กล้องดิจิตอล: ตลาดเติบโตได้ดีท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

กล้องดิจิตอลเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันโดยเข้ามาแทนที่กล้องฟิลม์แบบเก่า แนวโน้มการเติบโตของยอดขายกล้องดิจิตอลทั่วโลกปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 หรือมีจำนวน 114 ล้านเครื่อง มีการคาดการณ์โดยบริษัทวิจัยไอดีซีว่าตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพคจะอิ่มตัวในปี 2011 ส่วนกล้องเอสแอลอาร์จะยังขยายตัวได้ดีในอัตราร้อยละ 9 หรือประมาณ 8.5 ล้านเครื่อง ในไทยปริมาณการจำหน่ายกล้องดิจิตอลได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากประมาณ 90,000 เครื่องในปี 2545 และคาดว่าจะสูงถึงประมาณ 920,000 เครื่องภายในสิ้นปี 2550 ประเทศไทยนับเป็นตลาดที่สำคัญของกล้องดิจิตอลในภูมิภาคนอกเหนือไปจากจีนที่ยังขยายตัวได้ดีในขณะที่ตลาดอื่นๆเริ่มมีการชะลอตัวลง โดยในช่วงที่ผ่านมาหลายๆแบรนด์ทั้งจากเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่นได้เข้ามาทำตลาดกล้องในไทยอย่างคึกคัก การแข่งขันในตลาดค่อนข้างรุนแรงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะอยู่ในภาวะชะลอตัวลง มีการพยายามทำยอดขายโดยใช้กลยุทธ์ทางด้านราคาและสื่อโฆษณา รวมทั้งช่องทางส่งเสริมการขายรูปแบบต่างๆ เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง

กล้องดิจิตอลได้รับการพัฒนาไปมากและมีราคาลดลงโดยผู้ผลิตเร่งแข่งขันทั้งทางด้านราคาและคุณภาพของสินค้าโดยการออกกล้องรุ่นใหม่ที่มีความละเอียดสูงมาแข่งขันรวมทั้งเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ เข้าไปในกล้อง ในช่วง 9 เดือนแรกของปีพบว่าการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายกล้องดิจิตอลเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในเชิงมูลค่าแล้วค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้เนื่องจากราคากล้องดิจิตอลได้ปรับลดลงมา ในปี 2550 ตลอดทั้งปีคาดว่าตลาดกล้องดิจิตอลจะเติบโตได้ในช่วงร้อยละ 10-15 ซึ่งแม้จะเป็นอัตราที่ต่ำกว่าปีก่อนๆ แต่อยู่ในระดับที่ดีกว่าสินค้าในกลุ่มเดียวกัน (คอมซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์) เมื่อพิจารณาจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันกล้องดิจิตอลในไทยจึงยังมีอนาคตสดใส จำแนกตามประเภทผลิตภัณฑ์จากปริมาณจากจำหน่ายกล้องดิจิตอลทั้งหมดในประเทศปี 2550 ประมาณว่าร้อยละ 93.3 เป็นกล้องดิจิตอลคอมแพคที่เหลือร้อยละ 6.7 เป็นกล้องเอสแอลอาร์ (SLR) ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตสูงโดยเติบโตมากกว่าร้อยละ 50 ต่อปีในขณะที่กล้องคอมแพคมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่าคือประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปี

ตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพค: แข่งขันรุนแรงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาด
กล้องดิจิตอลส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในไทยเป็นกล้องแบบคอมแพค ซึ่งในปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดกว่า 50 แบรนด์ตั้งแต่บริษัทผู้ผลิตกล้อง ผู้ผลิตฟิลม์ ไปจนถึงบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าไอที การรับรู้แบรนด์เป็นสิ่งที่สำคัญในการทำตลาดซึ่งในข้อนี้ ผู้ผลิตกล้องที่มาจากกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้ามีความได้เปรียบด้านการใช้สื่อ อีกทั้งยังมีฐานลูกค้าเก่าและเครือข่ายการตลาดที่กว้างกว่าจากช่องทางของผู้จำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมากกว่าร้านกล้อง ทำให้ความรับรู้ในแบรนด์สูงกว่าผู้ผลิตกลุ่มอื่น การพัฒนากล้องเซ็กเมนต์นี้จะเน้นลูกเล่นแอปพลิเคชั่นในตัวกล้องและดีไซน์มากกว่าการพัฒนาเรื่องกล้องอย่างเดียวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ยกตัวอย่างเช่น การทำให้กล้องเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าแฟชั่นเพื่อการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ เทคโนโลยีของกล้องดิจิตอลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยหลังจากมีกล้องรุ่นใหม่ออกมากล้องรุ่นเก่าจะราคาลดลงไปอย่างมาก ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปมองหากล้องที่มีความละเอียดของภาพที่สูงขึ้นจาก 4-6 ล้านพิกเซลเป็น 7-8 ล้านพิกเซล โดย 2 เซ็กเมนต์นี้มีส่วนแบ่งตลาดประมาณร้อยละ 65 ในครึ่งปีแรก

ตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพคเป็นตลาดที่ผู้ผลิตทำกำไรได้ไม่มาก (low margin) เมื่อเทียบกับตลาดกล้องเอสแอลอาร์ ตลาดกล้องดิจิตอลคอมแพคของไทยมีการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มข้นจากการเข้ามาของแบรนด์เกาหลีใต้ ไต้หวันและจีน ในการแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดปัจจุบันแบรนด์หลักๆในตลาดทั้งของญี่ปุ่นและเกาหลีต่างก็พยายามแตกไลน์สินค้าให้ครอบครอบคลุมตั้งแต่กล้องไฮเอนด์ไปจนถึงกล้องะดับ Entry Level ราคาไม่แพงเพื่อปิดตลาดของตนให้สมบูรณ์

ตลาดผู้บริโภคกล้องดิจิตอลคอมแพคสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีกเป็น 2 กลุ่มคือ 1) กลุ่มผู้ซื้อกล้องครั้งแรก และ 2) กลุ่มผู้ซื้อกล้องใหม่เพื่อทดแทนรุ่นเก่า (repeat buyers) ซึ่งการทำตลาดของแบรนด์ในแต่ละกลุ่มแตกต่างกันออกไป ในผู้บริโภคกลุ่มแรกที่เป็นคนซื้อกล้องตัวแรก ผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะใช้กลยุทธ์ด้านราคาเพื่อให้ได้มาซึ่งลูกค้าโดยลูกค้าในกลุ่มนี้มักต้องการกล้องในระดับล่าง-ปานกลาง ซึ่งมีสินค้าคู่แข่งที่สำคัญคือโทรศัพท์มือถือที่มีกล้องภายในตัวโดยที่กล้องในโทรศัพท์มือถือระดับบนถูกพัฒนาให้มีความละเอียดสูงกว่า 5 พิกเซลแต่ก็ยังขาดฟังก์ชั่นหลักอื่นๆของกล้อง ตลาดนี้เป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีมาร์จินน้อยมากแต่นับเป็นฐานตลาดสำคัญที่ผู้ผลิตสามารถใช้เป็นฐานในการขยายตลาดสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติและราคาสูงขึ้นไปเมื่อลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการเปลี่ยนสินค้ารุ่นใหม่ ส่วนผู้บริโภคในกลุ่ม repeat buyers ที่ซื้อกล้องใหม่เพื่อทดแทนกล้องตัวเก่า หรือซื้อเพื่อเป็นกล้องตัวที่สองนั้นมักมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องกล้องดีกว่าผู้บริโภคในกลุ่มที่เพิ่งซื้อกล้องเป็นตัวแรก ผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงต้องการกล้องที่มีฟังก์ชั่นในการถ่ายรูปมากขึ้นซึ่งก็จะมีราคาแพงขึ้นตามไปด้วย ผู้ผลิตสามารถดึงดูดลูกค้ากลุ่มนี้ได้ผ่านการใช้สื่อโฆษณา การใช้สื่อในการทำตลาดซึ่งมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงเพื่อรักษาภาพพจน์ของแบรนด์ (brand image) และจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้ารวมทั้งการสร้างความภักดีในแบรนด์ (brand loyalty) ที่ผ่านมาหลายแบรนด์ประสบความสำเร็จในการใช้พรีเซนเตอร์เพื่อตอกย้ำแบรนด์ในใจผู้บริโภคผ่านการโฆษณาในสื่อต่างๆ กลยุทธ์ทางการตลาดอื่นๆที่ผู้ผลิตใช้กระตุ้นยอดขายกล้อง เช่น การจัดกิจกรรมโรดโชว์ การร่วมเป็นสปอนเซอร์ในอีเวนท์ต่างๆ ในส่วนของการจัดจำหน่ายผู้ผลิตจะกระจายสินค้าไปในหลายๆช่องทางให้ซื้อหาได้ง่าย เช่น ตามร้านขายกล้องทั่วไป ห้างสรรพสินค้าไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าที่เป็นมาสเตอร์ดีลเลอร์ที่มีสาขาอยู่เป็นจำนวนมากทั่วประเทศ

