งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐

จากภาพ : คุณฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐ (คนแรกจากขวา) ร่วมสนทนากับสื่อมวลชนถึงความคืบหน้าการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐ โดยมี คุณสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ คุณเกรียงศักดิ์ ศิลากอง ผู้อำนวยการด้านภาพยนตร์ ในงาน Coming Sooner-Coffee with Bangkok International Film Festival ทั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณสุวรรณี ชินเชี่ยวชาญ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส เอฟ ซีเนม่า ซิตี้ จำกัด และ คุณอนินดา อัศวโภคิน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาด ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ มาร่วมงาน ณ ร้าน EAT@Double U ชั้น 9 โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา

รายละเอียดเกี่ยวกับงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐

วัตถุประสงค์
1. เพื่อคัดเลือกและส่งเสริมภาพยนตร์คุณภาพจากทั่วโลกมาจัดฉายในโรงภาพยนตร์ไทย
2. เพื่อจัดเวทีระดับนานาชาติในการเจรจาธุรกิจสำหรับบุคคลในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์
3. เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยมีคุณภาพและสวยงามผ่านบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์และสื่อมวลชนต่างประเทศทั่วโลกที่เชิญมาร่วมงาน
4. ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ เพราะมีความพร้อมในการเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ (Film Location)

สถานที่จัดงาน
ฝ่ายโรงภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ฝ่ายงานตลาดซื้อขายภาพยนตร์ รอยัล พารากอน ฮอลล์

พันธมิตรร่วมจัดงาน
1. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
2. สมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ
3. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
4. โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า

กิจกรรมของเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐

การจัดพิธีเปิด-ปิด

พิธีเปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐ พร้อมทั้งการฉายภาพยนตร์ เปิดจะมีขึ้นในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2550 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

พิธีปิดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐ พร้อมทั้งการฉายภาพยนตร์ปิดจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2550 ณ โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

การจัดงานกาล่าดินเนอร์ และพิธีมอบรางวัลกินรีทองคำ
พิธีมอบรางวัลกินรีทองคำ ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ โดยในปีนี้จะการมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์ใน 3 สาขา ได้แก่ ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียนและภาพยนตร์สั้นยอดเยี่ยม

นอกจากนี้ก็ยังมีรางวัลเกียรติยศ Lifetime Achievement Award แก่ Ray Harryhausen ผู้กำกับภาพยนตร์ Stop Motion ผู้ประสบความสำเร็จจนมีชื่อเสียงโด่ง ดังไปทั่วโลก มีผลงานที่ถือว่าเป็นอมตะมากมายและรางวัลพิเศษอื่นๆ อีก

การจัดฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ กรุงเทพฯ ครั้งที่ 5 นี้ ได้คัดสรรภาพยนตร์ จำนวนกว่า 100 เรื่อง จากกว่า 30 ประเทศ เช่น สาธารณรัฐฝรั่งเศส สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐโปรตุเกส สาธารณรัฐโปแลนด์ สาธารณรัฐเปรู ประเทศแคนาดา และสาธารณรัฐเฮลเลนิก (Greece) เป็นต้น

งานตลาดซื้อขายภาพยนตร์ (Bangkok Film Market)
งานตลาดซื้อขายภาพยนตร์ หรือ Bangkok Film Market อีกหนึ่งกิจกรรมดีๆที่จะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 23-25 กรกฏาคม 2550 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ 3 และห้อง Meeting Room 1-3 ชั้น 5 โดยภายในงานจะแบ่งออกเป็น 5 โซน คือ
โซน 1 International Village
โซน 2 Location World or Location Shooting
โซน 3 Animation/Digital
โซน 4 Equipment
โซน 5 Thai Film

กิจกรรมสัมมนาและ Workshop
การจัดกิจกรรมเสวนาและสัมมนาด้านภาพยนตร์ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจทั่วไปและนักศึกษาได้ศึกษาและเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ด้านภาพยนตร์จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับได้ทดลองใช้อุปกรณ์ต่างๆ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาทั้งหมดจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทยให้ก้าวสู่ระดับโลก โดยจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20-28 กรกฎาคม 2550 รวมทั้งหมด 7 หัวข้อเสวนา รายละเอียดมีดังนี้

1. อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการกำกับภาพและออกแบบแสง ( Cinematography and Lighting Design Workshop ) ระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม ซึ่งสืบเนื่องมาจากการอบรม Cinematographer’s Days ที่ได้จัดติดต่อกันมาแล้วสามครั้งในปีที่ผ่านมา ครั้งนี้ จะมีการจัดฉากในโรงถ่ายพร้อมอุปกรณ์ในการถ่ายทำภาพยนตร์ 35 มม.ครบถ้วน ผู้เข้าร่วมรับการอบรมจะมีโอกาสได้ทดลองจัดแสงและถ่ายภาพยนตร์ของตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทโกดัก (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโอเรียนตัล โพสท์ จำกัด ดำเนินการโดยคุณสมชัย ลีนานุรักษ์ ผู้กำกับภาพซึ่งมีผลงานเด่นๆมากมาย อาทิ “น้ำพุ” “วิถีคนกล้า” “ชีวิตบัดซบ” และ “ผู้หญิงคนนั้นชื่อบุญรอด” ณ โรงถ่ายหนัง บริษัท Advertising and Animation Network จำกัด ถ.พระราม 9 ซอย 17

2. การอบรมเชิงปฏิบัติการภาพยนตร์อะนิเมชั่นโดยใช้หุ่นดินน้ำมัน ( Clay Animation Workshop )
ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม ได้รับความร่วมมือจากบริษัทโอกินาวา ดิจิตัล โมชั่น จากประเทศญี่ปุ่น ผู้เข้ารับการอบรมจะได้ทดลองถ่ายทำภาพยนตร์อะนิเมชั่นโดยใช้กล้องดิจิตัลด้วยตนเองโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งโอกินาวาจะมาเป็นผู้บรรยายและให้ คำปรึกษาแนะนำในการถ่ายทำ ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

3. เสวนาอบรมการเตรียมพร้อมเป็นผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ การอบรมระดับมืออาชีพสำหรับผู้ผลิตภาพยนตร์ (Producer Master Class) วันที่ 21-22 กรกฎาคม เน้นการผลิตภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่างประเทศ โดยชมรม New Film Society และบริษัทที่ฟ้า จำกัด ดำเนินรายการโดยคุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ ผู้กำกับและผู้ผลิตภาพยนตร์ ร่วมกับวิทยากรคือชินลิน เซียะ จากประเทศฝรั่งเศส ดาเนียล หยู และลอร์น่า ที จากประเทศไต้หวันและแขกรับเชิญชาวไทยจิระ มะลิกุลและอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล

4. เสวนาภาพยนตร์เมืองโอกินาวา (Panel Discussion on Okinawa Films) จัดขึ้นในวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้หัวข้อ “ภาพยนตร์โอกินาวา: เอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร” ซึ่งจะชี้ให้เห็นถึงบทบาทของสภาพสังคม ศิลปะ และวัฒนธรรมของโอกินาวาซึ่งมีส่วน แตกต่างจากสังคมญี่ปุ่นในภูมิภาคอื่นๆ อันมีผลให้ภาพยนตร์จากโอกินาวามีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเฉพาะของตนเอง รวมทั้งการทำภาพยนตร์แบบ Stop Motion ที่เรียกได้ว่าเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้

5. การเสวนามาตรฐานในการป้องกันและปราบปรามเทปผี ซีดีเถื่อน รายการเสวนาหัวข้อ “ยุทธการปราบเทปผี ซีดีเถื่อน” (Horror Show: How Piracy Kills the Film Industry) ดำเนินการโดยคุณเทียนชัย ปิ่นวิเศษ จากบริษัทโมชั่น พิคเจอร์ แอสโซซิเอชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ตัวแทนของ MPAA ในประเทศไทย ผู้ร่วมเสวนาจะมีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ตัวแทนจาก MPAA ผู้ประกอบการในประเทศไทย ตัวแทนจากสำนักงานที่ทำหน้าที่ดูแลลิขสิทธิ์ในประเทศไทย เช่น บริษัทเบเกอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ และคุณสุรศักดิ์ สรรพิทักษ์เสรี จากสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ระหว่างการเสวนา จะมีการต่ออินเตอร์เนตออนไลน์ขึ้นจอ เพื่อให้เห็นว่าในขณะนั้น มีภาพยนตร์ดังๆเรื่องได้บ้างที่ถูกโหลดทางอินเตอร์เน็ตไปกี่พันครั้งแล้ว โดยจะจัดในวันที่ 26 กรกฎาคม 2550 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

6. การเสวนาเรื่อง “หนังร่วมทุนสร้าง : สิทธิและลิขสิทธิ์” ( Panel Discussion on Co-productions: the Rights and Copyrights) จะจัดขึ้นในวันที่ 27 กรกฎาคม ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากวงการภาพยนตร์ทั้งไทยและต่างประเทศ อาทิ บริษัทไฟว์สตาร์ โปรดัคชั่น มล.มิ่งมงคล โสณกุล ปีเตอร์ ชาน แอนดรูว์ เลา อลัน มัค และแครี่ หว่อง มาให้ความรู้ ความเข้าใจทางด้าน การลงทุนสร้างภาพยนตร์ การร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ และเจ้าของลิขสิทธิ์ในการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ของผู้ลงทุนหลายประเทศตลอดจน ผลกระทบจากบริษัทผู้ผลิตภาพยนตร์ พร้อมด้วยการแลกเปลี่ยนความคิด ดำเนินรายการโดย คุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง

7. ระบบเซ็นเซอร์กับสังคมไทย (Panel Discussion on Rating and Censorship) ดำเนินการโดยสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ผู้ผลิตภาพยนตร์ ตัวแทนจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และดีวีดี ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ตัวแทนจากกลุ่มผู้ปกครองและเยาวชน ผู้ชมภาพยนตร์ทั่วไป และนักวิจารณ์ ดำเนินรายการโดย คุณศรัณยู วงษ์กระจ่าง รายการนี้จะนำตัวอย่างบางฉากที่โดนเซ็นเซอร์มาให้ชมและแสดงความคิดเห็นร่วมกันด้วย
ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์

งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพในปีนี้ จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 19 – 29 กรกฎาคม นี้ ภาพยนตร์ทุกเรื่องจะฉายที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น 7 ประสบการณ์ใหม่ของโรงภาพยนตร์ระดับเวิลด์คลาสที่ตอบสนองบนพื้นที่กว่า 13,000 ตารางเมตร อลังการด้วย 15 โรงภาพยนตร์สุดล้ำ จำนวนกว่า 4,000 ที่นั่ง ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนดูหนังในทุกความต้องการกับบรรยากาศที่ตื่นตาตื่นใจ ก้าวล้ำนำสมัย เพื่อให้เป็นโรงภาพยนตร์ที่ให้ความบันเทิงสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์..ไลฟ์สไตล์ช้อปปิ้งคอมเพล็กซ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ .แลนด์มาร์คแห่งใหม่ของโลก ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งในเอเชีย ที่รวบรวมความทันสมัย แฟชั่น ร้านค้า และบริการที่หลากหลายครบวงจร เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต บนพื้นที่รวมทั้งหมดกว่า 830,000 ตารางเมตร ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร การเดินทางที่สะดวกด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีจุดเชื่อมต่อ (Sky Link & Sky walk) ถึง 2 สถานี และทางรถยนต์ โดยมีอาคารจอดรถใหม่ตึก 10 ชั้น รวมกับลานจอดรถในศูนย์ฯ ทำให้รองรับการจอดรถได้กว่า 10,000 คัน ซึ่งแต่ละจุดสามารถเข้าถึงโซนหรือร้านค้าต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและสะดวกสบาย

***พลาดไม่ได้สำหรับเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติกรุงเทพฯ ปี ๒๕๕๐ เทศกาลที่รวมหนังดีจากทั่วโลก
ติดตามรายละเอียดความคืบหน้าอื่น ๆ ได้จากเว็บไซต์
www.bangkokfilm.org