กุศมัย แบมบู เผยไม้ไผ่ไทยขาดแคลน ย้ายฐานการลงทุนไปเวียตนาม และจีน

กุศมัย แบมบู ผู้ผลิต และจำหน่ายตะเกียบ ที่ผลิตจากไม้และไม้ไผ่ รายใหญ่ในประเทศไทย เผยไม้ไผ่ไทยเริ่มขาดแคลน เตรียมลงทุนปลูกเพิ่มเติมในเวียดนาม เพื่อป้อนโรงงานในไทย และย้ายโรงงานผลิตตะเกียบบางส่วนไปประเทศจีน

ดร.วิโรจน์ กุศลมโนมัย ประธานบริหาร บริษัท กุศมัย แบมบู จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันไม้ไผ่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจมากยิ่งขึ้น และได้รับการตัดแบบไม่ถูกวิธี อาทิ การตัดแบบถอนรากถอนโคน หรือการตัดที่ไม่ให้เหลือแม้แต่ตอ ทำให้ไม้ไผ่ไม่สามารถงอกใหม่ หรือเจริญเติบโตได้ทันกับความต้องการ จึงจำเป็นต้องนำความรู้ด้านการบริหารจัดการเข้ามาช่วย ให้มีการตัดไม้ไผ่อย่างถูกต้องตามหลักการ รวมถึงการออกมาตรการควบคุมจาก กรมวิชาการเกษตร กรมป่าไม้ หรือภาครัฐ เพื่อให้สามารถใช้ทรัพยากรไม้ไผ่ได้อย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้มีไม้ไผ่ใช้อย่างเพียงพอในระยะยาว และมีใช้อย่างยั่งยืน ที่สำคัญช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาน้ำท่วม และภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาร้ายแรงในปัจจุบัน

“ ทรัพยากรไม้ไผ่ในประเทศไทยมีอยู่อย่างจำกัด ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด กุศมัย แบมบู จึงได้ริเริ่มโครงการปลูกป่าไผ่ซางประมาณ 100 ไร่ ในภาคเหนือมาเป็นเวลากว่า 8 ปี เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตตะเกียบ แต่ป่าไผ่ถูกลักลอบตัดขายก่อนเวลาอันควร และมีปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย จึงไม่คุ้มกับการลงทุน จำเป็นต้องย้ายฐานการปลูกไปที่ประเทศเวียดนามแทน นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ย้ายฐานการผลิตตะเกียบบางส่วนที่จังหวัดลำปาง ไปที่เมือง หนานไห่ ใกล้กับกวางเจา ในประเทศจีน แทน โดยนำ ไม้ไผ่จาก กวางสี พันธุ์เหมาจู๋ หรือ เหมาเจ๋อตุง ซึ่งเป็นไม้ไผ่คุณภาพดี มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดในประเทศไทย และ ลูกค้าในต่างประเทศของบริษัท เช่น ญี่ปุ่น เป็นต้น หากภาครัฐฯไม่มีนโยบายส่งออก ผลิตภัณฑ์บางตัว ทางบริษัทฯอาจทำการผลิต และ ส่งออกโดยตรงจาก ประเทศจีนแทน เนื่องจาก การส่งออกในประเทศจีน บริษัทฯจะได้รับเงินชดเชยการส่งออกจากภาครัฐฯในจีนถึง 10% ของมูลค่าส่งออก ” ดร.วิโรจน์ กล่าว