สร้างการยอมรับตรามาตรฐานฮาลาลไทย : เสริมโอกาสส่งออกอาหารฮาลาล & รองรับตลาดมุสลิมขยายตัว

ตลาดอาหารฮาลาลโลกเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี เนื่องจากประชากรชาวมุสลิมทั่วโลกซึ่งเป็นกลุ่มบริโภคอาหารฮาลาลมีจำนวนถึงประมาณ 1.9 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของประชากรทั้งโลก จำนวนประชากรมุสลิมมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 2 พันล้านคนในปี 2553 และยังคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกจะเพิ่มเป็นสัดส่วนร้อยละ 30 ของประชากรทั้งโลกภายในปี 2568 ส่งผลให้ตลาดผลิตภัณฑ์ ฮาลาลมีแนวโน้มเติบโตตามไปด้วย ประเทศกลุ่มมุสลิม (Organization of Islamic Conference : OIC) เป็นตลาดใหญ่ของอาหารฮาลาลที่ประกอบด้วยประเทศต่างๆ ถึง 57 ประเทศ คลอบคลุมประเทศต่างๆ ในหลายภูมิภาค ได้แก่ ตะวันออกกลาง เอเชียใต้ อาเซียน แอฟริกา เอเชียกลาง ยุโรป และอเมริกาใต้ ตลาดอาหารฮาลาลยังครอบคลุมถึงประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-Muslim Countries) แต่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากซึ่งก็ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของการส่งออกอาหารฮาลาลที่สำคัญเช่นกัน ได้แก่ ประเทศอินเดีย จีน และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไม่จำกัดการบริโภคเฉพาะในกลุ่มชาวมุสลิมเท่านั้น แต่กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปที่มิใช่คนมุสลิม แต่เน้นในเรื่องสุขภาพ โดยคำนึงถึงความสะอาดและปลอดภัยของอาหารได้หันมาบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมากขึ้น มูลค่าตลาดอาหาร ฮาลาลของโลกในปัจจุบันประมาณการอยู่ระหว่าง 0.5-2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ศักยภาพการส่งออกอาหารฮาลาลของไทย

ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารที่สำคัญเป็นอันดับที่ 7 ของโลก รองจากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ แคนาดา บราซิล จีน และออสเตรเลีย ตามลำดับ และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ไทยมีศักยภาพในการผลิตอาหารส่งออก ได้แก่ แหล่งวัตถุดิบอาหารในประเทศ และประสบการณ์ในการผลิตอาหารจนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งเกื้อหนุนให้ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเป็นอันดับต้นๆ ของโลกในสินค้าหลายรายการ ได้แก่ สินค้าประมง (กุ้งและปลา) ไก่ ข้าว และสับปะรดกระป๋อง โดยเฉพาะสินค้าประมงซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกกุ้งเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ขณะที่ไทยส่งออกปลาและอาหารทะเลมากเป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากจีน และนอร์เวย์ ตามลำดับ

การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย (ไม่ถึงร้อยละ 1) เมื่อเทียบกับมูลค่าส่งออกอาหารทั้งหมดของไทย และส่วนแบ่งตลาดอาหารฮาลาลของไทยในตลาดโลกค่อนข้างต่ำเช่นกัน ศักยภาพในการผลิตอาหารของไทยและตลาดอาหารฮาลาลของโลกที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกอาหารฮาลาลไทยมีโอกาสขยายตัวในตลาดโลกได้อีกมาก หากไทยพัฒนาการผลิตและรูปแบบของผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น น่าจะมีโอกาสขยายตลาดส่งออกได้ดี ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้จากการส่งออกและสนับสนุนนโยบายครัวไทยสู่โลกได้อีกทางหนึ่ง

นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐ – การผลิตอาหารฮาลาลของไทยอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี สตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นแหล่งที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลของไทย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ปัตตานี ขณะเดียวกันภาครัฐกำลังผลักดันให้จังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันเป็นแหล่งผลิตสินค้าอาหารฮาลาลด้วย เนื่องจากหลายจังหวัดที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบสำหรับผลิตอาหารฮาลาล เช่น จังหวัดระนองมีวัตถุดิบสัตว์น้ำและอาหารทะเล ส่วนจังหวัดกระบี่มีความพร้อมด้านสินค้าเกษตร เช่น มะม่วงหิมพานต์ รวมถึงสินค้าปศุสัตว์ ได้แก่ แพะ แกะ โคและกระบือ จึงถือเป็นแหล่งสนับสนุนด้านวัตถุดิบสำหรับผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปฮาลาลเพื่อส่งออก

