สสปน. ตอกย้ำความแข็งแกร่งอุตสาหกรรมไมซ์ไทย เตรียมพร้อมรับ 3 กิจกรรมใหญ่ช่วงครึ่งปีหลัง 2550

มั่นใจศักยภาพอุตสาหกรรมยังเติบโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าโครงการใหญ่ดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย เตรียมจัด 3 งานใหญ่ ConnectionPlus / ITCMA และ ICCA ดึง CEO ระดับโลกเข้าไทย และโรดโชว์ทั่วโลกในตลาดเป้าหมาย พร้อมชู Meeting Energy จุดเด่นที่แตกต่างของการจัดประชุมในไทย

นายนิพัทธ์ ดิถีเพ็ญ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรม MICE นั้น น่าจะยังเป็นช่วงแนวโน้มที่ดีอยู่ โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นปีละประมาณเกือบ 20-30 % และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยภาพรวมอุตสาหกรรม MICE ปี 2549 ที่ผ่านมา จำนวนคนเพิ่มขึ้น 22 % จาก 555,294 คน ในปี 2548 เป็น 677,500 คน และจำนวนรายได้เพิ่มขึ้น 23 % จากประมาณ 38,000 ล้านบาท ในปี 2548 เป็นประมาณ 46,747 ล้านบาทในปี 2549 และในปี 2550 คาดว่า จำนวนคนจะเพิ่มขึ้นอีก 18% คิดเป็น 797,000 คน และจำนวนรายได้เพิ่มขึ้น 18% จากประมาณ 46,747 ล้านบาท ในปี 2549 เป็นประมาณ 54,993 ล้านบาท ในปี 2550

ทางด้านอุตสาหกรรมการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meeting & Incentive) นั้น มีอัตราการเจริญเติบโตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ประมาณเกือบ 20 % อย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพกลุ่ม MI ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย ในปี 2006 มี จำนวนประมาณ 280,000 คน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากปี 2005 ที่มีจำนวนประมาณ 225,000 คน

ด้วยความแข็งแกร่งของธุรกิจและความพร้อมในด้านศูนย์ประชุมและศูนย์แสดงสินค้า สาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและอาหารไทยที่เลื่องชื่อ ตลอดจนกิจกรรมและแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมไมซ์ของไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคได้

นายนิพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเป้าหมายและกลยุทธ์การดำเนินงานของ สสปน.ในส่วนของการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Meetings and Incentives) เพื่อโปรโมทอุตสาหกรรมไมซ์และเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวคุณภาพนั้น สสปน.ได้เร่งวางเป้าหมายเชิงรุกในปี 2550 โดยเน้นการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน .ในการทำการตลาดตรงเฉพาะกลุ่มและสินค้าหรือบริการรูปแบบใหม่หรือรูปแบบผสมที่มีความน่าสนใจมากขึ้น อาทิ Corporate Well-being Incentives Soft Adventure for Team building, Dining – around Incentives รวมทั้ง การเข้าถึงกลุ่มบริษัท ที่มาลงทุนในประเทศไทย หรือมีบริษัทแม่ในต่างประเทศ และบริษัทที่มีคู่ค้ากับบริษัทในไทย เพื่อหารือแนวทางในการให้บริษัทดังกล่าวมาจัดประชุมหรือท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในไทย

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในการขยายตลาด Meeting Incentive ร่วมกัน ในนาม Thai Team โดยการจัด หรือเข้าร่วมกิจกรรม Trade Show หรือ Road Show ในบางพื้นที่ หรือบางประเทศ และยังดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนในการเดินทางไปพบปะกับผู้ซื้อในต่างประเทศ ตามตลาดเป้าหมายสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งการเผยแพร่ข่าวสารต่างๆ ที่สอดคล้องกัน และ ฯลฯ

สำหรับในช่วงครึ่งปีหลัง 2550 ก็ยังมีการจัดงาน ใหญ่ที่สำคัญ อีก 3 งาน ได้แก่ งาน Corporate Connection Plus งาน Incentive Travel & Convention, Meetings Asia (IT&CMA) ที่จัดพร้อมกับงาน Corporate Travel World-Asia Pacific (CTW) และงานประชุม 46th ICCA Congress 2007 เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด และดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพเข้าไทย

นายนิพัทธ์ กล่าวย้ำ ถึงความพร้อมของประเทศไทยในการเป็นสถานที่ในการจัดประชุมระดับนานาชาติว่า ทาง International Congress & Convention Association หรือ ICCA ได้จัดลำดับให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 25 ของโลก อันดับ 6 ของเอเซีย (รองจากญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เกาหลี และฮ่องกง) และอันดับที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน (รองจากสิงคโปร์) ในด้านประเทศที่มีจำนวนการประชุมนานาชาติสูงที่สุด โดยมีจำนวนการจัดประชุมทั้งหมด 82 ครั้ง คิดเป็น 1.5% ของจำนวนการประชุมนานาชาติทั้งหมดในโลก

นอกจากนี้ ไทยยังได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 28 ของโลก อันดับ 4 ของเอเซีย (รองจากญี่ปุ่น จีน และเกาหลี) และอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน ในด้านประเทศที่มีจำนวนการประชุมนานาชาติ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตสูงที่สุด (ปี 2006-2017) โดยมีจำนวนการประชุมทั้งหมด 71 ครั้ง คิดเป็น 1.3% ของจำนวนการประชุมนานาชาติทั้งหมดในโลก ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้นับเป็นการแสดงให้เห็นว่า “เมืองไทยไม่ได้เป็นแค่จุดหมายแห่งการพักผ่อนเท่านั้น แต่ยังเป็นจุดหมายสำหรับการประชุมและท่องเที่ยวที่พร้อมกับธุรกิจจากองค์กรต่างๆทั่วโลก เพราะไม่เพียงแค่สถานที่จัดประชุมระดับสูงอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่เรายังมีการสนับสนุนให้เกิดการจัดประชุมในสถานที่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หรือ meeting energy ที่ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถสัมผัสกับวัฒนธรรมของความเป็นไทยขณะมาประชุมได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากชาวต่างชาติ”

ทางด้าน นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล
สสปน.
กล่าวถึงรายละเอียดของการจัดงานด้านการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลที่จะจัดขึ้น ภายในปีนี้ ทั้ง 3 งาน ว่า งาน Corporate Connection Plus หรือ โครงการดูงานสำหรับผู้ซื้อกลุ่มบริษัท จะเป็นงานที่ทาง สสปน. ได้เชิญ ผู้ซื้อกลุ่มบริษัท และสื่อมวลชน จำนวนประมาณ 100 คน จากองค์กรต่างๆกว่า 10 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมประชุมเพื่อนำเสนอถึงอุตสาหกรรม MICE ในไทย รวมทั้งยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายพันธมิตรในธุรกิจ MICE โดยงานดังกล่าวจะจัดให้มีขึ้น ระหว่างวันที่ 15-19 สิงหาคม ศกนี้

ส่วนงาน Incentive Travel & Convention, Meetings Asia ( ITCMA) และ Corporate Travel World-Asia Pacific (CTW) หรือ งาน ITCMA&CTW 2007 ระหว่างวันที่ 23-25 ตุลาคม 2550 ที่จะจัดขึ้นที่ เซ็นทรัลเวิลด์ นี้ นับเป็นปีที่ 4 ที่ไทยได้ เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดส่งเสริมการขายในระดับเอเซีย -แปซิฟิค พร้อมการจัดประชุมผู้ซื้อจากบริษัทข้ามชาติ การจัดสัมมนาโดยเชิญนักพูดระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล

การจัดงาน ITCMA&CTW ในไทยครั้งนี้นับเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการจัดงาน ITCMA และครบรอบ 10 ปี ของการจัดงาน CTW โดยงานดังกล่าว ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค และมีองค์การนานาชาติเกี่ยวกับการประชุมและท่องเที่ยวสนับสนุนกว่า 8 องค์กร มีผู้เข้าร่วมการขาย 301 บริษัท จาก 29 ประเทศ และมีการเชิญผู้ซื้อ (Buyers) จากทั่วโลกเข้าร่วมงาน จำนวน 400 คน นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงการประชันจัดงานส่งเสริมการขายของประเทศต่างๆ การพบปะสังสรรค์ และการจัดทัวร์ทั้งก่อน และหลังงาน เพื่อชมสินค้าท่องเที่ยวใหม่ๆในภูมิภาคต่างๆ ในประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับงาน The 46th ICCA Congress 2007 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 26- 30 ตุลาคม 2550 ที่ พัทยา จะเป็นงานประชุมขององค์กรระดับโลกของบรรดา Top Management ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดประชุม (Conventions) ในประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีบริษัทต่างๆ ที่เป็นผู้จัดงาน หรือ ออร์แกไนเซอร์ จากทั่วโลกเข้าร่วมงานประมาณ 800 บริษัท

