FTA ไทย-อินเดีย : เร่งใช้ประโยชน์ ส่งออก-ลงทุน ก่อนประเทศอื่นชิงความได้เปรียบจาก FTA

ในเดือนกรกฎาคม 2550 ไทยส่งออกไปอินเดียขยายตัว 81% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 สำหรับการส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปอินเดียขยายตัวถึง 66% สูงกว่าอัตราการขยายตัวของการส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วงเดียวกันนี้ที่เติบโต 16.6% อินเดียถือเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไทยที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุด เทียบกับตลาดส่งออกใหม่อื่นๆ ของไทย ได้แก่ ยุโรปตะวันออก ไทยส่งออกไปสหภาพยุโรปในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้เพิ่มขึ้น 61.2% ออสเตรเลีย (+37%) อเมริกาใต้ (+29.7%) จีน (+26%) และตะวันออกกลาง (+24.6%) อัตราการเติบโตของการส่งออกไทยไปอินเดียเฉลี่ยราว 42% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2547-2549) นับว่าอินเดียเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็ว คาดว่าการส่งออกของไทยไปยังตลาดอินเดียทั้งปี 2550 จะสูงกว่าเป้าหมายที่ทางการไทยตั้งไว้ในช่วงต้นปีนี้ที่ให้การส่งออกของไทยไปอินเดียในปี 2550 เติบโต 20% โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปอินเดียน่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 35% มูลค่ามากกว่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกของไทยไปอินเดียในปี 2549 มีมูลค่าส่งออกรวม 1,803.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 17.9%

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยไปอินเดียให้ขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ (1) การลดภาษีสินค้าภายใต้ความตกลง FTA ไทย-อินเดีย ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาในตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น และ (2) เศรษฐกิจของอินเดียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบ

เขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดีย
ไทยและอินเดียเริ่มต้นลดภาษีสินค้ากลุ่มเร่งลดภาษี (Early Harvest Scheme : EHS) จำนวน 82 รายการ ภายใต้ความตกลง FTA ไทย-อินเดีย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 จนเหลืออัตรา 0% ในวันที่ 1 กันยายน 2549 สินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีดังกล่าว ที่สำคัญ ได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออก เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ (พลอยสี) เม็ดพลาสติก เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ พัดลม ตู้เย็น เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องสีข้าว หม้อแปลงไฟฟ้า เครื่องประมวลผลข้อมูล วงจรพิมพ์ ส่วนประกอบของเฟอร์นิเจอร์ ลูกปืน (บอลล์แบริ่ง) และส่วนประกอบของเครื่องยนต์ รวมทั้งสินค้าเกษตรและประมง ได้แก่ เงาะ ลำไย มังคุด ทุเรียน องุ่น ข้าวสาลี อาหารทะเลกระป๋อง (ปลาซาร์ดีน ปลาแซลมอน ปลาแมคเคอเรลและปู) เป็นต้น ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของไปอินเดียในปี 2549 ขยายตัว 97% เมื่อเทียบกับปี 2547 ขณะที่การนำเข้าจากอินเดียในปี 2549 เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับปี 2547 ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 ไทยส่งออกไปอินเดียขยายตัว 65.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ขณะที่ไทยนำเข้าจากอินเดียเพิ่มขึ้น 25.7% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับอินเดีย 389.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 6.8% ของมูลค่าเกินดุลการค้าของไทยทั้งหมด 5,716.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มต้นลดภาษีภายใต้ FTA เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน จากก่อนหน้านี้ที่ไทยขาดดุลการค้ากับอินเดียมาโดยตลอด สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดียที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น ทั้งนี้ อินเดียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 16 และประเทศที่ไทยนำเข้าอันดับที่ 17 ส่วนไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 23 ของอินเดีย และประเทศที่อินเดียนำเข้ามากเป็นอันดับที่ 29

