ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ : ลดภาระค่าครองชีพได้เพียงระดับหนึ่ง

จากผลการประชุมของคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 เห็นชอบให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้วตั้งแต่จังหวัดละ 1-7 บาท เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551 ที่ผ่านมา แต่จะปรับเพิ่มในอัตราเท่าไหร่ยังไม่ได้ข้อสรุป

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกครั้งในปี 2551 เนื่องจากราคาสินค้าและค่าครองชีพโดยทั่วไปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงส่งผลทำให้ภาระค่าครองชีพในส่วนของการเดินทางมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551(ม.ค.-มี.ค.) ได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 5.0 เปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2550 ที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.4 เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันในช่วงไตรมาสแรกของปี 2551 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 6.8 เปรียบเทียบกับช่วงระยะเดียวกับปีก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1

ที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้นก็คือดัชนีราคาสินค้าหมวดยานพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสารที่เป็นพลังขับเคลื่อนผู้คนในสังคมได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 9.2 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อนที่เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.9 ส่งผลทำให้ผู้ใช้แรงงานตามโรงงานและมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำต้องกระเม็ดกระแหม่ในการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลทำให้อุปสงค์รวมของประเทศมีแนวโน้มลดลงได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม องค์กรผู้ใช้แรงงานต่างๆได้พยายามเรียกร้องให้ทางการประกาศปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของบรรดาผู้ใช้แรงงาน โดยมีการเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราที่เท่ากันทั้งหมดทั่วประเทศวันละ 9 บาท

โดยองค์การผู้ใช้แรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้

1.ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 9 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจความเป็นอยู่ปัจจุบัน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะพิจารณาปรับให้เป็นของขวัญในวันแรงงานแห่งชาตินี้

2.ให้รัฐบาลจัดตั้งโรงพยาบาลประกันสังคมเป็นของตัวเอง ทั้งนี้ เพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการบริการผู้ประกันตน

3.ให้รัฐบาลออก พ.ร.บ.คุ้มครองคนงานที่รับงานไปทำที่บ้าน เนื่องจากสภาพปัจจุบันมีแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้านจำนวนมากแต่ยังขาดการคุ้มครองดูแลไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในการทำงาน ค่าจ้างสวัสดิการ เป็นต้น

4.ให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในการทำงาน เนื่องจากปัจจุบันคนงานติดเชื้อ บาดเจ็บตายจากการทำงานเป็นจำนวนมากเหตุมาจากสภาพแวดล้อมและสารเคมีในการทำงาน

5.ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ในประเด็นการให้ความคุ้มครองแรงงานในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เป็นต้น

ขณะเดียวกันในส่วนของนายจ้างจะพบได้ว่าการขอปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องใช้แรงงานไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก

ปัจจุบันมีแรงงานที่ทำงานในโรงงานและสถานประกอบการทั่วประเทศจำนวน 8.5 ล้านคน (แรงงานในระบบประกันสังคม) ซึ่งค่าจ้างของแรงงานเหล่านี้มักจะถูกกำหนดตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราค่าจ้างอ้างอิง (Reference Wage Rate)

นอกจากนั้นยังมีแรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งที่ทำงานอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมายอีกประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ก็ทำงานโดยใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนกัน

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ : ใช้กับแรงงานใหม่
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ที่กฎหมายกำหนดเป็นอัตราค่าจ้างสำหรับแรงงานใหม่ไร้ฝีมือ (Unskilled Labor) ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน และมีอายุการทำงานไม่เกิน 1 ปี โดยปัจจุบันมีแรงงานใหม่ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานประมาณปีละ 5-6 แสนคน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดให้จ่ายค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ายังมีแรงงานจำนวนมากที่ได้รับเงินค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแม้จะทำงานเป็นเวลาหลายปีแล้วก็ตาม

ซึ่งจากการสำรวจของกระทรวงแรงงานพบว่ามีแรงงานทั่วประเทศที่ทำงานโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมากถึงประมาณ 3 ล้านคน โดยเป็นแรงงานไทยประมาณ 2 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งแรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำงานแบบลูกจ้างรายวันในสถานประกอบการขนาดเล็ก

ดังนั้นเมื่อพิจารณาผลกระทบของการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำแล้วจะพบได้ว่า สถานประกอบการขนาดเล็กได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากต้นทุนจะสูงขึ้น เพราะใช้แรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก

สำหรับสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่จะได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องสถานประกอบการเหล่านี้ส่วนใหญ่จ่ายค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว

ผลกระทบค่าจ้างขั้นต่ำต่อเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำที่มีต่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศ

จากการศึกษาของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ถ้ามีการปรับค้าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 1 บาทจะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปร้อยละ 0.02 (กรณีที่คิดเฉพาะต้นทุนของค่าแรงงานที่เพิ่มขึ้นในส่วนของแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ)

ซึ่งถ้ามีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 4 บาท จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปร้อยละ 0.08
และถ้ามีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 9 บาท จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปร้อยละ 0.18

ซึ่งผลกระทบของการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่มีต่อราคาสินค้าทั่วไปค่อนข้างน้อย แต่เนื่องจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราอ้างอิงที่สถานประกอบการนำไปใช้ในการจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงาน ขณะเดียวกันฝ่ายแรงงานก็จะใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นมาตรฐานในการขอปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานทั่วไปด้วย

ดังนั้นการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจึงจะส่งผลกระทบต่อปัจจัยอื่นๆทางเศรษฐกิจด้วย เช่น ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แรงจูงใจการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ(Foreign Direct Investment) รวมไปถึงผลกระทบจากการเพิ่มสูงขึ้นของต้นทุนการผลิตอันจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด

ความเห็นเกี่ยวกับค่าจ้างขั้นต่ำ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นเกี่ยวกับการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ดังนี้

1.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจจะช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่แรงงานและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากภาวะราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงคงไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้ใช้แรงงานได้ทั้งหมด เนื่องจากตัวแปรสำคัญของปัญหาอยู่ที่ราคาน้ำมันทะยานเพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะที่ราคาวัตถุดิบ และสินค้าอาหารมีการปรับราคาสูงขึ้นผันแปรตามราคาในตลาดโลก

2.ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับสภาวะต้นทุนสูงขึ้น ในสภาวะปัจจุบันจะพบได้ว่าที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาจากต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นการปรับขึ้นค่าแรงจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม สัดส่วนของการจ้างงานที่ใช้ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงกว่าในอดีตมาก เนื่องจากแรงงานมีการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สูงขึ้น ทำให้แรงงานสามารถเข้าทำงานประเภทใช้ฝีมือและได้รับเงินเดือนสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

3.รัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาราคาสินค้าแพงจะส่งผลทำให้มีความคาดหวังว่ารัฐบาลน่าจะมีมาตรการทางด้านนโยบายการเงินและนโยบายการคลังเข้ามาช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะต้องเร่งดำเนินนโยบายเพิ่มอำนาจซื้อให้แก่ประชาชนโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากแรงกดดันในด้านต้นทุนเช่นนี้ ผลที่จะเกิดขึ้นจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังในการกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคอาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้าง อาจจะเป็นเงื่อนไขที่ผู้ประกอบการนำไปใช้เป็นเหตุผลในการปรับขึ้นราคาสินค้าให้สูงขึ้นไปอีก ซึ่งคงต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ที่จะต้องดูแลสอดส่องให้การปรับราคาสินค้าของผู้ประกอบการอยู่ในกรอบที่สมเหตุสมผลและยอมรับได้

ตามที่องค์กรแรงงานได้เรียกร้องให้มีการปรับค่าแรงขั้นต่ำให้เพิ่มสูงขึ้น โดยคณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มไปแล้ว และในขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ โดยคาดว่าคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจะมีการนำเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มใหม่เพื่อเป็นของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2551 นี้

หวังว่า แรงงาน ผู้สร้างโลกคงจะได้รับข่าวดีและมีความสุขทั่วหน้ากันทุกคน

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
(เริ่มใช้ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2551)
วันละ/บาท จังหวัด
194 กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร
193 ภูเก็ต
175 ชลบุรี
170 สระบุรี
165 ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ระยอง
163 ระนอง
162 พังงา
160 กระบี่ เพชรบุรี
159 เชียงใหม่
158 จันทบุรี ลพบุรี
157 กาญจนบุรี
156 ราชบุรี สิงห์บุรี
155 ปราจีนบุรี สมุทรสงคราม สระแก้ว
154 ตรัง เลย อ่างทอง
152 ประจวบคีรีขันธ์ ลำพูน สงขลา
150 ขอนแก่น ชุมพร ตราด นครนายก นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ บุรีรัมย์ พัทลุง เพชรบูรณ์ สตูล สุราษฎร์ธานี หนองคายอุดรธานี อุทัยธานี
149 กำแพงเพชร ชัยนาท ลำปาง สุโขทัย สุพรรณบุรี
148 กาฬสินธุ์ นครพนม นราธิวาส ปัตตานี พิษณุโลก มุกดาหาร ยะลา สกลนคร หนองบัวลำภู
147 ตาก มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด สุรินทร์ และอุตรดิตถ์
146 ชัยภูมิ เชียงราย พิจิตร แพร่ ศรีสะเกษ
145 อำนาจเจริญ อุบลราชธานี
144 น่าน พะเยา

ที่มา : กระทรวงแรงงาน
รวบรวม : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย