นักวิชาการนิด้ามั่นใจ ศก.ไตรมาส 2 กระเตื้อง ชี้ปัจจัยลบผ่อนคลาย-ส่งออกสินค้าเกษตรฉลุย

นักวิชาการนิด้ายอมรับสถานการณ์เศรษฐกิจไตรมาส 2 ผ่อนคลาย แม้ราคาน้ำมันจะพุ่งกระฉูดทุบสถิติสูงสุดต่อเนื่อง ระบุไทยได้อานิสงส์จากราคาสินค้าเกษตรส่งผลมูลค่าส่งออกสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่บาทแข็งฉุดต้นทุนนำเข้าลด พร้อมประเมินทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะประคองตัว เชื่อเฟดอาจไม่ลดดอกเบี้ยหรือลดแค่ 0.25% ในการประชุมวันที่ 29-30 เม.ย. ขณะที่แบงก์ชาติไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ย เหตุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กำลังจะเกิดผล และค่าเงินบาทเริ่มเข้าสู้เสถียรภาพ

รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2551 ว่า หลังจากที่ผ่านไตรมาสที่ 2 ของปีนี้มาแล้วเป็นเวลา 1 เดือน ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ที่เคยรุมเร้าเศรษฐกิจไทยมีความผ่อนคลายลง โดยเฉพาะความกังวลจากทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีปัญหาจากกรณีสินเชื่อด้อยคุณภาพ (ซับไพร์ม) ซึ่งจากการรายงานตัวเลขผลประกอบการไตรมาสแรกของสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ล่าสุดพบว่า สถาบันการเงินหลายแห่งเริ่มมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ซึ่งอาจสะท้อนให้เห็นถึงการยุติการลุกลามของปัญหาวิกฤติซับไพร์ม

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ เฟดอาจจะไม่ลดดอกเบี้ยหรืออาจจะลดลงแค่ 0.25% เท่านั้น ไม่ได้ลดอย่างรุนแรงเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ คงอยู่ที่ระดับ 2.25% หรือลงมาอยู่ที่ระดับ 2.00% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ปัญหาที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในเวลานี้คือ การที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในระดับเกือบ 120 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2552 ซึ่งหลังจากนี้มีการวิเคราะห์ว่า ราคาน้ำมันจะขึ้นไปแตะระดับ 150 เหรียญต่อบาร์เรล และขึ้นไปสูงสุดที่ 225 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2555 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นตัวฉุดรั้งอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และจะมีผลกับเศรษฐกิจไทยเนื่องจากประเทศไทยมีการพึ่งพิงภาคการค้าระหว่างประเทศสูงถึง 70%

“แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยได้รับอานิสงส์จากการที่ราคาสินค้าพืชผลทางการเกษตรมีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกของปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยจะเห็นได้จากยอดการส่งออกในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่เพิ่มขึ้นถึง 14.4% โดยการส่งออกสินค้าเกษตรพุ่งสูงถึง 32% โดยภาพรวมของไตรมาสที่ 1 การส่งออกขยายตัวถึง 20% เป็นสินค้าเกษตร 31.4% ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มแบบนี้จะยังคงอยู่ต่อไป โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ที่ตัวเลขจะสูสีกับไตรมาสแรก โดยคาดว่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นได้มากกว่า 12% ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการไว้ว่าจะอยู่ในระดับ 20% เท่ากับไตรมาสแรก ทำให้ภาพรวมการส่งออกในปีนี้น่าจะดีมาก และจะมีผลต่อการเติบโตเศรษฐกิจของปี 2551 ด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรีกล่าว

พร้อมกันนี้ การที่ค่าเงินบาทอยู่ในระดับแข็งค่าเช่นนี้ ยังมีผลทำให้ต้นทุนในการนำเข้าของประเทศไทยลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมัน เมื่อได้รับแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลอัดฉีดเข้ามาถึง 3 ระยะ ซึ่งคาดว่ากลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจบางมาตรการจะเริ่มทำงานให้เห็นผลในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยเฉพาะโครงการลงทุนในสาธารณูปโภคขนาดใหญ่หรือเมกะโปรเจ็คท์ ที่จะเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ ทำให้เชื่อว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้จะมีทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากที่ปัจจัยลบผ่อนคลายและมีปัจจัยบวกเข้ามาสนับสนุน

ในส่วนของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หลังจากนี้นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.มนตรี กล่าวว่า เชื่อว่า ธปท.อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย อัตราเงินเฟ้อในปี 2551 ขึ้นสู่ระดับ 4-5% ทั้งนี้ เนื่องจากหากพิจารณาจากเงินเฟ้อพื้นฐานหรือ Core Inflation ที่ธปท.ใช้เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดนโยบายการเงิน จะพบว่า Core Inflation ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก และแม้ว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1.00% อาจจะเพิ่มมากขึ้นหากธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดดอกเบี้ยลงอีก และจากการส่งออกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทุนสำรองของประเทศในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น ดังนั้น จึงเชื่อว่า ธปท.จะดำเนินนโยบายการเงินในลักษณะของการประคับประคองต่อไปอีกระยะหนึ่ง