สถาบันการเงินเร่งขยายสาขา…รองรับการแข่งขันที่สูงขึ้น

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจชะลอตัว แต่ในธุรกิจการเงินการแข่งขันยังคงมีความรุนแรง ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินได้มีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารให้แก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร (Universal Banking) ซึ่งครอบคลุมไปยังผลิตภัณฑ์และบริการรวมไปถึง ธุรกิจประกัน ธุรกิจจัดการกองทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจรายย่อยต่างๆ เช่น เช่าซื้อ ลิสซิ่ง บัตรเครดิต เป็นต้น และการแข่งขันในแต่ละผลิตภัณฑ์นั้นมีความรุนแรงเช่นกัน ทำให้บทบาทและวิธีรูปแบบการดำเนินงานของสาขาต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เป็นเชิงรุกมากขึ้น โดยที่สาขาจะเน้นการขายผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงิน มากกว่าเป็นจุดให้บริการในการทำธุรกรรมดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้การขยายสาขาให้ครอบคลุมจึงเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่สถาบันการเงินจะสามารถใช้ในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า

การขยายสาขาของแต่ละสถาบันการเงินจะขึ้นอยู่กับแผนการดำเนินการธุรกิจทางด้านการเงินของแต่ละสถาบัน ความพร้อมทางด้านเงินทุน ระบบเทคโนโลยี และความพร้อมของบุคลากรในการที่จะนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างไรก็ตามการขยายแต่ละสาขาหมายถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทำให้เกิดจุดคุ้มทุน โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาสถาบันการเงินที่ดำเนินการขยายสาขาที่โดดเด่น จะเน้นการทำธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีฐานตลาดที่ใหญ่และเป็นกลุ่มที่สถาบันการเงินส่วนใหญ่มุ่งเน้นและให้ความสำคัญในขณะนี้

สาขาธนาคารพาณิชย์ขยายตัวต่อเนื่อง…โดยเฉพาะรูปแบบสาขาย่อย

ในปัจจุบันธุรกิจการเงินได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่างๆที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการในแต่ละกลุ่มลูกค้า การขยายสาขาธนาคารจึงเป็นกลยุทธ์ที่จะสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ และสามารถที่จะขายผลิตภัณฑ์ต่างๆได้สะดวกและง่ายขึ้น ทั้งนี้รูปแบบของสาขาธนาคารพาณิชย์ได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะตลาด แรงกดดันจากคู่แข่ง ความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี พฤติกรรมของผู้บริโภคที่แปรเปลี่ยนไปตามค่านิยมและยุคสมัย นอกจากนี้รูปแบบการทำงานและการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ยังได้ถูกปรับรูปแบบด้วย ทั้งนี้จำนวนสาขาธนาคารพาณิชย์ในประเทศ (รวมทั้งสาขาธนาคารต่างประเทศ) ในเดือนพฤษภาคม 2550 มีจำนวน 4,905 สาขา เพิ่มขึ้น 12.7% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับประเภทสาขาแบบเต็มรูปแบบมีจำนวน 3,420 สาขา เพิ่มขึ้น 5.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ในส่วนของประเภทสาขาย่อยมีจำนวน 1,485 สาขา เพิ่มขึ้นถึง 32.59% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้รูปแบบสาขาที่เปิดได้มีการปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินได้หันมาเปิดรูปแบบสาขาย่อยมากขึ้น โดยส่วนใหญ่จะเน้นเปิดให้บริการตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะมีพนักงานให้บริการน้อยกว่าสาขาแบบเต็มรูปแบบ และเน้นการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า สาเหตุที่รูปแบบสาขาย่อยมีการขยายตัวในอัตราที่สูงน่าจะมาจาก

– การแข่งขันธุรกิจการเงินที่สูง โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย ซึ่งทำให้สาขาของธนาคารพาณิชย์ ที่เปรียบเสมือนช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆของธนาคารพาณิชย์ต้องได้รับการปรับเปลี่ยน เพื่อสร้างความได้เปรียบในตลาด และเพื่อเป็นการขยายฐานลูกค้า

– การรองรับการเปิดเสรีภาคการเงิน การขยายสาขาให้ครอบคลุมจึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ระบบสถาบันการเงินไทย เช่น การเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ต่างชาติ มีสำนักงานสาขาย่อย จากเดิมที่ไม่สามารถทำการขยายสาขาได้ ย่อมที่จะส่งผลให้การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น ธนาคารพาณิชย์ไทยที่จะต้องเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินงานของสาขาของตน เพื่อรับมือกับการแข่งขัน

– สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ง่าย ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าธนาคารพาณิชย์ได้เน้นการเปิดสาขาย่อยตามแหล่งศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า และดิสเคานต์สโตร์มากขึ้น ทั้งนี้ข้อดีได้แก่ สร้างความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าในรูปแบบของ One-Stop Service คือ ลูกค้าที่มาจับจ่ายใช้สอยในห้างสรรพสินค้า สามารถใช้บริการจากธนาคารพาณิชย์ได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทาง นอกจากนี้ระยะเวลาการดำเนินการของธนาคารที่ยาวกว่าสาขาแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งสาขาในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้มีการขยายเวลาทำการของสาขาโดยไม่มีวันหยุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในเมือง ความสะดวกสบายในเรื่องของสถานที่จอดรถ

– ความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เนื่องจากรูปแบบสาขาย่อยมีพื้นที่ขนาดเล็ก ซึ่งบางสาขาจะมีพนักงานให้บริการผ่านทางเคานท์เตอร์ประมาณ 2-3 คน เท่านั้น แต่จะเน้นการให้ลูกค้าใช้บริการผ่านเครื่อง ATM เครื่องปรับสมุดเงินฝาก และเครื่องรับฝากเงิน เป็นต้น นอกจากนี้ในบางสาขาได้มีการให้บริการ Internet Banking และ ระบบ Call Center แก่ลูกค้าด้วย

สถาบันการเงินปรับบทบาทสาขา: พัฒนาสู่ตัวแทนขายสินค้า…สร้างรายได้ให้องค์กร

การแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินที่สูงทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการใช้บริการด้านการเงินของผู้บริโภคได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแวดล้อมของตลาด อีกทั้งผู้บริโภคมีความรู้ในเรื่อการลงทุนทางด้านการเงิน และเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุนมากขึ้น ทำให้สาขาจึงกลายเป็นช่องทางที่สำคัญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์แก่ลูกค้าของสถาบันการเงินและบริการได้อย่างครบวงจร ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ด้านเงินฝาก อาทิ ผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ ที่ให้ผลตอบแทนที่สูง ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเงินสด เป็นต้น ผลิตภัณฑ์กองทุนประเภทต่างๆ สาขายังเป็นช่องทางในการขายผลิตภัณฑ์กองทุนต่างๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาการแข่งขัน โดยเป็นการขายผลิตภัณฑ์ของ บลจ.ที่มีธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เป็นผู้ถือหุ้น นอกจากนี้การเป็นนายหน้าขายประกันของธนาคารพาณิชย์ หรือ ที่เรียกว่า แบงก์แอสชัวรันช์ (Bancassurance) เป็นต้น สถาบันการเงินจึงได้ให้ความสำคัญกับการพยายามที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทของสาขามากขึ้นในการที่จะเป็นช่องทางนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างกัน อีกทั้งเพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของภาคธุรกิจการเงิน เช่น การเปิดเสรีภาคการเงิน ซึ่งได้มีส่วนทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความจำเป็นที่จะต้องสร้างความได้เปรียบในการเสนอผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางการขายสินค้าหรือสาขาให้เหนือกว่าคู่แข่ง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า

– สถาบันการเงินหลายแห่งยังคงให้ความสำคัญในการขยายสาขา โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่เน้นขยายฐานธุรกิจไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อย ซึ่งสถาบันการเงินที่มีความพร้อมทางด้านการเงิน และระบบเทคโนโลยียังคงดำเนินการขยายสาขาให้ครอบคลุมทั้งประเภทสาขาเต็มรูปแบบและสาขาย่อย สำหรับรูปแบบของสาขานั้น สถาบันการเงินยังคงให้ความสำคัญการเปิดสาขาย่อยตามห้างสรรพสินค้า เนื่องจากตั้งอยู่ในทำเลที่ลูกค้าสะดวกในการเข้าถึงและสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตแต่ละวันของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ซึ่งเวลาทำการของสาขาในพื้นที่ดังกล่าวได้มีการขยายเวลาทำการของสาขาและสามารถเปิดให้บริการทุกวัน อย่างไรก็ตามข้อจำกัดในการให้บริการของรูปแบบสาขาย่อย ได้แก่ พื้นที่ที่มีขนาดเล็ก บุคลากรที่จำกัด ซึ่งบางครั้งอาจจะประสบปัญหาในการให้บริการ เมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งความพร้อมในการให้บริการจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

– รูปแบบการดำเนินงานของสาขาจะถูกปรับเปลี่ยนไป โดยใช้เป็นจุดในการขายผลิตภัณฑ์และให้บริการคำปรึกษาด้านการเงินและการลงทุนทางการเงินของสถาบันการเงินมากกว่าเป็นจุดให้บริการในการทำธุรกรรมดังเช่นที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบสาขาใหม่จะเน้นการเพิ่มจุดให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ลูกค้า เช่น การเพิ่มการติดตั้งจำนวนเครื่อง ATM เครื่องปรับสมุดเงินฝาก เครื่องรับฝากเงิน เป็นต้น เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงินของลูกค้า เช่น บริการฝากหรือถอนระหว่างบัญชี บริการชำระบัตรเครดิต บริการรับชำระเงินของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการเสนอบัตรอิเล็กทรอนิกส์เติมเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น เพื่อลดการพึ่งพาการใช้บริการที่เคานท์เตอร์ อีกทั้งปัจจุบันธุรกิจบริการชำระเงินผ่านธนาคารมีบทบาทสำคัญต่อสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้น ซึ่งรายได้จากการให้บริการด้านการชำระเงินเป็นแหล่งรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่สำคัญต่อสถาบันการเงินเช่นกัน

– นอกจากการขยายสาขาเพื่อเป็นจุดขายผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงิน บุคลากรยังเป็นส่วนสำคัญในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของสถาบันการเงิน ทั้งนี้ความพร้อมของพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ธนาคารที่มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นคุณสมบัติของพนักงานสาขาย่อมที่จะเปลี่ยนไป โดยจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเสนอผลิตภัณฑ์ทั้งการเงินและการลงทุนของธนาคาร ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มการใช้ผลิตภัณฑ์ต่อคนให้มากขึ้น และการสร้างความภักดีของลูกค้า อันจะสามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่ธนาคารได้ในระยะยาว

ประสิทธิภาพการบริการและการให้คำปรึกษาด้านการเงินเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากสถาบันการเงินได้มีการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เกิดความสับสนระหว่างผลิตภัณฑ์ เพื่อลดปัญหาเหล่านี้การให้คำแนะนำด้านการเงินแก่ลูกค้าเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ และเหมาะสมต่อความสามารถในการลงทุนของลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อสถาบันการเงินในการที่จะให้คำปรึกษาแก่ลูกค้า การนำกลยุทธ์ Customer Relationship Management (CRM) หรือลูกค้าสัมพันธ์ มาใช้ในการนำข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้า เพื่อสร้างความเข้าใจในตัวลูกค้า เช่น ระดับรายได้ในปัจจุบัน ภาระสินเชื่อ ลูกค้าการลงทุนประเภทใด เป็นต้น เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการที่จะให้คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมแก่ลูกค้าได้ง่ายขึ้น และยังเป็นกลยุทธ์ที่นำมาสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า อย่างไรก็ตามโจทย์ที่สำคัญของสถาบันการเงินและอาจต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัว คือ พนักงานสาขาจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจและสามารถที่จะแนะนำและตอบคำถามที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ที่สถาบันการเงินนำเสนอให้แก่ลูกค้าที่มีความต้องการใช้บริการและการลงทุนทางด้านการเงินที่แตกต่างกันได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก และนอกจากนี้การเข้าใจและเข้าถึงความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความประทับใจในการเข้ามาใช้บริการยังเป็นสิ่งที่ท้าท้าย โดยเฉพาะสภาพการแข่งขันที่รุนแรงและสถาบันการเงินต้องการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

การขยายสาขา…ระยะเวลาการทำกำไรเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สถาบันการเงินหลายแห่งมีการขยายสาขาในอัตราที่เร่งขึ้น ทำให้ เริ่มมีคำถามตามมาในเรื่องของระยะเวลาการทำกำไรเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรงอาจส่งผลกระทบต่อระยะเวลาการทำกำไรเพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนนั้นยาวออกไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ทำการวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพการทำกำไรของสาขาของธนาคารพาณิชย์ในประเทศในช่วงปี 2545-2549 ที่ผ่านมา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีอัตราการขยายสาขาที่มีอัตราที่เร่งขึ้น คือ มีอัตราการขยายสาขาโดยเฉลี่ยสูงกว่า10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และกลุ่มที่มีอัตราการขยายสาขาโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

กลุ่มที่มีอัตราการขยายสาขาโดยเฉลี่ยสูงกว่า10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
2545 2546 2547 2548 2549
กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน *
(ล้านบาท) 18,445.78 21,090.31 33,581.10 35,122.70 40,293.47
จำนวนสาขา** 954 1,002 1,111 1,361 1,600
กำไรต่อสาขา (ล้านบาท) 19.34 21.05 30.23 25.81 25.18
ที่มา: *คำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย **ธนาคารแห่งประเทศไทย