ตลาดกล้องเอสแอลอาร์ (SLR) : เติบโตสูงจากการขยายฐานผู้บริโภค
กล้องเอสแอลอาร์ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่ากล้องแบบคอมแพคโดยมีเรื่องของการออกแบบชิ้นเลนส์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีราคาค่อนข้างสูงโดยเปรียบเทียบ และเนื่องจากกล้องชนิดนี้มีราคาค่อนข้างแพงจึงทำให้ฐานลูกค้าเล็กกว่ากล้องแบบคอมแพค ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนในวงมืออาชีพและคนที่เล่นกล้อง อย่างไรก็ตามราคาของกล้องเอสแอลอาร์ได้ปรับตัวลดลงอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีและการแข่งขันซึ่งสอดคล้องกับกระแสความนิยมของผู้บริโภคที่ต้องการกล้องฟังก์ชันสูง ทำให้ตลาดกล้องเอสแอลอาร์เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ประมาณว่ากล้องเอสแอลอาร์มีสัดส่วนการขายร้อยละ 6.7 ของกล้องดิจิตอลรวมในปี 2550 หรือประมาณ 62,000 เครื่อง

ตลาดกล้องเอสแอลอาร์เป็นตลาดที่มีมาร์จินสูง เนื่องจากผู้ผลิตไม่ได้ขายแค่กล้องเพียงอย่างเดียวแต่ยังมีเลนส์ซึ่งมีราคาแพงและอุปกรณ์เสริมอื่นสำหรับกล้อง การที่เลนส์และอุปกรณ์เสริมถูกออกแบบให้ใช้ได้กับกล้องในแต่ละแบรนด์ทำให้ผู้บริโภคมีความภักดีต่อแบรนด์ (brand loyalty) สูง ปัจจุบันมีแบรนด์ญี่ปุ่นหลัก 2 แบรนด์ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 90 ของตลาดภายในประเทศ แบรนด์ที่ได้เปรียบในกล้องกลุ่มเอสแอลอาร์คือพวกที่เป็นผู้ผลิตกล้องเดิมซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ที่ผู้บริโภคมีความเชื่อถือในคุณภาพซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกซื้อกล้องในกลุ่มนี้เนื่องจากราคาที่ค่อนข้างสูง การที่เป็นตลาดที่ทำกำไรและมีอัตราการเติบโตสูงกว่าร้อยละ 50 ดึงดูดให้ผู้เล่นใหม่เข้ามาทำตลาดกล้องเอสแอลอาร์ ที่ผ่านมามีผู้เล่นรายใหญ่สองรายของกล้องดิจิตอลคอมแพคพยายามเข้ามาเจาะตลาดกล้องเอสแอลอาร์โดยการทำ Co-Branding กับผู้ผลิตกล้องทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเชื่อถือให้กับลูกค้า

