การซ่อมและบำรุงรักษาอากาศยาน รวมทั้งเป็นศูนย์พัฒนาและฝึกฝนบุคลากรด้านการบินของภูมิภาค ทั้งนักบินและช่างซ่อมเครื่องบิน

– บริการทางการบินให้กับเครื่องบินเช่าเหมาลำ (Charter Flight) เครื่องบินหน่วยงานของรัฐ (เช่น เครื่องบินทหาร) เครื่องบินส่วนบุคคล ตลอดจนเครื่องบินที่ใช้ทดสอบการบินและทดสอบทางเทคนิค

อย่างไรก็ตาม แม้จะได้มีการวางแผนเบื้องต้นเพื่อพัฒนาสนามบินดอนเมืองดังกล่าวแล้ว แต่ขีดความสามารถในการให้บริการของสนามบินดอนเมืองที่ยังมีอยู่และยังสามารถให้บริการเที่ยวบินปกติได้ กลับไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในขณะนี้ จึงมีการเสนอให้มีการใช้สนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อแบ่งเบาภาระการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิที่ปัจจุบันเริ่มมีความแออัดอีกทั้งยังประสบปัญหาการให้บริการดังได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น
4. การประหยัดภาระค่าใช้จ่ายของธุรกิจสายการบิน นับเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้สายการบินหลายรายแสดงความสนใจที่จะย้ายการให้บริการเที่ยวบินกลับไปที่สนามบินดอนเมือง ทั้งนี้ แม้ว่าอัตราค่าบริการทางการบิน อาทิ ค่าธรรมเนียมการขึ้นลงและการจอดทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินดอนเมือง จะอยู่ในระดับเดียวกัน แต่ภาระค่าใช้จ่ายของสายการบินที่สนามบินดอนเมืองน่าจะต่ำกว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากระยะทางและเวลาที่เครื่องบินแต่ลำต้องใช้บนแท็กซี่เวย์ที่สนามบินดอนเมืองจะน้อยกว่า (เนื่องจากสนามบินดอนเมืองมีขนาดเล็กกว่า) ทำให้สิ้นเปลืองค่าเชื้อเพลิงต่ำกว่า อีกทั้งสภาพการชำรุดของแท็กซี่เวย์และรันเวย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิในขณะนี้ จนทำให้ต้องมีการทยอยปิดให้บริการบางส่วนเพื่อซ่อมแซมนั้น ในบางครั้งได้ทำให้สภาพการจราจรบนท้องฟ้าเหนือสนามบินมีความแออัด และบางครั้งเครื่องบินไม่สามารถใช้บริการขึ้นลงได้สะดวกและเกิดความล่าช้า อันเป็นการเพิ่มต้นทุนการบริการรวมทั้งต้นทุนค่าเชื้อเพลิง นอกเหนือจากต้นทุนด้านการบินแล้ว ต้นทุนการให้บริการด้านอื่นๆ อาทิ อัตราค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน ตลอดจนร้านค้าและพื้นที่ให้บริการต่างๆในอาคารสนามบินดอนเมืองก็น่าจะต่ำกว่าที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินหลายรายแสดงความประสงค์ที่จะย้ายเที่ยวบินกลับไปที่ดอนเมือง

