ตลาดหุ้นไทยปี 2551..ผันผวนตามตลาดหุ้นทั่วโลก

ในปี 2550 นั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ตลาดทุนทั่วโลกประสบความผันผวนจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ซึ่งกดดันการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก ภายหลังจากที่เครื่องชี้ต่างๆทางเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯบ่งชี้ให้เห็นว่าผลกระทบของปัญหาในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจจะขยายวงกว้างออกไปมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ และส่งผลให้นักลงทุนปรับลดการถือครองสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยกว่า เช่น พันธบัตร ขณะที่สถาบันการเงินและกองทุนต่างประเทศหลายแห่งเผชิญกับภาวะขาดทุนจากการลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์จนเกิดปัญหาขาดแคลนสภาพคล่อง

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการปรับตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศนั้น หลายๆแห่งสามารถที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวน์โจนส์ ดัชนี S&P500 ดัชนีคอมโพสิตตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ หรือดัชนีตลาดหุ้นอินเดีย อีกทั้ง ดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศส่วนใหญ่ (ยกเว้น ดัชนี NIKKEI) ยังมีการปรับตัวที่เพิ่มสูงขึ้นจากในปี 2549 ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น มีการปรับตัวสอดคล้องกับตลาดหุ้นภูมิภาค โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 ในปี 2550 โดยนักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิกว่า 5.59 หมื่นล้านบาท ในขณะที่ในปี 2549 นั้น ดัชนีปรับตัวลดลงร้อยละ 4.75

สำหรับในปี 2551 นั้น การที่มองว่าภาวะความปั่นป่วนทางการเงินอันสืบเนื่องมาจากตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปในปีนี้ โดยที่มีการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ (Recession) หลังจากที่สหรัฐฯได้มีการรายงานเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอหลายตัวในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งย่อมจะส่งผลสะท้อนอย่างต่อเนื่องไปถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโร และภูมิภาคอื่นๆในโลกเช่นกัน ทางด้านผลกระทบต่อตลาดทุนโลกนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนการปรับตัวของตลาดหุ้นในช่วงแรก แต่การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯและแนวโน้มที่อ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจจะเป็นการดึงดูดให้นักลงทุนมีความต้องการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังตลาดเกิดใหม่ รวมถึงกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียและประเทศไทยมากขึ้นจากแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินในภูมิภาคเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯและอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับสูงของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค แต่ในขณะเดียวกัน หากการรายงานตัวเลขในภาคเศรษฐกิจและการเงินของสหรัฐฯออกมาย่ำแย่มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยและการขาดแคลนสภาพคล่องในสถาบันการเงินและกองทุนต่างๆที่รุนแรงมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะลุกลามไปยังประเทศอื่นๆมากกว่าที่คาดจะส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล แทนการลงทุนในหุ้น พร้อมทั้งลดการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ เมื่อผนวกกับการที่เงินทุนในตลาดโลกมีการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีมากขึ้นในปัจจุบัน และการที่ดัชนีตลาดหุ้นในประเทศต่างๆมีการเชื่อมโยงซึ่งกันและกันสูง (ดังจะเห็นได้จากค่าความสัมพันธ์ที่อยู่ในระดับสูงในปีที่ผ่านมา) ย่อมจะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกในปี 2551 เป็นไปอย่างผันผวนตามทิศทางของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ในขณะเดียวกันการที่แนวโน้มอุปสงค์น้ำมันจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯอาจจะทำให้การปรับขึ้นของราคาน้ำมันในปีนี้ไม่เป็นไปในอัตราเร่งเท่ากับในปี 2550 นอกจากนั้น การที่ราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญได้พุ่งขึ้นอย่างมากแล้วในช่วงที่ผ่านมา น่าจะทำให้นักลงทุนกลับมากังวลในเรื่องปัจจัยพื้นฐาน ได้แก่ ผลกำไรของบริษัทเอกชนอีกครั้งหนึ่ง เช่นเดียวกันกับความกังวลในเรื่องภาวะ Stagflation (การที่เศรษฐกิจชะลอตัวลง ขณะที่เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น) ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯหรือกลุ่มยูโร ซึ่งการปรับขึ้นของราคาน้ำมันที่คาดว่าจะไม่พุ่งขึ้นเท่าในปี 2550 ตลอดจน ข้อกังวลต่างๆเหล่านั้น อาจจะทำให้แม้หุ้นในกลุ่มพลังงานยังคงปรับขึ้น แต่ค่าความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีตลาดหุ้นและราคาน้ำมันดิบอาจไม่อยู่ในระดับที่สูงเท่ากับในปี 2550

