ข้าวนึ่งไทย : ตลาดส่งออก…มูลค่าเกือบ 2 หมื่นล้านบาท/ปี

ข้าวนึ่ง (parboiled rice) เป็นสินค้าส่งออกที่มีอนาคตไกลน่าจับตามอง โดยเฉพาะข้าวนึ่งคุณภาพดี ถึงแม้จะไม่มีการบริโภคข้าวนึ่งภายในประเทศ แต่ข้าวนึ่งก็เป็นสินค้าออกของไทยมานานแล้ว โดยเฉลี่ยในแต่ละปีไทยส่งข้าวนึ่งออกประมาณ 700,000-1,000,000 เมตริกตัน มูลค่าประมาณ 18,000-22,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย ข้าวนึ่งคุณภาพดีของไทยยังมีโอกาสพัฒนาได้อีกมาก เพราะต้นทุนข้าวเปลือกไทยราคาถูกกว่าสหรัฐฯและสหภาพยุโรปซึ่งเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญ ดังนั้นข้าวนึ่งจึงนับเป็นผลิตภัณฑ์ที่ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพ ทั้งเพื่อการส่งออกและการบริโภคในประเทศ โดยไทยต้องเร่งเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศคู่แข่งดั้งเดิมอย่างอินเดีย และปากีสถาน และประเทศที่หันมาส่งออกข้าวนึ่งคุณภาพดีแข่งกับไทย คือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป

การส่งออกข้าวนึ่งของไทย…มูลค่าตลาดเกือบ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2549
การส่งออกข้าวนึ่งของไทยในปี 2549 มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งสำคัญในตลาดโลก คือ ปากีสถาน อินเดีย สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กล่าวคือ ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งของไทยในปี 2549 เท่ากับ 1,612,416 ตัน มูลค่า 18,655 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 14.3 และ 12.7 ตามลำดับ หลังจากที่ในปี 2547 ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวนึ่งของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ข้าวนึ่งที่ไทยส่งออกมี 2 ประเภท คือ
-ข้าวนึ่ง ข้าวนึ่งชนิดนี้ใช้ข้าวขาวเป็นวัตถุดิบ ในปี 2549 ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งเท่ากับ 1,577,208 ตัน มูลค่า 18,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 9.4 และ 8.5 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักเป็นตลาดในแอฟริกา กล่าวคือ เบนินสัดส่วนส่งออกร้อยละ 28.6 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด รองลงมาคือ แอฟริกาใต้ร้อยละ 24.7 และไนจีเรียร้อยละ 21.8 การส่งออกข้าวนึ่งไปยังตลาดแอฟริกาเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรงจากประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามปัจจุบันการส่งออกข้าวนึ่งของไทยกระจายอยู่ถึง 68 ประเทศทั่วโลก แม้ว่าการส่งออกไปยังตลาดในแถบแอฟริกาจะลดลง แต่ในปี 2549 การส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 3.4 เท่าตัว และการส่งออกไปสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.5

-ข้าวนึ่งกล้อง ข้าวนึ่งชนิดนี้ใช้ข้าวกล้องเป็นวัตถุดิบในการผลิต แม้ว่าทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกในปัจจุบันยังไม่สูงนัก โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2.0 ของมูลค่าข้าวนึ่งทั้งหมดที่ไทยส่งออก แต่ตลาดข้าวนึ่งกล้องนี้นับว่าเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองกระแสการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ และตลาดข้าวนึ่งกล้องนี้จะเป็นการจับตลาดบน เนื่องจากราคาจะอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่าข้าวนึ่งธรรมดา อย่างไรก็ตามการส่งออกข้าวนึ่งกล้องของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างมากในปี 2549 เนื่องจากไนจีเรียซึ่งเป็นประเทศที่นำเข้าข้าวนึ่งกล้องจากไทยมากเป็นอันดับหนึ่งนั้นหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ในปี 2549 ปริมาณการส่งออกข้าวนึ่งกล้องเท่ากับ 35,253 ตัน มูลค่า 404 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วทั้งปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 74.8 และ 71.8 ตามลำดับ ตลาดส่งออกสำคัญคือ ไนจีเรียมีสัดส่วนร้อยละ 33.6 รองลงมาคือ เบลเยี่ยม 24.7 อังกฤษร้อยละ 16.8 และเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 12.6

