เกษตรอินทรีย์ไทยโอกาสก้าวไกล…หากภาครัฐเร่งยกระดับมาตรฐานการผลิต

จากปัญหาความกังวลใจของผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงในการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารตามแนวทางเกษตรกรรมรูปแบบเดิมที่พึ่งพิงการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก ทำให้ผู้คนต่างหันมาสนใจแนวทางการบริโภคตามวิถีธรรมชาติบำบัดกันมากขึ้น เนื่องจากกระแสรักษ์สุขภาพ (Health Conscious) และความใส่ใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าโดยคำนึงถึงสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ รวมทั้งมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดของประเทศผู้นำเข้าอาหาร ส่งผลให้เกิดระบบเกษตรกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศน์เป็นหลักภายใต้แนวทาง “เกษตรอินทรีย์” ทำให้ที่ผ่านมาความต้องการบริโภคอาหารอินทรีย์ขยายตัวมากทั้งภายในและต่างประเทศ ทั้งนี้เกษตรอินทรีย์เป็นตลาดสินค้าเฉพาะกลุ่ม (Segmentation Market) ซึ่งผู้บริโภคเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ความตระหนักในด้านสุขอนามัยและมีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ขณะเดียวกันเกษตรอินทรีย์ยังมีข้อจำกัดในการผลิตซึ่งยังไม่สามารถผลิตในลักษณะเกษตรกรรมขนาดใหญ่ได้ ทำให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีราคาสูง สำหรับตลาดเกษตรอินทรีย์เน้นส่งออกเป็นหลัก ส่วนตลาดในประเทศผู้บริโภคเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงเช่นกัน ขณะที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ของไทยยังคงเผชิญอุปสรรคสำคัญโดยเฉพาะปัญหาการรับรองมาตรฐานการผลิตตามหลักเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่เชื่อถือในระดับสากล แต่หากภาครัฐโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างลุล่วง จะเป็นโอกาสดีของไทยในการขยายตลาดสินค้าอาหารอินทรีย์ไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนให้ไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก (Kitchen of The World) และช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารของไทยต่อไป

เกษตรอินทรีย์แตกต่างจากเกษตรกรรมโดยทั่วไป กล่าวคือ เกษตรอินทรีย์เป็นวิถีการผลิตภายใต้ระบบการจัดการการผลิตด้านการเกษตรแบบองค์รวมที่เกื้อหนุนต่อระบบนิเวศรวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพโดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบจากการสังเคราะห์ และไม่ใช้พืช สัตว์ หรือจุลินทรีย์ที่ได้มาจากเทคนิคการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetic Modification:GMO) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) และมีการจัดการกับผลิตภัณฑ์โดยเน้นการแปรรูปด้วยความระมัดระวังเพื่อรักษาสถาพการเป็นเกษตรอินทรีย์และคุณภาพที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ในทุกขั้นตอน ทั้งนี้หลักการเลือกพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องเป็นพื้นที่ซึ่งไม่เคยทำเกษตรกรรมที่มีการใช้สารเคมีมาไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยมีระยะปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรทั่วไปไปสู่เกษตรอินทรีย์แตกต่างกันตามชนิดของพืชที่เพาะปลูกโดยใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน

สินค้าอาหารอินทรีย์ที่ไทยมีโอกาสขยายตลาดสูงคือ ข้าวอินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์ประมงโดยเฉพาะกุ้งอินทรีย์ สำหรับข้าวอินทรีย์เป็นการผลิตข้าวที่ไม่ใช้สารเคมีทุกชนิดรวมทั้งปุ๋ยเคมีและยาปราบศัตรูพืชในทุกขั้นตอนการผลิตแต่เน้นใช้อินทรียสารจากธรรมชาติเท่านั้น สำหรับสินค้าปศุสัตว์อินทรีย์จะให้ความสำคัญกับวิธีการเลี้ยงสัตว์และจำนวนปศุสัตว์ให้สมดุลกับพื้นที่เพื่อให้มีปริมาณสารอาหารเพียงพอโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งการเติบโตของพืชอาหารสัตว์ และไม่ต้องใช้ฮอร์โมนในการเร่งการเจริญเติบโตของปศุสัตว์ ส่วนสินค้ากุ้งอินทรีย์เป็นการเลี้ยงโดยใช้วิธีบริหารจัดการการฟาร์มโดยเน้นการใช้วัสดุธรรมชาติและไม่ใช้สารเคมีและยาปฏิชีวนะทุกชนิดในทุกขั้นตอนการผลิตรวมทั้งไม่ใช้พืช สัตว์หรือจุลินทรีย์ซึ่งเป็นอาหารสัตว์ที่ได้มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม

พื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั่วโลกยังน้อย แต่โอกาสขยายตัวสูง
 พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของโลก

จากข้อมูล ปี 2550 ทั่วโลกมีหลายประเทศที่สามารถผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ได้จำนวนมากกว่า 120 ประเทศ โดยมีเนื้อที่การผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งโลกประมาณ 30.5 ล้านเฮกตาร์ (190.6 ล้านไร่) ขยายตัวจากปี 2547 ซึ่งมีพื้นที่เกษตรอินทรีย์ทั่วโลก 15.8 ล้านเฮกตาร์ (98.8 ล้านไร่) สำหรับภูมิภาคซึ่งมีการทำการเกษตรอินทรีย์ใหญ่ที่สุดในโลกคือ ภูมิภาคโอเชเนีย สัดส่วนร้อยละ 38.7 (คิดเป็นพื้นที่ 73.8 ล้านไร่) รองลงมาคือ สหภาพยุโรป สัดส่วนร้อยละ 22.6 (คิดเป็นพื้นที่ 43.1 ล้านไร่) ละตินอเมริกา สัดส่วนร้อยละ 19.0 (คิดเป็นพื้นที่ 36.3 ล้านไร่) เอเชีย สัดส่วนร้อยละ 9.5 (คิดเป็นพื้นที่ 18.1 ล้านไร่) อเมริกาเหนือ สัดส่วนร้อยละ 7.2 (คิดเป็นพื้นที่ 13.8 ล้านไร่) และแอฟริกา สัดส่วนร้อยละ 3 (คิดเป็นพื้นที่ 5.6 ล้านไร่) สำหรับประเทศที่มีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในโลกคือ ออสเตรเลีย มีพื้นที่เกษตรอินทรีย์รวม 73.8 ล้านไร่ รองลงมาคือ อาร์เจนตินา พื้นที่ 19.4 ล้านไร่ จีน พื้นที่ 14.4 ล้านไร่ และสหรัฐฯ พื้นที่ 10 ล้านไร่ และหากคิดสัดส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ต่อพื้นที่ทำการเกษตรกรรมรวมทั้งประเทศแล้ว พบว่า สหภาพยุโรปมีสัดส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์สูงที่สุดในโลก โดยมีประเทศลิกเตนสไตน์ มีสัดส่วนพื้นที่เกษตรอินทรีย์ต่อพื้นที่ทำการเกษตรรวมมากที่สุดร้อยละ 27.9 รองลงมาเป็น ออสเตรีย สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี ฟินแลนด์ และสวีเดน เป็นต้น

พื้นที่เกษตรอินทรีย์ของไทย
ไทยมีจำนวนพื้นที่ปลูกเกษตรอินทรีย์รวมทั้งสิ้น 22,000 เฮกตาร์ (พื้นที่รวม 137,500 ไร่) หรือคิดเป็นสัดส่วนพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดของประเทศ ซึ่งนับว่ายังน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อาทิ อาร์เจนตินา เม็กซิโก บราซิล อินเดีย และจีน เป็นต้น และจากรายงานเดือนมกราคมปี 2551 ไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ทั้งกลุ่มพืชผัก ประมง ปศุสัตว์รวมทั้งสิ้น 140,963 ไร่ ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตั้งเป้าวางยุทธศาสตร์การเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์อีกร้อยละ 40 เป็น 200,000 ไร่ ภายในปี 2551-2552 สำหรับสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีสัดส่วนการผลิตมากคือ ข้าว โดยมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ รองลงมาเป็น พืชผักผลไม้ อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดฝักอ่อน ข้าวโพดหวาน ผักตระกูลสลัด กล้วยหอม เครื่องเทศและสมุนไพรต่างๆ เป็นต้น

ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์
 ความต้องการเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกขยายตัวต่อเนื่อง

มูลค่าการซื้อขายผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ทั่วโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยมีอัตราเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 10-20 ต่อปี ทั้งนี้ในปี 2550 มูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นจากปี 2549 ซึ่งมีมูลค่า 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 สำหรับปี 2553 คาดว่า มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดโลกจะเพิ่มเป็น 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากกระแสพฤติกรรมของคนทั่วโลกที่หันไปนิยมบริโภคอาหารที่ผลิตตามวิธีธรรมชาติมากขึ้น

ตลาดเกษตรอินทรีย์หลักร้อยละ 50 อยู่ในสหภาพยุโรป
สัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่สำคัญในตลาดโลก แบ่งเป็นตลาดสหภาพยุโรปมีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 50 ของตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของโลก รองลงมาเป็นตลาดสหรัฐฯ มีสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ร้อยละ 45 สำหรับตลาดญี่ปุ่น มีสัดส่วนร้อยละ 2.3 ตลาดออสเตรเลีย สัดส่วนร้อยละ 1 และสัดส่วนที่เหลือร้อยละ 1.7 เป็นตลาดอื่น อาทิ สิงคโปร์ เป็นต้น โดยมีประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์รายสำคัญในตลาดโลก อาทิ ประเทศแถบแอฟริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย อินเดีย จีน อิสราเอล และเวียดนาม เป็นต้น

ตลาดเกษตรอินทรีย์ของไทย
สำหรับประเทศไทยเองเกษตรอินทรีย์เริ่มเข้ามามีบทบาทตั้งแต่ปี 2535 โดยการนำขององค์กรพัฒนาภาคเอกชน อาทิ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กลุ่มสหกรณ์กรีนเนท เป็นต้น ทั้งนี้ตลาดเกษตรอินทรีย์ของไทยมีอัตราการเติบโตสูง 1-2 เท่าตัวในช่วงระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา และไทยมีเป้าหมายขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ให้ได้ถึง 1,000 ล้านบาทภายใน1-2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้หากเปรียบเทียบสัดส่วนมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ของไทยในตลาดโลก พบว่า ไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้าอาหารอินทรีย์ไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของการค้าเกษตรอินทรีย์ทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก สำหรับผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์ของไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกสู่ต่างประเทศ ได้แก่ กลุ่มข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ปศุสัตว์ กุ้ง ผักและผลไม้เมืองร้อน ธัญพืช สินค้าเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะอาหารแปรรูป เครื่องเทศและสมุนไพร ชา กาแฟ เป็นต้น

สินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยหลายรายการมีศักยภาพส่งออกสูง
จากข้อมูลปี 2550 สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ไทยส่งออกมาก ประกอบด้วยข้าวหอมมะลิมีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 68 รองลงมาเป็น กลุ่มผัก สัดส่วนร้อยละ 12 กลุ่มผลไม้สัดส่วนร้อยละ 8 ชาสัดส่วนร้อยละ 8 ที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรและอื่นๆ ร้อยละ 4 ตามลำดับ ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ที่ไทยมีโอกาสในการขยายตลาดส่งออกมาก ได้แก่ ข้าวอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 96 และเป็นสินค้าที่ต้องการของตลาดในสหภาพยุโรปอย่างมาก ทั้งนี้จากการสำรวจปี 2550 ไทยเป็นประเทศที่มีเนื้อที่การปลูกข้าวอินทรีย์เป็นอันดับหนึ่งของโลก รองลงมาเป็น ฟิลิปปินส์ อิตาลี สหรัฐฯ และปากีสถาน เป็นต้น สำหรับผลิตภัณฑ์อื่นจากข้าวอินทรีย์ที่ไทยส่งออก ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าวอบกรอบ น้ำนมข้าว เป็นต้น กุ้งอินทรีย์ สำหรับนโยบายของกรมประมงในการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์เพิ่มขึ้นโดยเน้นการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์กับสัตว์น้ำ 3 ชนิดคือ กุ้งกุลาดำ กุ้งแวนาไม (กุ้งขาว) และปลาสลิด ผลิตภัณฑ์กุ้งอินทรีย์ที่ขายตามท้องตลาดมีทั้งขายในลักษณะเป็นกุ้งแช่แข็ง กุ้งแช่เย็นสด และกุ้งพร้อมปรุง สำหรับผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์โดยเฉพาะกุ้งทะเลอินทรีย์จนได้รับการรับรองการจัดการฟาร์มตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในระดับสากล จนทำให้สินค้ากุ้งกุลาดำอินทรีย์ของไทยเป็นที่ต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรป ปศุสัตว์อินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ที่ไทยมีศักยภาพในการขยายตลาด ได้แก่ ไก่แปรรูป และสุกรแปรรูป เป็นต้น ผักและผลไม้อินทรีย์ สำหรับผลไม้อินทรีย์ที่ไทยส่งออกส่วนใหญ่เป็นผลไม้เมืองร้อน ได้แก่ กล้วยหอม สับปะรด มะม่วง เงาะ มังคุด ทุเรียน ลิ้นจี่ และขนุน เป็นต้น โดยมีตลาดส่งออกสำคัญในสหภาพยุโรป ส่วนผลไม้อินทรีย์แปรรูปที่ส่งออก อาทิ ผลไม้แห้ง น้ำผลไม้ และผลไม้กระป๋อง เป็นต้น สำหรับผักอินทรีย์ที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นผักสลัด ผักรับประทานทั้งรากหรือหัว เช่น แครอท มันฝรั่ง และผักอื่นๆ เป็นต้น โดยตลาดส่วนใหญ่อยู่ในสหภาพยุโรปเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีเครื่องเทศและสมุนไพรอินทรีย์ ชาและกาแฟอินทรีย์ เป็นต้น

ปัจจัยสนับสนุนและปัจจัยเสี่ยงของเกษตรอินทรีย์ไทย
ปัจจัยสนับสนุน

กระแสรักษ์สุขภาพเป็นส่วนกระตุ้นสำคัญที่ส่งผลให้ความต้องการสินค้าอาหารอินทรีย์ในตลาดโลกโตเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เนื่องจากคนหันมาใส่ใจในการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพมากขึ้น แม้สินค้าอาหารอินทรีย์จะมีราคาจำหน่ายสูงกว่าราคาสินค้าเกษตรโดยทั่วไป และปริมาณการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการบริโภคที่ขยายตัวสูง ขณะเดียวกันตลาดสินค้าอาหารเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกยังมีสัดส่วนน้อยไม่เกินร้อยละ 2 ของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทั้งหมดของโลก จึงอาจกล่าวได้ว่าตลาดการค้าเกษตรอินทรีย์ยังเปิดกว้างได้อีกมาก

การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ช่วยลดประเด็นมาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ประเทศผู้นำเข้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและญี่ปุ่น ต่างใช้มาตรการหลายรูปแบบเพื่อใช้กีดกันการส่งสินค้าเกษตรเข้าไปจำหน่ายในประเทศของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคแห่งการค้าเสรี (Free Trade Area) ทำให้กำแพงภาษีระหว่างกันลดลงอย่างมาก ดังนั้นประเทศต่างๆ จึงหันมาใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษีเป็นเครื่องมือสำคัญในการกีดกันทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการด้านสุขอนามัย มาตรการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าอาหาร ตลอดจนมาตรการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างในอาหาร ซึ่งล้วนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปสู่ตลาดต่างประเทศ