กลุ่มที่มีอัตราการขยายสาขาโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
2545 2546 2547 2548 2549
กำไรสุทธิจากการดำเนินงาน* (ล้านบาท) 33,886.47 52,601.36 66,657.71 78,987.94 94,001.54
จำนวนสาขา** 2,077 2,098 2,129 2,213 2,401
กำไรต่อสาขา (ล้านบาท) 16.32 25.07 31.31 35.69 39.15
ที่มา: *คำนวณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย **ธนาคารแห่งประเทศไทย

ถึงแม้ว่าเมื่อเทียบจำนวนสาขากับผลกำไรสุทธิการดำเนินงานของสถาบันการเงิน (ก่อนหักสำรองหนี้สูญ และหนี้สงสัยจะสูญ รวมถึงภาษีเงินได้นิติบุคคลธรรมดา) พบว่า กลุ่มที่มีอัตราการขยายสาขาที่ต่ำกว่า 10% จะมีผลกำไรต่อสาขาเพิ่มขึ้นคงที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มที่มีอัตราการขยายสาขาที่สูงกว่า 10% ที่ประสิทธิภาพการทำกำไรต่อสาขาลดลง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายในการขยายสาขาที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการทำกำไรในปีนั้น ทั้งนี้กำไรต่อสาขาที่ลดลงอาจเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งหากแผนการดำเนินงานของแต่ละสาขาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สาขาก็จะเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้แก่องค์กรได้ในระยะยาวและถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น นอกจากนี้การที่สถาบันการเงินได้ขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่แล้ว อาจทำให้คู่แข่งเผชิญกับความยากลำบากในการที่จะเข้ามาเปิดสาขาแข่งในภายหลัง

บทสรุปและข้อคิดเห็น

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า จากภาวะการแข่งขันธุรกิจทางการเงินที่รุนแรง โดยสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะแก่ความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการใช้บริการหรือลงทุนด้านการเงินมากขึ้น และเริ่มมีการเปรียบเทียบผลตอบแทนที่ได้รับจากการใช้บริการระหว่างสถาบันมากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ผลักดันให้สถาบันการเงินต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการของสาขา นอกจากนี้สถาบันการเงินต่างพยายามขยายสาขาให้คลอบคลุม โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่มีแผนการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นไปยังกลุ่มลูกค้ารายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีขนาดใหญ่ ได้มีการขยายสาขาเพื่อให้ครอบคลุมและสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างครบวงจร แต่การขยายสาขาของสถาบันการเงินยังคงมีคำถามตามมาถึงความสามารถในการทำกำไรของแต่ละสาขา เนื่องจากสาขาสามารถเป็นทั้งแหล่งสร้างรายได้ และสามารถเป็นภาระต้นทุนของธนาคารในระยะยาวหากไม่มีการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากสถาบันการเงินจะมีการขยายสาขาแล้ว รูปแบบการดำเนินงานของสาขายังได้ถูกปรับเปลี่ยนตามไปด้วย จากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางด้านการเงิน และการที่ลูกค้าเริ่มมีความคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าสถาบันการเงินมีความพยายามที่ต้องการให้ลูกค้าหันมาทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ การบริการฝากหรือถอนระหว่างบัญชี บริการโอนเงินระหว่างบัญชี บริการบัตรเครดิต บริการรับชำระเงินของบริษัทมือถือ บริการเสนอบัตรอิเล็กทรอนิกส์เติมเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ในบางสาขาได้มีการให้บริการ Internet Banking และ ระบบ Call Center ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการให้บริการ เพื่อลดการพึ่งพาการใช้บริการจากเคาน์เตอร์ ซึ่งข้อดีของการให้ลูกค้าหันมาใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ สถาบันการเงินสามารถสร้างรายได้ เนื่องจากการเปิดสาขาใหม่แต่ละสาขามีการลงทุนที่สูง ซึ่งสถาบันการเงินจำเป็นต้องสร้างรายได้เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุนที่เร็วขึ้น การที่ลูกค้าหันมาทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้พนักงานสามารถที่จะให้บริการด้านการเงินที่สร้างรายได้ให้แก่องค์กร เช่น ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์กองทุน เป็นต้น นอกจากนี้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานของสาขา ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคที่ต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว โดยเฉพาะการเปลี่ยนบทบาทบุคลากรของสาขาในการเสนอผลิตภัณฑ์ธนาคารในเชิงรุกมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยการอบรมและการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้สามรถปรับให้เข้ากับรูปแบบการดำเนินธุรกิจด้านการเงินในยุคปัจจุบัน

Disclaimer
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงข้อมูลได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณของตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯจะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็นหรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น