ค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก ปี 2550

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยข้อมูลค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ สำหรับครึ่งปีแรก ปี 2550 พบว่าทั้งมูลค่าและจำนวนรายลดลงแทบทุกภาค

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ชี้แจงว่า ครึ่งปีแรกปีนี้ มีผู้ชำระค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ ทั้งสิ้น 418,323 ราย ลดลง 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่มีจำนวน 437,417 ราย คิดเป็นค่าธรรมเนียมรวม 5,087 ล้านบาท ลดลง 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2549 ที่มีค่าธรรมเนียมรวม 5,415 ล้านบาท

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2548 โดยในปีดังกล่าว มีจำนวนผู้ชำระค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น 907,428 ราย ค่าธรรมเนียมรวม 11,759 ล้านบาท แต่ในปี 2549 ปริมาณธุรกรรมชะลอตัวลง จำนวนผู้ชำระค่าธรรมเนียมลดลงเหลือ 835,152 ราย และค่าธรรมเนียมรวมเหลือ 11,102 ล้านบาท

เมื่อจำแนกค่าธรรมเนียมเป็นรายภาค พบว่ามูลค่าลดลงเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ค่าธรรมเนียมในภาคเหนือและภาคตะวันออก ลดลงมากที่สุดภาคละ 9% กรุงเทพฯและปริมณฑล ลดลง 7% ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงภาคละ 5% ขณะที่ภาคใต้เพิ่มขึ้น 6% โดยจังหวัดสุราษฎร์ธานีเก็บค่าธรรมเนียมในครึ่งปีแรก 2550 เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรก 2549 มากกว่า 50% จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ ในพื้นที่เกาะสมุย

สำหรับจังหวัดที่มีมูลค่าค่าธรรมเนียมซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด 5 อันดับแรกคือ กรุงเทพฯ 1,646 ล้านบาท (คิดเป็นสัดส่วน 32% ของมูลค่าค่าธรรมเนียมทั้งประเทศ) นนทบุรี 342 ล้านบาท ชลบุรี 300 ล้านบาท ปทุมธานี 287 ล้านบาท และสมุทรปราการ 281 ล้านบาท

จังหวัดที่มีมูลค่าค่าธรรมเนียมซื้อขายที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ มากที่สุดในแต่ละภาคตามลำดับมีดังนี้
ภาคเหนือ เชียงใหม่ 186 ล้านบาท
ภาคกลาง อยุธยา 95 ล้านบาท ประจวบคีรีขันธ์ 77 ล้านบาท ฉะเชิงเทรา 77 ล้านบาท
ภาคตะวันออก ชลบุรี 300 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าประมาณ 70% ของทั้งภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นครราชสีมา 96 ล้านบาท รองมาคือ ขอนแก่น 63 ล้านบาท
ภาคใต้ สุราษฎร์ธานี 118 ล้านบาท ตามด้วยภูเก็ต 107 ล้านบาท

จำนวนรายผู้ชำระค่าธรรมเนียมฯ ในแต่ละภาคลดลง โดยภาคตะวันออกเป็นภาคที่จำนวนผู้ชำระค่าธรรมเนียมฯ ลดลงมากที่สุดถึง 14% รองลงมาคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล ลดลง 8% ภาคเหนือ ลดลง 5% ภาคกลางและภาคใต้ ลดเพียง 1% ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทรงตัว

กรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีมูลค่าต่อรายสูงขึ้น ส่วนภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีมูลค่าต่อรายลดลง