หากการลดภาษีศุลกากรภายใต้ FTA ระหว่างไทยและอินเดียขยายไปสู่รายการสินค้าปกติ (Normal Track) อีกราว 5,000 รายการ ที่ขณะนี้ไทยและอินเดียอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องระยะเวลาการลดภาษีสินค้าอ่อนไหวและกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origins : ROOs) คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้การส่งออกไทยไปอินเดียขยายตัวมากขึ้น ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกของไทยไปอินเดียค่อนข้างน้อย (1.8%) เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่การส่งออกของไทยไปอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า สัดส่วนการส่งออกของไทยไปอินเดียต่อการส่งออกทั้งหมดของไทยจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกหลักเดิมของไทยอย่างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากเป็นอันดับ 1 มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 ไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ หดตัวลง 1.96% สินค้าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ที่ลดลง ที่สำคัญ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (-7.7%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-4.7%) อัญมณีและเครื่องประดับ (-7.1%) และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ (-47.9%) สาเหตุสำคัญ ได้แก่ (1) การเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแรงลง (2) ขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยในสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากถูกสินค้าราคาต่ำกว่าแย่งส่วนแบ่งตลาด ที่สำคัญ เช่น สินค้าสิ่งทอ/เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้าที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นจากจีนและเวียดนาม (3) ค่าเงินบาทที่แข็งค่า (4) การที่สินค้าส่งออกของไทยถูกสหรัฐฯ ตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ที่สำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับที่ทำจากทอง ซึ่งสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 1 ของไทย และ (5) อุปสรรคการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ จากมาตรการกีดันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ของสหรัฐฯ เช่น มาตรการเก็บภาษีการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) สินค้ากุ้ง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ หดตัวลง ดังนั้นอินเดียจึงเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีศักยภาพของไทย ในขณะที่การส่งออกของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

ข้อควรระวัง
แม้การลดภาษีศุลกากรตามความตกลง FTA ไทย-อินเดีย ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยในตลาดอินเดียเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสินค้าส่งออกจากประเทศอื่นๆ ที่ไม่ได้สิทธิการลดภาษีจาก FTA ส่งผลให้อินเดียเป็นตลาดส่งออกใหม่ของไทยที่มีโอกาสขยายตัวได้ดี แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า สิทธิพิเศษทางภาษีที่อินเดียให้กับสินค้าส่งออกของไทยภายใต้ FTA ก่อนประเทศอื่นๆ อาจไม่ยาวนานนัก เนื่องจากปัจจุบันอินเดียอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำความตกลงเปิดเสรี (FTA) ทั้งระดับทวิภาคีและระดับภูมิภาค ตามนโยบายเปิดเสรีทางการค้าและการเปิดประเทศรับการลงทุนของอินเดีย เพื่อขยายตลาดส่งออกสินค้า บริการ และการลงทุน โดยอินเดียอยู่ระหว่างการจัดทำ FTA ในระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ในหลายภูมิภาค โดยได้ลงนามจัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีไปแล้วกับสิงคโปร์ในเดือนมิถุนายน 2548 และอยู่ระหว่างจัดทำ FTA ในระดับภูมิภาคกับกลุ่ม GCC และกลุ่มอาเซียน รวมทั้งกำลังพิจารณาจัดทำความตกลง FTA กับเวียดนาม สหรัฐฯ และมาเลเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนแต่เป็นประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่สำคัญของไทย

สินค้าส่งออกของไทยที่ได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดอินเดียในปัจจุบันนี้ รวมทั้งนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนภาคการผลิตและภาคบริการในอินเดียทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จะต้องแข่งขันกับสินค้าและบริการจากประเทศคู่ค้าที่อินเดียจัดทำความตกลง FTA ด้วย เนื่องจากประเทศเหล่านี้จะสามารถส่งออกสินค้าและบริการไปอินเดีย โดยได้รับประโยชน์ด้านการลด/ยกเว้นภาษีตามความตกลง FTA กับอินเดียเช่นกัน รวมทั้งการเปิดรับการลงทุนจากประเทศคู่เจรจา FTA ของอินเดียให้กับประเทศคู่เจรจา FTA ที่กว้างขวางมากขึ้นจากความตกลง FTA ต่างๆ

อินเดีย : ตลาดใหญ่ & อำนาจซื้อสูง
ปัจจัยสำคัญอีกประการที่สนับสนุนให้การส่งออกของไทยไปอินเดียเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ เศรษฐกิจของอินเดียที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเปิดประเทศและการปฏิรูปทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2534 ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และทำให้ความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

เศรษฐกิจอินเดียในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2546-2549) เติบโตในอัตราเฉลี่ยราว 8.6% ต่อปี นับว่าปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศในเอเชียที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 รองจากจีน อินเดียเป็นประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่และอำนาจซื้อสูง ชนชั้นกลางของอินเดียมีจำนวนราว 300 ล้านคน จากประชากรรวมทั้งหมดของอินเดียราว 1,100 ล้านคน (ประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน) แม้ว่ารายได้ประชากรต่อคนของอินเดียค่อนข้างต่ำ แต่จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ประชากรต่อคนของชาวอินเดียเพิ่มขึ้นจาก 451.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในปี 2543 เป็น 797 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในปี 2547 (ประเทศไทยที่รายได้ประชากรต่อคนราว 3,136 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในปี 2548)

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP ของอินเดียจะเติบโต 9.0% ในปี 2550 และ 8.4% ในปี 2551 ตามลำดับ ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอินเดียในปีนี้ ได้แก่ การเติบโตของภาคบริการและภาคการผลิต การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และอุปกรณ์ขนส่งและส่วนประกอบ ส่วนภาคบริการที่สำคัญของอินเดีย ได้แก่ การท่องเที่ยว คมนาคมขนส่ง การเงิน ประกันภัย อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง ภาคบริการของอินเดียเติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก ติดต่อกันเป็นปีที่ 3 สาขาบริการที่เติบโตสูง ได้แก่ การค้า โรงแรม ภัตตาคาร การขนส่ง และการสื่อสาร ภาคบริการของอินเดียมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ คิดเป็นสัดส่วนถึง 71.5% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2549-2550 นับว่าภาคบริการเป็นภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด โดยมีสัดส่วนต่อ GDP สูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ภาคการผลิต และภาคเกษตรกรรม ตามลำดับ

ภาคการลงทุนของอินเดียขยายตัวทั้งการลงทุนภายในและการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอินเดียเพิ่มขึ้นหลังจากอินเดียปฏิรูปเศรษฐกิจและผ่อนคลายข้อจำกัดของการเข้ามาลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ ทั้งนี้ FDI ของอินเดียในปีงบประมาณ 2549-2550 เพิ่มขึ้นเกือบ 2.5 เท่าจาก 7.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีงบประมาณ 2548-2549 เป็น 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันทางการอินเดียเร่งปรับปรุงการขนส่งทางบก ท่าเรือ และการขนส่งทางทะเล และเพิ่มประสิทธิภาพของสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้า และโทรคมนาคม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานในอินเดียยังไม่เพียงพอ ซึ่งจะบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียอย่างยั่งยืน แต่เนื่องจากทางการอินเดียไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด จึงส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมมือกับภาครัฐเพื่อการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการดึงดูดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ให้เข้ามาลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วย โดยการลดกฎระเบียบด้านการลงทุนในสาขานี้ คาดว่าจะช่วยสนับสนุน FDI ของอินเดียให้ขยายตัวมากขึ้น

บทสรุป และข้อควรระวัง
อินเดียเป็นตลาดใหญ่ประชากรราว 1,100 ล้านคน ถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ชนชั้นกลางในอินเดียที่มีกำลังซื้อสูงมีจำนวนประมาณ 300 ล้านคน เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง จากการปฏิรูปเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2534 นโยบายเปิดเสรีทางการค้าและเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับ 2 รองจากจีน ส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าทุน และสินค้าวัตถุดิบของอินเดีย เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า อินเดียเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันผลักดันให้สินค้าส่งออกของไทยขยายตัว เพื่อกระจายตลาดส่งออกของไทยและลดพึ่งพิงตลาดส่งออกหลักเดิมอย่างสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ดีในอินเดีย เพราะนอกจากผลดีจากการที่อินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อแล้ว การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดียได้ส่งผลดีจากการยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันของสินค้า 82 รายการ ในวันที่ 1 กันยายน 2549 หลังจากที่เริ่มต้นทยอยลดภาษีสินค้าดังกล่าวในวันที่ 1 กันยายน 2547 ส่งผลให้สินค้าส่งออกไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดอินเดีย ถือเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 โดยเติบโตถึง 66% เทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วงเดียวกันที่ขยายตัว 16.6% และการลดภาษีศุลกากรจะขยายไปสู่สินค้าปกติอีกราว 5,000 รายการ หลังจากที่การเจรจาทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติ จะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการลดภาษีสินค้าอีก 5,000 รายการได้ภายในปี 2551 ส่งผลให้มูลค่าการค้าไทย-อินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2551 จากมูลค่าการค้าไทย-อินเดีย 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ทั้งนี้ ทางการไทยและอินเดียตั้งเป้าหมายให้การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2553-2554 นอกจากนี้ การค้าภาคบริการและการลงทุนจัดตั้งธุรกิจผลิตสินค้าและธุรกิจบริการระหว่างไทยกับอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต จากการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนที่ไทยและอินเดียอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดเงื่อนไข/กฎระเบียบด้านการลงทุนจัดตั้งธุรกิจของทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า สิ่งที่ภาคเอกชนไทยควรระวังและเตรียมพร้อมต่อการแข่งขัน ได้แก่ การที่อินเดียอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA ทั้งในระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย (สิงคโปร์ลงนามความตกลง FTA กับอินเดียในเดือนมิถุนายน 2548) และระดับภูมิภาคกับกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ กลุ่มประเทศอ่าว (6 ประเทศ) กลุ่มอาเซียน (10 ประเทศ) และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) รวมทั้งประเทศที่คาดว่าอินเดียจะเจรจาจัดทำ FTA ด้วยต่อไป ได้แก่ นิวซีแลนด์ จีน สหรัฐฯ บังคลาเทศ เวียดนาม และอิสราเอล ซึ่งประเทศคู่เจรจา FTA ต่างๆ เหล่านี้ของอินเดียล้วนเป็นประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย

การจัดทำความตกลง FTA ของอินเดียกับประเทศ/กลุ่มประเทศต่างๆ ทำให้อินเดียต้องเปิดตลาดสินค้าและบริการ รวมถึงเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศให้กับประเทศ/กลุ่มประเทศคู่เจรจา FTA เหล่านี้มากขึ้น ทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกของไทยที่ได้รับจากการลดภาษีศุลกากรของอินเดียภายใต้ FTA ลดลงหรือหมดไป และธุรกิจด้านการผลิต/ธุรกิจบริการของไทยที่เข้าไปจัดตั้งในอินเดียจะต้องแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันของต่างชาติในตลาดอินเดียที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในอินเดียได้สะดวกขึ้น จากการผ่อนคลายกฎระเบียบและเงื่อนไขการลงทุนภายใต้ความตกลง FTA

ขณะเดียวกัน หากการจัดทำความตกลง FTA ของอินเดียกับประเทศเหล่านี้เสร็จสิ้น และเริ่มมีผลบังคับใช้ จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าส่งออกและธุรกิจผลิตสินค้า/ธุรกิจบริการของอินเดียในการเข้าสู่ตลาดประเทศ FTA เหล่านี้ได้มากขึ้น ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยและธุรกิจผลิตสินค้า/ธุรกิจบริการของไทยที่จัดตั้งในประเทศคู่เจรจา FTA ของอินเดีย ต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกของอินเดีย และธุรกิจผลิตสินค้า/ธุรกิจบริการของอินเดียในตลาดประเทศเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

การแข่งขันในตลาดอินเดีย – ผู้ส่งออกไทย/ธุรกิจไทยที่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในอินเดีย และธุรกิจให้บริการของไทยที่จัดตั้งในอินเดีย จะต้องเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของประเทศที่อินเดียจัดทำ FTA ด้วยในตลาดอินเดีย หรือธุรกิจของประเทศคู่เจรจา FTA ของอินเดีย ที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย เพื่อต้องการจำหน่ายสินค้า/ให้บริการในอินเดีย ซึ่งคาดหวังประโยชน์จากขนาดตลาดอินเดียที่ใหญ่และมีความต้องการบริโภคและลงทุนสูง

การแข่งขันในตลาดประเทศที่สาม – ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกสินค้าไปประเทศที่อินเดียจัดทำความตกลง FTA ด้วย หรือนักธุรกิจไทยที่ไปจัดตั้งธุรกิจผลิตสินค้า/ธุรกิจบริการในประเทศที่อินเดียจัดทำ FTA ด้วย (ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป) จะต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกของอินเดียที่มีราคาต่ำ และธุรกิจผลิตสินค้า/ธุรกิจบริการของอินเดียที่เข้าไปจัดตั้งในประเทศคู่เจรจา FTA นั้น ซึ่งธุรกิจของอินเดียจะได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการลดเงื่อนไข/กฎระเบียบภาคบริการและการลงทุนภายใต้การจัดทำ FTA