ความเหลื่อมล้ำของรายได้…อุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ

เมื่อกล่าวถึง การพัฒนาประเทศ คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าต้องเป็นการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เช่นเดียวกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในอดีตที่ผ่านมา มักมุ่งเน้นไปที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP growth) และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งที่จริงแล้วการพัฒนาประเทศมิได้หมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ควรจะครอบคลุมไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในทางที่ดีขึ้น อาทิ สิ่งแวดล้อมดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และความเหลื่อมล้ำในด้านต่างๆ ของคนในสังคมควรจะน้อยลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายรายได้ เนื่องจากรายได้เป็นตัวแปรหนึ่งที่บอกถึงความสามารถของคนในการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรของสังคมเพื่อการดำรงชีวิต ดังนั้น การกระจายรายได้จึงเป็นตัวแปรที่บ่งชี้ถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศที่สำคัญประการหนึ่ง

การพัฒนาเศรษฐกิจ…ความยากจนลดลง แต่ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น
จากการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า เศรษฐกิจไทยประสบความสำเร็จในการแก้ไขภาวะความยากจนเชิงรายได้ในระดับหนึ่ง โดยคนส่วนใหญ่มีความเป็นอยู่ดีขึ้นจากความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นเนื่องจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2531 จนถึงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้คนมีงานทำและมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น (สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างที่แท้จริงในทุกภาคการผลิต) ส่งผลให้ปัญหาความยากจนบรรเทาลงได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Poverty line) มีแนวโน้มลดลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องจากที่เคยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 42.2 ของประชากรทั้งประเทศ หรือจำนวน 22.1 ล้านคน ในปี 2531 เหลือเพียงร้อยละ 14.8 หรือจำนวน 8.5 ล้านคนในปี 2539 แต่หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เศรษฐกิจหยุดชะงักส่งผลให้สัดส่วนคนจนกลับเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง แต่หลังจากปี 2543 เป็นต้นมา จำนวนคนจนและสัดส่วนคนจนได้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง และจากการรายงานความยากจนล่าสุดในปี 2549 ประเทศไทยมีจำนวนคนจนที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่ระดับ 1,386 บาทต่อเดือน ร้อยละ 9.5 หรือประมาณ 6.1 ล้านคน โดยกว่าร้อยละ 80 ของคนจนดังกล่าว อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ

ถึงแม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการทำให้จำนวนประชากรที่ยากจนลดลง แต่กลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ เห็นได้จากปัจจุบันปัญหาด้านการกระจายรายได้ของไทยโดยรวมแย่ลง โดยค่าสัมประสิทธิ์จีนี่ (Gini Coefficient) ของรายได้ ทั้งประเทศปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.48 ในปี 2531 เป็น 0.51 ในปี 2549 และปรับเพิ่มขึ้นในทุกภาค ซึ่งดัชนีดังกล่าวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการกระจายรายได้ที่แย่ลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่แย่ที่สุด รองลงมาคือภาคเหนือ นอกจากนี้ ช่องว่างของรายได้ระหว่างภาคต่างๆ ของประเทศและระหว่างเขตเมืองกับเขตชนบทก็เพิ่มมากขึ้นด้วย

เมื่อพิจารณาช่องว่างของรายได้ระหว่างคนในกลุ่มชั้นรายได้ต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มประชากรตามระดับรายได้ (Quintile by Income) เป็น 5 กลุ่มเท่าๆ กันเรียงลำดับตามรายได้จากน้อยไปหามาก จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันของรายได้ในแต่ละชั้นมากทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มคนร่ำรวยสุดกับกลุ่มคนยากจนสุดทั่วประเทศ ในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2531-2549) จะเห็นความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างประชากรใน 2 กลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก โดยข้อมูลล่าสุด กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดชั้นรายได้ที่ 1 มีรายได้เฉลี่ยเพียง 1,003 บาทต่อเดือน ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดมีรายได้เฉลี่ยสูงถึง 14,693 บาทต่อเดือน นอกจากนี้กลุ่มชั้นรายได้ที่ 1 ยังมีส่วนแบ่งรายได้ต่อรายได้รวมทั้งประเทศต่ำมาก จากในอดีตที่เคยมีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็นร้อยละ 4.6 ในปี 2531 เหลือเพียงร้อยละ 3.8 ในปี 2549 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้สูงสุดกลับมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54.4 ของรายได้รวม เป็นร้อยละ 56.3 ในช่วงเวลาเดียวกัน กล่าวคือ กลุ่มคนรวยที่สุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมด และความเหลื่อมล้ำของรายได้จะยิ่งชัดเจนมากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบช่องว่างของรายได้ระหว่างกลุ่มคนรวยกับกลุ่มคนจนที่มีรายได้สูงสุดและต่ำสุดร้อยละ 20 ที่เพิ่มขึ้นจาก 11.9 เท่าในปี 2531 เป็น 14.7 เท่าในปี 2549

