เทศกาลปีใหม่ 2551 : คนกรุงฯจับจ่าย…เม็ดเงินสะพัด 18,000 ล้านบาท

เทศกาลเฉลิมฉลองช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งความสนุกสนานรื่นเริง มีความสุข และเป็นเทศกาลแห่งการจับจ่ายใช้สอย นับว่าเป็นอีกเทศกาลหนึ่งที่บรรดาผู้ประกอบการรอคอย เนื่องจากเป็นช่วงแห่งการท่องเที่ยว การจัดงานกินเลี้ยงสังสรรค์ และการซื้อของขวัญเพื่อมอบให้กันและกัน รวมไปถึงการทำบุญเพื่อต้อนรับสิ่งดีๆในปีใหม่ที่จะมาถึง ดังนั้นเทศกาลปีใหม่จึงเป็นช่วงที่บรรดาผู้ประกอบการสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายของทั้งสินค้าและบริการ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากหลายธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว การจัดเลี้ยง ร้านอาหารและภัตตาคาร และห้างสรรพสินค้า ซึ่งในช่วงนี้บรรดาผู้ประกอบการต่างเร่งการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน เนื่องจากตลอดทั้งปีที่ผ่านมาบรรดาผู้ประกอบการต่างเผชิญกับหลากหลายปัญหา โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อที่ลดลงของผู้บริโภค รวมทั้งความเครียดจากสภาพเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคเร่งประหยัดค่าใช้จ่าย และไม่มีอารมณ์ในการจับจ่ายใช้สอย ดังนั้นในช่วงเทศกาลปลายปีนับว่าเป็นโอกาสสุดท้ายของปีที่บรรดาผู้ประกอบการจะสามารถเพิ่มยอดจำหน่ายเพื่อชดเชยกับยอดจำหน่ายที่ลดลงมาตลอดทั้งปี

คนกรุงฯส่วนใหญ่เน้นประหยัด…เม็ดเงินสะพัดลดลงร้อยละ 10.0
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจ “พฤติกรรมการฉลองปีใหม่ปี 2551 ของคนกรุงเทพฯ” ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 1-20 พฤศจิกายน 2549 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 555 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯและผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด โดยกระจายกลุ่มอาชีพ และระดับรายได้ ซึ่งทั้งสองปัจจัยนี้เป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการเฉลิมฉลองปีใหม่ ผลจากการสำรวจพบว่าคนกรุงเทพฯเน้นประหยัด โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างวางแผนลดค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมต่างๆในช่วงเทศกาลปีใหม่ กล่าวคือ คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.3 วางแผนลดค่าใช้จ่ายลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ร้อยละ 37.8 พยายามคุมค่าใช้จ่ายให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา และมีเพียงร้อยละ 15.9 ที่วางแผนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในช่วงปีใหม่ ซึ่งคนกรุงฯที่วางแผนจะเพิ่มค่าใช้จ่ายในช่วงปีใหม่นี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยว

คาดว่าพฤติกรรมการฉลองปีใหม่ 2551 ของคนกรุงเทพฯในช่วงระหว่าง 29 ธันวาคม 2550 -1 มกราคม 2551ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 18,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาแล้วลดลงร้อยละ 10.0 เนื่องจากคาดว่าผู้บริโภคยังคงเน้นประหยัด โดยผู้บริโภคยังคงไม่มั่นใจในสภาพเศรษฐกิจในปีหน้า และไม่แน่ใจถึงเสถียรภาพทางการเมือง แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งแล้วในช่วงปลายปี แต่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าน่าจะยังคงมีความขัดแย้งในทางการเมือง เม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลปีใหม่คำนวณตามพฤติกรรมการใช้จ่ายหลักในช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงฯคือ การเลี้ยงสังสรรค์ การทำบุญตักบาตร และการจับจ่ายซื้อของขวัญ สำหรับกิจกรรมอื่นๆคำนวณโดยแยกคนกรุงเทพฯออกเป็น 2 กลุ่ม คือ คนกรุงฯที่เดินทางออกนอกกรุงเทพฯ โดยกลุ่มนี้ยังแบ่งพฤติกรรมการเดินทางออกได้เป็น 3 กลุ่มคือ คนกรุงฯที่เดินทางกลับบ้าน คนกรุงฯที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ และคนกรุงฯที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนอีกกลุ่มคือ คนกรุงฯที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยคนกรุงเทพฯในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วยคนกรุงฯที่พักผ่อนอยู่กับบ้าน และกลุ่มที่มีกิจกรรมนอกบ้าน เช่น เยี่ยมเยียนญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพนับถือ หรือเพื่อนฝูง เดินทางท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ เป็นต้น นอกจากนี้เม็ดเงินสะพัดในช่วงปีใหม่ที่คำนวณได้นี้เป็นเม็ดเงินเฉพาะที่เกิดจากการใช้จ่ายส่วนเพิ่มในช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ โดยไม่ได้รวมกับการใช้จ่ายปกติในชีวิตประจำวัน ส่วนตัวเลขการสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์เพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายช่วงปีใหม่จำนวนกว่าแสนล้านบาทนั้นเพื่อเป็นการรองรับกับธุรกรรมการเงินทั้งที่เกิดขึ้นปกติและธุรกรรมการเงินส่วนเพิ่มขึ้นเนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ของทั้งระบบทั่วประเทศ

