เงินดอลลาร์ท่วม: จีนรุกลงทุนต่างประเทศ

เมื่อสิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,434 พันล้านดอลลาร์ จากจำนวน 1,333 พันล้านดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2549 และคาดว่าในช่วงสิ้นปี 2550 ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนจะมีจำนวนถึง 1,461 พันล้านดอลลาร์ ทุนสำรองของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากนั้น เป็นผลมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในอัตราสูง โดยคาดว่าในปี 2550 จีนจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 9.8 ของ GDP คิดเป็นจำนวน 313 พันล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่มาจากการได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 261 พันล้านดอลลาร์ และการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้การส่งออกในปี 2550 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เป็นมูลค่า 1,212 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่การนำเข้าอาจเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 20.5 คิดเป็นมูลค่า 953.9 พันล้านดอลลาร์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากส่งผลให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตามลำดับ และเป็นแรงผลักดันให้สถาบันการเงินของจีนมุ่งขยายการลงทุนในต่างประเทศ ดังนี้

เงินสำรองกดดันค่าเงินหยวนแข็งค่า
ทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ทางการจีนจะพยายามรักษาค่าเงินให้มีเสถียรภาพมากที่สุดเพื่อให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานดำเนินไปอย่างต่อเนื่องก็ตาม หลังการปรับเพิ่มค่าเงินหยวนร้อยละ 2 ในเดือนกรกฎาคม 2548 และหันมาใช้ระบบตะกร้าเงินรวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นให้เงินหยวน จากนั้นค่าเงินหยวนได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยแข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.6 และ 3.2 ในปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนที่ 7.82 หยวนต่อดอลลาร์เมื่อสิ้นปี 2549 เทียบกับก่อนการปรับค่าเงินหยวนที่มีค่าเท่ากับ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์ และในช่วงต้นเดือนเดือนพฤศจิกายน 2550 เงินหยวนได้แข็งค่าขึ้นเป็น 7.51 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ หรือแข็งค่าขึ้นแล้วประมาณร้อยละ 9 นับตั้งแต่มีการปรับค่าเงินหยวนในเดือนกรกฎาคม 2548 Consensus Forecast คาดว่าค่าเงินหยวนเมื่อสิ้นปี 2550 จะแข็งขึ้นเป็น 7.38 หยวนต่อดอลลาร์ หรือคิดเป็นอัตราการแข็งค่าที่ร้อยละ 5.9 ในปี 2550 และอาจแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 7 หยวนต่อดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2551 หรือแข็งค่าขึ้นอีกกว่าร้อยละ 5

จีนจัดตั้ง Sovereign-Wealth Fund
เนื่องจากธนาคารกลางจีนนำเงินสำรองระหว่างประเทศส่วนใหญ่ไปถือครองสินทรัพย์ที่เป็นเงินดอลลาร์และเงินสกุลอื่น ๆ ในต่างประเทศในรูปของตราสารหนี้และพันธบัตรจำนวนมาก ทำให้มูลค่าทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ด้อยค่าลงตามค่าเงินดอลลาร์ที่เสื่อมค่าลงเรื่อย ๆ โดยประเมินกันว่าสินทรัพย์ดังกล่าวเสื่อมค่าลง 5 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน ในปีนี้ทางการจีนจึงหันมาเพิ่มรูปแบบการถือครองทรัพย์สินในต่างประเทศเพื่อแสวงหากำไรเพิ่มขึ้น โดยจัดตั้ง Sovereign-Wealth Fund ที่ชื่อว่า China Investment Corporation (CIC) ด้วยวงเงิน 200 พันล้านดอลลาร์ เพื่อนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดย CIC นับเป็น Sovereign-Wealth Fund ที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากกองทุนในลักษณะเดียวกันของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์และนอร์เวย์

CIC ได้สร้างกระแสความสนใจในวงการเงินระหว่างประเทศ เมื่อเข้าซื้อหุ้นเกือบร้อยละ 10 ใน Blackstone Group L.P. ซึ่งเป็นกองทุนการเงินขนาดใหญ่เป็นเงินจำนวน 3 พันล้านดอลลาร์เมื่อเดือนพฤษภาคม ศกนี้ ก่อนที่ Blackstone จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (แต่หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าหุ้นของ Blackstone ได้ลดลงกว่าร้อยละ 30 จากภาวะปั่นป่วนของตลาดหุ้นทั่วโลกอันเนื่องมาจากปัญหา Sub-prime Loans ในสหรัฐฯ) รวมทั้งอาจเข้าไปซื้อหุ้นใน Wal-Mart ซึ่งเป็นธุรกิจค้าปลีกอันดับหนึ่งของโลก อย่างไรก็ตาม คาดว่า CIC จะนำเงินจำนวน 67 พันล้านดอลลาร์ไปลงทุนใน Central Huijin Investment Co. ซึ่งเป็น Holding Company ภายใต้การควบคุมของธนาคารกลางของจีนที่เข้าถือหุ้นในวิสาหกิจขนาดใหญ่ของประเทศ รวมถึงธนาคารยักษ์ใหญ่ เช่น ICBC (Industrial & Commercial Bank of China) และ Bank of China รวมถึงนำเงินอีกหลายพันล้านดอลลาร์ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้กับธนาคารของจีนเองด้วย

ธนาคารจีนรุกลงทุนต่างประเทศ
นอกเหนือจากการลงทุนของ CIC ทางการจีนยังได้สนับสนุนให้กลุ่มธุรกิจและสถาบันการเงินขนาดใหญ่เข้าไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศทั้งในลักษณะของ FDI และ Portfolio Investment ทำให้วิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีนเข้าไปลงทุนในภาคการผลิตต่าง ๆ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการในต่างประเทศ การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง นิวยอร์กและเซี่ยงไฮ้ของธนาคารขนาดใหญ่ของจีนไม่ว่าจะเป็น Bank of China (BOC), China Construction Bank (CBC) และ ICBC ทำให้สามารถระดมทุนจำนวนมหาศาลซึ่งเอื้อต่อการเข้าไปลงทุนในลักษณะพันธมิตรทางธุรกิจ (strategic partner) ในสถาบันการเงินต่างประเทศ กระแสการเข้าไปซื้อหุ้นในสถาบันการเงินต่างประเทศของจีนเริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจังในปี 2006 เมื่อ ICBC เข้าไปซื้อหุ้นร้อยละ 90 ในธนาคาร PT Bank Halim ของอินโดนีเซีย

จากนั้นอีกหลายธนาคารก็ได้ดำเนินรอยตาม เช่น ในเดือนสิงหาคม 2550 China Development Bank ได้เข้าซื้อหุ้นใน Barclays Bank ของอังกฤษร้อยละ 3 เป็นวงเงิน 3 พันล้านดอลลาร์เพื่อหนุนการเข้าซื้อหุ้นธนาคาร ABN Amro ของ Barclays Bank จากนั้น กลุ่ม Citic Securities ของจีนและ Bear Stearns ของสหรัฐฯ ก็ได้เข้าซื้อหุ้นของกันและกันคิดเป็นวงเงินฝ่ายละ 1 พันล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนร่วมกันในสหรัฐฯ และเอเชีย นอกจากนี้ ICBC ซึ่งเป็นธนาคารอันดับหนึ่งของจีนก็ได้เข้าไปถือหุ้นร้อยละ 20 ใน Standard Bank ธนาคารอันดับหนึ่งของอัฟริกาใต้ด้วยมูลค่าการลงทุน 5.51 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่าเป็นโครงการลงทุนในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของจีน โดยทั้ง 2 ธนาคารวางแผนจะลงทุนร่วมกันฝ่ายละ 250 ล้านดอลลาร์ เพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับลงทุนในกิจการเหมืองแร่และทรัพยากรในทวีปอัฟริกา ส่วน Minsheng Bank ซึ่งเป็นธนาคารขนาดย่อมของจีนก็ได้มีแผนลงทุน 200 ล้านดอลลาร์เพื่อถือหุ้นร้อยละ 9.9 ในธนาคาร UCBH ที่ซานฟรานซิสโก แม้แต่ในประเทศไทย ธนาคารของจีนก็ได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนด้วยเช่นกัน โดย ICBC อยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อหุ้นธนาคารสินเอเชีย (ACL) ในสัดส่วนร้อยละ 19.3 จากธนาคารกรุงเทพฯ ผู้ถือหุ้นเดิม เป็นวงเงินประมาณ 55 ล้านดอลลาร์ และกำลังวางแผนเข้าไปลงทุนกิจการธนาคารในเวียดนาม ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้อีกด้วย ทั้งนี้ Bank of China เป็นธนาคารจีนแห่งเดียวที่ประกอบธุรกิจธนาคารในประเทศไทยในปัจจุบัน

จีนร่วมทุนต่างชาติในธุรกิจหลักทรัพย์
นอกเหนือจากการไปลงทุนในสถาบันการเงินต่างประเทศแล้ว สถาบันทางการเงินของจีนก็ได้ร่วมลงทุนกับสถาบันการเงินต่างประเทศในลักษณะของกิจการร่วมทุนในจีนเพื่อให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งสถาบันทางการเงินของจีนเองขาดความชำนาญ โดยเลือกร่วมทุนกับสถาบันการเงินชั้นนำของโลก เช่น Morgan Stanley, Credit Lyonnais, BNP Paribas, Goldman Sachs, Merrill Lynch, UBS และ Bear Stearns เป็นต้น คาดว่าในอนาคตธุรกิจร่วมทุนดังกล่าวอาจขยายธุรกิจเข้าไปยังประเทศเอเชียอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เช่น การร่วมทุนระหว่าง Bear Stearns และ Citic ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อขยายธุรกิจของตนทั้งในจีนและประเทศเอเชียอื่น ๆ

ผลกระทบต่อไทย
นอกจากฐานะทุนสำรองและแนวโน้มในการเกินดุลของจีนจะส่งผลต่อค่าเงินหยวนและค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งเงินบาทของไทยแล้ว จีนยังมีบทบาทที่เด่นชัดขึ้นในเวทีตลาดเงิน-ตลาดทุนโลก โดยกองทุน CIC ซึ่งเป็น Sovereign Fund อันดับ 4 ของโลกในปัจจุบัน น่าที่จะสามารถไต่ระดับขึ้นไปได้อีก ตามแนวโน้มการขยายตัวของฐานะทุนสำรองของจีน ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ จีนจะไม่เป็นเพียงฐานอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปขายทั่วโลก แต่จีนกำลังจะก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ลงทุนสำคัญในตลาดการเงินและตลาดทุนโลก สถานะดังกล่าวจะทำให้จีนทวีความสำคัญยิ่งขึ้นในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั้งทางด้านภาคการผลิต การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ประเทศไทยควรเร่งขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนอย่างรอบด้าน ไม่เพียงด้านการค้าซึ่งปัจจุบันจีนได้ทวีความสำคัญขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทยแล้ว แต่ควรรวมถึงมิติด้านการลงทุน โดยเพิ่มการลงทุนในประเทศจีนของนักธุรกิจไทย พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อดึงดูดการลงทุนของจีนในประเทศไทยทั้งในภาคการผลิต การบริการและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากจีนกำลังเติบโตขึ้นเป็นแหล่งทุนขนาดใหญ่ของโลกที่กำลังแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศ