เงินเฟ้อพุ่ง … ทางเลือกด้านนโยบายของภาครัฐ

จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI Inflation) ล่าสุดในเดือนเมษายน 2551 ที่มีระดับสูงถึงร้อยละ 6.2 (Year-on-Year) สูงที่สุดในรอบ 23 เดือน และมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.3 กอปรกับค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อยู่ที่ร้อยละ 5.3 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาที่ปรับสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ปลายปี 2550 จนถึงปัจจุบัน การปรับขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ มีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและสินค้าในหมวดอาหารต่างๆ ไล่มาตั้งแต่น้ำมันปาล์ม เนื้อหมู และข้าว ซึ่งส่งผลกระทบตามมาให้ราคาสินค้าและบริการในหมวดต่างๆ ทยอยปรับตัวสูงขึ้นอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งหลายหน่วยงานล้วนมีการทบทวนประมาณการอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ โดยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2551 เพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 4.0-5.0 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 2.8-4.0 ตามสมมติฐานราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรที่ปรับขึ้น เช่นเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์กำลังเตรียมพิจารณาปรับเพิ่มประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปขึ้นมาที่ร้อยละ 5.0-5.5 จากร้อยละ 3.0-3.5 ในขณะที่ รัฐบาลได้มีการประกาศแผนยุทธศาสตร์เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤตอาหารและพลังงานให้เป็นวาระแห่งชาติแล้วด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่เผชิญกับการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า แต่นานาประเทศก็ประสบกับภาวะราคาสินค้าแพง จนกระทั่งองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งสหประชาชาติ และธนาคารโลก ต่างพร้อมใจกันออกมาแสดงความวิตกกังวลต่อประเด็นดังกล่าวซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดวิกฤตอาหารโลก และได้มีการกระตุ้นให้ประเทศต่างๆ ตระหนักถึงปัญหา พร้อมทั้งจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อเตรียมการรับมือและหาแนวทางแก้ไขก่อนที่ปัญหานี้จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตที่รุนแรงและกระทบต่อเศรษฐกิจโลก

อนึ่ง แม้จะเป็นที่คาดหวังกันว่า ภาวะราคาสินค้าแพงอาจจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในระยะเวลาสั้นๆ และน่าที่จะบรรเทาเบาบางลงได้ โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันตลาดโลกไม่ปรับตัวสูงขึ้นอีกเมื่อผ่านพ้นฤดูท่องเที่ยวทางซีกโลกตะวันตกและจากแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าเกษตรที่อาจจะถูกจำกัดไว้ด้วยปริมาณอุปทานที่มีแนวโน้มจะเข้าสู่ตลาดมากขึ้นในระยะต่อไป ตลอดจนการฟื้นตัวของเงินดอลลาร์สหรัฐฯเมื่อเทียบกับเงินสกุลหลักอื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับฐานของราคาสินค้าเกษตรต่างๆ ดังเช่นที่เริ่มจะเห็นสัญญาณบ้างแล้วในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางการไทยควรที่จะมีการประเมินสถานการณ์และวางแผนเพื่อเตรียมการรับมือล่วงหน้าสำหรับกรณีเลวร้ายที่ราคาสินค้าและบริการอาจไม่ชะลอตัวลงมาตามที่คาดหวัง เพื่อที่จะสามารถบรรเทาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นโดยเฉพาะต่อภาคธุรกิจและประชาชนที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที เพราะคาดว่าจะยังคงมีสินค้าอีกหลายรายการที่รอจ่อคิวจะขออนุมัติปรับขึ้นราคาในอนาคต

