GTZ ประทับใจศักยภาพประเทศไทย เตรียมอัดเม็ดเงิน 15 ล้านบาท

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (The German Technical Cooperation; GTZ) โดย GTZ ได้ให้การสนับสนุนวงเงิน 15 ล้านบาทแก่โครงการดังกล่าวในระยะเวลา 2 ปี เพื่อพัฒนาความเข้มเข็งของผู้ประกอบการ การสร้างเทคโนโลยี และการสร้างตลาด ของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ

สนช. เป็นหน่วยงานภาครัฐที่ริเริ่มให้ความสำคัญและให้ความใส่ใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างจริงจัง และดำเนินการพัฒนาโครงการนวัตกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นที่การสร้างศักยภาพและความแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมฯ ด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานวิจัย หน่วยงานเอกชนเจ้าของเทคโนโลยี และผู้สนใจร่วมทุน ในการพัฒนาเทคโนโลยี รวมไปถึงการสร้างตลาดเพื่อเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการได้ขยายศักยภาพในการทำธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย โดยในปี 2549 สนช. ได้รับมอบหมายจากคณะอนุกรรมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้จัดทำแผนปฏิบัติการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเพื่ออนาคตในสาขาพลาสติกชีวภาพ (Bioplastics) เพื่อเป็นแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพของประเทศ

“เงินที่ได้รับการสนับสนุนจาก GTZ จะนำไปใช้ในกิจกรรมที่ได้วางแผนไว้ คือ การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ และโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (feasibility study) รวมถึงการเดินทางเพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในตลาดยุโรป เพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดในประเทศไทย พร้อมทั้งเผยแพร่ศักยภาพของประเทศไทย อีกทั้งแสวงหานักลงทุน และดำเนินการกิจกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างตลาดให้กับผู้ประกอบการไทย โดยความร่วมมือจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมดังกล่าวแล้ว นอกจากการสนับสนุนเงินทุนแล้ว ยังได้รับความช่วยเหลือด้านการประสานงานในการแสวงหาเทคโนโลยี วิเคราะห์ตลาดและเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดยุโรป ซึ่งจะสามารถเร่งให้การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยเติบโตได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น” นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าว

นายเยือร์เกน คอคห์ ผู้อำนวยการ GTZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “GTZ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสร่วมสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านพลาสติกชีวภาพของ สนช. เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีศักยภาพในการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปช่วยผลักดันให้เกิดประโยชน์และความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมเกษตร และสร้างข้อได้เปรียบแก่ผู้ประกอบการไทยในการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการผันตัวเองไปสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิผล”

“สาเหตุ GTZ ให้การสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีพลาสติกชีวภาพ เนื่องมาจากศักยภาพของตัวพลาสติกชีวภาพเองในฐานะที่เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้วัตถุดิบมาจากภาคการเกษตร มีคุณลักษณะสำคัญ คือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลาย จึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาขยะเมื่อหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ในแง่มุมเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพยังเป็นที่ต้องการของตลาดโลกเป็นอย่างมาก และมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดยุโรป ซึ่งความร่วมมือระหว่าง GTZ และรัฐบาลไทย ผ่าน สนช. นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวภาพในประเทศเยอรนีนับว่ามีความก้าวหน้าในลำดับต้นของโลก หากร่วมมือกันก็จะเป็นการส่งเสริมกันและกันทั้งในเรื่องของข้อมูลการลงทุน และผลักดันไปสู่การวิจัยร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการกำหนดนโยบายหรือระเบียบกฎเกณฑ์ที่ภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนหันมานิยมใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพได้อย่างต่อเนื่อง

สิ่งสำคัญสุด คือ ผลสำเร็จของโครงการจะเป็นการรณรงค์ให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจในการใช้พลาสติกชีวภาพที่ผลิตขึ้นจากมันสัมปะหลังในประเทศไทย ซึ่งต้นทุนของการผลิตมีราคาถูกกว่าต้นทุนการผลิตในยุโรป อเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น เป็นอย่างมาก หากต้นทุนของพลาสติกชีวภาพลดลงจะเป็นแรงผลักดันให้ประชาคมโลกลดการพึ่งพิงการใช้วัสดุจากปิโตรเคมีลดลง อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมวลมนุษยชาติในภาพรวม” นายเยือร์เกน คอคห์ กล่าวสรุป