ตลาดส่งออกอาหารฮาลาลไทยที่มีศักยภาพ
 ตลาดตะวันออกกลาง –
ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่น่าจับตามองมาก โดยเฉพาะสินค้าปศุสัตว์ฮาลาล เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกสินค้าฮาลาลที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดี จากกำลังซื้อของประชาชนในตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้นตามรายได้จากการส่งออกน้ำมันที่ราคาอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลไทยควรเน้นเจาะตลาดส่งออกประเทศในตะวันออกกลางที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มนำเข้าอาหารฮาลาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอ่าว (Gulf Cooperation Council : GCC) ถือเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง แม้จำนวนประชากรไม่มากนักราว 39 ล้านคน แต่รายได้เฉลี่ยต่อคนค่อนข้างสูงราว 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และกลุ่ม GCC มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้จากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศ UAE มีรายได้เฉลี่ยต่อคนราว 42,275 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่ม GCC ขณะที่ซาอุดีอาระเบียมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีราว 15,416 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) อนุญาตการนำเข้าสินค้าไก่แปรรูปฮาลาลจากไทยในเดือนกันยายน 2550 โดยอนุมัติโรงฆ่าสัตว์ปีกจำนวน 24 โรง และโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจำนวน 36 โรงงานของประเทศไทย หลังจากเจ้าหน้าที่ทางการ UAE เข้ามาตรวจสอบกระบวนการผลิตอาหารของไทยซึ่งสอดคล้องตามกฎหมายอิสลาม นอกจากนี้ UAE ยังให้การรับรองคุณภาพของอาหารไก่แปรรูปของไทยที่ส่งออกไปประเทศกลุ่ม GCC ด้วย การที่ UAE ให้การรับรองไก่แปรรูปฮาลาลส่งออกของไทยไป UAE และกลุ่มประเทศ GCC คาดว่าจะช่วยให้ไก่แปรรูปส่งออกของไทยไปกลุ่ม GCC มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากกลุ่ม GCC ใช้มาตรฐานสินค้าร่วมกัน และจะสนับสนุนให้อาหารฮาลาลอื่นๆ ของไทยที่มีแนวโน้มเข้าสู่ตลาด GCC ได้มากขึ้นด้วย

ตลาดอาเซียน – ประเทศอาเซียนที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่มาก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน โดยเฉพาะอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกอาหารฮาลาลที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นประเทศมุสลิมที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ประชากรมุสลิมในอินโดนีเซียมีประมาณกว่า 200 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 84 ของประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซียที่มีจำนวนประมาณ 237 ล้านคน ความต้องการบริโภคสินค้าที่ได้รับการรับรองฮาลาลมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประชากรชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมีจำนวนราว 20 ล้านคน ที่สำคัญ คือ อินโดนีเซียผลิตอาหารในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการภายใน จึงต้องนำเข้าอาหารฮาลาลจากต่างประเทศ โดยเฉพาะเนื้อ ปศุสัตว์ และนม มูลค่านำเข้าสินค้าฮาลาลของอินโดนีเซียในปี 2549 มีประมาณ 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยไปอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และผู้ส่งออกอาหารฮาลาลไทยไปอินโดนีเซียยังได้รับผลดีจากสิทธิประโยชน์ด้านภาษีภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ด้วย

นอกจากนี้ แม้ว่าอินโดนีเซียจะมีแหล่งทรัพยากรประมงที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าประมงสุทธิ โดยเฉพาะกุ้งและปลาที่นำรายได้จากการส่งออกเข้าประเทศ แต่ความต้องการบริโภคสินค้าประมงภายในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว ตามการขยายตัวของจำนวนประชากรอินโดนีเซียร้อยละ 1.34 ต่อปี ส่งผลให้การนำเข้าสินค้าประมงของอินโดนีเซียมีอัตราขยายตัวในระดับสูง ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของการส่งออกสินค้าประมง นอกจากนี้ อินโดนีเซียยังประสบปัญหาการลักลอบจับปลาที่ผิดกฎหมายในน่านน้ำอินโดนีเซียที่มีปริมาณอย่างน้อย 1.5 ล้านตันต่อปี ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้แหล่งวัตถุดิบประมงของอินโดนีเซียไม่เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตทั้งเพื่อการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการผลิตสินค้าประมงเพื่อส่งออกของอินโดนีเซียด้วย จึงน่าจะเป็นโอกาสให้สินค้าส่งออกอาหารประมงฮาลาลของไทยไปอินโดนีเซียขยายตัวได้ดีเช่นกัน เพื่อรองรับความต้องการบริโภคสินค้าประมงภายในอินโดนีเซียที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

ตลาดประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม – ประเทศที่ไม่ใช่มุสลิม (Non-Muslim Countries) แต่มีคนมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากก็ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพของการส่งออกอาหารฮาลาลเช่นกัน เช่น ประเทศอินเดียมีชาวมุสลิมมากถึง 140 ล้านคน ประเทศจีนมีชาวจีนที่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 40 ล้านคน การส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีโอกาสเติบโตในตลาดจีนและอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ เนื่องจากอำนาจซื้อของคนจีนและอินเดียที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะตลาดอินเดียที่มีชนชั้นกลางซึ่งมีอำนาจซื้อถึงราว 300 ล้านคน ซึ่งแม้ว่าส่วนหนึ่งจะไม่ใช่คนมุสลิม แต่แนวโน้มที่คนกลุ่มนี้จะหันมานิยมบริโภคอาหารฮาลาลมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากความต้องการสินค้าที่มีคุณภาพและคำนึงถึงสุขภาพอนามัยมากขึ้น

ส่วนประเทศสหรัฐอเมริกามีผู้นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 8 ล้านคน แม้คนมุสลิมในสหรัฐฯ มีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับประชากรชาวมุสลิมทั้งโลก แต่อำนาจซื้อของชาวอเมริกันที่นับถือศาสนาอิสลามค่อนข้างสูง จึงถือเป็นตลาดหนึ่งที่สินค้าส่งออกอาหารฮาลาลของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ จากปัจจุบันที่สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอาหารแปรรูปที่สำคัญของไทย โดยมีมูลค่าสูงเป็นอันดับที่ 1 ที่สำคัญ ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูป ไทยจึงควรหาโอกาสขยายการส่งออกอาหารฮาลาลที่มีความหลากหลายเข้าไปสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น อาหารพร้อมรับประทาน ผักแปรรูป และเครื่องดื่มแปรรูป ซึ่งเน้นเรื่องสุขภาพ เช่น ปราศจากไขมัน/น้ำตาล หรือผสมสมุนไพร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าส่งออกของไทย

ความท้าทายของอาหารฮาลาลไทยในตลาดโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่าแม้การส่งออกอาหารฮาลาลไทยจะมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) ตลาดมุสลิมของโลกที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องจากจำนวนประชากรมุสลิมที่เพิ่มขึ้น และกำลังซื้อของคนมุสลิม โดยเฉพาะประเทศในตะวันออกกลางที่สูงขึ้น จากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของการส่งออกน้ำมันที่ราคาอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งความนิยมอาหารฮาลาลที่ขยายมาสู่กลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ใช่คนมุสลิมในประเทศต่างๆ ซึ่งหันมาเน้นบริโภคอาหารที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น รวมทั้ง (2) ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกอาหารฮาลาลจากการที่ไทยเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบอาหารในประเทศและเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตอาหาร และได้รับการยอมรับในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม สิ่งท้าทายการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยที่ภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนควรร่วมมือกันพัฒนาให้มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง ได้แก่ การสร้างตรารับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลของไทยให้ได้รับการยอมรับในตลาดโลก รวมทั้งสิ่งท้าทายจากการแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลในตลาดโลกที่ปัจจุบันหลายประเทศเล็งเห็นถึงศักยภาพของโอกาสในการขยายการส่งออกอาหารฮาลาล เช่น ประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างมาเลเซีย

สร้างการยอมรับตรารับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลไทย – เนื่องจากไทยไม่ได้เป็นประเทศมุสลิมถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตรารับรองมาตรฐานอาหาร ฮาลาลของไทยในสายตาผู้บริโภคมุสลิม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลที่เป็นประเทศมุสลิม เช่น ประเทศมาเลเซีย ส่งผลให้ตรารับรองสินค้าอาหารฮาลาลของมาเลเซียในปัจจุบันได้รับความเชื่อถือและมีชื่อเสียงมากกว่าตรารับรองสินค้าฮาลาลของไทย อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศมุสลิมต่างๆ นำเข้าอาหารฮาลาลจากประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมมีมูลค่าสูง โดยประเทศผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลที่สำคัญของโลกในปัจจุบัน ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย มีการส่งออกเนื้อสัตว์ฮาลาลรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการส่งออกไปขายมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก ในขณะที่ประเทศบราซิล เป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลที่สำคัญออกไปจำหน่ายในตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งแม้ว่าประเทศเหล่านี้ไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่การผลิตอาหารฮาลาลที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดของหลักศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดจึงได้รับการยอมรับและความน่าเชื่อถือในคุณภาพสินค้าจากผู้บริโภคมุสลิม จนเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาลเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หากสินค้าส่งออกอาหารฮาลาลของไทยที่พัฒนาคุณภาพและความน่าเชื่อถือด้านมาตรฐานตามข้อกำหนดอาหารฮาลาลจนทำให้ตรารับรองมาตรฐานอาหารฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคแล้ว เชื่อว่าสินค้าอาหารฮาลาลส่งออกของไทยน่าจะมีโอกาสขยายตัวได้ดีเช่นกัน

การตรวจสอบและรับรองคุณภาพอาหารฮาลาลที่เข้มงวดทั้งด้านมาตรฐานการผลิตอาหารฮาลาล มาตรฐานการตรวจรับรองฮาลาลสำหรับผู้ตรวจประเมิน และมาตรฐานหน่วยรับรองฮาลาล (Certified Body) เป็นมาตรการสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยควรเร่งรัดดำเนินการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้สินค้าอาหารฮาลาลส่งออกของไทยมีคุณภาพตามมาตรฐานอาหารฮาลาลสากล และสร้างความน่าเชื่อถือของตรารับรองสินค้าฮาลาลของไทยในตลาดโลกมากขึ้น

การจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของมาเลเซีย – มาเลเซียมีข้อได้เปรียบด้านการส่งออกอาหารฮาลาลเนื่องจากเป็นประเทศมุสลิม จึงทำให้ตรารับรองอาหารฮาลาลของมาเลเซียได้รับการยอมรับในตลาดโลก มาเลเซียมีนโยบายส่งเสริมการผลิตอาหารฮาลาลส่งออก และมีแผนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลทางตอนเหนือของมาเลเซียใกล้กับชายแดนของจังหวัดสงขลา ขณะที่ไทยก็กำลังจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ปัตตานีเช่นกัน จึงถือเป็นสิ่งท้าทายของการผลิตสินค้าอาหารฮาลาลส่งออกของไทยที่ต้องแข่งขันกับอาหารฮาลาลส่งออกของมาเลเซียในตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันสินค้าอาหาร ฮาลาลของมาเลเซียค่อนข้างมีชื่อเสียงในตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ไทยมีข้อได้เปรียบด้านศักยภาพในการผลิตอาหาร ซึ่งการผลิตอาหารของไทยมีความทันสมัยและก้าวหน้า นอกจากนี้ ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารสุทธิที่มีแหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ ขณะที่มาเลเซียยังเป็นประเทศนำเข้าสุทธิสินค้าอาหาร โดยมูลค่านำเข้าอาหารของมาเลเซียปีละมากกว่า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สินค้าอาหารที่มาเลเซียนำเข้าสุทธิ เช่น เนื้อวัว และเนื้อแกะ นอกจากนี้ การที่ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซียมีความร่วมมือกันภายใต้ความร่วมมือโครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) โดยมีนโยบายร่วมมือกันพัฒนามาตรฐานอาหารฮาลาลร่วมกันเพื่อให้สินค้าอาหารฮาลาลเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ซึ่งการที่มาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิมจึงน่าจะช่วยส่งเสริมให้สินค้าอาหารฮาลาลส่งออกของไทยได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก

ผู้ส่งออกอาหารฮาลาลไทย ควรศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคเพื่อผลิตสินค้าให้ตรงตามความต้องการด้านสุขภาพและคุณภาพของสินค้า รวมทั้งการผลิตต้องสอดคล้องตามหลักศาสนาอิสลาม โดยฉลากสินค้าควรระบุแหล่งที่มา วิธีประกอบอาหาร และส่วนประกอบอาหารให้ชัดเจน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกอาหารฮาลาลไทยควรคำนึงถึงข้อกำหนดของสินค้าฮาลาลในแต่ละประเทศที่เป็นตลาดส่งออกด้วย ทั้งนี้ การสนับสนุนการส่งออกอาหารฮาลาลของไทยในตลาดโลกเป็นการส่งเสริมนโยบายครัวไทยสู่โลกแล้ว การที่ธุรกิจภาคบริการสามารถถูกรับรองว่าเป็นฮาลาลได้เช่นกัน เช่น บริการทางการเงิน และบริการด้านท่องเที่ยว ไทยจึงควรพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านท่องเที่ยวของไทยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติชาวมุสลิม เช่น ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งจะส่งเสริมศักยภาพด้านท่องเที่ยวของไทยและกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติชาวมุสลิมเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น จากปัจจุบันที่นักท่องเที่ยวจากประเทศในตะวันออกกลางที่เดินทางมาประเทศไทยยังมีจำนวนไม่มากนัก ทั้งยังสนับสนุนยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางธุรกิจฮาลาล (Thailand Halal Hub) ด้วย