สหรัฐฯและสหภาพยุโรป…คู่ค้า คู่แข่งข้าวนึ่งไทย
ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การส่งออกข้าวนึ่งของไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ทำให้การส่งออกข้าวนึ่งของไทยมีความผันผวน กล่าวคือ ในปี 2544 ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกอยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากความต้องการข้าวนึ่งจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นอย่างมากในปีดังกล่าว หลังจากนั้นในช่วงปี 2545-2546 ทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกข้าวนึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ในปี 2547 ทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และหลังจากนั้นก็มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2549 ความผันผวนของการส่งออกข้าวนึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ส่งออกและโรงสีที่ผลิตข้าวนึ่ง เนื่องจากข้าวนึ่งที่ผลิตได้ทั้งหมดต้องพึ่งพิงตลาดส่งออก ปัจจุบันนอกจากอินเดียและปากีสถานที่เป็นคู่แข่งดั้งเดิมของไทยแล้ว สหรัฐฯและสหภาพยุโรปนั้นเป็นประเทศที่ไทยต้องจับตามองด้วยเช่นกันในฐานะที่เป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งของข้าวนึ่งไทยในตลาดโลก ทั้งนี้สามารถพิจารณาสถานภาพของแต่ละตลาดได้ดังนี้

-สหรัฐฯ ปัจจุบันการบริโภคข้าวในสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯต้องหันมานำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น ซึ่งสหรัฐฯเป็นตลาดสำคัญของข้าวหอมมะลิและข้าวนึ่ง ในส่วนของข้าวนึ่งนั้นการนำเข้าของสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปี 2549 มูลค่าการนำเข้าข้าวนึ่งเท่ากับ 5.21 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับในปี 2548 แล้วเพิ่มขึ้น 1.3 เท่าตัว ซึ่งมูลค่านำเข้าข้าวนึ่งของสหรัฐฯนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับในปี 2544 มูลค่านำเข้าข้าวนึ่งมีเพียง 0.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น

ปัจจุบันสหรัฐฯนำเข้าข้าวนึ่งเมล็ดยาวจากปากีสถานเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 41.1 รองลงมาเป็นไทยร้อยละ 24.6 จีนร้อยละ 15.0 แคนาดาร้อยละ 9.0 และอินเดียร้อยละ 6.0 ซึ่งในตลาดข้าวนึ่งประเภทนี้ไทยเคยแซงมาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของสหรัฐฯได้ในช่วงปี 2546-2548 แต่ในปี 2549 นั้นสหรัฐฯหันไปนำเข้าจากปากีสถานเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้ปากีสถานกลับมาเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งอีกครั้ง ส่วนตลาดข้าวนึ่งธรรมดานั้นปากีสถานเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง สัดส่วนตลาดร้อยละ 41.3 รองลงมาคือ อินเดียร้อยละ 40.1 เกาะเซนต์วินเซนต์ร้อยละ 5.8 และไทยร้อยละ 5.1 เดิมนั้นอินเดียครองตลาดนี้เป็นอันดับหนึ่ง แต่ปากีสถานมาแซงขึ้นเป็นอันดับหนึ่งได้ในปี 2549 นี้ ส่วนไทยนั้นเคยครองตลาดเป็นอันดับสาม แต่ถูกเกาะเซนต์วินเซนต์แซงได้ในปี 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่สหรัฐฯหันไปนำเข้าข้าวนึ่งจากเกาะเซนต์วินเซนต์ นอกจากนี้แหล่งนำเข้าที่กำลังมาแรง คือ บราซิล บัลแกเรีย และจีน

สำหรับการส่งออกข้าวนึ่งของสหรัฐฯในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกใกล้เคียงกันเฉลี่ยประมาณ 130-148 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยประมาณร้อยละ 80-90 เป็นการส่งออกข้าวนึ่งจากข้าวเมล็ดยาว ตลาดส่งออกข้าวนึ่งเมล็ดยาวของสหรัฐฯกระจายอยู่ใน 100 กว่าประเทศทั่วโลก ตลาดที่สำคัญคือ ซาอุดิอาระเบียมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 28.8 ไฮติร้อยละ 11.1 อังกฤษร้อยละ 9.3 แคนาดาร้อยละ 8.5 เยอรมนีร้อยละ 6.3 และเม็กซิโกร้อยละ 5.0 นอกจากนี้สหรัฐฯเล็งเห็นว่าตลาดประเทศในแถบแอฟริกาและตะวันออกกลางนั้นเป็นตลาดที่น่าสนใจที่จะเจาะขยายตลาด เนื่องจากประเทศในแถบนี้บริโภคข้าวนึ่งอยู่แล้ว โดยสหรัฐฯจะเข้าไปเจาะขยายตลาดข้าวนึ่งคุณภาพหรือตลาดข้าวนึ่งระดับบน ดังนั้นนับว่าสหรัฐฯเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทยทั้งในตลาดแอฟริกาและตะวันออกกลางในอนาคต

