จีเอสเค จับมือ 2 สมาคมฯ ใหญ่จัด “โครงการ Designs on Diabetes”

ถ้า “ศิลปะภาพวาด” เป็นสื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้วาดได้ดีที่สุด ทุกคนในโลกก็ย่อมสามารถเป็นผู้สร้างผลงานศิลปะได้ ไม่เว้นแม้แต่แพทย์….ผู้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน!

สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย และ บริษัทแกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัดหรือ จีเอสเค ได้ร่วมกันเปิดโครงการ Designs on Diabetes สัมผัสแห่งหัวใจ – คนไข้เบาหวาน โดยเชิญชวนคุณหมอรักษาโรคเบาหวานทั่วประเทศไทย มาร่วมกันสร้างสรรค์งานศิลปะ เพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้ป่วยเบาหวาน

โครงการศิลปะสื่อใจของวงการแพทย์ Designs on Diabetes นี้เกิดขึ้นจากแนวความคิด ที่ว่า “หากแพทย์ ครอบครัว และผู้เกี่ยวข้องได้มีเวลานึกถึงผู้ป่วยเบาหวานที่อยู่ในการดูแลของตนเอง โดยนึกว่าผู้ป่วยมีอารมณ์ความรู้สึกอย่างไรเมื่อรู้ว่าตนเองเป็นโรคนี้ แล้วนำความรู้สึกนั้นของผู้ป่วยถ่ายทอดออกมาเป็นผลงานศิลปะ จะทำให้เกิดความเข้าใจและทำให้ทุกฝ่ายให้การดูแลเอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น และช่วยกันป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานได้” จึงเรียกได้ว่า เป็นปรากฏการณ์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์เมืองไทย ซึ่งมีการเปิดเวทีให้แพทย์ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ของตนเองต่อความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเบาหวาน ผ่านการสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างเป็นอิสระ โดยได้ทำการเปิดโครงการฯ ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้

ศ.นพ.มาร์ติน ซิลิงค์ ประธานสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) ยังได้เข้าร่วมงานเปิดตัวโครงการพร้อมกับให้เกียรติวาดภาพถ่ายทอดความรู้สึก โดย กล่าวว่า “งานศิลปะเป็นสื่ออันทรงพลังที่สามารถแสดงอารมณ์ของครอบครัวและผู้ป่วยเบาหวานได้เป็นอย่างดี …มีคนกล่าวว่าภาพ 1 ภาพสามารถแทนคำได้นับพันคำ แต่สำหรับภาพที่จะเกิดจากโครงการ “Designs on Diabetes” นี้ ผมคิดว่าจะสร้างคำได้เป็นล้าน ๆ คำ เพราะมาจากความร่วมมือร่วมใจกันของแพทย์จำนวนมาก”

ทั้งนี้ นายกสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ ได้ให้เกียรติกล่าวเชิญชวนแพทย์เข้าร่วมโครงการฯ ดังนี้ “ในนามของคณะทำงานรณรงค์โรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง 2 สมาคมฯ ที่ร่วมกันรณรงค์ คือสมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย มีความเห็นว่าการที่แพทย์ได้มีเวลานึกถึงคนไข้เบาหวานของตนว่ามีอารมณ์อย่างไร มีความรู้สึกอย่างไร ในขณะที่ได้รับการบอกกล่าวว่าเป็นโรคเบาหวาน หรือความรู้สึกหลังได้รับการรักษาจนมีสุขภาพดีขึ้นแล้วนั้น ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพศิลปะ ถ้าแพทย์นึกถึงว่าเขามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร พยายามถ่ายทอดออกมา จะเป็นแรงกระตุ้นให้แพทย์ได้เอาใจใส่ดูแลคนไข้เบาหวานได้ดีขึ้น สอดคล้องกับการรณรงค์ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้คนไข้เบาหวานเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น อย่างที่ ศ.นพ.มาร์ติน ซิลิงค์ ได้กล่าวบรรยายไว้ จึงขอเชิญชวนแพทย์ทุกท่านร่วมโครงการนี้ค่ะ”

โครงการ Designs on Diabetes สัมผัสแห่งหัวใจ – คนไข้เบาหวาน ยังได้รับเกียรติจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงอาทิ อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ จิตรกรชื่อก้องของเมืองไทย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรวมทั้ง ดร. รุ่ง แก้วแดง เลขาธิการสภาการศึกษา ซึ่งให้เกียรติเข้าร่วมตัดสินในฐานะตัวแทนของผู้ป่วยเบาหวานอีกด้วย

“ในฐานะตัวแทนของผู้ดำเนินโครงการ Designs on Diabetes ขอเชิญชวนให้แพทย์ผู้รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในครั้งนี้ เชื่อว่าทุกท่านสามารถทำได้…” ภญ.นิภา สิวะนันทกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด หรือ จีเอสเค กล่าวในท้ายสุด

ทั้งนี้ จะมีการคัดเลือกผลงานศิลปะยอดเยี่ยม 12 ภาพ ไปเผยแพร่ในสื่อต่าง ๆ ทั่วประเทศ พร้อมกับนำไปจัดทำปฏิทินปี 2551 และนำไปจัดแสดงในงานประชุมวิชาการตลอดปี 2551 พร้อมกันนี้ คณะกรรมการรณรงค์โรคเบาหวาน โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย จะมอบเงินรางวัลพร้อมโล่ห์สดุดี ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ จำนวน 25,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 15,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 10,000 บาท รวมทั้งรางวัลชมเชยอีก 9 รางวัล รางวัลละ 1,000 บาท นอกจากนี้ สำหรับแพทย์ทุกท่านที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดจะได้รับประกาศนียบัตรเชิดชูในฐานะ “ส่วนหนึ่งของแพทย์ผู้สร้างงานศิลปะเพื่อคนไข้เบาหวาน” อีกด้วย

ซึ่งแพทย์สามารถส่งผลงานศิลปะ 3 ประเภท ได้แก่ ภาพวาด/ภาพร่าง ภาพเขียน หรือภาพสีน้ำ ขนาด A4 ขึ้นไป ภายใต้แนวคิด “สัมผัสแห่งหัวใจ-คนไข้เบาหวาน” พร้อมคำบรรยายสั้น ๆ ไปที่ “โครงการ Designs on Diabetes” บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 55 อาคารเวฟเพลส ชั้น 12 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร 02-659-3133 โดยสามารถส่งผลงานภาพศิลปะได้ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 17 สิงหาคม 2550

ขอเพียงใช้หัวใจนำทาง…คุณหมอทุกคนก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วย และร่วมผลักดันให้มีการดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่ดียิ่งขึ้น…เพราะวันนี้เรามีผู้ป่วยเบาหวานกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศไทย !!