TMC จัดทำยุทธศาสตร์เพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม

ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมให้อยู่รอดและยั่งยืนในระยะยาว โดยการเชิญผู้ประกอบการเข้าร่วมกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนา

ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เปิดเผยว่า “การจัดประชุมเชิงปฎิบัติการร่วมกันของหน่วยงานรัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลาสติกและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายและทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกโดยเน้นความต้องการและแนวโน้มของตลาดในระยะยาว 5-10 ปีข้างหน้า เนื่องจากอุตสาหกรรมพลาสติก เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในประเทศไทยมากทั้งในเรื่อง การส่งออก การจ้างงาน ซึ่งปัจจุบันมีการแข่งขันที่รุนแรงมากรวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและอื่นๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการกว่า 4,000 รายทั่วประเทศ จำเป็นต้องมีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง”

การประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมกันวิเคราะห์สภาวะตลาด อุตสาหกรรม และปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมีผลกระทบต่ออนาคตของอุตสาหกรรมพลาสติกจากวันนี้ไปเป็นเวลาสิบปี (พ.ศ. 2550 – 2560) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่นำทางอุตสาหกรรมพลาสติกไทยให้สามารถอยู่รอดและยั่งยืนได้ในระยะยาว ผลที่ได้จากการระดมความคิดครั้งนี้จะมีการนำไปวิเคราะห์และเป็นใช้ข้อมูลเบื้องต้น เพื่อตั้งโจทย์ให้กับการประชุมครั้งต่อไป ที่จะมีขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งโจทย์ในครั้งหน้าก็คือการมุ่งระดมความคิดเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีหรืองานวิจัยที่เหมาะสมกับประเทศภายใน 10 ปี ข้างหน้านี้ เพื่อให้สอดรับการผลการวิเคราะห์สภาวะตลาดและอุตสาหกรรมข้างต้น

“ทีเอ็มซีได้ร่วมมือกับพันธมิตรจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก โดยมีการจัดประชุมย่อย 4 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการระดมความคิดเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมพลาสติกในภาพรวม ครั้งที่ 2 คือครั้งนี้เป็นการกำหนดเป้าหมายและทิศทางด้านการตลาดของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยในระยะ 5 ปี และ 10 ปี ครั้งที่ 3 จะเป็นการเจาะลึกเรื่องของเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และครั้งที่ 4 เป็นการนำเสนอผลการระดมความคิดและกำหนดแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางและร่วมมือกันพัฒนาศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกให้เป็นรูปธรรม ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเป็นผู้สนับสนุนในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ตลอดจนความช่วยเหลือด้านการเงิน การคลังและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ของ TMC ที่ให้บริการวิเคราะห์แนะนำการแก้ปัญหาทางเทคโนโลยี จัดหาผู้เชี่ยวชาญ จัดฝึกอบรม และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการในขณะนี้”

นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กล่าวว่า “ปัจจุบันอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยมีการส่งออกเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกรวมกันมีมูลค่าเป็นอันดับ 3 ของประเทศรองจากอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์, แผงวงจรไฟฟ้า และอุปกรณ์, ยานยนต์ และชิ้นส่วน ส่วนในตลาดโลก ประเทศไทยส่งออกเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นอันดับที่ 8 โดยมีมูลค่ารวมกว่า 250,000 ล้านบาท ในปี 2549 เมื่อเรารวมเอามูลค่าทางการค้าของในประเทศและส่งออกเข้าด้วยกันทั้งหมดจะมีมูลค่าทางการค้า ประมาณ 500,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 7% ของ GDP หากเราไม่มีการกำหนดทิศทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก ผู้ประกอบการไทยจะประสบความยากลำบาก เพราะปัจจัยใหญ่ๆ 3 ประการ คือ 1. สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น มีนโยบายลดการใช้บรรจุภัณฑ์และถุงพลาสติก 2. เงินบาทแข็งค่ามากกว่าประเทศคู่แข่งทำให้สินค้าของไทยมีราคาแพงขึ้นในสายตาลูกค้าต่างประเทศ 3. Free Trade Agreement ต่างๆ เช่น JTAPA แม้จะทำให้ไทยสามารถส่งออกได้มาก ขณะเดียวกันประเทศคู่สัญญาสามารถส่งสินค้าเข้ามายังประเทศไทยได้มากขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ

“ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ดังนั้นผู้ประกอบการในประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนา 2 ด้านหลักๆ คือ พัฒนาด้านกระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ หีบห่อ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด อีกด้านหนึ่งคือจำเป็นต้องมีการพัฒนาด้านนวตกรรมและการค้นคว้าวิจัย เช่นวิธีลดกระบวนการขนส่งที่สิ้นเปลืองพลังงาน ทำบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลง มีการบริหารจัดการที่ทันสมัยและประหยัดต้นทุน เป็นต้น”

เกี่ยวกับศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี
ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2548 ภายใต้ สวทช. พันธกิจหลักคือการนำความสำเร็จของผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศสู่ภาคอุตสาหกรรม ด้วยการให้การสนับสนุนและการให้บริการในรูปแบบต่างๆ อย่างครบวงจร เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถในการพัฒนาและพึ่งพาตนเองได้ของภาคธุรกิจ สังคมและชุมชน อันนำไปสู่การสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

ภารกิจหลักที่สำคัญของศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ประกอบด้วย การจัดทำยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ , การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, การบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน , การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์