-สหภาพยุโรป มูลค่าการนำเข้าข้าวนึ่งของสหภาพยุโรปในปี 2549 มีประมาณ 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดนำเข้านั้นแยกเป็น Medium Grainมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 51.3 ของมูลค่าการนำเข้าข้าวนึ่งทั้งหมด ตลาดข้าวนึ่งประเภทLong Grainมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 38.9 และ Round Grain มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 9.7 โดยข้าวนึ่งประเภทLong Grain ปากีสถานครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 38.9 รองลงมาคือ ไทยร้อยละ 35.0 และอินเดียร้อยละ 17.8 ส่วนข้าวนึ่งประเภท Round Grainในสหภาพยุโรปนั้นอินเดียครองตลาดเป็นอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 27.3 รองลงมาคือ ศรีลังการ้อยละ 22.2 สหรัฐฯร้อยละ 16.3 ปากีสถานร้อยละ 15.8 อุรุกวัยร้อยละ 5.4 และไทยร้อยละ 4.9 ประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับตลาดข้าวนึ่งประเภท Round Grain คือนอกจากเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากอินเดีย ศรีลังกาและสหรัฐฯที่ครองตลาดอย่างเหนียวแน่นแล้ว คู่แข่งที่กำลังมาแรงและทำท่าว่าจะแซงอันดับไทยได้คือ จีน ซึ่งปัจจุบันสหภาพยุโรปหันไปนำเข้าข้าวนึ่งประเภท Round Grainจากจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นแม้ว่าสถิติการส่งออกข้าวนึ่งของไทยไปยังสหภาพยุโรปยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกไทยนั้นไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะเมื่อพิจารณาแยกประเภทข้าวนึ่งที่สหภาพยุโรปนำเข้าแล้วจะเห็นว่าตลาดข้าวนึ่งของไทยในสหภาพยุโรปกำลังถูกท้าทายเพื่อแย่งสัดส่วนตลาดจากประเทศคู่แข่งสำคัญไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อินเดีย ปากีสถาน รวมทั้งจีนที่เป็นคู่แข่งที่กำลังมาแรงในตลาดข้าวนึ่งในสหภาพยุโรป

ส่วนการส่งออกข้าวนึ่งของสหภาพยุโรปนับว่าเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต รัสเซีย และตลาดในตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นตลาดเป้าหมายของผู้ส่งออกไทยที่ต้องการขยายตลาดข้าวนึ่ง กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกข้าวนึ่งของสหภาพยุโรปเท่ากับ 0.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยตลาดส่งออกนั้นแยกเป็น Medium Grainมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 72.0 ของมูลค่าส่งออกข้าวนึ่งทั้งหมด ส่วนตลาดข้าวนึ่งประเภทLong Grainมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 24.9 และ Round Grain มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 1.95 โดยข้าวนึ่งประเภทLong Grain โครเอเชียเป็นแหล่งส่งออกอันดับหนึ่ง มีสัดส่วนตลาดร้อยละ 74.4 รองลงมาคือ บอสเนียร้อยละ 11.3 เซอร์เบียร้อยละ 4.7 และเวเนซูเอลลาร้อยละ 3.7 ส่วนข้าวนึ่งประเภท Round Grainที่สหภาพยุโรปส่งออกนั้น แหล่งส่งออกอันดับหนึ่งคือ อาร์เซอร์ไบจันร้อยละ 24.2 รองลงมาคือ โครเอเชียร้อยละ 23.3 หมู่เกาะฟาร์โรห์ร้อยละ 22.4 และสหรัฐฯร้อยละ 8.8

แนวโน้มในอนาคต…การส่งออกยังเผชิญการแข่งขันรุนแรง
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคในต่างประเทศ โดยผู้บริโภคในต่างประเทศเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมหันมาบริโภคข้าวนึ่งกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการศึกษาพบว่าข้าวนึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าการบริโภคข้าวขาว ทั้งนี้เพราะไม่ได้รับการขัดสีเอาส่วนที่มีประโยชน์ออกไปมากเหมือนกับข้าวขาว ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคนี้ทำให้ตลาดข้าวนึ่งในตลาดโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โอกาสในการขยายตลาดส่งออกข้าวนึ่งของไทยนั้นยังมีความเป็นได้มาก