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดทุนโลกอย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากเมื่อเริ่มเปิดการซื้อขายในปี 2551 จนถึงวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นต่างๆหลายแห่งทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก จากความกังวลเกี่ยวกับการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯหลังการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอหลายตัว ในส่วนของการปรับตัวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น ดัชนีร่วงลงไปแล้วถึง 57.92 จุด หรือร้อยละ 6.75 ไปปิดที่ 800.18 จุด โดยที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่า 15,822.84 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยร่วงลงไปมากเมื่อเทียบกับบรรดาตลาดหุ้นอื่นๆในภูมิภาคจากการได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง และการที่นักลงทุนต้องการรอความชัดเจนในเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าหรือในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากปัจจัยต่างประเทศที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วนักลงทุนจะยังคงให้ความสนใจกับปัจจัยทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นต่างๆ อาทิเช่น การรับรองการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการพิจารณาให้ใบเหลืองใบแดงของ กกต. ก่อนการเปิดประชุมรัฐสภา การพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งในวันที่ 15 มกราคม การเปิดประชุมรัฐสภาและโฉมหน้าของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาลชุดใหม่ ทั้งนี้ มองว่าหลังจากที่มีความชัดเจนในเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่แล้วในระยะถัดไป นักลงทุนคงจะสนใจในเรื่องของแนวนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนของรัฐบาลชุดใหม่ว่าเป็นเช่นไร และรัฐบาลให้ลำดับความสำคัญกับการดำเนินการในเรื่องใดเป็นลำดับต้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ารัฐบาลใหม่น่าจะมีการออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมทั้งบรรเทาผลกระทบของราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้น การผลักดันการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ และอาจรวมถึงการพิจารณาที่จะให้มีการปรับโครงสร้างภาษี เช่น การปรับปรุงบัญชีอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน ตลอดจน การแก้ไขความไม่ชัดเจนในด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อเร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

นอกจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยคงจะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและนักลงทุนหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจน น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในปีนี้ แทนที่การส่งออกซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการการขยายตัวของจีดีพีภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่แตกต่างกัน โดยประเมินผลกระทบราคาน้ำมันแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

กรณีพื้นฐาน โดยให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์แนวโน้มการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อยู่ภายในช่วงร้อยละ 4.5 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2550 และอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.5

กรณีมุมมองเชิงบวก เป็นกรณีที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดหุ้นมากที่สุด ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่รุนแรงนัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 85 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 คาดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวค่อนข้างดี คือประมาณร้อยละ 5.2

กรณีเลวร้าย เป็นกรณีซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด โดยคาดว่าหากราคาน้ำมันมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในปีนี้ การเติบโตของจีดีพีอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 โดยในกรณีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นสู่ร้อยละ 4.0 โดยในกรณีนี้ ความเสี่ยงของภาวะที่ปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ (Stagflation) จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน การที่อัตราเงินเฟ้อมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่ร้อยละ 3.25 ในปัจจุบัน ก็อาจส่งผลให้ธปท.ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว

อีกประการหนึ่ง ได้แก่ ปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย ได้แก่ การที่เป็นตลาดหุ้นที่มีราคาถูก (ค่าP/Eต่ำ) กว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในขณะที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูง โดยจากการรวบรวมค่า P/E และ Dividend Yield ของดัชนีตลาดหุ้นไทยเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคจะถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการลงทุน ส่งผลให้คาดว่า หากปัจจัยที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุน ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ชัดเจนขึ้นย่อมจะส่งผลให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดได้อีกครั้ง ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการการบริโภค และการลงทุนในประเทศในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยคาดการณ์ระดับเป้าหมายของดัชนีตลาดหุ้น ณ.ปลายปี 2551 ที่ระดับ 1,080 จุด

กล่าวได้ว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยในปีนี้คงจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดทุนโลกอย่างต่อเนื่องจากในปีที่ผ่านมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แนวโน้มการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าหรือในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากปัจจัยต่างประเทศที่ได้กล่าวในข้างต้นแล้วนักลงทุนจะยังคงให้ความสนใจกับปัจจัยทางด้านการเมืองอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้คาดว่า หากปัจจัยที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุน ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ชัดเจนขึ้นย่อมจะส่งผลให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดได้อีกครั้ง นอกจากปัจจัยทางการเมืองแล้ว การปรับตัวของตลาดหุ้นไทยคงจะขึ้นอยู่กับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ความคาดหวังเชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคและนักลงทุนหลังสถานการณ์ทางการเมืองมีความชัดเจน น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในปีนี้แทนที่การส่งออกซึ่งมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐ และทิศทางการแข็งค่าของเงินบาท โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการการขยายตัวของจีดีพีภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันที่แตกต่างกัน โดยประเมินผลกระทบราคาน้ำมันแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

กรณีพื้นฐาน โดยให้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะส่งผลให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2551 อยู่ภายในช่วงร้อยละ 4.5 จากที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 ในปี 2550 และอัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 3.5

กรณีมุมมองเชิงบวก เป็นกรณีที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนในตลาดหุ้นมากที่สุด ถ้าราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่รุนแรงนัก โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยประมาณ 85 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล ในกรณีนี้ อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.0 คาดว่าจีดีพีของไทยจะขยายตัวค่อนข้างดี คือประมาณร้อยละ 5.2

กรณีเลวร้าย เป็นกรณีซึ่งจะกดดันบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นโดยรวม และผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนมากที่สุด โดยคาดว่าหากราคาน้ำมันมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 100 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในปีนี้ การเติบโตของจีดีพีอาจจะต่ำลงมาอยู่ในช่วงร้อยละ 4.0 โดยในกรณีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจเร่งตัวขึ้นสู่ร้อยละ 4.0 โดยในกรณีนี้ ความเสี่ยงของภาวะที่ปัญหาเงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ(Stagflation)จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกัน การที่อัตราเงินเฟ้อมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่ร้อยละ 3.25 ในปัจจุบัน ก็อาจส่งผลให้ธปท.ต้องพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่เมื่อพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นไทย ได้แก่ การที่เป็นตลาดหุ้นที่มีราคาถูก (ค่าP/Eต่ำ) กว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค ในขณะที่มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) สูง โดยจากการรวบรวมค่า P/E และ Dividend Yield ของดัชนีตลาดหุ้นไทยเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคจะถือได้ว่าเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการลงทุนส่งผลให้คาดว่า หากปัจจัยที่เป็นข้อกังวลของนักลงทุน ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศมีการคลี่คลายไปในทิศทางที่ชัดเจนขึ้นย่อมจะส่งผลให้มีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในตลาดได้อีกครั้ง ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมีมุมมองเชิงบวกกับหุ้นกลุ่มที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการการบริโภค และการลงทุนในประเทศในปีนี้ ได้แก่ กลุ่มธนาคาร กลุ่มค้าปลีก กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มที่อยู่อาศัย กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น โดยคาดการณ์ระดับเป้าหมายของดัชนีตลาดหุ้น ณ.ปลายปี 2551 ที่ระดับ 1,080 จุด