เศรษฐกิจไทยหลังรัฐบาลใหม่ … ความคาดหวังและประเด็นที่ต้องติดตาม

ภาวะเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2550
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ซึ่งจะประกาศโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์นี้ จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (Year-on-Year) ซึ่งสูงขึ้นกว่าอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่ 3 โดยภาวะการใช้จ่ายในประเทศมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น หลังจากปัญหาทางการเมืองผ่อนคลายลง เมื่อมีความชัดเจนของกระบวนการที่นำไปสู่การเลือกตั้ง ขณะที่ภาคการส่งออกก็ขยายตัวแข็งแกร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่ดีขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน ที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชผลสำคัญ และรัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณล่าช้ากว่าปกติ อย่างไรก็ดี ถ้าหากพิจารณาถึงอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (Seasonally Adjusted Q-o-Q) คาดว่ามีทิศทางชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 3 โดยการฟื้นตัวของการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังคงอ่อนไหวต่อปัจจัยกระทบทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550 ทำให้ผู้บริโภคยังระมัดระวังในการใช้จ่ายขณะที่ในด้านการลงทุน สังเกตเห็นได้ว่าการก่อสร้างยังชะลอตัว

ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง แต่จากการที่เศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกชะลอตัวลงไปค่อนข้างมาก โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในปี 2550 น่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.6 ซึ่งลดลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2549

แนวโน้มในปี 2551 … ความคาดหวังต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาล
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงปลายปี 2550 ภารกิจสำคัญของรัฐบาลจึงอยู่ที่การเตรียมรับมือกับสภาวะความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศ โดยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ได้แก่

ปัญหาการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ตามมาจากวิกฤติซับไพรม์ และมีความเป็นไปได้เพิ่มมากขึ้นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจก้าวเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งประวัติศาสตร์ลงสองครั้ง ในเดือนมกราคม รวมร้อยละ 1.25 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.00 และเป็นที่คาดว่าเฟดยังจำเป็นที่จะต้องปรับลดดอกเบี้ยลงอีก ดังนั้น ท่ามกลางความอ่อนแอของเศรษฐกิจและสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยขาลงนี้ จึงทำให้ค่าเงินดอลลาร์อยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลง

ปัญหาราคาน้ำมันมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ราคาน้ำมันในตลาดโลกนับตั้งแต่ต้นปียังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล และทำสถิติทะลุ 100 ดอลลาร์ฯ ในบางช่วง ล่าสุดราคาน้ำมันดิบซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสหรัฐขึ้นไปปิดที่ 100.74 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัตการณ์ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันที่กำลังมีทิศทางที่จะทำสถิติใหม่เหนือ 100 ดอลลาร์ฯต่อไปอีกนี้ จะผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น อันจะเป็นการซ้ำเติมภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก จนอาจนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า Stagflation หรือ ภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับภาวะเงินเฟ้อสูง ในบางประเทศได้

ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจากผลของการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตลอดระยะปีที่ผ่านมาคงขาดปัจจัยสนับสนุน และอาจจะชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2551 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จึงเป็นที่คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งน่าจะดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว เพื่อเป็นกลจักรกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศโดยรวม

จากการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา สังเกตเห็นได้ว่ารัฐบาลมีแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ โดยกำหนดนโยบายระยะเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก 18 ข้อ โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนและภาคธุรกิจ และการลงทุนในโครงการที่สำคัญของประเทศ ซึ่งหากพิจารณากรอบงบประมาณอย่างกว้างๆนี้ คาดว่ารัฐบาลคงจำเป็นต้องจัดหางบประมาณเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว ซึ่งหลายโครงการอยู่นอกเหนือจากกรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชุดก่อนได้จัดทำไว้ ทั้งนี้ ตามข้อมูลเบื้องต้นจากกระทรวงการคลัง อาจมีการเสนอข้อมูลให้รัฐบาลพิจารณาตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้น เป็นวงเงินระหว่าง 70,000-150,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมีการใช้จ่ายเม็ดเงินเพิ่มเติมตามกรอบข้างต้นให้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง จะทำให้จีดีพีสามารถเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 0.7-1.6 อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนของการปฏิบัติ การดำเนินนโยบายอาจมีประเด็นอุปสรรคที่อาจทำให้การดำเนินการต่างๆมีความล่าช้ากว่าแผนการที่กำหนดไว้

โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 ภายใต้สมมติฐานตัวแปรต่างๆ โดยมีประเด็นสรุป ดังนี้ :

อัตราเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและค่าขนส่งเท่านั้น แต่ยังมีผลในทางอ้อมในการผลักดันราคาพืชผลทางการเกษตร ที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทดแทนมีราคาสูงขึ้นอย่างมาก ประกอบกับต้นทุนในด้านอื่นๆก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการทะยอยขอปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ในเดือนมกราคม 2551 เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงสุดในรอบ 18 เดือน และจากการที่ราคาสินค้ายังทะยอยปรับขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 เร่งตัวสูงขึ้นจากระดับร้อยละ 2.3 ในปี 2550 มาอยู่ระหว่างร้อยละ 2.7-4.0 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ในปี 2551

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก และมองเห็นถึงความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงสั้นๆ ก่อนที่มาตรการทางการเงินและการคลังเชิงรุกที่ทางการสหรัฐฯนำออกมาใช้จะเริ่มส่งผลทำให้เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในช่วงครึ่งหลังของปี โดยภายใต้สมมติฐานหลักคาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 0.8 ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 2.2 ในปี 2550 ขณะที่มีกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างหดตัวลงร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับปี 2550

การส่งออก การส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ตามภาวะเศรษฐกิจหลักของโลก โดยเฉพาะการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกในปี 2551 อาจจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 5.0-10.0 โดยมีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 7 ชะลอลงอย่างมากจากร้อยละ 18.1 ในปี 2550 ส่วนการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวอยู่ระหว่างร้อยละ 7.0-13.0 โดยมีระดับเฉลี่ยประมาณร้อยละ 9.0 ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2551 ยังมีแนวโน้มเกินดุลอยู่ในกรอบระหว่าง 10.5-12.5 พันล้านดอลลาร์ฯ โดยมีค่ากลางอยู่ที่ระดับ 12.5 พันล้านดอลลาร์ฯ แต่เป็นระดับที่ต่ำลงจากที่เกินดุล 14.9 พันล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2550

การใช้จ่ายภายในประเทศ การใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงรุกน่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญอยู่ที่แนวทางปฏิบัติในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในกรณีสมมติฐานหลัก คาดว่าการบริโภคและการลงทุนน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากฐานที่ต่ำในปี 2550 โดยการบริโภคของภาคเอกชนในปี 2551 จะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 1.5-3.5 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2550 ส่วนการลงทุนคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 2.5-6.5 โดยมีค่ากลางอยู่ที่ร้อยละ 4.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในปี 2550

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในกรณีสมติฐานหลัก เศรษฐกิจไทยในปี 2551 อาจขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.6 โดยมีช่วงกรอบประมาณการระหว่างร้อยละ 4.0-5.2

ประเด็นที่รอความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่
แม้ว่ารัฐบาลได้มีการแถลงนโยบายซึ่งเป็นการวางทิศทางในการบริหารประเทศแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ประกาศไว้ยังเป็นเพียงกรอบกว้างๆ แต่ในการดำเนินการที่จะสานนโยบายให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น ยังต้องการความชัดเจนถึงแผนปฏิบัติการในรายละเอียดอีกมาก ทั้งในด้านแนวทางในการดำเนินการ วงเงินและแหล่งที่มาของเงินงบประมาณในโครงการต่างๆ รวมทั้งกรอบเวลาในการดำเนินการ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า ประเด็นสำคัญทางเศรษฐกิจที่ยังต้องติดตามถึงรายละเอียดนับจากนี้ ประกอบด้วย

การแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ทางกระทรวงพาณิชย์ได้มีแนวทางบรรเทาผลกระทบของผู้บริโภคจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งการติดตามดูแลและควบคุมการปรับขึ้นราคาสินค้าให้เกิดความเป็นธรรมสำหรับผู้บริโภคนับเป็นแนวทางที่ดี แต่ขณะเดียวกัน การช่วยเหลือผู้บริโภคคงต้องคำนึงถึงความสมดุลในระบบเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย เพื่อไม่ให้เกิดความบิดเบือนกลไกตลาดและนำไปสู่ผลในทางลบตามมาในอนาคต

โครงการลงทุนของรัฐที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก รัฐบาลได้เปิดเผยในเบื้องต้นถึงแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ อาทิ โครงการรถไฟฟ้า 9 สาย โครงการอุโมงค์ส่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ โครงการด้านโลจิสติกส์อื่นๆ และโครงการจัดหาที่อยู่อาศัย เป็นต้น หากรวบรวมโครงการตามนโยบายรัฐบาลใหม่ที่ประกาศไว้ ประเมินได้ว่ารัฐบาลมีแผนการลงทุนในโครงการเหล่านี้มากถึง 400,000-600,000 ล้านบาทต่อปีในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการลงทุนในสาขาอื่นๆที่จำเป็นนอกเหนือจากแผนการที่ได้กล่าวมาข้างต้น เช่น ด้านพลังงาน โทรคมนาคม และสิ่งสาธารณูปโภคอื่นๆ ความต้องการใช้เงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐเป็นจำนวนมากนี้ จึงยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามถึงข้อสรุปรายละเอียดของโครงการ รูปแบบการลงทุน แผนการระดมทุน และกรอบเวลาในการลงทุนแต่ละโครงการว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงเวลาใด รวมถึงผลกระทบที่อาจมีต่อตลาดการเงินและสภาพคล่องของระบบเศรษฐกิจ

ทางออกของมาตรการกันสำรอง 30% มาตรการดำรงเงินสำรองเงินนำเข้าระยะสั้นร้อยละ 30 เป็นประเด็นที่นักลงทุนในประเทศและต่างประเทศจับตามองอย่างใกล้ชิด ซึ่งในสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่โลกอยู่ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจทำให้มีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาสู่ตลาดเงินตลาดทุนของไทย ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทได้ การประกาศยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 จึงควรที่จะมีการพิจารณาโดยคำนึงถึงประเด็นต่างๆอย่างรอบคอบ ที่สำคัญคือ หากทางการตัดสินใจยกเลิกมาตรการ ควรเลือกจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่จะส่งผลในทางเร่งต่อการไหลเข้าของเงินทุนที่จะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทให้น้อยที่สุด พร้อมกับการส่งสัญญาณด้านนโยบายที่ชัดเจนว่าทางการไทยจะยังคงดูแลเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นอย่างไร้ขอบเขต โดยเตรียมมาตรการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันตลาดเงินตลาดทุนจากผลกระทบจากนักลงทุนเก็งกำไรระยะสั้น

ทิศทางนโยบายการเงิน การกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ย ณ ขณะนี้ นับว่าเป็นการตัดสินใจครั้งที่ยากลำบาก โดยมีปัจจัยเกี่ยวข้องที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และปัจจัยแต่ละด้านก็มีผลสนับสนุนแนวทางการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ทั้งปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจ และส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ ประเด็นที่สำคัญของการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ย คือ การสร้างความชัดเจนและความน่าเชื่อถือที่ตลาดจะมีต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) โดยที่ กนง. จะต้องสามารถให้คำชี้แจงและเหตุผลของการตัดสินใจต่อตลาดและนักลงทุนโดยทั่วไปได้ว่า การดำเนินการของ กนง. ยังคงเป็นไปตามกรอบเพื่อการรักษาเสถียรภาพเป็นสำคัญ