บทเรียนจากประสบการณ์ในอดีต
หากย้อนพิจารณาถึงประสบการณ์ในอดีต ประเทศไทยเคยผ่านพ้นภาวะราคาสินค้าแพงมาแล้วในปี 2523-2524 ซึ่งเป็นช่วงหลังวิกฤตการณ์น้ำมัน (Oil Shock) ครั้งที่สอง ที่ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลายเท่าตัว ผลักดันให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศขยับสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยมีระดับที่สูงเป็นตัวเลขถึงสองหลัก (double-digit) ในขณะที่เศรษฐกิจเผชิญกับการขาดดุลการค้าและดุลงบประมาณ ทั้งนี้เพื่อที่จะรับมือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ในสมัยนั้น ได้ดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดทั้งในส่วนของนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืม การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานหลายครั้ง การขึ้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ตลอดจนการปรับลดค่าเงินบาท เพื่อส่งเสริมการออมและลดการบริโภคของประชาชน อีกทั้งยังมีการใช้มาตรการประหยัดพลังงานต่างๆ อาทิ การปิดปั้มน้ำมันและไฟโฆษณาต่างๆ ในช่วงค่ำ การห้ามรถออกวิ่งและควบคุมความเร็วที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เป็นต้น ควบคู่กับการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการและค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภาวะค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูงก็ได้ทยอยคลี่คลายลงในปี 2525 เป็นต้นมา

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

การหยิบยกบทเรียนในอดีตขึ้นมาพิจารณา มิได้หมายความว่ารัฐบาลในยุคปัจจุบันจำเป็นที่จะต้องนำนโยบายหรือมาตรการในช่วงเวลานั้นมาใช้รับมือกับสถานการณ์ภาวะราคาสินค้าแพงในขณะนี้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสภาวะแวดล้อมต่างๆ อาจทำให้สถานการณ์ในอดีตและปัจจุบันมีความแตกต่างกัน กระนั้นก็ดี ประสบการณ์ในอดีตก็เป็นเครื่องเตือนใจที่บ่งชี้ให้เห็นว่า เราควรที่จะมีการตั้งรับถึงกรณีเลวร้ายสุดที่อาจจะเกิดขึ้น ด้วยการพิจารณาทางเลือกด้านนโยบายต่างๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวและผ่านพ้นวิกฤตไปได้โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

ภาวะเงินเฟ้อสูง … ทางเลือกด้านนโยบายของทางการ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การรับมือกับปัญหาภาวะเงินเฟ้อสูง ภาครัฐอาจจะสามารถดำเนินการได้หลายแนวทาง ขึ้นอยู่กับเป้าหมายทางเศรษฐกิจและความเหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นๆ ในขณะที่ แต่ละทางเลือกก็ล้วนมีข้อดีและข้อเสียโดยเฉพาะที่แตกต่างกันออกไป การตัดสินใจใช้ทางเลือกใด ทางการจึงจำที่จะต้องชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบโดยรวมที่มีต่อภาคส่วนต่างๆ ด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ขอยกตัวอย่างทางเลือกด้านนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาภาวะราคาสินค้าแพง ดังต่อไปนี้ :-

การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ/เงินเดือนข้าราชการ
จากการที่องค์กรผู้ใช้แรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 9 บาทเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งคณะกรรมการค่าจ้างได้มีมติอนุมัติปรับเพิ่มแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการค่าจ้างแรงงานจังหวัดทั่วประเทศนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การอนุมัติปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จะเป็นการเพิ่มรายได้หรืออำนาจซื้อให้กับประชาชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอาจช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้แก่แรงงานและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งน่าจะเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดท่ามกลางภาวะค่าครองชีพสูงเช่นในปัจจุบัน

ในขณะที่ ผลกระทบจากการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำต่อราคาสินค้าทั่วไปอาจมีค่อนข้างน้อย โดยจากการศึกษา ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า หากมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น 9 บาทจริงตามที่องค์กรผู้ใช้แรงงานร้องขอ อาจส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าทั่วไปให้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.18 ทั้งนี้เนื่องจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างอิงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกำลังแรงงานทั้งหมดของประเทศ โดยจากการสำรวจของกระทรวงแรงงาน พบว่า แรงงานทั่วประเทศที่ทำงานโดยได้รับค่าจ้างเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีจำนวนประมาณ 3 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงานไทยประมาณ 2 ล้านคน และแรงงานต่างด้าวประมาณ 1 ล้านคน ในขณะที่กำลังแรงงานทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 36.9 ล้านคน ส่วนแรงงานที่ได้รับค่าจ้างในอัตราที่สูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำนั้น การปรับขึ้นค่าจ้างของคนกลุ่มนี้ คงจะขึ้นอยู่กับการตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเป็นรายๆ ไป เพราะค่าจ้างของคนกลุ่มนี้อาจไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และนายจ้างอาจพิจารณาให้สวัสดิการด้านอื่นกับลูกจ้างเพิ่มขึ้นแทน เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจจะปรับขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยลำพัง อาจมีผลค่อนข้างจำกัดต่อระดับราคาสินค้าทั่วไป แต่หากมีการปรับเพิ่มจริง ผลที่ตามมาอาจทำให้เกิดการปรับขึ้นค่าจ้างสำหรับแรงงานที่อยู่ในกลุ่มอื่นๆ (แม้อาจจะไม่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติในทันที เพราะตลาดแรงงานมีการแยกกลุ่มกันค่อนข้างชัดเจนตามทักษะฝีมือแรงงานและความต้องการของภาคธุรกิจ) และในท้ายที่สุด อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ นอกเหนือไปจากต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น วัตถุดิบ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวทางนี้ แม้ว่าจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อและลดความเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับผู้ใช้แรงงาน แต่อาจไม่สามารถรับมือปัญหาภาวะราคาสินค้าแพงได้อย่างยั่งยืน เพราะอาจทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนสูงขึ้นหรือฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าไปก่อน ซึ่งท้ายสุดแล้วทำให้อำนาจซื้อจริงของประชาชนไม่ได้ปรับขึ้นทันการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า

สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาด้วยเช่นกันนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวทางดังกล่าวก็มีทั้งข้อดีและผลกระทบที่คล้ายคลึงกันกับการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ แต่อาจมีผลกระทบเพิ่มเติมจากภาระงบประมาณของรัฐบาลที่ต้องเพิ่มขึ้นในแต่ละปีอีกด้วย โดยการอนุมัติปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการร้อยละ 4 เมื่อปี 2550 ได้ทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี

การควบคุมปริมาณการบริโภคพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมัน
หากพิจารณาตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ พบว่า ดัชนีราคาสินค้าในหมวดพลังงานได้ปรับตัวสูงขึ้นถึงร้อยละ 17.1 ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2551 และไทยนับว่าเป็นประเทศที่พึ่งพาการบริโภคน้ำมันในอัตราสูงเป็นอัตราต้นๆ ของโลก (Oil intensity ของไทย มีระดับสูงประมาณร้อยละ 5.6 ของจีดีพี สูงกว่าจีน อินเดีย สหรัฐฯ เยอรมนี และญี่ปุ่น ) ดังนั้น หากเราสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้ลดต่ำลง ก็น่าที่จะเป็นผลบวกต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าทั่วไปได้อีกทางหนึ่ง

ในช่วงที่ผ่านมา นโยบายของรัฐบาลจะมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก และการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน (มาตรการ 11 ข้อของกระทรวงพลังงาน) ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า อาจไม่ใช่แนวทางที่จะสามารถควบคุมต้นทุนพลังงานได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะแม้การใช้น้ำมันของประชาชนจะลดลง แต่ปริมาณการใช้พลังงานทางเลือกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจทำให้โดยสุทธิแล้ว ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของไทยอาจไม่ได้ลดลง ในขณะที่การเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น ก็อาจไม่ได้ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลงหากประชาชนยังไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคพลังงาน

ทั้งนี้ เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้อย่างมีประสิทธิผล กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังควรร่วมกันกำหนดนโยบายที่เป็นรูปธรรมในเชิงที่มุ่งเน้นการลดปริมาณการใช้พลังงานหรือลดการสูญเปล่าของพลังงาน เนื่องจากเราอาจไม่สามารถควบคุมราคาพลังงาน เพราะอิงกับราคาในตลาดโลกเป็นหลัก แต่เราสามารถจะควบคุมปริมาณหรือจำนวนยูนิตของการใช้พลังงานได้

อย่างไรก็ตาม แนวนโยบายที่เคยใช้ เช่น การปิดปั้มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า และสถานบริการต่างๆ เร็วขึ้น หรือการลดเวลาการออกอากาศของทีวี เป็นต้น อาจช่วยให้ปริมาณการใช้พลังงานสามารถลดลงได้บ้างในอดีต แต่อาจนำมาปรับใช้ได้ยากขึ้นในปัจจุบัน เพราะอาจส่งผลกระทบในวงกว้างมากกว่าในอดีต โดยเฉพาะต่อธุรกิจบริการและท่องเที่ยว

การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ตึงตัว
นโยบายการเงินและการคลังแบบรัดเข็มขัด เพื่อรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาและอัตราเงินเฟ้อ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทางการสามารถดำเนินการได้ และน่าที่จะมีความยืดหยุ่นมากกว่าเมื่อเทียบกับแนวนโยบายอื่น ซึ่งแนวทางนี้ จะเป็นการสร้างเสริมให้ประชาชนมีวินัยและประหยัดการใช้ทรัพยากรในขอบเขตที่ทั่วถึงกว่าทางเลือกอื่นๆ รวมทั้งยังไม่ก่อให้เกิดการบิดเบือนกลไกราคาของสินค้าต่างๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่ตึงตัว อาจนำมาสู่การชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และอาจมีผลต่อเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราร้อยละ 6.0 ของรัฐบาล โดยเฉพาะในกรณีที่ยังคงมีความเสี่ยงทางด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจอยู่ หลังจากที่เครื่องชี้การใช้จ่ายในประเทศเพิ่งที่จะเริ่มแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นมาไม่นานนัก นอกจากนี้ ภาคธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ เป็นต้น อาจได้รับผลกระทบหากทางการมีการใช้นโยบายการเงินในเชิงที่เข้มงวดมากขึ้น ในขณะที่ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคและการลงทุน ตลอดจนธุรกิจก่อสร้าง อาจได้รับผลกระทบหากรัฐบาลมีการลดการใช้จ่ายและดำเนินนโยบายการคลังแบบตึงตัวมากขึ้น

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ทางเลือกด้านนโยบายเพื่อรับมือกับปัญหาภาวะราคาสินค้าแพง ซึ่งเป็นปัญหาที่เร่งด่วนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะใช้ทางเลือกใด หรือใช้หลายทางเลือกควบคู่กันไป ย่อมจะมีทั้งผลดีและผลเสียที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งทางการคงจะต้องมีการชั่งน้ำหนักและเลือกดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง ในขณะที่ ปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงที่เหลือของปีนี้ คงจะอยู่ที่การปรับตัวของราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งอาจผันผวนตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากเงินดอลลาร์สหรัฐฯสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาจมีการปรับฐานด้วยการทรงตัวหรือชะลอตัวลง เนื่องจากนักลงทุนอาจกลับเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ฯมากขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว ย่อมเป็นผลดีต่อภาวะเงินเฟ้อในประเทศ แต่อาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่คาดหวังจะเห็นราคาปรับตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยในปี 2551 อาจมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5.0 หรืออยู่ระหว่างกรอบร้อยละ 5.0-5.8 เพราะยังคงมีสินค้าอีกหลายรายการที่รอจ่อคิวขออนุมัติปรับขึ้นราคาในระยะข้างหน้า หลังจากที่น้ำตาลได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น สินค้าในหมวดอาหาร ค่าโดยสารต่างๆ และก๊าซหุงต้มในภาคขนส่ง เป็นต้น