5. ผลพลอยได้จากการย้ายเที่ยวบินกลับไปที่สนามบินดอนเมือง : นอกจากเหตุผลความจำเป็นต่างๆ ข้างต้นที่สนับสนุนให้มีการย้ายเที่ยวบินบางส่วนกลับไปที่สนามบินดอนเมืองแล้ว การเปิดให้บริการเที่ยวบินที่สนามบินดอนเมืองยังจะทำให้หลากหลายธุรกิจที่ดอนเมืองกลับมาคึกคักอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าในเบื้องต้นจะมีจำนวนเที่ยวบินย้ายกลับไปดอนเมืองวันละประมาณ 80 เที่ยว ทั้งนี้เดิมก่อนหน้าที่จะมีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมินั้น สนามบินดอนเมืองได้เคยเป็นสถานที่ที่เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจต่างๆภายในบริเวณสนามบิน นับตั้งแต่ธุรกิจร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ ผู้ประกอบการรถรับจ้างสาธารณะประเภทต่างๆ อาทิ รถบัส รถลีมูซีน รถแท็กซี่ รวมทั้งธุรกิจรักษาความปลอดภัย ธุรกิจทำความสะอาด ตลอดจนธุรกิจท่องเที่ยวหรือทัวร์ต่างๆ ที่เคยมีเคาน์เตอร์ในบริเวณท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งรวมไปถึงการจ้างงานโดยธุรกิจต่างๆเหล่านี้ ทั้งนี้ยังไม่ได้นับรวมธุรกิจและการประกอบอาชีพต่างๆ ของผู้คนในชุมชนบริเวณรอบๆ สนามบิน ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หอพัก บ้านพักอาศัย และร้านค้าต่างๆ ซึ่งคงจะกลับมาคึกคักอีกครั้งเมื่อมีการเปิดให้บริการเที่ยวบินปกติที่สนามบินดอนเมืองอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม การย้ายบริการเที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับมายังสนามบินดอนเมืองนั้น ได้ก่อให้เกิดประเด็นที่ไม่เห็นด้วย ตลอดจนผลกระทบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปและวิเคราะห์ไว้ดังนี้ :
การย้ายเที่ยวบินบางส่วนกลับไปยังสนามบินดอนเมือง อาจทำให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสูญเสียเป้าหมายการเป็นฮับหรือศูนย์กลางการบินของภูมิภาค เนื่องจากมีความวิตกกันว่าการเปิดให้บริการเที่ยวบินที่สนามบินดอนเมืองอีกครั้งหนึ่ง จะกระทบบทบาทการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตามในประเด็นนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า หากเป้าหมายหรือวิสัยทัศน์ของชาติคือต้องการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคแล้ว การมีท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นสนามบินรองหรือสนามบินแห่งที่ 2 ของกรุงเทพฯ ควบคู่และเสริมกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็ไม่น่าจะกระทบเป้าหมายของชาติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสนามบินดอนเมืองจะให้บริการเฉพาะเที่ยวบินในประเทศที่ไม่มีการเชื่อมต่อกับเที่ยวบินระหว่างประเทศ บทบาทของสนามบินสุวรรณภูมิในฐานะที่เป็นท่าอากาศยานนานาชาติของกรุงเทพก็ไม่น่าจะถูกกระทบ นอกจากนั้นการมีสนามบินพาณิชย์มากกว่าหนึ่งแห่งในเมืองใหญ่ๆ ก็ถือเป็นเรื่องปกติ ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากในเมืองใหญ่ๆ ของโลกหลายแห่ง อาทิ ลอนดอน โตเกียว นิวยอร์ก หรือแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ที่ได้ลงทุนก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ชื่อ Low Cost Carrier Terminal (LCCT) ซึ่งอยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ประมาณ 20 กิโลเมตร และได้เปิดให้บริการแก่สายการบินต้นทุนต่ำโดยเฉพาะตั้งแต่เดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ บทบาทของสนามบิน LCCT คือการมาเสริมสนามบินฯ กัวลาลัมเปอร์ที่มีอยู่แล้วเดิม

การย้ายบริการเที่ยวบินจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับไปสนามบินดอนเมือง อาจจะกระทบภาพพจน์และความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ทั้งนี้เนื่องจากสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเพิ่งเปิดให้ดำเนินการมาเพียง 4-5 เดือน แต่ก็ต้องพบกับปัญหาการให้บริการในหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการชำรุดของแท็กซี่เวย์และรันเวย์ ทำให้ต้องมีการซ่อมแซมปรับปรุง ซึ่งมีการวิตกกันว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพพจน์ของการให้บริการทางอากาศของประเทศ อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า หากการย้ายเที่ยวบินจะส่งผลดีกับผู้ใช้บริการเดินทางทางอากาศ ทั้งในแง่ความสะดวกรวดเร็ว การบรรเทาปัญหาความแออัดที่สนามบินสุวรรณภูมิ ตลอดจนในแง่ความปลอดภัย ซึ่งแม้ว่าในระยะสั้นย่อมจะกระทบต่อภาพพจน์ของสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของประเทศในภาพรวมในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้มีการกำหนดแล้วว่าจะย้ายเฉพาะบริการทางอากาศหรือเที่ยวบินประเภทใดบ้าง รวมทั้งแนวทางการย้ายบริการเที่ยวบินบางส่วนกลับไปที่ดอนเมืองที่น่าจะเป็นการย้ายแบบถาวร ซึ่งนับเป็นการสร้างความชัดเจนให้กับนโยบายของภาครัฐในเวลานี้ได้ในระดับหนึ่ง

