MPT เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ด้านยอดขายลดลงอยู่ที่ 2,133.8 ล้านบาท

MPT เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปริมาณผลิตและส่งมอบสินค้าใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา แม้อยู่ในช่วงโลว์ซีซั่นของอุตสาหกรรมฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ แต่ยังขาดทุนสุทธิ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายตั้งสำรองการด้อยค่าสินทรัพย์ และค่าใช้จ่ายปรับลดแรงงาน อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลประกอบการจะฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 3 นี้ อันเป็นผลจากราคาขายเฉลี่ยสินค้าที่ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายที่ลดลงหลังเสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทในไตรมาส 2

แมกเนคอมพ์ พรีชิชั่น เทคโนโลยี (MPT) รายงานผลประกอบการไตรมาส 2/2550 มีปริมาณผลิตและส่งมอบสินค้า 91.3 ล้านชิ้น ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ด้านยอดขายลดลงอยู่ที่ 2,133.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2550 เนื่องจากราคาขายเฉลี่ยที่ลดลงและผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับมีการตั้งสำรองการด้อยค่าสินทรัพย์ การตัดจ่ายสินทรัพย์ และค่าใช้จ่ายในการปรับลดแรงงาน 510.9 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ ขาดทุนสุทธิ 797.5 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 3 จะปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลจากสัดส่วนสินค้าใหม่ที่มีราคาขายเฉลี่ยสูงขึ้น อีกทั้ง หลังเสร็จสิ้นการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทฯ ในไตรมาส 2 จะทำให้บริษัทฯ มีค่าใช้จ่ายลดลง และจุดคุ้มทุนต่ำลง

นายสตีเฟ่น เกลน แคมเบลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกเนคอมพ์ พรีซิชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ MPT เปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2550 ว่า มีปริมาณผลิตและส่งมอบแขนจับหัวอ่าน 91.3 ล้านชิ้น มากกว่าที่บริษัทฯ ได้คาดการณ์ไว้ และเป็นปริมาณที่ใกล้เคียงกับไตรมาส 1/2550 ที่ผ่านมา แม้ว่าในไตรมาส 2 นี้ จะเป็นช่วงไลว์ซีซั่นของอุตสาหกรรมฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ ก็ตาม หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้น 23% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2549 ที่มีปริมาณผลิตและส่งมอบแขนจับหัวอ่าน 74.3 ล้านชิ้น อย่างไรก็ตาม ยอดขายลดลงมาอยู่ที่ 2,133.8 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2550 เนื่องจากได้รับผลกระทบสำคัญจากราคาขายโดยเฉลี่ยของสินค้าที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทฯ ที่รับรู้ยอดขายเป็นดอลล่าร์สหรัฐ

สำหรับไตรมาส 2/2550บริษัทฯ มีขาดทุนสุทธิ 797.5 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.38 บาท โดยผลขาดทุนสุทธิดังกล่าว ได้รวมถึงค่าใช้จ่ายพิเศษที่ไม่ใช่เงินสด จำนวน 468.2 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายอันเกิดจากการตั้งสำรองการด้อยค่าสินทรัพย์ และตัดจ่ายสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตแขนจับหัวอ่านรุ่นเก่า นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีค่าใช้จ่ายในการปรับลดแรงงาน 42.7 ล้านบาท อันเกิดจากการลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการของกลุ่มบริษัททั่วโลก ซึ่งหากไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษจากจากการตั้งสำรองการด้อยค่าสินทรัพย์ การตัดจ่ายสินทรัพย์ และการปรับลดแรงงาน ดังกล่าวนี้ ในไตรมาส 2/2550 บริษัทฯ จะมีผลขาดทุนสุทธิ 286.6 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.14 บาท เทียบกับไตรมาส 2/2549 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายที่ตัดจ่ายครั้งเดียว) 206.9 ล้านบาท หรือขาดทุนต่อหุ้น 0.10 บาท

“ในไตรมาส 2 ปีนี้ ความต้องการแขนจับตัวอ่านเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ แม้ว่าเราคงต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านราคา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แขนจับหัวอ่านที่ได้ออกสู่ตลาดมานานแล้วและแขนจับหัวอ่านที่ใกล้หมดความนิยมที่ราคาขายลดลงอย่างมาก จนต่ำกว่าราคาขายเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทฯ”

“จากการพิจารณาสถานะทางธุรกิจและการตลาดของบริษัท บริษัทฯ จะยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินการลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของกลุ่มบริษัททั่วโลก เพื่อลดต้นทุน โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อฟื้นผลประกอบการของบริษัทฯ ให้กลับมามีกำไรได้อีกครั้งใน ไตรมาส 3 ปีนี้ ควบคู่กับวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว ซึ่งส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ดังกล่าวนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการลดจำนวนพนักงานทั่วโลกลง และลดขนาดการผลิตที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ เราคาดว่าความต้องการแขนจับหัวอ่านจะเติบโตเพิ่มมากขึ้นในครึ่งปีหลัง ในขณะที่เรากำลังเดินหน้าผลิตแขนจับหัวอ่านสำหรับฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ ขนาด 3.5 นิ้ว ความจุ 250 กิกะไบต์ และแขนจับหัวอ่านสำหรับฮาร์ด ดิสก์ ไดร์ฟ ขนาด 2.5 นิ้ว ความจุ 120 กิกะไบต์ ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และด้วยสัดส่วนสินค้าที่ดีขึ้นระหว่างแขนจับหัวอ่านรุ่นใหม่และการสิ้นสุดการผลิตและส่งมอบของแขนจับหัวอ่านที่ออกสู่ตลาดมานาน ซึ่งหมดความนิยมแล้ว เราคาดหวังว่าราคาขายจะปรับตัวดีขึ้น และรายได้จะเพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ปีนี้” นายสตีเฟ่น เกลน แคมเบลล์กล่าวเพิ่มเติม

บริษัทฯ ก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 3 ด้วยปริมาณงานคงค้างในมือจำนวนมาก ซึ่งบริษัทฯ คาดหวังว่า ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2550 นี้ ปริมาณการผลิตและส่งมอบแขนจับหัวอ่าน รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทฯ จะปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ จากการประเมินปริมาณความต้องการของลูกค้าล่าสุด บริษัทฯ คาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 บริษัทฯ จะมีปริมาณการผลิตและส่งมอบแขนจับหัวอ่าน อยู่ประมาณระหว่าง 95 – 100 ล้านชิ้น ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และมีผลประกอบการเป็นกำไร

ข้อมูลทั่วไปของบริษัท
บริษัท แมกเนคอมพ์ พรีซิชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบ พัฒนา และผลิตแขนจับหัวอ่านสำหรับอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) บริษัทมีบริษัทย่อยหลายแห่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญเรื่องการขึ้นรูปแบบพิมพ์ที่มีความแม่นยำสูง(precision stamping) การขึ้นรูปด้วยกรดเคมี(chemical etching) การผลิตวงจรไฟฟ้าแบบแนบติด(additive circuits) และการออกแบบแม่พิมพ์เพื่อการผลิต (tool and die design) ทั้งนี้ ในปัจจุบัน กลุ่มบริษัทมีโรงงานตั้งอยู่ในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีหน่วยงานในการวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา สำหรับท่านที่ต้องการทราบข้อมูลของบริษัทเพิ่มเพิ่ม สามารถเช้าชมเว็บไซด์บริษัทได้ที่ www.MagnecompPrecision.com