“คาราท” ฟันธงอุตสาหกรรมโฆษณาโต 7% เชื่อเม็ดเงินโฆษณาปีนี้ทะลุ 1 แสนล้าน

นายวิชัย สุภาสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราท (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ปีนี้ภาพรวมของอุตสาหกรรมโฆษณาน่าจะโต 7% หรือทะลุกว่า 100,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งโตเพียง 3% หรือประมาณกว่า 90,000 ล้านบาท เนื่องจากสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจน่าจะมีการขยายตัวได้ดีขึ้น ประกอบกับเม็ดเงินโฆษณาในปีนี้ ยังคงมีการทุ่มงบโฆษณาจากแบรนด์ใหญ่ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มเครื่องสำอาง รถยนตร์ สกินแคร์ และอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ รวมทั้งเม็ดเงินโฆษณาจากช่อง TITV จะโยกย้ายถ่ายเทมาลงทางช่อง 3 5 7 9 มากขึ้น นั่นอาจเป็นสาเหตุทำให้บางช่องมีการปรับราคาโฆษณาขึ้น และทำให้เม็ดเงินโฆษณาในระบบสูงขึ้นตามไปด้วย

สำหรับปีนี้ บริษัทมีแผนกรับมือกับปีแห่งความท้าทายที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของวงการโฆษณา ด้วยการเน้นบุกหนัก 3 จุดใหญ่ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของสินค้าได้อย่างมีศักยภาพ คือ 1. มีการเพิ่มบริการในส่วนแผนก “Communications Planning” เพื่อวางแผนกลยุทธ์การสื่อสารของลูกค้าให้เข้าถึงผู้บริโภค 2. เพิ่มบริการในส่วน “Consumer Insight” เน้นบริการในส่วนวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึก เช่น ผู้บริโภคมีการบริโภคสื่ออย่างไร ช่วงเวลาไหน และควรจะเลือกสื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อทำให้แผนกลยุทธ์ที่เสนอให้กับลูกค้ามีความเข้มข้นมากขึ้น 3. ใช้ 4 เครื่องมือที่เป็นหัวใจในการวางแผนกลยุทธ์ วางแผนสื่อ และซื้อสื่อกลยุทธ์ เพื่อให้วางแผนการใช้เม็ดเงินของลูกค้าได้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพที่สุด ประกอบไปด้วย

Tracer : เครื่องมือที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างกราฟและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของข้อมูลทางการตลาด ระหว่างตัวแปรต่างๆ การดูข้อมูลหลายร้อยหลายพันรายการเป็นกราฟหรือเป็นภาพจะช่วยให้นักการตลาดและนักวางแผนสื่อสามารถมองสถานการณ์และทำการวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งประสิทธิภาพและความเร็วสูงในการประมวลข้อมูลของโปรแกรมพิเศษนี้ยังทำให้สามารถเปลี่ยนแปลงมุมที่จะเลือกมามองเพื่อทำการวิเคราะห์ได้หลากหลายในเวลาเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งกับภาวะการทำงานที่ต้องใช้ข้อมูลช่วยในการตัดสินใจอย่างมากในปัจจุบัน

โปรแกรมสามารถช่วยหาความสัมพันธ์ของเรตติ้งสื่อ หรือ งบประมาณที่ใช้ลงโฆษณา และตัวแปรที่ใช้วัดประสิทธิผลต่างๆ เช่น ยอดขายสินค้า อัตราการรับรู้โฆษณาของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายในแต่ละช่วงเวลาที่สนใจ เพื่อวิเคราะห์รูปแบบ และคำนวณขนาดของผลกระทบของการใช้สื่อที่มีต่อยอดขายของสินค้านั้นๆ ในทางสถิติ เนื่องจากในบางครั้งลูกค้าหรือแม้แต่ตัว media planner เองอาจมีสมมุติฐานอยู่ในใจ และอยากชี้ชัดไปเลยว่าสื่อใดมีประสิทธิภาพในการผลักดันยอดขายหรือไม่ มีมากน้อยแค่ไหน รวมถึงเปรียบเทียบระหว่างสื่อรูปแบบต่างๆ ว่าสื่อใดมีประสิทธิภาพที่สุดในการผลักดันยอดขาย เป็นต้น

Scheduler : เครื่องมือที่ใช้ช่วยจัดลำดับเลือกประเภท วางแผนความถี่ห่างในการลงสื่อที่เหมาะสมและคุ้มค่าที่สุด โดยการใช้ข้อมูลจากผลกระทบของสื่อรูปแบบต่างๆ ต่อการสร้างการรับรู้โฆษณาในอดีต มาใช้ในการจำลองแผนการใช้สื่อในรูปแบบ ความถี่ และน้ำหนักการลงโฆษณาในอนาคต เพื่อเปรียบเทียบและคำนวณหาแผนที่จะได้ผลตอบแทนสูงสุด คือ สร้างระดับการรับรู้โฆษณาได้สูงสุด

Allocator : เครื่องมือที่ใช้ในการช่วยวางแผนในการจัดสรรทรัพยากรเช่นงบประมาณโฆษณา การเลือกใช้สื่อ โดยจัดลำดับความสำคัญและจัดสรรงบประมาณที่จะใช้กับสื่อแต่ละประเภท สำหรับสินค้าแต่ละตัว และแบ่งตามกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและ/หรือพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ นับว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากสำหรับการตัดสินใจเลือกสื่อที่ซับซ้อน ที่มีหลักเกณฑ์ในการจัดลำดับและข้อมูลในการสนับสนุนการตัดสินใจเป็นจำนวนมาก โดยโปรแกรมสามารถจัดสรรงบประมาณตามเกณฑ์และลำดับความสำคัญ รวมถึงพิจารณาข้อจำกัดในการตัดสินใจต่างๆ เช่นสามารถกำหนดงบประมาณสูงสุดต่อสินค้า หรือต่อประเภทของสื่อที่ต้องการและให้เครื่องช่วยคำนวณแบบแผนการจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดเป็นต้น ทั้งนี้เครื่องมือนี้มีความยืดหยุ่นสูง ข้อมูลที่ใช้ป้อนในการคำนวณสามารถใช้ได้ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ

Fortuna : เครื่องมือสำหรับการซื้อสื่อทีวี ใช้เลือกรายการ สถานีโทรทัศน์ และระบุเวลาในการซื้อโฆษณาทางโทรทัศน์ เนื่องจากเครื่องมือนี้สามาถอ่านข้อมูลการรับชมของทุกกลุ่มเป้าหมายได้ละเอียดถึงขนาดวินาทีต่อวินาที จึงสามารถชี้ชัดได้ว่า รายการต่างๆ ในแต่ละช่อง ในวันและเวลาต่าง ๆ มีจำนวนผู้ชมมากน้อยแค่ไหน ผู้ชมกลุ่มนั้นตรงกับกลุ่มเป้าหมายของเราหรือไม่ ตลอดจนความสามารถของรายการในการดึงดูดให้ผู้ชมไม่เปลี่ยนช่องไปสถานีอื่น ซึ่งสามารถวิเคราะห์ละเอียดถึงระดับแยกจำนวนผู้ชมของแต่ละรายการออกเป็นช่วงเบรคโฆษณาต่างๆ เพื่อระบุเบรคที่คุ้มค่าที่สุดในการลงโฆษณา

นายวิชัยกล่าวเสริมว่า “เครื่องมือต่างๆ ของ Carat เหล่านี้โดดเด่นมากที่ความสามารถในการแปลงข้อมูลจำนวนมากซึ่งแต่เดิมอยู่ในรูปแบบตัวเลข มาเป็นภาพ และแผนงานได้ในเวลาอันรวดเร็ว นอกจากนั้นยังสามารถใช้ฟังก์ชั่นในเครื่องมือ เพียงกดปุ่มเดียวให้นำผลจากการวิเคราะห์มาสร้างเป็นภาพประกอบใน Presentation file ได้เสร็จสรรพ หรือจะส่งข้อมูลเป็นตารางในรูปแบบไฟล์ Excel ก็ได้ ทำให้ประหยัดเวลาในการทำงานได้มาก และที่สำคัญสร้างความเข้าใจในข้อมูลให้กับลูกค้าได้ง่ายและเร็วกว่าการดูข้อมูลดิบหลายเท่าตัว”

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา บริษัทปิดยอดบิลลิ่งที่ 6,500 ล้านบาท และปีนี้มีการตั้งเป้าเติบโตเพิ่ม14% ส่วนแนวโน้มการแข่งขันในอุตสาหกรรมโฆษณา ตนมั่นใจว่ายังคงมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มครีเอทีฟ เอเยนซี่ ขนาดกลาง และเล็กที่ยังคงได้เปรียบในแง่ความคล่องตัว รวดเร็วในการให้บริการกับลูกค้า และทำงานได้ไม่แพ้บริษัทข้ามชาติ ขณะที่ทางฟากมีเดีย เอเยนซี่จะแข่งขันกันที่เรื่องของขนาดองค์กร บุคลากร เงินทุน และเครื่องมือที่ใช้วางแผนซื้อสื่อภายใต้งบของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นหลัก