คนกรุงฯเน้นประหยัด…ลดค่าใช้จ่ายซื้อของขวัญ เลี้ยงสังสรรค์และทำบุญฯ
จากการสำรวจพบว่ากิจกรรมสำคัญๆในเทศกาลปีใหม่ที่คนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทั้งที่เลือกอยู่ในกรุงเทพฯ และเลือกที่จะเดินทางท่องเที่ยว/กลับบ้าน รวมทั้งเดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศต่างให้ความสำคัญ คือ การเลี้ยงสังสรรค์ ทำบุญ/ตักบาตร และการจับจ่ายซื้อของขวัญเพื่อนำไปอวยพรญาติ/ผู้ใหญ่ที่นับถือ ตลอดจนเพื่อนๆในเทศกาลปีใหม่ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมา โดยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 การซื้อของขวัญ งานเลี้ยงสังสรรค์ และการทำบุญของคนกรุงเทพฯนั้นก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัด 7,500 ล้านบาท โดยแยกออกเป็น

-การซื้อของขวัญ การนำของขวัญไปอวยพรญาติและผู้ใหญ่ที่นับถือ รวมทั้งการให้ของขวัญกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าที่ติดต่อธุรกิจ ในปีนี้ค่าใช้จ่ายคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 50.0 ระบุว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายอันดับแรกที่จะต้องลดลงหรือพยายามควบคุมให้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา โดยค่าใช้จ่ายในการซื้อของขวัญของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในปี 2551 เฉลี่ยคนละ 1,858.50 บาท

-งานเลี้ยงสังสรรค์ในครอบครัวและญาติพี่น้อง รวมถึงเพื่อนสนิทมิตรสหาย เพื่อนร่วมงาน และลูกค้าในกรณีที่เป็นนักธุรกิจ จากการสำรวจพบว่ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์คนละ 1,611.78 บาท

-การทำบุญตักบาตรปีใหม่ กิจกรรมนี้นับเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ถือเป็นประเพณี อย่างไรก็ตาม คนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างมีค่าใช้จ่ายในการทำบุญตักบาตรปีใหม่เฉลี่ยคนละ 605.61 บาท

อย่างไรก็ตาม เม็ดเงินจากการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯดังกล่าวสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องทำให้ต่างมีรายได้ในช่วงเทศกาลปีใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงปกติเป็นหลายเท่าตัว ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านอาหาร การจัดงานเลี้ยง และบริการด้านบันเทิงต่างๆ รวมทั้งพลุ ดอกไม้ไฟ ลูกโป่ง และอุปกรณ์ที่ใช้ในการตกแต่งประดับสถานที่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้ในการทำบุญตักบาตร ได้แก่ ร้านจำหน่ายข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง ขนม เครื่องดื่ม ผลไม้ และดอกไม้ รวมทั้งร้านจำหน่ายสังฆภัณฑ์ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าประเภทของขวัญและอุปกรณ์ในการจัดกระเช้าของขวัญหรือห่อของขวัญ

คนกรุงฯอยู่ในกรุงเทพฯ : ใช้จ่ายในกิจกรรมนอกบ้าน 2,000 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 นี้คนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 51.1 วางแผนจะใช้เวลาในช่วงวันหยุดปีใหม่อยู่ในกรุงเทพฯ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วลดลงร้อยละ 1.3 โดยคนกรุงฯกลุ่มนี้แยกออกเป็น

-กลุ่มที่มีกิจกรรมนอกบ้าน จากการสำรวจพบว่าคนกรุงฯกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 44.5 ของคนกรุงฯที่อยู่ในกรุงเทพฯ เนื่องจากในช่วงเทศกาลปีใหม่นั้นสภาพการจราจรในกรุงเทพฯจะคล่องตัว ทำให้คนกรุงฯที่ต้องอยู่กรุงเทพฯเน้นการทำกิจกรรมนอกบ้าน (รวมถึงบางอาชีพที่ยังคงต้องปฏิบัติงานแม้ว่าจะเป็นในช่วงเทศกาลวันหยุดก็ตามโดยเฉพาะผู้ที่มีอาชีพในด้านบริการ เลือกที่จะไม่หยุดงานในช่วงปีใหม่และรอไปหยุดงานเพื่อเดินทางกลับต่างจังหวัดในช่วงเทศกาลสงกรานต์แทน)

กิจกรรมนอกบ้านของคนกรุงฯที่อยู่กรุงเทพฯอันดับหนึ่ง คือ การกินเลี้ยงสังสรรค์ ไปวัดทำบุญ เดินทางไปอวยพรญาติผู้ใหญ่/ผู้ที่นับถือ ชมภาพยนตร์ และช็อบปิ้ง ตลอดจนการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะกิจกรรมที่บรรดาห้างสรรพสินค้าจัดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ นอกจากนี้ กิจกรรมท่องเที่ยวก็จัดเป็นกิจกรรมยอดฮิตของคนกรุงฯกลุ่มนี้ โดยแยกเป็นการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ เช่น การเที่ยวตามสวนสัตว์ สวนสนุกกลางแจ้ง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในกรุงเทพฯ โปรแกรมท่องเที่ยวยอดนิยมคือ การทำบุญไหว้พระ 9 วัด เพื่อเป็นสิริมงคลรับปีใหม่ ส่วนคนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังนิยมท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับ โดยเฉพาะการไปเปลี่ยนบรรยากาศในจังหวัดใกล้ๆกรุงเทพฯ และการทำบุญไหว้พระ 9 วัด ซึ่งจากการสำรวจพบว่าจังหวัดยอดนิยมสำหรับเดินทางในลักษณะเช้าไปเย็นกลับของคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในช่วงปีใหม่ คือ อยุธยา ลพบุรี ชลบุรี ระยอง นครปฐม สุพรรณบุรี และนครราชสีมา นอกจากนี้การสำรวจพบว่าการท่องเที่ยวของคนกรุงฯที่อยู่ในกรุงเทพฯมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 1,446.53 บาท โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นคือ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง

-กลุ่มที่พักผ่อนอยู่ที่บ้าน จากการสำรวจพบว่าคนกรุงฯกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 6.6 ของคนกรุงฯที่อยู่ในกรุงเทพฯ โดยส่วนหนึ่งของคนกลุ่มนี้จำเป็นต้องอยู่เฝ้าบ้าน และอีกส่วนหนึ่งก็ตั้งใจจะพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หลังจากที่ต้องตรากตรำทำงานมาแล้วตลอดทั้งปี

การใช้จ่ายของคนกรุงฯที่อยู่ในกรุงเทพฯในช่วงปีใหม่สร้างเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง คือ ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่มีบริการต่างๆรวมอยู่อย่างครบวงจร เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ และร้านจำหน่ายสินค้าและบริการต่างๆ เป็นต้น

คนกรุงฯเดินทางออกจากกรุงเทพฯ…ท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่ม
จากการสำรวจพบว่า ในช่วงวันหยุดปีใหม่นี้ผู้ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มเดินทางออกจากกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว กล่าวคือ ในปีนี้คนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างวางแผนจะเดินทางออกนอกกรุงเทพฯร้อยละ 48.9 เมื่อเทียบกับในปี 2550 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ทั้งนี้เป็นผลจากการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น ขณะที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดและการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าสนใจคือ การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนของคนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วางแผนจะเดินทางท่องเที่ยวนั้นมีเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา

เมื่อพิจารณารายละเอียดของคนกรุงฯที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯ พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
-คนกรุงฯกลับบ้านเยี่ยมญาติ : สร้างเม็ดเงินสะพัด 1,800 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่าร้อยละ 30.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามวางแผนจะเดินทางกลับบ้านหรือเยี่ยมญาติในต่างจังหวัด ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 1.9 โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้กลับบ้านในช่วงเลือกตั้ง แต่เป็นกลุ่มที่เลือกลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง โดยลงคะแนนในกรุงเทพฯ ดังนั้นช่วงปีใหม่จึงยังคงกลับบ้านเพื่อไปเยี่ยมญาติพี่น้องตามปกติ โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 3,848.58 บาท จากการคำนวณของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าค่าใช้จ่ายของคนกรุงฯกลับบ้านเยี่ยมญาติสร้างเม็ดเงินสะพัด 1,800 ล้านบาท ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ของคนกรุงฯที่กลับบ้านต่างจังหวัดเป็นค่าใช้จ่ายในซื้อสินค้า/ของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัด และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ผลกระทบจากปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากปัญหาราคาน้ำมัน ทำให้ในปีนี้คนกรุงฯกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า/ของฝากญาติพี่น้องในต่างจังหวัดลดลง

-คนกรุงฯเดินทางเที่ยวต่างจังหวัด : เม็ดเงินสะพัด 4,200 ล้านบาท
กระแสการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงปลายปีนี้มีแนวโน้มคึกคักกว่าปีที่ผ่านมา จากบรรยากาศการท่องเที่ยวในประเทศช่วงปีใหม่ที่คึกคัก นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญกระตุ้นให้คนกรุงเทพฯเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 13.8 วางแผนที่จะเดินทางไปเที่ยวค้างคืนในต่างจังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบเท่าตัว โดยคนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวค้างคืนในต่างจังหวัดเฉลี่ยคนละ 6,245.90 บาท ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายส่วนที่เพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมัน ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนกรุงฯนิยมท่องเที่ยวต่างจังหวัดโดยการขับรถไปเองมากกว่าการใช้บริการบริษัทท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอันดับ 1 ในช่วงปีใหม่ คือ แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย และแม่ฮ่องสอน รองลงมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งตะวันออกและฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ พัทยา ชะอำ และหัวหิน และแหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย อุบลราชธานี และมุกดาหาร ส่วนแหล่งท่องเที่ยวที่คนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างวางแผนจะไปท่องเที่ยวในปีนี้ที่เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น คือ กาญจนบุรี

การใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวในต่างจังหวัดในช่วงปีใหม่ของคนกรุงเทพฯโดยรวมมีมูลค่าประมาณ 4,200 ล้านบาท เม็ดเงินดังกล่าวมีแนวโน้มสะพัดสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ สถานีบริการน้ำมัน โรงแรมและที่พักประเภทต่างๆ ร้านอาหาร ร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกและของฝากสำหรับนักท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ และบริษัทนำเที่ยว เป็นต้น ประเด็นที่น่าสนใจคือ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านราคาน้ำมัน และสถานที่พัก ซึ่งโดยส่วนใหญ่คนกรุงฯนิยมท่องเที่ยวต่างจังหวัดโดยการขับรถไปเองมากกว่าการใช้บริการบริษัทท่องเที่ยว ดังนั้นคาดหมายได้ว่าร้านค้าสินค้าที่ระลึกหรือของฝากที่คนกรุงฯจะซื้อกลับบ้าน รวมทั้งบริษัทที่ให้บริการท่องเที่ยวจะไม่ได้รับอานิสงส์มากนัก

-คนกรุงฯเที่ยวต่างประเทศ : เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศ 2,500 ล้านบาท
กระแสการเดินทางไปต่างประเทศยังมาแรงในตลาดระดับบนโดยเฉพาะกลุ่มนักช้อป โดยได้แรงเกื้อหนุนสำคัญจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากปีที่แล้ว ขณะที่ตลาดระดับกลางลงมามีแนวโน้มชะลอการขยายตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวยและค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้วมากจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเพียงร้อยละ 0.4 วางแผนที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงปีใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจำนวนคนกรุงฯที่วางแผนจะไปท่องเที่ยวต่างประเทศจะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงปีใหม่เฉลี่ยต่อคนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กล่าวคือ คนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศสูงถึงคนละ 35,000 บาท อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศนี้จะแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเทศจุดหมายปลายทาง

แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมช่วงปีใหม่ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้านใกล้ๆอย่างลาว เวียดนาม และกัมพูชา สำหรับการใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศในช่วงปีใหม่ของคนกรุงเทพฯทำให้เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศประมาณ 2,500 ล้านบาท

บทสรุป
จากการสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้คาดว่าเม็ดเงินสะพัดมีแนวโน้มลดลง โดยคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดเพียง 18,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วลดลงร้อยละ 10.0 เนื่องจากคนกรุงเทพฯยังคงเน้นประหยัด และยังคงไม่มั่นใจกับปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้า โดยคนกรุงเทพฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างลดค่าใช้จ่ายในการซื้อของขวัญ การเลี้ยงสังสรรค์ และค่าใช้จ่ายในการทำบุญตักบาตร รวมทั้งค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการกลับบ้าน โดยเฉพาะการซื้อของฝากจากกรุงเทพฯไปให้กับคนที่บ้านต่างจังหวัด อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าสนใจคือ คนกรุงฯที่เป็นกลุ่มตัวอย่างยังคงให้ความสำคัญการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยค่าใช้จ่ายทั้งสองประเภทนี้ยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว ทั้งการท่องเที่ยวในประเทศ และการท่องเที่ยวต่างประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศที่เพิ่มขึ้นนั้นส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิง แต่การท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการช็อปปิ้ง โดยมีปัจจัยหนุนคือ การแข็งค่าของเงินบาท และการจัดรายการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการช็อปปิ้งตามประเทศที่เป็นแหล่งช็อปปิ้งยอดนิยมของคนไทย