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไทยยังไม่มีการรวบรวมจำนวนโรงสีที่ผลิตข้าวนึ่ง ทำให้ยังไม่มีการเก็บข้อมูลปริมาณการผลิตข้าวนึ่งในแต่ละปี นอกจากนี้ในการส่งออกนั้นควรมีการแยกการส่งออกข้าวนึ่งตามเกรดเช่นเดียวกับการส่งออกข้าวขาวและข้าวหอมมะลิ ซึ่งปัจจุบันก็มีการกำหนดมาตรฐานข้าวนึ่งอยู่แล้ว ดังนั้นการแยกพิกัดการส่งออกข้าวนึ่งก็น่าจะทำได้ไม่ยากนัก ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแยกข้อมูลรายละเอียดข้าวนึ่งตามเกรดข้าวจะทำให้ทราบความต้องการที่ชัดเจนของแต่ละตลาด รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภคของแต่ละตลาด นับว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการส่งเสริมการเจาะขยายตลาดต่อไปในอนาคต นอกจากนี้จากการศึกษาตลาดข้าวนึ่งในสหรัฐฯและสหภาพยุโรปนั้นมีการแบ่งแยกตลาดข้าวนึ่งอย่างละเอียด ทำให้เห็นถึงสภาพการแข่งขันและสภาพความต้องการของแต่ละประเทศที่นำเข้าข้าวจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปอย่างชัดเจน รวมทั้งสหรัฐฯยังมีข้อมูลเกี่ยวกับตลาดที่จะเจาะขยายตลาดข้าวนึ่งต่อไป คือ ตลาดประเทศในแอฟริกาและตลาดประเทศในตะวันออกกลาง ส่วนสหภาพยุโรปเน้นเจาะตลาดรัสเซีย ประเทศต่างๆที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต รวมทั้งประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งประเทศต่างๆที่ทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปต้องการเจาะขยายตลาดข้าวนึ่งนั้นก็เป็นประเทศเป้าหมายในการเจาะขยายตลาดของไทยเช่นกัน ดังนั้นการส่งออกข้าวนึ่งของไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง ดังนั้นการส่งเสริมในด้านการผลิตข้าวนึ่งให้ตรงตามความต้องการของตลาดและการรับรู้พฤติกรรมการบริโภคข้าวนึ่งของแต่ละตลาดจะเป็นแต้มต่อในการเจาะขยายตลาด

นอกจากนี้การส่งเสริมการบริโภคข้าวนึ่งในประเทศนับว่าจะมีส่วนช่วยส่งเสริมธุรกิจข้าวนึ่งของไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการลดการพึ่งพิงตลาดส่งออกเพียงอย่างเดียว ปัญหาในการส่งเสริมการบริโภคข้าวนึ่งในประเทศ คือ ข้าวนึ่งมีกลิ่นและรสไม่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่คุ้นเคยกับข้าวธรรมดาเช่นคนไทย แต่สามารถแก้ไขได้โดยการส่งเสริมให้บริโภคข้าวนึ่งคุณภาพดีที่เมื่อหุงสุกแล้วข้าวมีกลิ่นน้อยกว่าข้าวนึ่งที่ผลิตโดยเทคโนโลยีดั้งเดิม รวมทั้งการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้บริโภคโดยอิงกระแสสุขภาพ กล่าวคือ ข้าวนึ่งนั้นมีวิตามินบีและวิตามินอีสูงกว่าข้าวธรรมดาพันธุ์เดียวกัน และข้าวนึ่งยังย่อยง่ายกว่าข้าวธรรมดา อันเป็นผลมาจากแป้งในข้าวสุกไปครั้งหนึ่งแล้วในขั้นตอนการผลิต ซึ่งผู้ที่มีแนวโน้มจะนิยมบริโภคข้าวนึ่งคือ ผู้ที่นิยมบริโภคข้าวที่เมื่อหุงสุกแล้วเมล็ดร่วน

ข้าวนึ่งเป็นข้าวส่งออกประเภทหนึ่งที่น่าสนใจทั้งในการขยายตลาดส่งออกและตลาดในประเทศ แม้ว่าในปัจจุบันข้าวนึ่งที่ผลิตได้นั้นพึ่งพิงการส่งออกทั้งหมด และการส่งออกข้าวนึ่งของไทยนั้นมีแนวโน้มผันผวน เนื่องจากต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงทั้งจากคู่แข่งดั้งเดิมอย่างอินเดีย ปากีสถาน รวมทั้งยังมีคู่แข่งรายใหม่ที่เข้ามาแข่งขันแย่งตลาดข้าวนึ่ง คือ สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งมีสถานะเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้า ดังนั้นการที่จะรักษาตลาดข้าวนึ่งของไทยไว้นั้นจึงต้องเร่งพัฒนาข้าวนึ่งให้เป็นข้าวนึ่งคุณภาพสูงเพื่อเจาะขยายตลาดในต่างประเทศที่ยังคงเติบโตเนื่องจากความต้องการบริโภคข้าวนึ่งยังขยายตัว อันเป็นผลจากกระแสอาหารเพื่อสุขภาพ โดยค้นพบว่าข้าวนึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวขาว โดยมีวิตามินบีและวิตามินอีสูงกว่าข้าวขาวพันธุ์เดียวกัน นอกจากนี้การเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อการขยายตลาดในประเทศควบคู่กันไปด้วยก็เป็นสิ่งจำเป็น ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดต่างประเทศทั้งหมด