สนช.-จุฬา เปิดหลักสูตรสร้างสรรค์ผู้บริหารระดับสูง ด้านบริหารจัดการนวัตกรรม

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตร “วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม” เพื่อมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรที่จะดำเนินการด้านธุรกิจนวัตกรรมให้มีศักยภาพเพียงพอจะที่นำธุรกิจ หรือองค์กรของตนเองให้มีความสามารถในการแข่งขัน และอยู่รอดได้ในสภาวะเศรษฐกิจที่มีเปลี่ยนแปลงให้ปัจจุบัน ณ เรือนจุฬานฤมิตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นายศุภชัย หล่อโลหการ ผอ. สนช. กล่าวว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ สนช. ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการศึกษาความต้องการทรัพยากรบุคคลด้านนวัตกรรมของภาคเอกชนไทย ซึ่งใช้เวลาเก็บรวบรวมข้อมูลนานกว่า 6 เดือน เพื่อดูสถานการณ์ความต้องการบุคลากรด้านนวัตกรรมขององค์กรในภาคเอกชน โดยเฉพาะในระดับสูง (Chief Innovation Office; CIO) ซึ่งพบว่าในจำนวนบริษัทที่ทำการสำรวจกว่า 300 บริษัท มีกว่าร้อยละ 46.67 ที่มีผู้รับผิดชอบด้านนวัตกรรมในองค์กรเป็นการเฉพาะ โดยเป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งระดับบริหารถึงร้อยละ 52.49 ซึ่งภารกิจหลักของทีมงานด้านนวัตกรรมคือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่เพื่อผลักดันให้เกิดรายได้ไม่ว่าจะมาจากตลาดใหม่หรือขยายขอบข่ายตลาด นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทต่างๆ ที่ได้ทำการสำรวจนั้น มีจำนวนมากกว่า 71% ที่มีการลงทุนค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนานวัตกรรม โดยเป็นการลงทุนสูงกว่าร้อยละ 1 ของรายได้ถึงกว่าร้อยละ 30 จากผลการศึกษาที่ได้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่า ภาคเอกชนของไทยนั้นมีความตื่นตัวเรื่องการทำนวัตกรรมมากและมีความพยายามที่จะพัฒนานวัตกรรมของตัวเองอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน ผลการศึกษานี้มีความสอดคล้องเป็นอย่างมากกับข้อสรุปที่บริษัทไอบีเอ็มได้จากการสำรวจโดยการสัมภาษณ์ซีอีโอของบริษัทชั้นนำระดับโลกจำนวน 765 คน ซึ่งพบว่าบรรดาซีอีโอของบริษัทชั้นนำเหล่านั้นต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเป็นลำดับแรกโดยมีเป้าหมายที่การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่”

“อย่างไรก็ตาม แม้ทางภาคเอกชนจะให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรม แต่ก็ยังคงประสบปัญหาด้านบุคลากรในการดำเนินการด้านนวัตกรรมของกิจการอยู่บ้าง ซึ่งสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเป็นอย่างมากก็คือหลักสูตรการฝึกอบรมด้านนวัตกรรมทางธุรกิจโดยเฉพาะนั่นเอง ดังนั้น สนช. จึงได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท-เอก ด้านธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรมขึ้น โดย สนช. คาดว่าจากความร่วมมือในมหาวิทยาลัยต่างๆ จะทำให้สามารถผลิตบุคคลากรด้านบริหารจัดการนวัตกรรมได้สูงถึงปีละ 350 คน” นายศุภชัยฯ กล่าว

ดร. ศักดิ์สิทธ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และประธานคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมในประเทศไทยส่วนใหญ่พัฒนาเทคโนโลยีโดยอาศัยการซื้อเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จเป็นหลัก หรือไม่ก็อาศัยการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี จึงทำให้สถานะของบริษัทไทยส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตหรือ OEM ที่ไม่มีการสร้างเทคโนโลยีของตนเอง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญของการมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองโดยมีนโยบายส่งเสริมการวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ทว่างานวิจัยเกือบทั้งหมดยังคงเป็นเพียงการประดิษฐ์คิดค้น ซึ่งยังไม่สามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งส่งเสริมให้มีการต่อยอดงานวิจัยไปสู่ตลาดโดยเร็ว รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่งการที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่ทิศทางดังกล่าวได้ ก็ย่อมจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการนวัตกรรมในองค์กรเป็นอย่างดี”

ศาสตราจารย์ คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ในนามของจุฬาลงกรณ์รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ สนช. เห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคคลากรด้านนวัตกรรมให้มีศักยภาพ โดยเฉพาะบุคคลากรระดับผู้บริหาร ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นหลักให้แก่องค์กร หากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรมที่เฉียบแหลม ก็ย่อมมีโอกาสนำพาองค์กรให้สามารถปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคมโลกได้อย่างทันท่วงที โดยหลักสูตร “วิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม” นี้ เป็นหลักสูตรที่เหมาะสำหรับองค์กรหรือบริษัทที่สนใจสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่และการบริหารจัดการนวัตกรรมและสร้างเป็นธุรกิจได้ ผู้ที่ผ่านหลักสูตรนี้ยังสามารถกำหนดและดูแลแผนเชิงนโยบายและเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนา การบริหารและการจัดการนวัตกรรม โดยขึ้นอยู่กับว่านิสิตสนใจที่จะเรียนลึกในแนวไหน จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการสร้างและพัฒนาผู้ที่จะไปเป็นผู้บริหารระดับสูงด้านนวัตกรรมในองค์กร”

รศ.ดร. ศุภวรรณ ตันตยานนท์ ประธานโครงการหลักสูตรฯ กล่าวว่า “หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต ธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม เป็นหลักสูตรนอกเวลาราชการ มีรายวิชาการเรียนการสอนที่น่าสนใจ อาทิ พาณิชยกรรมเทคโนโลยี การสังเคราะห์นวัตกรรม การวางแผนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเป็นผู้ประกอบการและสร้างธุรกิจใหม่ การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา กลยุทธ์การสร้างตราสินค้า ความเป็นผู้นำและบริหารการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น สิ่งที่โดดเด่นอีกประการหนึ่งคือ หลักสูตรนี้จะมีความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนรวมทั้งมหาวิทยาลัยและหน่วยงานในต่างประเทศหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ทั้งในด้านการสนับสนุนโครงการต่างๆ การหาผู้สอน ผู้ร่วมคิด ประเด็นศึกษาจากธุรกิจจริงและทำงานเป็นทีม คิดเป็นทีม โดยมีคณาจารย์ที่ปรึกษาซึ่งจะทำงานเป็นทีมร่วมด้วย ส่วนการทำวิจัยจะแบ่งสายตามความสนใจของนิสิตในแนวลึก เช่น นิสิตสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจจะประดิษฐ์คิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่หรือกระบวนการใหม่ ส่วนนิสิตสายอื่นก็จะได้ศึกษาทางด้านการจัดการนวัตกรรมและการบริหารธุรกิจรวมทั้งการศึกษาวิจัยแผนเชิงนโยบายและเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเปิดสอนได้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2550นี้ ผู้ที่สนใจสามารถขอรายละเอียดได้ที่บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทรศัพท์ 02-218 5008 เว็บไซต์ www.grad.chula.ac.th หรือ www.nia.or.th/mit