การแข่งขันทำให้ราคากล้องปรับลดลงอย่างมากส่งผลให้ฐานลูกค้ากล้องเอสแอลอาร์กว้างขึ้นจากเดิมที่กล้องเอสแอลอาร์จะจับกลุ่มเฉพาะมืออาชีพเท่านั้น โดยผู้บริโภคเริ่มหันมาเล่นกล้องในรุ่นที่มีคุณภาพและมีฟังก์ชั่นการทำงานที่เหมือนมืออาชีพยิ่งขึ้น ในส่วนของช่องทางการจำหน่ายกล้องเอสแอลอาร์ยังอยู่ในวงที่แคบกว่ากล้องคอมแพค ผู้ผลิตมีการให้ข้อเสนอกับร้านค้าประจำบางแห่งทำให้สามารถเสนอขายกล้องได้ในราคาพิเศษ ส่วนผู้บริโภคมีแนวโน้มที่ซื้อหากล้องเอสแอลอาร์จากร้านที่มีสินค้าให้เลือกหลากหลายและมีบุคคลากรการขายที่สามารถให้คำแนะนำมากกว่าเนื่องจากการซื้อกล้องเอสแอลอาร์เป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาร้านค้าปลีกกล้อง ร้านเครี่องใช้ไฟฟ้า เริ่มนำกล้องเอสแอลอาร์เข้าไปจำหน่ายในร้านมากขึ้น มีการจัดกิจกรรมต่างๆ และการจัดโปรโมชั่นเงินผ่อน 0% ให้ผู้ซื้อเป็นการส่งเสริมการตลาด โดยรวมแล้วในกล้องเซ็กเมนต์นี้บริษัทผู้ผลิตกล้องยังคงเน้นในเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ของกล้องมากกว่าการลงไปแข่งขันในการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย

แนวโน้มกล้องดิจิตอลปี 2551 จะยังมีอนาคตสดใส
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ายอดขายกล้องดิจิตอลจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในปี 2551 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่น่าจะดีขึ้นในปีหน้าหลังการเลือกตั้งและเศรษฐกิจที่มีการคาดการณ์ว่าจะมีการเติบโตมากกว่าปีนี้จะส่งผลดีต่อการขายสินค้าต่างๆ รวมถึงกล้องดิจิตอล สำหรับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นนั้นทำให้ต้นทุนการนำเข้าลดลง และผู้แทนจำหน่ายสินค้าสามารถใช้งบประมาณไปในการทำกิจกรรมการขายหรือลดราคาสินค้าเพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด

ทั้งนี้การที่ผู้ผลิตเร่งแข่งขันทั้งทางด้านราคาและคุณภาพของสินค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการเติบโตของตลาดกล้องดิจิตอลในประเทศ การที่ผู้ผลิตออกกล้องที่มีเทคโนโลยี/นวัตกรรมที่สูงขึ้นมีผลให้กล้องที่วางขายอยู่ในตลาดมีแนวโน้มราคาที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้แบรนด์ต่างๆเร่งออกสินค้าใหม่ๆ ถี่ขึ้นเป็นการกระตุ้นตลาด การที่ราคากล้องปรับตัวลงในขณะที่ผู้ผลิตพัฒนาคุณภาพของกล้องให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ฐานผู้บริโภคขยายตัว ในปีหน้ากล้องดิจิตอลเอสแอลอาร์จะยังคงเป็นเซ็กเมนต์ที่เติบโตได้สูงและเป็นตัวผลักดันหลักต่อการขยายตัวของตลาดกล้องดิจิตอลโดยรวม ในส่วนของกล้องดิจิตอลคอมแพคคาดว่ากล้องที่มีความละเอียดสูง 8-9 ล้านพิกเซลจะเป็นกลุ่มที่ขยายตัวได้ดีที่สุด