เกษตรอินทรีย์ของไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระยะเริ่มต้นไปสู่การพัฒนามากขึ้น แต่เดิมการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ของไทยยังคงมีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่ซับซ้อน แต่ขณะนี้การทำเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ระยะแห่งการเปลี่ยนแปลงตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ที่มีความเป็นสากลมากขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องใช้เวลาในการปรับตัวและพัฒนาปรับปรุงมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์มาก อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรอินทรีย์ของไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงจากระบบผลิตเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยซึ่งผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองตลาดเฉพาะกลุ่ม แต่ขณะนี้เริ่มหันไปสู่การทำเกษตรอินทรีย์ขนาดใหญ่ในลักษณะเป็น Mass Product โดยนักลงทุนรายใหญ่มากขึ้น

ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ชัดเจน ทั้งนี้ไทยซึ่งเป็นประเทศเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมาก ขณะเดียวกันองค์ความรู้เรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ที่ผ่านมาได้รับการพัฒนามาจากเครือข่ายองค์กรทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาครัฐบาลเองโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง ทำให้มีการร่วมกันวางยุทธศาสตร์และแนวทางในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทั้งการถ่ายทอดความรู้ความชำนาญในการผลิต และการร่วมมือกันเพื่อให้เกิดการพัฒนามาตรฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้ทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ตลอดจนดำเนินการร่วมกันจัดทำแผนยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์เพื่อให้ไทยสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าอาหารได้มากขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง
แม้มีปัจจัยเกื้อหนุนต่อการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ของไทยในอนาคตหลายประการดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่เกษตรอินทรีย์ยังมีปัญหาและอุปสรรคหลัก 2 ประเด็นคือ ปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากการผลิตเกษตรอินทรีย์ยังเป็นการผลิตในลักษณะขนาดเล็ก เกษตรกรยังไม่สามารถผลิตในระดับใหญ่ได้ และการทำเกษตรอินทรีย์มีความเสี่ยงจากความเสียหายของผลผลิตสูงกว่าเนื่องจากการไม่ใช้สารเคมี ทำให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่ต่ำและมีต้นทุนการผลิตสูง ส่งผลให้ปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ออกสู่ตลาดน้อย ส่วนปัจจัยที่สองคือ ปัญหาด้านการตลาด สำหรับตลาดในประเทศยังคงมีกลุ่มผู้บริโภคจำกัด เนื่องจากสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีราคาสูง ขณะเดียวกันประชาชนเองก็ยังขาดความตระหนักต่อความสำคัญของผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ไม่มากเท่าที่ควร สำหรับตลาดส่งออกไทยยังคงเผชิญอุปสรรคสำคัญ คือ ปัญหาการผลิตให้ได้มาตรฐานตามแนวทางการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่ยอมรับตามหลักสากล ทั้งนี้สามารถแบ่งประเด็นการวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของประเด็นดังกล่าวออกเป็น

ปัญหาการยกระดับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ไทยยังคงขาดองค์กรที่มีเอกภาพซึ่งให้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เชื่อถือได้ (Certified Body) ในระดับโลก ดังนั้นหากไทยไม่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจะทำให้ส่งผลกระทบต่อการค้าขายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในตลาดต่างประเทศ ทั้งนี้ปัจจุบันยังคงมีความแตกต่างกันของมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ในแต่ละประเทศ ทั้งมาตรฐานการผลิต การตรวจสอบสินค้า และมาตรฐานการติดฉลากผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ ดังนั้นจึงมีความพยายามในการสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นระบบเดียวกันและมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับรองระบบงาน (Accreditation) สร้างระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Tracibility) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก สำหรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของต่างประเทศที่บังคับใช้มีทั้งมาตรฐาน EU Regulation 2092/91 ของสหภาพยุโรป มาตรฐาน NOP (National Organic Program) ของสหรัฐฯ และมาตรฐาน JAS (Japanese Associate Standard)ของญี่ปุ่น ซึ่งกำหนดขึ้นตามมาตรฐาน CODEX และมาตรฐาน IFOAM Basic Standard สำหรับภาครัฐได้วางแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้มติครม. เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2551 เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์แห่งชาติฉบับที่ 1ปี 2551-2554 โดยวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ทุกระดับอย่างเป็นเอกภาพโดยการประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาขาดการพัฒนาองค์ความรู้ (Knowledge) ของเกษตรกรและผู้บริโภค ที่ผ่านมาภาครัฐยังขาดการรณรงค์ส่งเสริมและให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่เกษตรกรและผู้บริโภคทั่วไปให้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตและการบริโภคอาหารอินทรีย์อย่างเพียงพอ ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวภาครัฐจึงควรเร่งส่งเสริมประชาสัมพันธ์หลักเกณฑ์การทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกหลักมาตรฐานสากล รวมทั้งเร่งส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการบริโภคผลิตภัณฑ์อินทรีย์ ซึ่งจะช่วยผลักดันการขยายการส่งออกของไทยต่อไป

โครงสร้างพื้นฐานการทำเกษตรกรรมแบบเดิมเป็นอุปสรรคต่อระบบเกษตรอินทรีย์ โครงสร้างการใช้ที่ดิน (Land Use) แบบเดิม ทำให้ความเสี่ยงจากการปนเปื้อนของวัตถุดิบต้นทางในการแปรรูปอาหารมีมาก และการควบคุมเป็นไปได้ยากลำบาก หากมีพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ใกล้เคียงกับพื้นที่ที่มีการใช้สารเคมี ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดการปนเปื้อนสูง สำหรับทางออกที่เหมาะสมในการพัฒนาพื้นที่เกษตรอินทรีย์ โดยภาครัฐควรวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการผลิตเกษตรอินทรีย์โดยการแบ่งเขตพื้นที่เพาะปลูก (Zoning) ให้ชัดเจนเพื่อให้ง่ายแก่การควบคุมและดูแลมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์

ปริมาณผลผลิตเกษตรอินทรีย์ยังน้อย ราคาสูง สินค้าไม่หลากหลายทำให้ผู้บริโภคยังจำกัดเฉพาะกลุ่ม การทำเกษตรอินทรีย์มีข้อจำกัดในการผลิตซึ่งเกษตรกรยังไม่สามารถผลิตในระดับเกษตรกรรมขนาดใหญ่ได้ ทำให้มีต้นทุนการผลิตสูง และให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำกว่าการเพาะปลูกโดยวิธีปกติที่มีการใช้สารเคมี เนื่องจากผลผลิตมีแนวโน้มจะเสียหายได้ง่ายกว่า อีกทั้งการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ต้องดูแลเอาใส่ใจและต้องใช้แรงงานในการดูแลมาก ทำให้ปริมาณสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่เกษตรกรยังมีการผลิตอาหารอินทรีย์เพียงไม่กี่ชนิด และสินค้าเกษตรอินทรีย์มีข้อจำกัดเนื่องจากมีราคาสูงกว่าสินค้าเกษตรโดยทั่วไปร้อยละ 20-30 ทำให้ตลาดยังคงจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ขณะที่แนวโน้มการบริโภคผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ซึ่งมีความต้องการมากกว่าอุปทานการผลิต ดังนั้นแนวทางออกของปัญหาดังกล่าวคือ การเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ให้กว้างขวางขึ้น และขยายพื้นที่ผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยการทำ Contract Farming มากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง และทำให้มีโอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ต่ำลง รวมทั้งภาครัฐควรเร่งส่งเสริมการผลิตสินค้าตามความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายใหญ่ยังพยายามในการขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ในลักษณะเกษตรกรรมขนาดใหญ่มากขึ้น ซึ่งต้องมีการบริการจัดการการผลิตที่ดีและมีระบบการตรวจรับรองมาตรฐานสินค้าอย่างเข้มงวด และหากสามารถทำได้ก็จะส่งผลดีทั้งต่อเกษตรกรเองและผู้บริโภค ทำให้มีมาตรฐานความปลอดภัยในการทำเกษตรกรรมตลอดจนมีสุขอนามัยในการบริโภคดีขึ้นด้วย