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศต่างๆ ทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น เดนมาร์ก เบลเยี่ยม สวีเดน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น และประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น พบว่า ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำของรายได้สูงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาของการพัฒนาประเทศตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา

จากปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ที่นับวันจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าว น่าจะมีความสัมพันธ์กับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เนื่องจากแผนพัฒนาฯ เกือบทุกฉบับ โดยเฉพาะแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-7 ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ส่วนเป้าหมายด้านการกระจายรายได้เป็นเป้าหมายที่เริ่มมีการคำนึงถึงในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 4 และเป้าหมายการแก้ไขปัญหาความยากจนมีการกล่าวถึงในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 5 และปรากฎเป็นรูปธรรมในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 7 แต่ทั้งสองเป้าหมายดังกล่าว ไม่ได้เป็นเป้าหมายที่สำคัญลำดับแรกเหมือนดังเช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาจึงเป็นลักษณะการใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นตัวนำการพัฒนาประเทศ โดยหวังว่าจะอาศัยกลไกการไหลลงสู่เบื้องล่าง (Trickle down effect) จะทำให้ปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ดีขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นมีเพียงภาวะความยากจนเท่านั้นที่ลดลง ในขณะที่การกระจายรายได้มีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น

นอกจากนี้ มีความเป็นไปได้ว่าคุณภาพของการศึกษายังมีส่วนกำหนดระดับของปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงมักจะมีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้น้อย เช่น ประเทศฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และสวีเดน เป็นต้น โดยมีค่า Gini coefficient อยู่ระหว่าง 0.25-0.35 สำหรับประเทศไทย แม้อัตราการเข้าเรียนหนังสือตามเกณฑ์อายุของเด็กไทยมีแนวโน้มดีขึ้นทุกระดับชั้น รวมทั้งจำนวนปีที่ได้รับการศึกษาโดยเฉลี่ยของคนไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปจะเพิ่มขึ้น (ด้านปริมาณเพิ่มขึ้น) อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่เท่าเทียมของโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากคนในภาคอีสานยังได้รับการศึกษาน้อยกว่าภาคอื่นๆ นอกจากนี้ คุณภาพการศึกษาของนักเรียนยังมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคเกือบทุกวิชา เห็นได้จากการประเมินคุณภาพการศึกษาในโครงการ PISA ของ OECD ในปี 2006 ผลการประเมินชี้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วเมื่อเทียบกับนานาชาติ เด็กไทยยังมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน กล่าวคือ คะแนนการอ่านอยู่ลำดับที่ 41 จาก 56 ประเทศ คะแนนคณิตศาสตร์อยู่ลำดับที่ 44 และวิทยาศาสตร์ลำดับที่ 46 จาก 57 ประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ของประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และเมื่อนำค่า Gini coefficient ของประเทศต่างๆ มาหาความสัมพันธ์ (Correlation) กับคะแนนวัดผลคุณภาพการศึกษาพบว่า มีความสัมพันธ์กันสูงถึงร้อยละ 84.6 โดยคุณภาพการศึกษาที่สูงขึ้นจะทำให้ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ลดลง

แนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้
เมื่อหันมาพิจารณาแนวนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันจะพบว่า เน้นการแก้ปัญหาความยากจน โดยตั้งเป้าหมายของการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน หรือเอสเอ็มแอล เป็นต้น โดยแนวทางที่นำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นลักษณะนโยบายประชานิยมเช่นเดียวกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชุดก่อนหน้า นั่นคือ การพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก ด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรด้านต่างๆ ด้วยการอัดฉีดเงินสู่รากหญ้าผ่านโครงการดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ได้ผลที่เป็นรูปธรรม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนถือว่าดำเนินการมาถูกต้องแล้ว แต่ยังเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพียงด้านเดียวและอาจจะไม่เกิดความยั่งยืน หากเงินที่รัฐให้การสนับสนุนมิได้ถูกใช้เพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือการลงทุนแต่ถูกใช้เพื่อการบริโภค ในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมของสังคมไทยอาจไม่ได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้น และอาจส่งผลต่อความยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขาดโอกาสทางการศึกษาเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ในสังคม โดยทำให้โอกาสก้าวหน้าทางการประกอบอาชีพของประชากรถูกจำกัด นอกจากนี้ แม้หากมีเงินทุนจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐ แต่ขาดความรู้ในการบริหารจัดการ อาทิ ความรู้ในการบริหารจัดการเงินทุนที่ได้รับมาเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ ความรู้ในด้านเทคโนโลยีเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับอาชีพของตนเอง หรือนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโอกาสที่จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนก็มีจำกัด ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าแม้จะมีเงินทุน แต่เมื่อขาดความรู้ ก็อาจนำเงินไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ให้ลดลงได้อย่างยั่งยืน ดังนั้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ดังนี้

การให้ความสำคัญกับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขยายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึง และเร่งปรับปรุงคุณภาพของการศึกษาให้มีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพของการศึกษามีความสัมพันธ์โดยตรงต่อรายได้ นอกจากนี้ การศึกษายังเป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้อีกทางหนึ่ง

การอัดฉีดเงินสู่รากหญ้าผ่านโครงการต่างๆ ควรมีการอบรมให้ความรู้ และให้คำปรึกษาแนะนำด้านการบริหารจัดการ เพื่อให้สามารถนำเงินทุนที่ได้รับไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ แม้ภาครัฐจะมีการดำเนินการอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว อาทิ การให้ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธกส. เป็นพี่เลี้ยง สำหรับโครงการเอสเอ็มแอล แต่อาจจะพิจารณาขยายโครงการอบรมให้ความรู้ เพื่อช่วยเหลือการดำเนินการของชุมชนต่างๆ ให้มากขึ้น โดยอาจจะต้องทำการสำรวจความต้องการของชุมชนว่าต้องการความช่วยเหลือทางวิชาการในด้านใดบ้าง เป็นต้น

การใช้นโยบายการคลังเพื่อทำให้ฐานะโดยเปรียบเทียบของคนรวยลดลงและเพิ่มฐานะโดยเปรียบเทียบของกลุ่มคนจนให้เพิ่มขึ้นผ่านมาตรการด้านภาษี ซึ่งเป็นเครื่องมือในการช่วยลดความแตกต่างของรายได้ที่ชัดเจน เช่น ภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดก เป็นต้น เนื่องจากมีผลการศึกษายืนยันได้ว่าการจัดเก็บภาษีมรดกมีผลทำให้ช่องว่างการกระจายความมั่งคั่งในสังคมลดลงเมื่อเทียบกับการไม่จัดเก็บภาษีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมีประเทศในทวีปต่างๆ ทั่วโลกรวม 53 ประเทศที่จัดเก็บภาษีมรดก อาทิ ทวีปยุโรปเกือบทุกประเทศ ทวีปอเมริกาและแอฟริกาอีกหลายประเทศ และทวีปเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี ฟิลิปปินส์ อินเดีย สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน และนิวซีแลนด์ อย่างไรก็ตาม ประเด็นในเรื่องภาษีมรดก เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุไม่ใช่ที่ต้นเหตุของความไม่เท่าเทียมกันของรายได้

การรักษาการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และมีอัตราการขยายตัวระหว่างภาคการผลิตต่างๆ ที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาวะความยากจนได้แล้ว ยังมีส่วนช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในเขตเมืองกับเขตชนบทได้ด้วย

โดยสรุป เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จของการพัฒนาทางเศรษฐกิจนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำของรายได้ในสังคมไทยเป็นเรื่องสำคัญที่อาจทำให้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศเป็นไปได้ไม่เต็มที่ โดยหากปัญหาดังกล่าวไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ และยังอาจนำไปสู่ปัญหาสังคมและคุณภาพชีวิตในที่สุด ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมา (ปี 2531-2549) การพัฒนาเศรษฐกิจที่มีการเติบโตในอัตราสูงจะทำให้จำนวนประชากรที่ยากจนลดลง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามาตลอด คือ ความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้บรรลุผลเท่าที่ควร ในขณะที่ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต ทั้งนี้ จากข้อมูลส่าสุดในปี 2549 แสดงถึงปัญหาของความเหลื่อมล้ำของรายได้อย่างชัดเจน คือ กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุดร้อยละ 20 แรก มีสัดส่วนของรายได้เพียงร้อยละ 3.8 ของรายได้รวม ในขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดมีสัดส่วนของรายได้ถึงร้อยละ 56.3 ของรายได้รวมทั้งหมด กล่าวคือ กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 20 มีส่วนแบ่งรายได้รวมกันเกินครึ่งหนึ่งของรายได้รวมทั้งประเทศ ในขณะที่ยังไม่มีแนวโน้มที่ชัดเจนใดๆ ว่าช่องว่างของรายได้ระหว่างคนสองกลุ่มนี้จะแคบลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ถึงแม้นโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ด้วยการอัดฉีดเงินสู่รากหญ้าผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล และอื่นๆ จะถือได้ว่าเป็นความตั้งใจที่ดีในการสร้างโอกาสให้กลุ่มคนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรจะต้องสร้างโอกาสด้านการศึกษา ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และพัฒนาคนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน (ปฏิรูปการศึกษา) รวมทั้ง การให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสในด้านเงินทุน (Financial Capital) โดยมีผลทางสถิติเป็นเครื่องยืนยันแล้วว่า คุณภาพของการศึกษามีความสัมพันธ์กับความเท่าเทียมกันด้านรายได้ของประชาชนในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการศึกษานั้น เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และความทุ่มเทอย่างต่อเนื่องกว่าจะเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้รัฐบาลควรต้องกำหนดเป็นแบบยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ โดยหากดำเนินการได้สำเร็จ นอกจากสามารถทำให้ปัญหาการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมในสังคมไทยลดลงได้แล้ว ยังเป็นผลดีอันนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนในที่สุด