กลยุทธ์ที่ผู้ผลิตใช้ในการแข่งขันมีตั้งแต่การนำเสนอกล้องรุ่นใหม่ๆ การเพิ่มช่องทางจำหน่าย การโฆษณาประชาสัมพันธ์ และการทำกิจกรรมทางการตลาดแบบ mass แต่ละแบรนด์ต่างก็พยายามกระจายสินค้าของตนให้มากที่สุดผ่านช่องทางการจำหน่ายซึ่งหลักๆ จะเป็นร้านขายกล้องที่มีสาขาจำนวนมาก Super Store ร้านขายสินค้าไอที ช่องทางร้านอัดรูป และร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยในอนาคตช่องทางการจำหน่ายที่สามารถเข้าถึงผู้ซื้อในวงกว้างคือ Super Store ร้านขายสินค้าไอที ช่องทางร้านอัดรูปในต่างจังหวัด จะมีความสำคัญมากขึ้นเนื่องจากอัตราการครอบครองกล้องยังอยู่ในระดับที่ต่ำทำให้ตลาดในต่างจังหวัดยังมีโอกาสอยู่มาก กลยุทธ์ที่สำคัญในการขยายตลาด mass คือการสร้างความแตกต่างของสินค้าให้ลูกค้าตระหนักได้ถึงความแตกต่างระหว่างการใช้กล้องดิจิตอลคอมแพคกับโทรศัพท์มือถือติดกล้องซึ่งเป็นสินค้าคู่แข่งของกล้องดิจิตอลคอมแพค เน้นระดับความละเอียดที่สูงกว่าโทรศัพท์มือถือในระดับราคาที่ย่อมเยาหรือให้ความสำคัญกับฟังก์ชั่นอื่นๆ ซึ่งผู้ผลิตใช้เป็นจุดขายที่นอกไปจากความละเอียดของกล้องมากขึ้น เช่น คุณภาพของเลนส์ ความจุข้อมูล และสิ่งอื่นๆที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพของรูปถ่าย รวมไปถึงฟังก์ชั่นที่ใช้เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการสร้างคอนเทนต์ของผู้บริโภคและเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ

โดยสรุป ตลาดกล้องดิจิตอลไทยสามารถขยายตัวได้ดีแม้ว่าสภาพเศรษฐกิจในปีนี้จะมีผลต่อกำลังซื้อทำให้ผู้บริโภคชะลอการใช้จ่าย ปริมาณการจำหน่ายกล้องดิจิตอลปี 2550 คาดว่าจะสูงถึง 920,000 ยูนิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากปีก่อนหน้า สัดส่วนของกล้องดิจิตอลที่จำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นกล้องดิจิตอลคอมแพคซึ่งเติบโตได้ในเกณฑ์ดี ในขณะที่ส่วนน้อยคือกล้องดิจิตอลเอสแอลอาร์เติบโตสูงส่วนหนึ่งเนื่องจากราคาที่ลดลงทำให้ความต้องการกล้องเอสแอลอาร์ขยายวงออกไปนอกกลุ่มมืออาชีพ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าตลาดกล้องดิจิตอลปีหน้าจะเติบโตต่อเนื่องในอัตราไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ในกรณีที่เศรษฐกิจในปีหน้าปรับตัวดีขึ้นหลังมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดกล้องดิจิตอลทั้งทางด้านราคาและคุณภาพเป็นตัวกระตุ้นตลาดและทำให้ฐานผู้บริโภคขยายตัวทั้งในกลุ่มผู้บริโภคที่ซื้อเป็นกล้องตัวแรกและผู้บริโภคกลุ่มที่ซื้อทดแทนหรือซื้อเป็นกล้องตัวที่สอง นอกจากนี้ยังมีช่องว่างทางการตลาดในต่างจังหวัดที่ผู้ผลิตสามารถกระจายสินค้าไปได้ ทั้งนี้ส่วนที่เป็นตลาดกล้องเอสแอลอาร์จะยังคงเติบโตในอัตราสูงและมีสัดส่วนในตลาดกล้องรวมเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามปัจจัยภาวะเศรษฐกิจในปีหน้ายังมีความเสี่ยงที่อาจจะมีผลกระทบต่อการขยายตัวโดยปัจจัยความไม่แน่นอนในหลายด้านจาก ปัญหาราคาน้ำมัน ปัญหาเศรษฐกิจของสหรัฐฯ รวมทั้งสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมีผลต่อตลาดสินค้าสำหรับผู้บริโภคด้วย