บทสรุป
จากปัจจัยหลายด้านซึ่งมีส่วนช่วยสนับสนุนให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีโอกาสขยายตัวสูงทั้งตลาดภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคปัจจุบันที่หันมาใส่ใจต่อสินค้าเพื่อสุขภาพกันมากขึ้น กระแสด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความพยายามยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของตลาดต่างประเทศ รวมถึงมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดของประเทศผู้นำเข้าอาหาร ซึ่งปัจจัยดังกล่าวนี้ล้วนส่งผลดีต่อการพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทย ทำให้ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก ตลอดจนช่วยเพิ่มรายได้จากการส่งออกให้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ประเด็นที่น่าสนใจของเกษตรอินทรีย์ไทยคือ ไทยมี ปัจจัยสนับสนุน จากความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ขยายตัวตามกระแสรักษ์สุขภาพของผู้บริโภคทั่วโลก อีกทั้งตลาดการค้าอาหารอินทรีย์ยังคงมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับการค้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยรวมของโลก และการผลิตตามแนวทางเกษตรอินทรีย์ยังช่วยลดประเด็นมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ของประเทศผู้นำเข้า อาทิ มาตรการด้านสุขอนามัย มาตรการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า มาตรการตรวจสอบสารปนเปื้อนตกค้างในผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ทั้งนี้การผลิตเกษตรอินทรีย์ของไทยเริ่มมีการพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น รวมทั้งภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างเด่นชัด แต่การทำเกษตรอินทรีย์ของไทยยังมี ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญเรื่องการยกระดับมาตรฐานการผลิตและการตรวจรับรองผลิตภัณฑ์ให้เป็นมาตรฐานที่เชื่อถือและยอมรับของตลาดโลก ขณะที่ภาครัฐได้มีการวางแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเหมาะสมแล้ว โดยการเร่งพัฒนาองค์กรที่จะดูแลเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลเพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ตลอดจนวางแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นเอกภาพโดยเร่งประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยหน่วยงานกรมวิชาการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงพาณิชย์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติในการกำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน โดยผลักดันนโยบายเกษตรอินทรีย์ทั้งด้านการผลิตและการสร้างเครือข่าย ด้านระบบมาตรฐาน ด้านการตลาด ด้านองค์ความรู้และนวัตกรรม ด้านการบริการจัดการ และบูรณาการการพัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยไปสู่ตลาดโลก รวมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจแก่เกษตรกรและเร่งส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรอินทรีย์ ตลอดจนภาครัฐควรเร่งการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์แยกจากการทำเกษตรกรรมโดยทั่วไปอย่างเหมาะสม โดยการวางนโยบายจำกัดเขตพื้นที่เพาะปลูก (Zoning) เกษตรอินทรีย์อย่างชัดเจน ตลอดจนส่งเสริมปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภค โดยการขยายพื้นที่ผลิตเกษตรอินทรีย์ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะการทำ Contract Farming มากขึ้น และเร่งขยายการผลิตสินค้าให้มีความหลากหลายขึ้น เพื่อให้ยุทธศาสตร์ด้านเกษตรอินทรีย์สามารถขับเคลื่อนไปอย่างมีประสิทธิภาพอันจะช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ของไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต