ฟิทช์: แนวโน้มเครดิตธุรกิจไฟฟ้าไทยในปี 2550 มีเสถียรภาพ

ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวในรายงานพิเศษ “Thailand Power Sector: Stable Credit Outlook, But Still Highly Regulated” ว่าแนวโน้มเครดิตของธุรกิจไฟฟ้าของประเทศไทยในปี 2550 มีเสถียรภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่อประชากรที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการแข่งขันในธุรกิจที่จำกัดเนื่องจากหน่วยงานของรัฐบาลยังคงมีบทบาทสำคัญทั้งในด้านการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า นอกจากนี้แนวโน้มเครดิตยังพิจารณารวมถึง การคาดการณ์โดยฟิทช์ว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปีนี้ อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลยังมีส่วนสำคัญในการควบคุมการปรับอัตราค่าไฟฟ้าได้ส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้

ฟิทช์กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าจะมีการกำหนดสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติที่สะท้อนถึงต้นทุนการดำเนินงานและการลงทุนของผู้ประกอบการแล้วก็ตาม แต่การปรับอัตราค่าไฟฟ้าที่ผ่านมาถูกควบคุมโดยรัฐบาล การที่อัตราค่าไฟฟ้าไม่สามารถถูกปรับตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติที่กำหนดได้ โดยเฉพาะในช่วงที่เชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นนั้น ได้ส่งผลกระทบทางด้านลบต่อสถานะทางการเงินของผู้ประกอบการในธุรกิจไฟฟ้าในปี 2548 โดยเฉพาะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.”

ในรายงานยังกล่าวอีกว่า หน่วยงานรัฐวิสาหกิจซึ่งมีบทบาทสำคัญในธุรกิจไฟฟ้ายังคงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวมีความสำคัญในการสนองนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านไฟฟ้า โดยรัฐบาลได้เข้าไปมีส่วนในการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน รวมถึงเป็นผู้อนุมัติแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจดังกล่าวและให้การสนับสนุนทางด้านการเงินในรูปของการค้ำประกันพันธบัตรที่ออกจำหน่าย

จากการศึกษาผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของผู้ประกอบการ 4 รายหลักในธุรกิจผลิตไฟฟ้า พบว่าอัตราส่วนกำไรของผู้ประกอบการที่เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งได้แก่ กฟผ. ได้ปรับตัวลดลงในปี 2548 โดยมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลกำหนดให้ กฟผ. ต้องรับภาระค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานของ กฟผ. ในปี 2549 จะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้อนุมัติให้ปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อสะท้อนถึงต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นในปี 2549 ในทางตรงกันข้ามผลประกอบการของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2548 และปี 2549 เป็นผลมาจากเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตามสัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวที่มีกับ กฟผ.

ฟิทช์ยังกล่าวอีกว่า “การลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ โดยจะใช้เงินกู้ในการสนับสนุนการลงทุนดังกล่าวเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นอัตราส่วนทางการเงินที่สะท้อนถึงความแข็งแกร่งทางด้านเครดิตและความคล่องตัวทางการเงินของผู้ประกอบรายใหญ่ในธุรกิจดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะอ่อนตัวลง หลังจากผู้ประกอบ การเหล่านี้ดำเนินงานโดยมีกระแสเงินสดสุทธิเป็นบวกและนำไปชำระคืนหนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา” ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2547-2548 (PDP 2004) กฟผ. มีแผนการลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและระบบสายส่งไฟฟ้าประมาณ 3.3 แสนล้านบาทในช่วงปี 2007-2011 หรือประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งสูงกว่าการใช้จ่ายเงินในการลงทุนในปีงบประมาณ 2005 ซึ่งอยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของโครงสร้างกิจการไฟฟ้า ฟิทช์กล่าวว่าแผนการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าได้ถูกเปลี่ยนแปลงจากแผนเดิมที่จะนำไปสู่โครงสร้างที่มีการแข่งขันสูงในรูปแบบของ Power Pool ซึ่งมีการแข่งขันทั้งในด้านการผลิตและจำหน่ายทั้งในระดับขายส่งและขายปลีก มาเป็นโครงสร้างซึ่งจำกัดการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการเอกชน แม้ว่าโครงสร้างกิจการไฟฟ้าอาจมีการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐบาลในอนาคต ฟิทช์คาดว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจากโครงสร้างปัจจุบันในระยะปานกลาง เนื่องจากการคัดค้านจากสาธารณะต่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

รายงานพิเศษของฟิทช์ หัวข้อ “Thailand Power Sector: Stable Credit Outlook, But Still Highly Regulated” สามารถดูได้ที่ www.fitchratings.com(ในช่วงเวลาจำกัด) และในเวปไซด์ที่เป็นสมาชิกที่ www.fitchresearch.com

ติดต่อ: เลิศชัย กอเจริญรัตนกุล, โอบบุญ ถิรจิต, Vincent Milton, +662 655 4755, Carolyn Martin; Brisbane, +617 3222 8611

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน