กรมเจรจาประกาศสุดยอดความสำเร็จปี’50 พร้อมเปิดแผนงานปี’51

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศประกาศปี ’50 ผลงานความสำเร็จเพียบ บรรลุข้อตกลง และมีการลงนามกับหลายประเทศ ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี จีน ยูเครน ขณะที่แผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไปได้ดี ยันจุดยืนกรม ฯ ดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยึดมั่นหลักการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เดินหน้าประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ สร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง เปิดแผนงานปี 51 เตรียมเปิดตลาดการค้าการลงทุนในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอเมริกาใต้ พร้อมผลักดันให้มหาวิทยาลัยบรรจุเรื่องการค้าระหว่างประเทศไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศในปีที่ผ่านมาว่า กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศประสบความสำเร็จในการเจรจา และสามารถบรรลุข้อตกลงการลงนามในหลายเรื่องด้วยกัน ซึ่งที่สำคัญและโดดเด่น ได้แก่ 1.) การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น 2.) บรรลุความตกลงเพื่อเข้าร่วมลงนามความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลี 3.) การจัดทำกรอบความตกลงระหว่างไทยกับจีน 4.) การเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของผู้นำอาเซียนในปี 2558 5.) การจัดทำความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน 6.) การจัดทำความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไทยกับยูเครน และ 7.) การจัดทำเขตความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย

ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจอาเซียน – ญี่ปุ่น เป็นการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี ทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศกับญี่ปุ่นเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งไทยได้รับประโยชน์จากการที่ญี่ปุ่นลดภาษีสินค้าเร็วขึ้นเพิ่มขึ้นรวม 71 รายการ คิดเป็นมูลค่า 53 ล้านเหรียญสหรัฐ

เขตการค้าเสรีอาเซียน – เกาหลี ไทยสามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในเดือนธันวาคม 2550 ทั้งนี้อยู่ระหว่างเตรียมการลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงเขตการค้าเสรี และคาดว่าจะลงนามในเดือนสิงหาคม ศกนี้ ทั้งนี้กรมฯจะดำเนินการนำเสนอความตกลง ฯ ต่อคณะรัฐมนตรี และรัฐสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

การจัดทำกรอบความตกลงระหว่างไทยกับจีน เป็นการจัดทำกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การค้าและการลงทุน เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว พลังงาน และด้านอื่นๆ ระหว่างไทยและจีน ทั้งนี้สองฝ่ายจะเร่งรัดการเจรจาและให้สามาถลงนามได้ภายในปี 2551

การเตรียมความพร้อมไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของผู้นำอาเซียนในปี 2558 ได้มีการจัดทำร่างความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียนขึ้นใหม่เพื่อจะนำมาใช้แทนความตกลงเดิมที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยร่างความตกลงใหม่นี้จะครอบคลุมประเด็นการค้าที่นอกเหนือจากการลดภาษี เช่น มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี การอำนวยความสะดวกทางการค้า กระบวนการศุลกากร มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช มาตรการเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้า ซึ่งร่างดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอให้รัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกันลงนามในระหว่างการประชุม AEM เดือนสิงหาคม ศกนี้

ความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับยูเครน สามารถตกลงร่างสุดท้ายของความตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับยูเครนได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติความตกลงฯและมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงนามในความตกลง ฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ในปี 2550 การค้าระหว่างไทยกับยูเครนมีมูลค่า 264.8 ล้านเหรียญสหรัฐ

เขตความตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย คณะเจรจาได้ข้อสรุปการลดภาษีศุลกากรของสินค้าส่วนใหญ่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2550 และในส่วนของการส่งออกสินค้านั้นไทยได้ส่งออกสินค้านำร่อง 82 รายการไปยังอินเดียสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มลดภาษีเมื่อเดือนกันยายน 2547 ทั้งนี้การส่งออกไปอินเดียในปี 2550 มีมูลค่า 374 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขี้น 153.6% (เมื่อเทียบกับปี 2547)

“สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2551 ว่า กรม ฯ จะยังคงรักษาไว้ซึ่งการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำเขตการค้าเสรี และจะเดินหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้ประโยชน์จากความตกลงต่างๆให้มากที่สุด ตลอดจนสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากความตกลงฯ ที่ไทยได้ลงนามไปแล้ว เช่น อาเซียน – ญี่ปุ่น และความตกลงที่กำลังจะลงนามในเร็วๆนี้ เช่น อาเซียน – เกาหลี เป็นต้น นอกจากนี้จะจัดทำแผนการประเมินความตกลงฯ ที่ได้มีการลงนามไปแล้วอย่างใกล้ชิดว่าผู้ประกอบการ หรือประชาชนผู้มีส่วนร่วมนั้นได้ใช้ประโยชน์จากความตกลงฯ อย่างเต็มที่หรือไม่ และในอนาคตได้วางแผนในอันที่จะสร้างโอกาสของการเปิดตลาดการค้าการลงทุนในประเทศต่างๆมากขึ้น เช่น ประเทศแถบอเมริกาใต้ เป็นต้น ทั้งนี้ในส่วนของการสร้างการตระหนักรู้ให้กับเยาวชนและประชาชนทั่วไปนั้น กรมฯ จะประสานความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการบรรจุหลักสูตรว่าด้วยเรื่องการค้าระหว่างประเทศไว้ในการเรียนการสอน รวมถึงการจัดอบรมระยะสั้นในการให้ความรู้แก่เยาวชน หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเป็นพื้นฐานในการประกอบอาชีพต่อไป” นางสาวชุติมากล่าว