ผลกระทบอื่นๆ จากการย้ายเที่ยวบินบางส่วนออกจากสนามบินสุวรรณภูมิ ในขณะที่การย้ายเที่ยวบินบางส่วนกลับไปที่สนามบินดอนเมือง คาดว่าจะทำให้หลากหลายธุรกิจที่ดอนเมืองกลับมาคึกคักอีกนั้น แต่ในทางตรงข้าม การย้ายเที่ยวบินบางส่วนออกจากสนามบินสุวรรณภูมิย่อมจะส่งผลกระทบต่อบรรดาร้านค้าและธุรกิจบริการต่างๆ ภายในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเพิ่งให้บริการมาเพียง 4-5 เดือน ไม่ว่าจะเป็นอาทิ ร้านค้า ร้านอาหาร ในอาคารสนามบิน รวมทั้งธุรกิจต่างๆ เช่น บริการที่พักอาศัย ฯลฯ บริเวณรอบสนามบิน ที่คงจะต้องปรับเป้าและแผนการดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อรองรับผลกระทบจากยอดขายที่อาจจะลดลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลกระทบคงไม่มากนัก เนื่องจากจำนวนเที่ยวบินที่จะย้ายกลับไปที่ดอนเมืองในครั้งนี้ อย่างมากคงจะไม่เกินร้อยละ 15-20 ของเที่ยวบินทั้งหมดที่ให้บริการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ในขณะนี้ โดยที่เที่ยวบินส่วนใหญ่ซึ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศจะยังคงให้บริการอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ

การย้ายบริการทางการบินบางส่วนจากสนามบินสุวรรณภูมิกลับไปยังสนามบินดอนเมืองหลังการเปิดใช้เพียงไม่กี่เดือน เพราะมีสาเหตุมาจากปัญหาอุปสรรคในการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมินั้น นับเป็นเหตุการณ์ที่คนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดมาก่อน อีกทั้งยังเป็นสถานการณ์ที่ต้องอาศัยทั้งการพิจารณาอย่างรอบคอบ ตลอดจนวิสัยทัศน์ในการมองไปข้างหน้าของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้กำลังเป็นที่จับตามองทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้นแนวนโยบายที่ชัดเจนของภาครัฐจึงมีความสำคัญยิ่ง ทั้งในประเด็นว่าการย้ายเฉพาะเที่ยวบินในประเทศครั้งนี้เป็นเพียงชั่วคราวหรือเป็นการย้ายถาวร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของสนามบินดอนเมืองและของสนามบินสุวรรณภูมิในอนาคต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงมีความเห็นว่าการกลับมาให้บริการเที่ยวบินของสนามบินดอนเมืองต้องมิใช่เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ในยามที่สนามบินสุวรรณภูมิยังไม่สามารถให้บริการได้อย่างสมบูรณ์และต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอยู่ในขณะนี้เท่านั้น แต่ต้องเป็นการดำเนินการเพื่อพัฒนาการใช้ประโยชน์จากสนามบินทั้ง 2 ในระยะยาว ดังนั้นภาครัฐจึงต้องมีแนวนโยบายตลอดจนการจัดทำแผนเพื่อกำหนดบทบาทและหน้าที่ในการให้บริการทางอากาศระหว่างสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิในระยะยาวอย่างชัดเจน หากประเทศไทยยังคงต้องการที่จะเป็นฮับหรือศูนย์กลางการบินของภูมิภาค