การประชุม 18 มี.ค. … เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50

ในวันที่ 18 มีนาคม 2551 คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะมีการประชุมตามวาระปกติเป็นรอบที่สองของปีเพื่อตัดสินใจนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ร้อยละ 3.00 หลังจากที่เฟดได้ดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงมาอย่างต่อเนื่องรวมกันแล้วร้อยละ 2.25 นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2550 เป็นต้นมา ทั้งนี้ สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯซึ่งยังไม่อาจจะบ่งชี้ได้ว่าเศรษฐกิจได้ผ่านพ้นภาวะย่ำแย่ที่สุดไปแล้ว กอปรกับการที่ต้นตอของปัญหาคือสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพร์ม) ซึ่งได้ลุกลามไปถึงตลาดสินเชื่อส่วนใหญ่และกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน อาจยังคงต้องใช้ระยะเวลาอีกนานพอสมควรในการแก้ไข ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงประเมินว่า นอกจากการใช้เครื่องมือทางการเงินต่างๆ เพื่อคลี่คลายปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงินแล้ว เฟดอาจยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกร้อยละ 0.50-0.75 ในการประชุมวันที่ 18 มีนาคม 2551 เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯให้รอดพ้นจากภาวะถดถอยที่รุนแรง โดยปัจจัยแวดล้อมประกอบการคาดการณ์ดังกล่าว สรุปได้ดังนี้ :-

การตกต่ำลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
นับจากการประชุมรอบก่อนหน้าเมื่อปลายเดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน การรายงานเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆ ของสหรัฐฯ ยังคงบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลเนื่องมาจากปัญหาในตลาดการเงินที่บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ในขณะที่การด้อยค่าลงของมูลค่าสินทรัพย์ ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น และการชะลอตัวของตลาดแรงงาน ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นกลจักรสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ การปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะส่งสัญญาณถึงภาวะทรงตัวหรือการฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจบ่งชี้ว่า กว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้งอาจจำเป็นต้องใช้เวลาในการเยียวยายาวนานถึงประมาณ 4-6 ไตรมาส เช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเคยประสบกับภาวะถดถอยในอดีต (จากวิกฤต Saving & Loans ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990 และวิกฤต Dot Com ในปี 2543-2544) ดังนั้น การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของเฟด คงจะยังมีความจำเป็นในการช่วยพยุงเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ให้ตกต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง

โดยการปรับตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่
– การจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-Farm Payrolls)
ลดลง 63,000 ตำแหน่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งเป็นการปรับลดตำแหน่งงานครั้งใหญ่สุดในรอบเกือบ 5 ปี และเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง หลังจากที่การจ้างงานได้ลดลง 22,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม ในขณะที่ ยอดการขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่องรายสัปดาห์ (Continuing Jobless Claims) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ยังบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯมีแนวโน้มอ่อนแอต่อเนื่อง

ดัชนีภาคการผลิตและภาคการบริการของสถาบันจัดการด้านอุปทาน (ISM Manufacturing and Non-manufacturing Indices) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ดัชนี ISM ทั้งสองมีระดับที่ต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่า ภาคการผลิตและภาคการบริการของสหรัฐฯกำลังประสบกับภาวะหดตัว

เครื่องชี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยยอดทำสัญญาซื้อบ้านที่รอปิดการขาย (Pending Home Sales) เดือนมกราคม 2551 ร่วงลงเป็นเดือนที่ 28 ติดต่อกัน ในขณะที่ ยอดขายบ้านใหม่ (New Home Sales) และยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) เดือนมกราคม หดตัวลงต่อเนื่อง 26 เดือน และ 23 เดือน ตามลำดับ ส่วนราคาบ้านจัดทำโดย S&P/Case Shiller ในไตรมาส 4/2550 ร่วงลงมากสุดในรอบประวัติศาสตร์ 20 ปีของดัชนีดังกล่าว

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยรอยเตอร์และมหาวิทยาลัยมิชิแกน ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 16 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 เช่นเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่รายงานโดยสถาบัน Conference Board ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ อีกทั้งล่าสุดตัวเลขยอดค้าปลีก เดือนกุมภาพันธ์ หดตัวลงร้อยละ 0.6 จากเดือนก่อน อ่อนแอกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อน

 ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออาจไม่ใช่น้ำหนักหลักในระยะสั้นนี้ ถึงแม้ว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯจะมีระดับที่สูงกว่าร้อยละ 2.0 ซึ่งเกินขอบเขตที่เฟดรู้สึกว่าปกติ (comfort zone) ขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันตลาดโลกที่ยังคงปรับตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมไปถึงการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบขยายตัว อาจจะสร้างแรงกดดันด้านเงินเฟ้อให้กับเศรษฐกิจสหรัฐฯในระยะข้างหน้า แต่จากความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า โดยเฉพาะอย่างน้อยตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2551 ก็น่าที่จะทำให้เฟดยังต้องพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำลงสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง ในขณะที่ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยที่ช่วยชะลอการพุ่งสูงขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในอนาคตไว้ได้บ้าง

โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯล่าสุด เป็นดังนี้
– อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI)
เดือนมกราคม 2551 อัตราทั่วไป (Headline CPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (year-on-year: YoY) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.1 ในเดือนธันวาคม 2550 เช่นเดียวกัน อัตราพื้นฐาน (Core CPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 2.5 (YoY) ในเดือนมกราคม ขยับขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อน

อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้ผลิตสำหรับสินค้าขั้นสุดท้าย (Producer Price Index – PPI – for finished goods) เดือนมกราคม 2551 อัตราทั่วไป (Headline PPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 7.7 (YoY) เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.5 ในเดือนธันวาคม 2550 และอัตราพื้นฐาน (Core PPI Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ในเดือนมกราคม ขยับขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในเดือนก่อน

อัตราเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภคส่วนบุคคล (Personal Consumption Expenditure – PCE – Price Index) ในเดือนธันวาคม 2550 อัตราทั่วไป (Headline PCE Inflation) อยู่ที่ร้อยละ 3.5 (YoY) ขยับลงเล็กน้อยจากร้อยละ 3.6 ในเดือนพฤศจิกายน ขณะที่อัตราพื้นฐาน (Core PCE Inflation) ซึ่งเป็นตัวแปรที่เฟดมักใช้ประกอบการตัดสินใจนโยบายการเงิน อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า

ตลาดคาดการณ์อย่างเต็มที่ถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกของเฟด
สัญญาอัตราดอกเบี้ยล่วงหน้า (Interest Rates Futures) ล่าสุด ณ วันที่ 13 มีนาคม 2551 ที่รายงานโดย Bloomberg บ่งชี้ว่า ตลาดได้ปรับตัวรับการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกถึงร้อยละ 0.75 จากร้อยละ 3.00 มาที่ร้อยละ 2.25 ในการประชุมวันที่ 18 มีนาคมนี้ด้วยความเป็นไปได้ประมาณร้อยละ 90 ซึ่งแม้ว่าตลาดจะให้โอกาสของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.75 ที่น้อยลง หลังจากที่เฟดประกาศมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมล่าสุดอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ฯ เข้าสู่ตลาดการเงินเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา แต่ถัดมาเพียง 1 วัน (12 มีนาคม) ตลาดก็กลับไม่มั่นใจถึงประสิทธิผลของมาตรการดังกล่าวว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเผชิญอยู่ได้หรือไม่ ดังนั้น ตลาดจึงกลับมาคาดการณ์อย่างค่อนข้างเต็มที่อีกครั้งว่าเฟดคงจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกร้อยละ 0.75 ในการประชุมวันที่ 18 มีนาคม นอกจากนี้ ตลาดยังคาดการณ์ว่า เฟดอาจจำต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงต่อเนื่องสู่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.00 ภายในเดือนกันยายนนี้อีกด้วย

โดยสรุป แม้ว่าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อจะยังคงเป็นประเด็นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ในการประชุมตามวาระปกติเป็นรอบที่สองของปีในวันที่ 18 มีนาคม 2551 นี้ คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟดคงจะเทน้ำหนักไปที่ความเสี่ยงด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นหลักมากกว่า เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากปัญหาในตลาดสินเชื่อ ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นในตลาดการเงินและผู้บริโภคสหรัฐฯในวงกว้าง โดยที่ยังคงไม่มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องภายในเวลาอันใกล้นี้ ในขณะที่ การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องของทางการสหรัฐฯ ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ย การออกมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องต่างๆ มาตรการคืนภาษี และแผนการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ก็ยังไม่ได้ปรากฏผลในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯได้อย่างชัดเจน ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่า เพื่อที่จะประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯไม่ให้ตกต่ำลงอย่างรุนแรง เฟดอาจยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 ในการประชุมรอบที่จะถึงนี้ ขณะที่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงถึงร้อยละ 0.75 ก็มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากเช่นเดียวกัน ขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยรวมของเฟดว่าเป็นเช่นไร นอกจากนี้ วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงของเฟดอาจยังมีแนวโน้มดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดตลาดได้คาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจจะถูกปรับลดลงมาต่ำกว่าร้อยละ 2.00 ภายในเดือนกันยายน 2551 นี้ ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กว่าที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะสามารถฟื้นตัวกลับมาอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง อาจต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อยประมาณ 4-6 ไตรมาส

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยนั้น ในกรณีที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกอย่างน้อยร้อยละ 0.50 จริงตามที่คาด เงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อาจมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ประกอบกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯที่กว้างขึ้นกว่าเดิม อาจดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่ทางการไทยได้ยกเลิกมาตรการกันสำรองร้อยละ 30 ซึ่งมีผลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ซึ่งแนวโน้มดังกล่าว อาจสนับสนุนให้เงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวแข็งค่าขึ้น ในขณะเดียวกัน การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศหลักอื่นๆ มากน้อยเพียงใด ก็เป็นปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการขยายตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้าด้วย นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกอาจยังต้องประสบกับภาวะราคาน้ำมันแพงอย่างต่อเนื่องต่อไป อันเป็นผลเนื่องมาจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ฯที่ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์สหรัฐฯมีความน่าสนใจน้อยลง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนทำการโยกย้ายเงินเข้าสู่สินทรัพย์ประเภทอื่น โดยเฉพาะตลาดสินค้าโภคภัณฑ์มากขึ้น ทางด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยคงจะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการตัดสินใจนโยบายอัตราดอกเบี้ยเพื่อที่จะรักษาสมดุลความเสี่ยงทั้งทางด้านราคาและการขยายตัวของเศรษฐกิจ ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความผันผวนอยู่มาก