นายภูริพันธ์ยังกล่าว ต่อไปว่า ในช่วงครึ่งปีหลังภารกิจหลักของ สสปน. ที่นับเป็นโครงการที่สามารถสนับสนุนอุตสาหกรรม MICE ในประเทศไทย ได้แก่ โครงการเปิดทองหลังพระ : ท่องเที่ยวสืบสานโครงการพระราชดำริ (Royal Initiative Discovery) โครงการหลักของสสปน. ที่สนับสนุนโดยรัฐบาล อันมีพื้นที่โครงการทั้งสิ้นจำนวน 19 แห่ง: ภาคเหนือ 5 แห่ง ภาคกลาง 7 แห่ง ภาคใต้ 3 แห่ง ภาคอีสาน 4 แห่ง ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 – 2554 ในส่วนของการจัดประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลนั้น ก็จะมีการนำเสนอโครงการเปิดทองหลังพระในทุกกิจกรรมด้านการตลาดที่ สสปน.เป็นแกนนำในการจัด หรือนำผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้าร่วม อาทิ Trade Show หรือ Road Show ซึ่งจะเน้นการนำเสนอในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ (Edutainment) การสร้างบรรยากาศใหม่ๆ และกิจกรรมที่แตกต่างออกไปในการประชุมและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หรือ แนวอนุรักษ์เพื่อสังคม รวมทั้งการนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยในประเด็นความพอเพียงและสมดุล ทั้งนี้การส่งเสริมการจัดประชุมโดยผนวกกับการท่องเที่ยวสืบสานโครงการพระราชดำริ นับเป็นการสร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศและเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยเม็ดเงินที่คาดว่าจะเป็นรายได้จากโครงการเปิดทองหลังพระนั้น รวมกันเป็นมูลค่าประมาณ 3,100 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว รวม 900,000 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 750,000 คน และนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ประมาณ 150,000 คน

“ขณะนี้ นักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจมาจากเอเชีย ตามด้วยยุโรป และออสเตรเลีย ตามลำดับ ซึ่งแต่ละกลุ่มมีการใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 20% ของตัวเลขทั้งหมด เพราะนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้รับความสนุกจากกิจกรรมต่างๆทั้ง การไปสปา ทานอาหารเลิศรส ไปเล่นกอล์ฟ เข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวกับสุขภาพและการเป็นอยู่ที่ดี การพักผ่อนตามชายหาดที่สวยงาม สัมผัสถึงวัฒนธรรมที่ดีงาม ได้เยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ และเพลิดเพลินกับการจับจ่ายช้อปปิ้ง ซึ่งการประชุมนานาชาติและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลส่วนใหญ่ก็จะมากรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา หรือเชียงใหม่ อย่างไรก็ตาม กระบี่ หัวหิน และเชียงรายก็เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเช่นเดียวกัน”

ข้อมูลเพิ่มเติม
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2550 นั้น มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาประเทศไทย จำนวนประมาณ 3.82 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.43 เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่มีจำนวนประมาณ 3.62 ล้านคน โดยประมาณการรายได้ที่เข้าประเทศจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในช่วงปี 2550 อยู่ที่ 547,5000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 14% จากปี 2549 ซึ่งประมาณการรายได้เข้าประเทศอยู่ที่ 486,300 ล้านบาท

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.)
สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) คือองค์กรของภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา ออกโดยพระราชกิจจานุเบกษาฉบับวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2545 สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการได้เริ่มเปิดทำการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 เป็นต้นมา

สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนและประสานงานด้านการจัดการประชุม การจัดงานเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการต่าง ๆ ซึ่งมักเรียกโดยรวมเป็นคำย่อว่า ‘MICE’ มีที่มาจากการจัดประชุม การจัดงานเพื่อเป็นรางวัล การจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการในประเทศไทย การจัดตั้งสสปน.ขึ้นมานี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเติบโตของไทยในการเป็นตัวเลือกหนึ่งของสถานที่จัดงานประชุม งานแสดงสินค้าและนิทรรศการระดับนานาชาติ