ยุทธการพอเพียงปิดฉากอย่างสวยงาม “บังแอ จากนครศรีธรรมราช คว้าผลโหวตสูงสุด”

นับเป็นรายการที่สมควรได้รับการยกย่องอย่างมากกับรายการ “ยุทธการพอเพียง” รายการดีๆ ที่มีสาระแห่งชีวิตหลากหลายรูปแบบให้ดูเป็นแบบอย่างทั้งที่ควรทำตาม และที่ควรหลีกเลี่ยง งานนี้ต้องขอยกย่อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ที่ได้สร้างสรรค์รายการดีๆ เช่นนี้ออกมาได้ถูกเวลาในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังเหนื่อยกับการใช้ชีวิตในยุคข้าวยากหมากแพงดังเช่นปัจจุบัน

รายการยุทธการพอเพียง ถือเป็นรายการตัวอย่างที่นำคนที่มีปัญหามาสอนคนที่มีปัญหา เป็นรายการที่ชี้แนวทางให้คนรู้จักคิดดำรงชีวิตอย่างมีแบบแผนด้วยวิถีชีวิตพอเพียง เพื่อปลุกจิตสำนึกคนไทยให้รู้จักสร้างสุขภาวะที่ยั่งยืน ผู้เข้าร่วมรายการทั้ง 5 คน ล้วนถูกคัดมาอย่างดี แต่ละคนก็มีปัญหาในรายละเอียดที่ต่างกัน แต่ที่เหมือนกันแน่ๆ คือ “ไม่แฮปปี้กับชีวิต” ด้วยภาระหนี้สิน การมองไม่เห็นรากเหง้าปัญหา ทำให้แก้ไขกันไม่ถูกจุด

รายการยุทธการพอเพียงแนะเคล็ดลับการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อให้รู้สถานการณ์ปัจจุบันของรายรับรายจ่าย เพื่อระวังการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ยังสอนให้ปรับการดำเนินชีวิตในเชิงอาชีพเพื่อรายได้ที่มากขึ้น พร้อมทั้งสะสางหนี้ที่พอกพูนขึ้นเหมือนดินพอกหางหมู “ตอนนี้ชีวิตดีขึ้นมาก แต่เดิมไม่เคยมีเงินซื้อขนมให้ลูกแต่เดี๋ยวนี้ ผมมีเงินซื้อขนมให้ลูก มีเวลาให้ลูก เงินที่ได้น้อยลงแต่เรามีความสุขมากขึ้น สามารถเหลือใช้หนี้ได้อีกด้วย”นายสาโรช จิรธรรมกุล ผู้ร่วมรายการจากกรุงเทพมหานคร ที่เป็นหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก กล่าวด้วยความตื้นตัน

“เป็นเศรษฐีในเรือนยาจก ดีกว่าเป็นยาจกในเรือนเศรษฐี” คำกล่าวนี้เป็นข้อเตือนใจที่อ.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ได้กล่าวไว้ในเทปสุดท้ายของรายการยุทธการพอเพียง เพราะปัจจุบันคนมักยึดเอาวัตถุนิยมเป็นสำคัญทำให้เกิดการจับจ่ายเกินตัวจนไม่มีความสุขอย่างแท้จริงในชีวิต

“ผมว่าไม่ใช่แค่ผมคนเดียวที่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ที่บ้านโดยเฉพาะลูกก็เปลี่ยนพฤติกรรมไปด้วยเช่นกัน แต่เดิมผมไม่เคยอยู่บ้านกินข้าวกับลูกแต่เดี๋ยวนี้ผมทานข้าวกับลูกเกือบทุกวัน และเราเลี้ยงกบเพื่อเพิ่มรายได้นอกเหนือจากการทำสวนแบบเดิมๆ ผมยอมรับว่าผมพบความสุขที่แท้จริงของชีวิตแล้ว จากการร่วมรายการยุทธการพอเพียง” นายสมมาตร เทียมถนอม ผู้ร่วมรายการจาก จ. นครปฐม กล่าวทั้งน้ำตา

ด้านนายมนตรี คำลือ ผู้ร่วมรายการจาก จ. เชียงใหม่ ผู้ที่ต้องการถ่ายทอดกรรมวิธีการทำหมวกพื้นเมืองทางเหนือ ได้กล่าวว่า “มีคนติดต่อเข้ามาเพื่อเรียนการทำหมวกมากขึ้น ปัจจุบันการผลิตหมวกไม่พอต่อความต้องการ ด้วยปัญหาสุขภาพ จึงอยากให้ผู้ที่สนใจติดต่อเข้ามาเรียนได้ เพื่อที่จะสานต่อภูมิปัญญาไทยแขนงนี้ไว้ไม่ให้สูญหายไป ส่วนตัวต้องขอขอบคุณรายการที่สอนให้รู้จักแก้ไขปัญหาที่ต้องเผชิญ ทำให้เวลาเจอปัญหาก็รู้จักวิเคราะห์และมองหาทางแก้ไขที่ยั่งยืนมากขึ้น”

และในรอบสุดท้ายมีผู้เข้ารอบ 2 ท่านคือ พอใต้ “บังแอ” นายอดิเรก สร้อยวารี ผู้ร่วมรายการจาก จ. นครศรีธรรมราช และพออีสาน “พ่อเกษม” นายเกษม หนูพวก ผู้ร่วมรายการจาก จ. ขอนแก่น ที่ในแต่ละสัปดาห์ต่างมีคะแนนคู่คี่กันมาตลอด แต่ในที่สุด พอใต้ “บังแอ” ก็เอาชนะ พออีสาน “พ่อเกษม” ไปอย่างเฉียดฉิว “ผมว่าชีวิตผมดีขึ้น รายได้มีมากขึ้น มีการวางแผนชีวิตที่ดีขึ้น เรียนรู้ที่จะอยู่และหากินกับทะเลที่บ้านและรู้จักรักษาสภาพไว้แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย รู้จักเอา รู้จักให้ มีการรวมตัวของชุมชนที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น” นายอดิเรก สร้อยวารีหรือ บังแอ กล่าว เช่นเดียวกับพ่อเกษม พออีสาน ที่ปัจจุบันถือเป็นหนึ่งในแกนนำชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการทำมาหากิน

แม้ว่าผลการแข่งขันจะออกมาให้ “บังแอ” นายอดิเรก สร้อยวารี ผู้ร่วมรายการจาก จ. นครศรีธรรมราช เป็นผู้ชนะโดยผลโหวต แต่หากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว ทั้ง 5 ท่านที่ร่วมรายการ ล้วนแต่ชนะเลิศจากการแข่งขั้นครั้งนี้ เพราะทุกคนต่างได้ชื่อว่า “ชนะตัวเอง” ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ทำยากที่สุด โดยเฉพาะชนะชะตาชีวิตที่ถูกลิขิตด้วยวงจรทุนนิยมด้วยแล้ว ย่อมถือเป็นชัยชนะเหนือสิ่งอื่นใดที่นำไปสู่หนทางแห่งความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง