CFA Institute รับรอง คณะบริหารธุรกิจ-นิด้า แห่งแรกในไทย-ติดอันดับ 1 ใน 4 เอเชีย

CFA Institute รับรองคณะบริหารธุรกิจ นิด้า เป็นพาร์ทเนอร์ แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย และเป็น 1 ใน 4 ของทวีปเอเชีย เผยเป็นการการันตีหลักสูตร FIRM ที่มีความน่าเชื่อถือ และมีมาตรฐานระดับสากล ระบุปัจจุบันตลาดต้องการ CFA? อีกมาก แต่เมืองไทยมีแค่ 300 กว่าคน

รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย นิตยาเกษตรวัฒน์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA BUSINESS SCHOOL เปิดเผยว่า หลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาการลงทุนและการจัดการความเสี่ยง หรือ “FIRM” (Financial Investment and Risk Management Program) ได้รับการรับรองจาก CFA Institute ในสหรัฐอเมริกา ให้เป็น CFA โปรแกรม พาร์ทเนอร์ ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และเป็นแห่งที่ 4 ของทวีปเอเชีย ที่ได้รับการรับรอง จึงถือได้ว่าหลักสูตรนี้มีมาตรฐานเดียวกับหลักสูตรทางการเงินอื่นๆ ของโลก อาทิ Oxford , Cornell และ National University of Singapore

“คณะฯ รู้สึกภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้รับเลือกให้เป็นพาร์ทเนอร์ของสถาบัน CFA ซึ่งเป็นสถาบันที่ก่อกำเนิดหลักสูตร CFA ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกในด้านของการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน และจะเลือกพาร์ทเนอร์ในแต่ละประเทศเพียงรายหรือ 2 รายเท่านั้น ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศในทวีปยุโรปที่จะพิจารณามากกว่านั้น โดยเนื้อหาหลักสูตร FIRM ของนิด้าเอ็มบีเอสอดคล้องกับหลักสูตร CFA ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษา สามารถนำความรู้ไปสอบ CFA ได้ทั้ง 3 ระดับ” รศ.ดร.เอกชัย กล่าว
ทั้งนี้ CFA Institute เป็นสถาบันจัดสอบและมอบประกาศนียบัตรทางวิชาชีพชั้นสูงทางด้านการเงิน และการลงทุน หรือ Chartered Financial Analysts (CFA) สำหรับผู้ที่จะประกอบวิชาชีพนักวิเคราะห์ ผู้จัดการกองทุน และที่ปรึกษาทางการเงิน ที่มีมาตรฐานระดับโลก โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาบุคลากรในแวดวงตลาดเงิน ตลาดทุน ให้มีความรู้ ความซื่อสัตย์ ความเชี่ยวชาญ และความเป็นมืออาชีพ

ปัจจุบันการสอบ CFA แบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ โดยใช้เวลาสอบ 3 ปี ระดับที่ 1 เป็นการปูพื้นฐาน โดยจะมีการสอบความรู้เบื้องต้นที่เกี่ยวกับการประเมินมูลค่าการลงทุน และการบริหารกลุ่มหลักทรัพย์ ระดับที่ 2 ต้องรู้เรื่องบัญชี เพื่อใช้วิเคราะห์การเงิน การประเมินคุณค่า และสุดท้าย ระดับที่ 3 จะเน้นเรื่องการบริหารพอร์ตลงทุน หลังจากนั้นยังต้องมีประสบการณ์ทำงานตรงตามสายงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะเวลา 3 ปี ถึงจะถือว่าสอบผ่าน อย่างสมบูรณ์แบบ

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาการลงทุนและการจัดการความเสี่ยง หรือ FIRM กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรทางด้านการเงิน เพื่อรองรับกับการแข่งขันในระดับโลก ขณะนี้แทบทุกองค์กรก็หันมาให้ความสำคัญในการรับบุคลากรเข้าทำงานโดยพิจารณาผู้ที่ผ่านหลักสูตร CFA? เป็นลำดับต้น ๆ ดังนั้นหลักสูตร CFA? เป็นประกาศนียบัตรวิชาชีพที่ยอมรับกันทั่ว

สำหรับหลักสูตร FIRM เป็นหลักสูตรเดียวในประเทศไทยที่เน้นองค์ความรู้ด้านการวิเคราะห์การเงิน การลงทุน และการจัดการความเสี่ยงที่ถูกต้องชัดเจน โดยได้นำแนวทางความรู้ของ CFA และ FRM ซึ่งเป็นประกาศนียบัตรทางวิชาชีพชั้นสูงทางด้านการเงิน การลงทุนและการจัดการความเสี่ยงที่ทั่วโลกยอมรับ มาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า แม้จะมีเครื่องมือในการวิเคราะห์มากมายแต่ก็ยังไม่เคยมีสถาบันการศึกษานำมาบรรจุเป็นหลักสูตรในระดับปริญญาโทอย่างจริงจัง จึงนับได้ว่าหลักสูตรนี้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ผู้อำนวยการหลักสูตร FIRM กล่าวเสริมอีกว่า CFA เป็นหลักสูตรที่ฝึกให้เป็นผู้บริหารมืออาชีพ ที่ไม่ได้หมายความว่ามีความรู้ความสามารถเฉพาะทางเท่านั้น แต่หมายถึงการมีคุณธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพ รวมทั้งต้องพัฒนาตัวเอง เรียนรู้เพื่อให้ทันสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

อนึ่ง CFA Institute เป็นองค์กรระดับโลก ที่ไม่มุ่งเน้นการหากำไร ทำหน้าที่ในการออกแบบหลักสูตรและควบคุมการสอบ CFA?โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเน้นการพัฒนาบุคคลากรที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินและตลาดทุน ทั้งในแง่ความรู้ ความซื่อสัตย์ และความเป็นมืออาชีพ ในปัจจุบัน CFA Institute มีสมาชิกประมาณ 85,000 คน ใน 128 ประเทศ โดยมีสมาชิกที่สอบผ่านหลักสูตร CFA? แล้วประมาณ 70,000 คน และมีสมาคมย่อยในแต่ละประเทศรวมทั้งสิ้น 134 สมาคม ใน 55 ประเทศ โดย CFA Institute มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ Charlottesville, Virginia ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสำนักงานย่อยที่ กรุงลอนดอน ฮ่องกง และนิวยอร์ก

หากพิจารณาจากจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินที่ได้รับ CFA? (Chartered Financial Analyst?) จะพบว่า ในแต่ละปีจะมีผู้สมัครสอบจากทั่วโลกเป็นจำนวนเกือบแสนคน ขณะที่ประเทศไทยมี CFA ?เพียงแค่ 300 กว่าคนเท่านั้น ทั้งนี้ปัจจุบัน CFA? มีความสำคัญมากในแวดวงไฟแนนซ์ เพราะผู้ที่จะประกอบอาชีพผู้จัดการกองทุน จะต้องผ่านหลักสูตร CFA? ระดับ 3 และนักวิเคราะห์ จะต้องผ่านหลักสูตร CFA? ระดับ 1 ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการมีศักยภาพที่จะเติบโตในตลาดการเงินและการลงทุน โดยเฉพาะในเวทีโลก ก็จำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาการเงินให้มากขึ้น