AIT ปรับเป้ารายได้เพิ่ม ปี’51 โต 80% เดินหน้าหาพันธมิตรร่วมทุน

AITปรับเป้ารายได้ปี 2551เพิ่มจากโต 50% เป็น 80% แตะระดับ 3 พันล้านบาท ชี้ปัจจัยการเมืองชัดเจนหนุน ขณะที่ตุน Backlog ไว้กว่า 2 พันล้านบาท เผยแผน 6 by 9 ในการหาพันธมิตรชัดเจนมากแล้ว ประเดิมงานบริการ พร้อมเปิดตัวเร็วๆ นี้

นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT ผู้ให้บริการด้านธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบการสื่อสาร เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2550 ว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,646 ล้านบาท ลดลง 632 ล้านบาทหรือ 27 % จากปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวม 2,278 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิในปี 2550 อยู่ที่ 94 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน ซึ่งมีกำไรสุทธิ 197 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทฯต้องสำรองการด้อยค่าของอุปกรณ์ที่บริษัทฯลงทุนในการให้บริการเสริมด้านสื่อสารโทรคมนาคม จำนวน 40 ล้านบาท ที่ซึ่งยังสร้างรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายในปัจจุบัน

จากการลดลงของรายได้ดังกล่าว สาเหตุจากความไม่ปกติทางการเมือง และความไม่ชัดเจนในแผนพัฒนาประเทศ การจัดตั้งงบประมาณใช้จ่ายประจำปีของภาครัฐล่าช้ากว่าปกติ ทำให้การดำเนินการโครงการต่างๆของภาครัฐในครึ่งแรกของเป็นไปด้วยความล่าช้า ประกอบกับภาคเอกชนชะลอการลงทุน มีส่วนที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ถึงแม้ในครึ่งหลังของปี รัฐบาลได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร่งดำเนินการให้เบิกจ่ายงบประมาณตามโครงการที่ได้อนุมัติไว้ ซึ่งบริษัทฯได้รับผลบวกโดยได้งานมาค่อนข้างมากแต่ก็รับรู้รายได้ทันปี 2550 เพียงบางส่วน จึงมีผลทำให้รายได้ของบริษัทฯโดยรวมลดลง แต่จะส่งผลดีในปีต่อไป
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริษัทฯได้อนุมัติจ่ายเงินปันผลจากผลการดำเนินงานในรอบปี 2550 ในอัตราหุ้นละ 1.25 บาท โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 20 เมษายน 2551 และหากได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น บริษัทฯจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 16 พฤษภาคม 2551

สำหรับปี 2551 บริษัทฯ เชื่อว่าสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น เนื่องจากสภาวะทางการเมืองกลับสู่ระบบปกติ โดยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ถึงแม้ว่าจะล่าช้าอยู่บ้าง แต่อย่างน้อย งบประมาณใช้จ่ายประจำปี 2551 ของภาครัฐซึ่งเป็นกลไกหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ได้ถูกจัดตั้งเป็นไปตามกรอบเวลาปกติ บริษัทฯจึงมั่นใจว่าจะสามารถกลับมาสู่จุดที่จะเติบโตต่อไปได้

ในปี 2551 บริษัทฯได้ปรับเป้างบประมาณรายได้ที่เคยตั้งไว้ 2.5 พันล้านบาทเป็น 3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ประมาณ 80% ซึ่งบริษัทฯมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุถึงเป้าได้ เนื่องจากปัจจุบันบริษัทฯ มีงานในมือ (Backlog) ของโครงการที่รอรับรู้รายได้ในปีนี้กว่า 2 พันล้านบาท และยังเหลือเวลาทำงานอีกกว่า 10 เดือนที่จะหารายได้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าที่ปรับขึ้นมาและเป็น Backlog ในปีต่อไป สำหรับสัดส่วนรายได้ส่วนยังคาดว่า ประมาณ 80% มาจากงานขายโครงการและอีก 20% เป็นรายได้จากงานให้บริการเช่าอุปกรณ์และการซ่อมบำรุงรักษา

ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AIT ยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินงานตามแผนธุรกิจ 6 by 9 ที่บริษัทฯ ตั้งเป้าทำรายได้ 6 พันล้านบาทในปี 2009 โดยการขยายฐานลูกค้าไปกลุ่มต่างๆเช่นกลุ่มสถาบันการเงินและภาคอุตสาหกรรมเป็นต้น

ปัจจุบันบริษัทฯได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนและเริ่มดำเนินธุรกิจแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัทเมเปิ้ลพัส ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับระบบแผนที่สารสนเทศภูมิศาสตร์หรือ GIS (Geography Information System) ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท โดย AIT ถือหุ้น 55 % ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ปี 2551 ประมาณ 50 ล้านบาท และ บริษัทแบงค์เสริฟ ที่ทำตลาดในกลุ่มสถาบันการเงินและภาคอุตสาหกรรม ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาทโดย AIT ถือหุ้น 80% ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ปี 2551 ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท นอกจากนั้น คณะกรรมการได้อนุมัติให้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท Sojitz Corporation จากประเทศญี่ปุ่น มีทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท โดย AIT ถือหุ้น 70% และ SOJITZ ถือหุ้น 30% โดยจะทำธุรกิจด้านบริการซ่อมบำรุงรักษาและ Outsourcing ในฐานลูกค้าเดิมของ AIT และขยายสู่ตลาดในกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ในปีแรกไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และจะเริ่มดำเนินการได้ในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้

นอกจากนั้นบริษัทฯยังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมทุนในลักษณะเดียวกันอีก 3 บริษัท ซึ่งหากสำเร็จจะทำให้ฐานธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งและมั่นคงขึ้น และท้ายที่สุด นายศิริพงษ์ได้เปิดเผยถึงแผนการขยายธุรกิจไปต่างประเทศว่า บริษัทฯอยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะเปิดตลาดใน 3 ประเทศในขั้นต้นคืออินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และ เวียดนาม โดยจะนำ Software ไทยที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยคนไทยและใช้งานในหน่วยราชการ หรือหน่วยงานต่างๆในประเทศไทยจนเป็นที่ยอมรับในการใช้งานเป็นอย่างดี

บริษัทฯเชื่อว่า การใช้งานในประเทศเพื่อนบ้านน่าจะใกล้เคียงกัน และเราน่าจะได้เปรียบด้านราคาเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เพียงแต่เราต้องนำสินค้ามาปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานและให้เหมาะสมกับลูกค้านั้นๆ รวมทั้งจัดทำ Documentation การขายและคู่มือการใช้งานต่างๆให้เป็นมาตรฐานสากลและอย่างมืออาชีพ นายศิริพงษ์กล่าวในที่สุด