สมาคมบริษัทจดทะเบียน จัดงานสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

สมาคมบริษัทจดทะเบียนร่วมกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็น เรื่องแนวทางการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียนในอนาคต ในวันที่ 15 มีนาคม 2550 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนา 528 คน

ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล อุปนายกสมาคม กล่าวว่า “การแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้เสนอร่างให้กระทรวงการคลังพิจารณา เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติร่างนั้น สมาคมบริษัทจดทะเบียนได้รับความเห็นจากบริษัทจดทะเบียนในหลายประเด็น จึงได้จัดสัมมนาเพื่อที่จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับฟังการชี้แจงหลักการและเหตุผลในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และเปิดให้มีการแสดงความเห็น”

ในการสัมมนาครั้งนี้ คุณชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้บรรยายเรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน โดยครอบคลุมประเด็นในเรื่องหลักการแก้ไขกฎหมาย รวมทั้งการชี้แจงเรื่องบทบาทของสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะนำเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันของตลาดหลักทรัพย์ฯ มาบังคับใช้ เช่น เกณฑ์การทำรายการระหว่างกัน นอกจากนี้คุณชาลียังได้กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการแก้ไข พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ เพื่อเป็นการยกระดับบรรษัทภิบาลของประเทศ

ในช่วงที่สองของการสัมมนาได้มีการเสวนาเรื่อง “ผลกระทบของการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ต่อบริษัทจดทะเบียน” โดยมี คุณชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. คุณสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล กรรมการ บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล คุณมนตรี ฐิรโฆไท กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ บมจ.อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น เป็นผู้ร่วมเสวนา และคุณมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.หลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ดร.บุญเกียรติ โชควัฒนา ได้แสดงความเห็นถึงผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนว่า การออกกฎหมายที่เข้มงวดอาจมีผลให้บริษัทจดทะเบียน มีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้น และอาจจะส่งผลให้บริษัทเอกชนมีความสนใจที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์น้อยลง

คุณมนตรี ฐิรโฆไท ได้ให้ความเห็นเรื่อง เลขานุการบริษัท ที่มีการกำหนดในร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขว่าคณะกรรมการต้องจัดให้มีเลขานุการบริษัท ซึ่งได้มีการกำหนดบทลงโทษให้เท่าเทียมกับกรรมการบริษัท อาจจะเป็นปัญหากับทางปฎิบัติสำหรับบริษัทขนาดเล็ก

คุณสุทธิชัย จิตรวาณิช ได้ให้ความเห็นว่า เรื่องการแต่งตั้งเลขานุการบริษัท เป็นเรื่องที่มีความสำคัญกับบริษัทในอนาคต เลขานุการบริษัทไม่ใช่เสมียนจดบันทึกการประชุม แต่จะต้องมีความรู้รอบด้าน

ดร.วีรวัฒน์ กาญจนดุล มีความกังวลในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารในเรื่อง Duty of Care และ Duty of Loyalty ประเด็นเชื่อโดยสุจริตว่ามีข้อมูลเพียงพอ เป็นเรื่องที่ยากในทางปฎิบัติ เพราะในการดำเนินธุรกิจเป็นไปไม่ได้ ที่จะมีข้อมูลครบถ้วนทุกครั้งที่มีการตัดสินใจและจะใช้เกณฑ์ใดมาตัดสิน จะมีผลให้กรรมการและผู้บริหารต้องรับภาระความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง และมีโทษทางอาญาด้วย

ในการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ประเด็นหลักๆ ที่บริษัทจดทะเบียนได้ให้ความสนใจมากคือ บทบาทของคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หน้าที่และความรับผิดชอบของเลขานุการบริษัท คำจำกัดความเรื่องบุคคลที่เกี่ยวข้อง และการกำกับในเรื่องรายการที่เกี่ยวโยงกัน

สมาคมบริษัทจดทะเบียนจะรวบรวมคำถามและความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เพื่อนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ฉบับแก้ไขนี้ต่อไป