ผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมีย ได้เฮ วัคซีนไอพีดีช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต

กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเผยโรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และพบได้บ่อยถึงร้อยละ 10 ในประชากรไทย ทั้งยังชี้ว่า “วัคซีนไอพีดี” เป็นทางเลือกใหม่ในการลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสของผู้ป่วยเด็กโรคธาลัสซีเมียที่มีจำนวนกว่า 500,000 คน ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสลดลง พร้อมช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยเหมือนคนปกติ และเสนอว่าวัคซีนไอพีดีเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสสำหรับผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย แต่ผู้ป่วยและญาติต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าด้วยตนเอง

รศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาโลหิตวิทยา จาก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า “โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยถึงร้อยละ 10 ในประชากรไทย และยังพบอีกว่ามีคนไทยถึงร้อยละ 30 ที่เป็นพาหะของโรคนี้ โดยในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่มีความรุนแรงของโรคในระดับต่างๆ สูงถึง 500,000 ราย ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียส่วนใหญ่จะมีอาการซีดเหลือง รูปร่างหน้าตาเปลี่ยนแปลง สำหรับในเด็กพบว่าโรคธาลัสซีเมียที่มีอาการรุนแรงจะส่งผลให้เด็กเจริญเติบโตช้า กระดูกแขนขาหักง่าย ตับม้ามโต ถ้ามีอาการซีดมากอาจมีโอกาสหัวใจล้มเหลวได้ และเนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับการให้เลือดเป็นประจำจึงอาจพบภาวะธาตุเหล็กเกินและต่อมไร้ท่อทำงานผิดปกติได้ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก เช่นมีอาการม้ามโตมาก และซีดลงเร็ว แพทย์จะพิจารณาให้ตัดม้าม ซึ่งจะส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงขึ้น”

“โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคโลหิตจางทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายเลือดอย่างสม่ำเสมอ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นผู้ป่วยยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย จากการที่ม้ามทำงานได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในรายที่มีอาการรุนแรงจนต้องตัดม้าม รวมทั้งอาจเกิดภาวะธาตุเหล็กเกินในร่างกาย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลกระทบที่รุนแรงที่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียทุกคนได้รับ ดังนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเหมือนคนปกติ รวมทั้งการลดจำนวนทารกเกิดใหม่ที่เป็นโรคธาลัสซีเมียให้มากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นมาก” รศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวและเสริมว่า

การเกิดภาวะโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรคต่างๆ อันเนื่องมาจากการทำงานของม้ามผิดปกติ นับเป็นปัญหาสำคัญของผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เพราะโดยปกติม้ามจะทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับเม็ดเลือดขาว แต่เมื่อผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียเกิดความผิดปกติจากภาวะโลหิตจาง มีการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงเพิ่มขึ้นในม้าม จึงทำให้หน้าที่ในการกำจัดเชื้อโรคด้อยลง มีภูมิต้านทานของร่างกายต่ำ ผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงเกิดโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนปกติ โดยเฉพาะปัญหาการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นเชื้อที่อาศัยอยู่โดยทั่วไปในโพรงจมูกของคนเรา และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคปอดบวมชนิดรุนแรง รวมทั้งการติดเชื้อในสมองหรือกระแสเลือด (โรคไอพีดี) ที่ทำให้เด็กเล็กเสียชีวิตในลำดับต้นๆ และจากสถิติพบว่าเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นหนึ่งในเชื้อโรคแทรกซ้อนที่คร่าชีวิตผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียมากที่สุด ดังนั้นในปัจจุบันแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส โดยล่าสุดมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสสำหรับเด็ก ซึ่งเป็นวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในรายที่มีความรุนแรงของโรคสูงจนต้องตัดม้าม แต่ทั้งนี้จะต้องอยู่ในการพิจารณาและการตัดสินใจของผู้ป่วยและญาติ นอกจากนี้ยังต้องใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยอื่นๆ เช่น การให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ การให้ยาขับเหล็ก การดูแลสุขภาพและอาหารที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่เหมือนคนปกติมากที่สุด” รศ.ดร.นพ.วิปร กล่าว

“ในอดีตผู้ป่วยจะมีอายุขัยประมาณ 35 ปี แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส ประกอบกับการดูแลและรักษาผู้ป่วยที่ดีขึ้น อาจทำให้ผู้ป่วยมีตัวเลขเฉลี่ยอายุขัยเพิ่มขึ้นเป็น 50 – 60 ปีได้ ซึ่งผู้ป่วยจะต้องให้ความร่วมมือในการมาพบแพทย์ตามแผนการรักษา การงดกินอาหารสุกๆ ดิบๆ งดเว้นอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง เลือดหมู เลือดไก่ เป็นต้น รวมทั้งการหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน แออัด เพราะจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น แต่วิธีการป้องกันและลดจำนวนผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียที่ดีที่สุด คือ คู่แต่งงานจะต้องตรวจหาความเป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมียก่อนที่จะวางแผนมีบุตร เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มจำนวนของผู้ป่วย ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด” รศ.ดร.นพ.วิปร กล่าวทิ้งท้าย