ข้าวแพง : ระวังความเสี่ยง…ราคาผันผวน

ช่วงเดือนมีนาคม 2551 ราคาข้าวของไทยในตลาดโลกพุ่งแซงราคาข้าวของสหรัฐฯ นับเป็นครั้งแรกในประวัติการณ์การค้าข้าว โดยปัจจุบันราคาข้าวไทยแพงกว่าประมาณ 68 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากตลาดหวั่นเกรงจะมีประเทศผู้ส่งออกข้าวรายอื่นจะหยุด หรือ จำกัดการส่งออกข้าวเช่นเดียวกับเวียดนาม อินเดีย จีน และอียิปต์

ในขณะเดียวกันราคาเสนอขายในตลาดประมูลต่างๆมีผลทางจิตวิทยาผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากการประมูลข้าวฟิลิปปินส์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 อย่างไรก็ตาม ล่าสุดญี่ปุ่นยกเลิกการประมูลรับซื้อข้าวสารจำนวน 60,000 ตัน เพื่อเก็บเป็นสต็อกของประเทศ เนื่องจากราคาข้าวขาว 100% ที่ไทยเสนอไปตันละ 1,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ และเวียดนามเสนอตันละ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ และสูงกว่าราคาซื้อครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2551 ที่ประมูลไปได้ตันละ 792 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งญี่ปุ่นไม่ต้องการผลักดันให้ราคาข้าวสูงขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ยังมีความคืบหน้าที่น่าสนใจก็คือ การที่สหรัฐฯเริ่มเข้ามาแข่งขันส่งออกข้าว โดยตลาดเป้าหมายของสหรัฐฯ คือตะวันออกกลาง และกำลังเจาะขยายตลาดข้าวในจีนและเกาหลีใต้

ผลกระทบต่อไทย

ราคาข้าวไทยทุกระดับตลาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลกระทบ ดังต่อไปนี้

ผู้ส่งออกไม่กล้ารับคำสั่งซื้อ เนื่องจากต้องแบกรับภาระขาดทุน สมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศประเมินว่าการส่งออกข้าวในช่วงไตรมาส 2 จะลดลงร้อยละ 25-30

ผู้บริโภคในประเทศต้องซื้อข้าวบริโภคในราคาที่แพงขึ้น ปัจจุบันผู้บริโภคเผชิญปัญหาข้าวถุงขาดแคลนในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ซึ่งสมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย เสนอให้มีการปรับราคาข้าวบรรจุถุงที่จำหน่ายอยู่ภายในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่กับร้านค้าภายนอกให้มีความใกล้เคียงกัน จากปัจจุบันที่มีราคาต่างกันถึงร้อยละ 10 ซึ่งเห็นว่าการที่ข้าวถุงในห้างค้าปลีกขาดแคลน เพราะราคาขายในห้างถูกกว่าข้างนอกประมาณถุงละ 30 บาท เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ให้ผู้ผลิตลดราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค แต่จุดนี้กลับทำให้ร้านอาหาร ภัตตาคาร และร้านค้าข้างนอกแห่มาซื้อข้าวในห้างไปกักตุนไว้

ชาวนาขยายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังปี 2551 รอบสองและสาม เพิ่มผลผลิตข้าวขาว คาดว่าในช่วงไตรมาสสองและสามราคาข้าวขาวจะพุ่งน้อยกว่าการพุ่งขึ้นของราคาข้าวหอมมะลิ ซึ่งจะออกสู่ตลาดอีกครั้งช่วงปลายปี 2551 นอกจากนี้คาดว่าในช่วงนาปีที่ผลผลิตออกสู่ตลาดช่วงไตรมาสสี่จะมีการขยายปริมาณการผลิตอย่างมาก โดยชาวนาจะลงทุนทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่เช่น ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช เครื่องจักรกลการเกษตร การพัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น

ปัจจัยเสี่ยง…ราคาผันผวน

สต็อกข้าวของโลกอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 24 ปี(ตั้งแต่ปี 2543) สต็อกข้าวโลกลดลงมากจากกว่า 100 ล้านตัน เหลือเพียงกว่า 70 ล้านตัน โดยเฉพาะสต็อกข้าวของจีนและอินเดีย ทำให้ 2 ประเทศระงับการส่งออกเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงปริมาณการผลิตในแต่ละปีไม่ว่าจะมากหรือน้อยส่งผลกระทบอย่างมากต่อราคาข้าวในตลาดโลก หรืออาจกล่าวได้ว่ามีโอกาสอย่างมากที่ราคาข้าวในตลาดโลกจะผันผวนได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ
การเปิดประมูลข้าวของอินโดนีเซียและอิหร่าน เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศ ยังไม่มีการสั่งซื้อข้าว หากทั้งสองประเทศนี้เปิดประมูลซื้อข้าวก็จะมีผลผลักดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น

การเปิดประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ในวันที่5พ.ค.2551โดยต้องจับตาการเข้าร่วมประมูลของเวียดนามทั้งในด้านการเสนอราคาประมูลและปริมาณที่เสนอขาย ในช่วงเดือนมิย.2551ต้องติดตามว่าเวียดนามจะเริ่มกลับเข้าสู่ตลาดอีกหรือไม่ เนื่องจากมีผลผลิตข้าวฤดูร้อนออกสู่ตลาด และสิ้นสุดข่วงระยะเวลาระงับการรับคำสั่งซื้อข้าวจากต่างประเทศ

ส่วนปัจจัยอื่นๆที่ติดตามในช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ซึ่งเป็นต้นฤดูการผลิตข้าวปี 2551/52 ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตข้าวเพื่อการส่งออกของประเทศคู่แข่ง โดยราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงเป็นแรงจูงใจ ประเทศที่ผู้ส่งออกข้าวที่ไทยต้องจับตาเป็นพิเศษคือ เวียดนาม และอินเดีย ซึ่งนโยบายการส่งออกข้าวทั้งสองประเทศนี้จะกำหนดทิศทางการแข่งขันของไทยในตลาดข้าวโลกตั้งแต่ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 2551 ในขณะที่ประเทศคู่ค้าข้าวต่างมีนโยบายขยายปริมาณการผลิตข้าว ทั้งนี้เพื่อความมั่งคงทางด้านอาหารของประเทศ ซึ่งจะทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติและการแพร่ระบาดของโรคและแมลงศัตรู โดยนับว่าเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมที่มีโอกาสสร้างความเสียหายให้กับปริมาณการผลิตข้าวได้อย่างมาก

ประเด็นต่างๆเหล่านี้นับว่าเป็นประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อราคาข้าวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 และปี 2552