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า GDP ของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.2 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่ 3 โดยได้รับแรงหนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้น และการส่งออกยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ของทั้งปี 2550 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.6 ลดลงจากร้อยละ 5.1 ในปี 2549

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 นั้น ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงปลายปี 2550 ภารกิจสำคัญของรัฐบาลจึงอยู่ที่การเตรียมรับมือกับสภาวะความผันผวนของปัจจัยภายนอกประเทศ โดยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาการชะลอตัวรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจถึงขั้นถดถอย รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีก จากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นนี้ คาดว่า การส่งออกอาจจะชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2551 ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องพึ่งพาปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ด้วยเหตุนี้ หลายฝ่ายจึงตั้งความหวังไว้ต่อบทบาทของรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ในการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายภายในประเทศ

โดยภาพรวม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2551 โดยประเมินว่า ปัญหาราคาน้ำมันจะทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 เร่งตัวสูงขึ้นมาอยู่ระหว่างร้อยละ 2.7-4.0 โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากระดับร้อยละ 2.3 ในปี 2550 ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะชะลอตัวอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งปีแรก มีค่ากลางของอัตราการขยายตัวในปี 2551 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.8 โดยกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวอยู่ระหว่างหดตัวลงร้อยละ 0.5 ถึงขยายตัวร้อยละ 1.5 ลดลงอย่างมากจากร้อยละ 2.2 ในปี 2550 ภายใต้สมมติฐานดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2551 อาจขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดยมีค่ากลางอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.6 และมีช่วงกรอบประมาณการระหว่างร้อยละ 4.0-5.2

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญนับจากนี้ยังมีประเด็นเฉพาะหน้าหลายประการที่ยังคงต้องรอคอยความชัดเจนจากรัฐบาลใหม่ อาทิ แนวทางการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ แผนการที่ชัดเจนของโครงการลงทุนของรัฐที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งต้องคำนึงถึงฐานะการคลังในระยะปานกลางถึงระยะยาวควบคู่ไปด้วย นอกจากนี้ การกำหนดแนวทางของมาตรการกันสำรอง 30% และแผนการรองรับผลกระทบจากการเก็งกำไรในค่าเงินบาท รวมทั้งการตัดสินใจของทางการต่อทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างประเทศกำลังเฝ้าติดตาม

สำหรับประเด็นที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ที่สำคัญได้แก่ เสถียรภาพของรัฐบาลและเอกภาพในการบริหารประเทศภายใต้รัฐบาลผสม 6 พรรค ในการที่จะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศในระยะยาว ซึ่งนโยบายที่มุ่งให้ความสำคัญกับการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นหลักนี้ ไม่ควรนำมาใช้นานจนเกินไป เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจก่อให้เกิดผลในการผลักดันเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตสูงในระยะสั้น แต่ท้ายที่สุดแล้ว อาจเป็นปัญหาตามมาในอนาคต ทั้งนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมาก จึงต้องมีแผนบริหารการจัดหาเงินลงทุนอย่างเหมาะสม ซึ่งรัฐบาลมีแนวโน้มจำเป็นที่จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อไปอีกในปีข้างหน้า โดยข้อมูลของกระทรวงการคลังในเบื้องต้นระบุถึงการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ว่าอาจจะตั้งวงเงินขาดดุลงบประมาณสูงขึ้นกว่าในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ทางการควรพิจารณาขอบเขตการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างเหมาะสม โดยดูแลสถานะการคลังไม่ให้ขาดดุลต่อเนื่องนานเกินไป เนื่องจากจะมีผลกระทบต่อระดับหนี้สาธารณะในอนาคต อีกทั้งการขาดดุลงบประมาณควรมุ่งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว มากกว่าการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหรือกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น